xs
xsm
sm
md
lg

“แม้ว” จะเลือกตรงไหนเป็นแลนดิ้งโซน ยังผวากับการเป็น “คิลลิ่งโซน”

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

การ “แกะรอย” อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ไม่ใช่เรื่องสนุกนัก เพราะดูไปทางไหน ก็มีบรรยากาศที่เขาต้องคิดว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างแน่นอน เช่น การตามผลย้อนกลับไปสู่ “ความลับบ้านม่วงคำ” อำเภอแม่จัน ที่มองเห็นแสงพอให้สร้างความสว่างเห็นที่มาของระเบิด 9 จุดในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันส่งท้ายปีเก่า 2549 แล้วยังตามกลิ่นของนักการเมืองใหญ่ของอำนาจเก่า ที่เป็นนกหลงคอน ต้องไปอาศัยเกาะคบไม้นอนที่เมืองต้นผึ้ง ในลาว...และข่าวที่ว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้าไทยมาทางด้านนี้ ก่อนจะเดินทางไปเชียงใหม่ บ้านเกิด และกรุงเทพมหานคร

ที่ เครือข่ายเตมูจิน นำมาเปิดเผยนั้น เป็นเรื่องที่มองข้ามกันไม่ได้

เพราะพูดถึงเรื่องนี้กันมากที่เชียงราย ว่าจะมาไหว้พระธาตุ 9 แห่งที่เชียงราย โดยเริ่มจาก พระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน ที่ถือว่าเป็นพระธาตุที่สร้างมาเก่าแก่กว่าพระธาตุองค์ใดในลานนาไทย แล้วไปไหว้ พระธาตุผาเงา, พระธาตุดอยตุง ข่าวก็ออกมาจากบรรดาวัดต่างๆ ว่า-ทักษิณจะกลับ หนานแม้ว จะมาไหว้สาพระธาตุ

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่เขตติดต่อของแขวงบ่อแก้วกับแขวงหลวงน้ำทาในลาว ความรุนแรงขนาด 6.1 ริกเตอร์ และยอดฉัตรของพระธาตุจอมกิตติหักลงมา ก็มีคนใจเสีย...ว่า พระธาตุองค์แรกที่จะมาไหว้นั้นฟ้าดินก็ไม่ต้อนรับการมาแล้ว พระธาตุจอมกิตติถูกสั่งปิดโดยกรมศิลปากร ห้ามผู้ใดเข้าเพราะต้องซ่อมแซม

ความคิดอย่างนี้ก็มีผลทางจิตใจอยู่ไม่น้อย

ข่าวที่ฮือฮากันก็เป็นความหดหู่ ว่าแม้กระทั่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังไม่ยอมรับ เกิดเหตุขึ้นมาก่อนโดยแผ่นดินไหว คือไม่ต้อนรับทั้งธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์


ไล่ตามแกะรอยข่าวนี้ไปก็สอดรับกับเรื่องที่แกนนำคนหนึ่งของอำนาจเก่าที่ “ทักษิณ” ไว้วางใจมาก มากบดานอยู่ที่บ้านต้นผึ้ง ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน การกบดานอยู่คนละฝั่งโขงเช่นนั้น เพื่อการเตรียมการปลุกระดมรวบรวมพลอย่างน้อย 5 หมื่นคน เพื่อรอรับการกลับสู่ถิ่นลานนาของ “ทักษิณ” โดยบรรดาลิ่วล้อหัวคะแนนของทุกอำเภอก็บอกว่า “พร้อม” และจะได้คนมากกว่า 5 หมื่นด้วยซ้ำ จากการที่มีความเกี่ยวข้องกับคนหลายหมื่นเช่นนี้ ความลับก็ไม่มีและพูดถึงการ “กลับ” กันมากที่เชียงราย ที่ “ปล่อย” กันมากไปจนดูจนเป็น “ข่าวลวง” ในเปอร์เซ็นต์สูง

แม้ว่าจะมีการปฏิเสธจากคนใกล้ชิดอย่างทนายความประจำตระกูล-นายนพดล ปัทมะ ว่า วันที่ 29 พฤษภาคมนี้ไม่ใช่วันกลับ และถ้าหากกลับก็ต้องนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ทำลับๆ ล่อๆ อย่างนั้น

แต่คนทางเชียงรายไม่เชื่อนายนพดล...เพราะคนที่เขาเชื่อก็คือคนที่มาตั้งหลักอยู่ที่บ้านหรือเมืองต้นผึ้งในลาว ที่ยังมีการสั่งความถึงบรรดาลิ่วล้อหัวคะแนน ว่าการกลับมานี้ให้มีการเตรียม “ตุง” หรือธงของลานนาไว้ให้มาก จะเป็นการรับตามประเพณีลานนาที่ให้เกียรติสูงสุด คือการ “แห่ตุง” เลยทีเดียว และสถานที่นัดหมายก็ยังเป็นที่เดิมคือ สนามบินจังหวัดเชียงราย บ้านดู่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย

