xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณต้องมาศาลหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: ตุลย์ ตุลาการ

มีข้อถกเถียงกันในข้อกฎหมายว่าพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะต้องกลับมาประเทศไทยเพื่อขึ้นศาลในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ข้อกฎหมายในเรื่องนี้โดยสังเขปมีดังนี้

1. การฟ้องคดีอาญาทั่วโลกมี 3 ระบบ คือ

1.1 การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ โดยพนักงานอัยการเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดี

1.2 การดำเนินคดีอาญาโดยผู้เสียหายซึ่งมีบางประเทศให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลได้ด้วย

1.3 การดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน

สำหรับประเทศไทยมีเฉพาะการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐและผู้เสียหายเท่านั้น โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ได้บัญญัติว่า บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(1) พนักงานอัยการ

(2) ผู้เสียหาย

2. การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐและราษฎรดำเนินการต่างกัน

สำหรับการฟ้องคดีอาญาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 162 ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยในข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้วให้จัดการตามอนุมาตรา (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา

มาตรา 165 ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ให้จำเลยมาศาลหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้วให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้และให้ดำเนินการต่อไป

จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ

ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไปกับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มาแต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

ดังนี้จะเห็นได้ว่าการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ กับการฟ้องคดีของราษฎรต่างกัน กล่าวคือ

2.1 การฟ้องคดีอาญาโดยพนักงานอัยการหรือโดยรัฐ เป็นเรื่องที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลเมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น ซึ่งอาจใช้หลัก ดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายหรือหลัก ดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ ก็ตาม รัฐต้องดำเนินการจับกุมคนร้ายมาโดยพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนและส่งตัวจำเลยมาให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลต่อไป เมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาล พนักงานอัยการก็ต้องนำตัวจำเลยมาศาลด้วยเสมอ มิฉะนั้นศาลจะไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณา เพราะเมื่ออัยการนำคำฟ้องมายื่นต่อศาลแล้ว ผู้ถูกฟ้องมีฐานะเป็นจำเลยทันที ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (3) บัญญัติว่า จำเลยหมายถึงบุคคลผู้ถูกฟ้องต่อศาลแล้ว โดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด ดังนั้นไม่ว่าศาลจะประทับรับฟ้องทันที หรือศาลอาจไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ ก็ถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เมื่อจำเลยอยู่ในอำนาจศาลจำเลยก็มีสิทธิหน้าที่ฐานะที่เป็นจำเลยแล้วเช่นสิทธิในการมีทนายความแก้ต่างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 (2) มาตรา 165 วรรค 2 การไต่สวนมูลฟ้องต้องทำต่อหน้าจำเลย เป็นแต่ว่าจำเลยยังไม่มีสิทธินำพยานมาสืบในชั้นนี้เท่านั้น ทั้งเมื่อจำเลยมาอยู่ในอำนาจแล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะคุมขังหรือปล่อยตัวชั่วคราวไป

ดังนั้นพนักงานอัยการจะยื่นฟ้องต้องดำเนินการขอให้จับกุมจำเลยมาศาล ถ้าจำเลยอยู่ต่างประเทศก็ต้องดำเนินการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาไม่ว่าจะเป็นกรณีประเทศไทยเป็นรัฐที่ถูกร้องขอหรือเป็นรัฐที่ร้องขอตาม (พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 มาตรา 8 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 วรรค 4 บัญญัติสนับสนุนว่า “ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้องก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา” และแสดงให้เห็นว่าเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาล แม้จำเลยจะเคยต้องขังระหว่างสอบสวนจนปล่อยตัวไปแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาล เนื่องจากจำเลยยังอาจถูกพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่มีอำนาจจับโดยไม่ต้องขออำนาจศาล และการจับการควบคุมเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อนำตัวจำเลยมาส่งศาลเท่านั้น พนักงานอัยการฟ้องขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนครบกำหนดจนศาลสั่งปล่อยตัวไปแล้วเช่นนี้ไม่ชอบที่ศาลประทับฟ้องและออกหมายจับให้เพราะเจ้าพนักงานยังมีอำนาจที่จะดำเนินการเพื่อเอาตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมฟ้องได้ มิฉะนั้นจะเป็นการยืดอายุความอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่ 515/2491 (ประชุมใหญ่))

แต่ถ้าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลมูลกรณีเดียวกันแล้ว โจทก์ไม่จำต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาลเวลายื่นฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1497/2496 (ประชุมใหญ่) ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยไว้แล้วศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยมีประกันตัวไป ต่อมาพนักงานอัยการจึงมาฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันอีกพึงถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจของศาลที่จะบังคับให้นายประกันส่งตัวจำเลยมารับสำเนาฟ้องได้ เรื่องเช่นนี้พนักงานอัยการหาจำต้องนำตัวจำเลยมาพร้อมกับฟ้องไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2514 ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายไว้แล้ว ผู้ต้องหาหลบหนีไปเสียก่อน โจทก์ยื่นฟ้องกรณีเช่นนี้นับได้ว่าจำเลยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

ดังนี้โจทก์จะฟ้องคดีโดยไม่มีตัวจำเลยไม่ได้ ศาลจึงไม่ประทับฟ้องหลักการนี้เป็นหลักสากลทั่วโลกเขาทำกัน

2.2 ราษฎรฟ้องคดีเอง ไม่ผ่านขั้นตอนการดำเนินคดีโดยรัฐ กฎหมายจึงเขียนไว้ชัดในมาตรา 165 วรรค 3 ว่า ก่อนศาลประทับฟ้องจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นจำเลย ย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะจำเลยตามความหมายของจำเลยทั่วไป ดังนั้นจะมีการจับ ขังหรือเรียกประกันอย่างใดไม่ได้ ทั้งการไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 1499/2483, 1329/2491, 204/2512)

นอกจากนี้ไต่สวนมูลฟ้องอาจทำลับหลังจำเลยได้ ผิดกับกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ซึ่งต้องไต่สวนมูลฟ้องต่อหน้าจำเลยเสมอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรค 1 ประกอบมาตรา 171

3. การฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 8 ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนตามที่เห็นสมควรเป็นผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เพื่อปฏิบัติงานที่จำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีองค์คณะคดีหนึ่ง

มาตรา 13
วรรคแรก เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็น องค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีดังกล่าวโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันยื่นฟ้องคดี

มาตรา 18 ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจ ออกข้อกำหนด เกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อใช้แก่การปฏิบัติงานของศาลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับสำหรับคดีอาญา และบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับสำหรับคดีกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติโดยอนุโลม
มาตรา 25 การฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง

ในวันยื่นฟ้องให้โจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อศาลเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้สำนวน และศาลอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา 27 เมื่อได้มีคำสั่งประทับฟ้องแล้วให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลย และนัดคู่ความมาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรก

นับแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาฟ้องให้จำเลยมีสิทธิขอตรวจและคัดสำเนาเอกสารในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ในวันพิจารณาครั้งแรกเมื่อ จำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาล และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้บันทึกไว้ ถ้าจำเลยไม่ให้การก็ให้บันทึกไว้ และให้ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์และจำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน

สำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 บัญญัติไว้ดังนี้

ข้อ 8 ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 และต้องมีข้อความเป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติ การกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิดพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้

หากโจทก์ นำตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้องให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว หากไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้อง

หมายถึงว่ากระบวนพิจารณาต้องเป็นไปตามหลักการทั่วไปของกฎหมาย คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามข้อกำหนด และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาประกอบกัน เรื่องใดที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นพิเศษก็ต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าไม่บัญญัติเป็นพิเศษต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้

ซึ่งความจริงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เขียนยกเว้นเลยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วไม่มีหน้าที่ต้องนำตัวจำเลยมาศาลด้วย เพราะการฟ้องคดีทุกเรื่องพนักงานอัยการต้องปฏิบัติตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไม่มีข้อยกเว้นเลย และศาลย่อมมี อำนาจที่จะขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวได้ ตั้งแต่วันที่ฟ้องนั้น ตามข้อกำหนดข้อ 8 วรรค 2 แสดงว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว แม้ว่าตอนฟ้องศาลจะยังไม่ได้เลือกองค์คณะผู้พิพากษาที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อมาประทับรับฟ้องก็ตามหากโจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะยังไม่อยู่ในอำนาจศาล ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นลักษณะเหมือนกับเป็นการ ผ่อนปรน เท่านั้น แต่ถึงกระนั้นโจทก์จะต้องระบุ ที่อยู่จริงของจำเลย มาในฟ้องด้วย ไม่ใช่ระบุที่อยู่ตามภูมิลำเนาในทะเบียนบ้านของทางราชการเมื่อรู้ที่อยู่จริงโจทก์ก็ต้องดำเนินการขอให้จับจำเลยมาศาลหรือขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดังได้กล่าวมาแล้วอยู่ดี ดังนั้นตามหลักสากลหรือหลักการทั่วไป โจทก์จะต้องนำตัวจำเลยมาศาลด้วย การไม่นำตัวมาศาลเป็นข้อยกเว้น

ถ้าพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาล กฎหมายไม่ได้เขียนว่าให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับจำเลย ทั้งทางปฏิบัติศาลก็ไม่มีเครื่องมือเครื่องไม้ไปจับใครต้องให้ฝ่ายบริหารไปจับตัวมานั่นแหละ แต่ในทางปฏิบัติเท่าที่ผ่านมาเมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาล จำเลยก็เข้ามามอบตัวโดยดีและขอประกันตัวออกไป จึงไม่เกิดปัญหา ศาลจึงส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยตามที่กฎหมายกำหนดได้ และสอบถามคำให้การจำเลยในนัดแรกได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังเห็นว่า คดีนี้เป็นการดำเนินคดีโดยรัฐเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำตัวจำเลยมาศาลอยู่ดี เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 70 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า ข้อกล่าวหามีมูลความจริง ตามมาตรา 66 ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

มาตรา 72 ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 66 ว่าได้กระทำความผิดตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 66 ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่เกิดการกระทำความผิดดังกล่าว ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ มีอำนาจ ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ออกหมายจับบุคคลดังกล่าวได้ หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้ โดยไม่ต้องมีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้นมีอำนาจจับกุมบุคคลดังกล่าวได้

ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่จับบุคคลไว้ส่งตัวผู้ถูกจับพร้อมทั้งบันทึกการจับมายังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภายใน 48 ชั่วโมง

มาตรา 74 เมื่อจะมีการฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 70 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มี หนังสือแจ้งผู้ถูกกล่าวหา ให้ไปรายงานตัวต่อบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายตามวันเวลาที่กำหนด

หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัวตามกฎหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา เพื่อส่งอัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณีดำเนินคดีต่อไป

การควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาและปล่อยชั่วคราวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายหรืออัยการสูงสุดแล้วแต่กรณีเป็นผู้มีอำนาจพิจารณา ทั้งนี้ให้นำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณีมาใช้บังคับโดยอนุโลม

จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มติแล้ว ก็ต้องจัดการให้ได้ตัวนักการเมืองผู้ถูกกล่าวหามาอยู่ในอำนาจเพื่อให้พนักงานอัยการฟ้องนำตัวมาฟ้องศาลนั่นเอง แต่ทางปฏิบัติก็ไม่ได้ทำ

ซึ่งคดีอาญาทั่วไปคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ปฏิบัติตามมาตรา 98 ที่ให้นำมาตรา 74 มาใช้บังคับ แต่ส่วนใหญ่จำเลยจะหลบหนีไปเสียก่อน

คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) ได้ใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศ คมช. ฉบับที่ 30 ข้อ 5 จึงควรจะต้องใช้อำนาจของตนให้สมบูรณ์ตามอำนาจหน้าที่ของ คตส. ด้วย ไม่ใช่ว่าอ้างว่า คตส.หมดอำนาจแล้วเป็นหน้าที่ของ คมช.กับรัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไป ทั้งๆ ที่ยังทำหน้าที่ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยไม่มีหนังสือเรียกหรือดำเนินการเพื่อให้จำเลยมาศาล

การจัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาเพื่อส่งพนักงานอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ คตส. ก็เป็นเรื่องฝ่ายบริหารที่ต้องดำเนินการจับกุมหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาไม่ใช่แล้วแต่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจสั่งให้ใครเข้ามาหรือไม่ให้เข้ามา หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่จับก็ต้องปฏิบัติตามอยุ่แล้ว

แม้จะไม่มาศาลในวันฟ้อง แต่มาวันอื่นจำเลยก็ต้องมาขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลถ้าจำเลยมาศาลนัดแรกแล้ว เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังและถามว่าจะให้การอย่างไรก็ต้องหมายความว่า จำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลจริงๆ สดๆ ไม่ใช่ทางจอภาพ ไม่ใช่อยู่ในสภาพไม่มีชีวิต หรือไม่มีสติที่จะรับรู้และถ้าจำเลยให้การปฏิเสธแล้วแถลงว่า จำเลยจะไม่ขอฟังการพิจารณาก็ได้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 บัญญัติว่า การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป

มาตรา 172 ทวิ ภายหลังที่ศาลได้ดำเนินการตามมาตรา 172 วรรค 2 แล้ว เมื่อศาลเห็นว่าเป็นการสมควรเพื่อให้การดำเนินการพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ในคดีที่มาตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือในคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยมีทนาย และจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน

(2) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลพอใจตามคำแถลงโจทก์ว่า การพิจารณาและสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวกับจำเลยคนใด ศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้

(3) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่งๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้

ในคดีที่ศาลพิจารณาและสืบพยานตาม (2) หรือ (3) ลับหลังจำเลยคนใดไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดห้ามมิให้ศาลรับฟังการพิจารณาและการสืบพยานที่จะทำลับหลังนั้นเป็นผลเสียหายแก่จำเลยคนนั้น

สรุป

ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจึงเห็นได้ว่า โดยหลักการแล้วเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลพนักงานอัยการมีหน้าที่นำตัวจำเลยมาศาลเสมอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ว่าศาลจะประทับฟ้องทันทีหรือไม่ก็ตาม อันเป็นหลักสากลทั่วโลก ที่อารยประเทศเขาทำกันเพราะคดีอาญาความสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลซึ่งเป็นจำเลย การไม่นำตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้องเป็นการผ่อนปรนจากหลักและถ้าศาลประทับฟ้องแล้วไม่ได้ตัวมาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรกศาลก็ต้องจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยผู้ไม่มาศาลนั้น แต่ถ้าจำเลยได้มาศาลแล้วมีการพิจารณาสืบพยานไปจนเสร็จแล้วหลบหนีไปก่อนอ่านคำพิพากษา การพิจารณาคดีที่แล้วมาก็ใช้ได้เป็นแต่ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยไป แล้วค่อยจับตัวจำเลยมาลงโทษในภายหลัง การไม่มาศาลเป็นเพียงข้อกำหนดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผ่อนผัน ให้ไม่ใช่หลักการ แต่ทุกวันนี้มีบางคนพยายามตะแบงเอาข้อกำหนดมาเป็นหลักแล้วมาเถียงกันวุ่นวายหมด ทั้งไม่ปฏิบัติให้เต็มตามหน้าที่ที่จะต้องนำตัวจำเลยมาศาล

คตส. แม้จะทำงานอย่างหนักน่าชมเชยด้วยใจจริงแต่ก็ยังทำหน้าที่ของตนไม่บริบูรณ์เพียงแต่มี มติว่าข้อกล่าวหามีมูล ซึ่งความจริงมีคนอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเมื่อรู้ตัวก็ควรดำเนินการไปพร้อมกันทั้งหมด เหมือนสอบสวนคดีคนร้าย 5 คน ร่วมกันปล้นทรัพย์จับได้ 3 คน อีก 2 คน เป็นคนดูต้นทาง พายเรือไปส่ง ก็ไม่สอบสวนให้ถึงและดำเนินคดีแก่อีก 2 คนไปพร้อมๆ กันทีเดียวกลับมีมติในข้อ 10 ให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป ทั้งๆ ที่มีบุคคลผู้เกี่ยวข้องพอที่จะดำเนินการได้ นอกจากนี้ยังไม่ดำเนินการตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เพื่อให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแจ้งผู้ถูกกล่าวหาให้ไปรายงานตัวต่อบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายตามวันเวลาที่กำหนด

ส่วนพนักงานอัยการ ใช่ว่าจะฟ้องเลยโดยไม่ดำเนินการให้ได้ตัวจำเลยมาศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 วรรค 4 หรือจัดส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 มาตรา 8 ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ

คมช. และรัฐบาล ก็อ้างไม่ได้ว่าการที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร จะเข้ามาได้หรือไม่ แล้วแต่ดุลพินิจของศาลที่จะสั่ง เพราะศาลไม่มีหน้าที่เช่นนั้น

การดำเนินคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ ใช้ระบบไต่สวน ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องคดีเอง รัฐย่อมเป็นใหญ่กว่าจำเลย ไม่ใช่จำเลยต่อสู้กันเองกับราษฎรด้วยกัน โดยหลักการรัฐย่อมเอาตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจเพื่อดำเนินคดีอาญา หลังจากฟ้องคดีแล้วจำเลยจึงมาอยู่ในอำนาจศาล กระบวนพิจารณาอยู่ในความควบคุมของศาล คตส. และพนักงานอัยการจึงควรปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจให้ดีที่สุด จนเสร็จสิ้นโดยยึดหลักการความถูกต้องเป็นบรรทัดฐานตามที่อารยประเทศเขาปฏิบัติกัน ไม่ใช่ทิ้งหลักการ ทั้งมาตรฐานที่เคยปฏิบัติจะเสียความสง่างามหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น