ผู้ที่มีหน้าที่ติดตามข่าวของหลายๆ หน่วย ซึ่งเป็นของทางการทั้งทหารและพลเรือน ไปเกาะประกบอยู่ที่เชียงรายมากว่าครึ่งเดือนแล้ว โดยเฉพาะที่อำเภอเชียงแสน ที่มีการตรวจสอบด้าน “ข่าวกรอง” เป็นพิเศษ เพราะอยู่ใกล้ชิดติดกับฐานข่าวที่เมืองต้นผึ้ง...หรือว่ากระแสที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดเชียงราย เป็นเพียงการต่ออายุคงสภาพของนักการเมืองผู้นั้น เพื่อให้เห็นว่าเขายังเป็นคนสำคัญของอำนาจเก่า และเป็นคนที่ “ทักษิณ” ไว้วางใจมากที่สุด เป็นการสร้างราคาให้กับตัวเอง แต่หากว่ามองกลับไปอีกด้านหนึ่ง ก็เห็นว่าเป็นการสร้างภาพหรือทำให้เกิดความสับสนก็เป็นการสร้างด้วยเงินราคาสูงทีเดียว จากที่ได้จ่ายไปแล้วและที่จะต้องจ่ายอีก เมื่อกะเกณฑ์คนครึ่งแสน ตุงพันผืนมารอรับนายใหญ่ของเขา ซึ่งจะต้องใช้เงินหลายสิบล้านบาท สำหรับคนครึ่งแสน ที่มาด้วยใจและต้องกลับไปด้วยเงิน

เมื่อมีการเคลื่อนไหว ฝ่ายการข่าวทั้งหลายก็ต้องเคลื่อนตาม และต้องประเมินผล ตีค่าของข่าวอยู่ทุกระยะ, สำหรับข่าวที่จะต้องหาข้อเท็จจริงหรือความเป็นไปได้ให้มากกว่านั้น คือ ถ้าหากจะมาเหยียบไทยที่เชียงราย จะมาโดยวิธีใดและใช้เส้นทางไหน? ซึ่งยังเป็นเรื่องปกปิดกันอยู่ว่า-เส้นทางนั้นคือเส้นทาง 1-2-3 หรือ 4 แต่ไม่ใช่การดำดินแล้วมาโผล่ที่นั่น แม้ว่าจะพบพิรุธว่าเป็นการลวงให้หลงทิศ แต่ก็วางใจไม่ได้เพราะวาจามีค่าเท่าแกลบ

การตามเฝ้า-ตามดู จะยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะไม่มีอะไรมาเป็นเครื่องกำหนดข้อจริงข้อเท็จได้ แม้ว่าจะมีการปฏิเสธ ก็ต้องเป็นธรรมดาของการปฏิเสธในเชิงข่าวอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เหตุเกิดซึ่งหน้าก็ยังปฏิเสธ และหากว่า “ทักษิณ” กลับมาจริง ผู้ปฏิเสธก็จะใช้คำว่า-เป็นการตัดสินใจของตัวท่านเอง ที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า และถือว่าเป็นสิทธิที่จะทำได้ ไม่เห็นจะผิดอะไร...เท่านี้ก็จบและเคลียร์บทปฏิเสธ

การเฝ้าระวังทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย ที่เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุดนั้น เป็นเพียงการติดตามความเคลื่อนไหวเชิงการข่าว ที่นำมาประเมินเป็นอุทาหรณ์กับสิ่งที่จะเกิดตามมาอย่างทันการเท่านั้น มิได้มีการกีดกันขวางกั้นอะไร ถ้าหากว่าได้ “เข้าเมือง” อย่างถูกต้องตามกฎหมายของระเบียบ/พิธีการ การเดินทางเข้าออกพระราชอาณาจักรของคนไทยคนหนึ่ง ที่จะไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ แต่ถ้าหากเข้าเมืองอย่างลักลอบ ไม่ผ่านการประทับลงตราของด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็จะมีความผิด, การประเมินข่าวทางเชียงรายในขณะนี้ เชื่อว่าถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาทางด้านนี้ ที่กระแสข่าวกำลังจับตามองอยู่ ก็จะต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง 4 แห่งคือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่อยู่ตรงข้ามเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ของลาว ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่อยู่ตรงข้ามเมืองต้นผึ้ง ของลาวเช่นกัน และด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สาย ที่อยู่ตรงข้ามเมืองท่าขี้เหล็ก ของสหภาพพม่า ซึ่งทั้งเชียงของ เชียงแสนและแม่สาย เป็นด่านถาวรอีกแห่งหนึ่งคือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองชั่วคราวที่ใกล้สามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) ที่อยู่ตรงข้ามกับกาสิโนและรีสอร์ต “พาราไดซ์” ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงในเขตสหภาพพม่า หรือจะไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่อยู่แนวชายแดนลาว-พม่า จะมาขอประทับลงตราเป็นคนไทยกลับมาในพระราชอาณาจักรที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสนามบินเชียงรายก็ได้

เมื่อสายข่าวทั้งหมด “หาข่าว” ตามหน้าที่ของเขา ก็ต้องเข้าจับกระแสทางการข่าวที่ทำกันอยู่ว่า ประเมินผลออกมาอย่างไร เป็นข่าวสาร ข่าวดิบ ข่าวแห้ง ข่าวกรอง ในระดับไหน?

ให้ทราบว่ายังอยู่ในระดับ “ข่าวสาร” คือเป็นข่าวดิบ ยังวิเคราะห์ไม่ได้ และยังมีการมองกันว่าอาจจะเป็นการต่อต้านทางการข่าว ด้วยการสร้างข่าวลวงขึ้นมาอย่างสมจริงและพิถีพิถัน เสียทางด้านนี้ แต่การเข้ามาจริงๆ จะเป็นทางด้านอื่น เช่น การเดินทางมาจากสิงคโปร์ หรือเขมร มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ แต่การเดินทางในลักษณะนี้ ใช่ว่าเครื่องบินจะหันหัวมาลงสนามบินที่ไหนก็ได้ เพราะจะต้องมีการแจ้งเส้นทางการบินให้ประเทศเจ้าของน่านฟ้า (รวมทั้งไทย) รู้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ต้องมีเส้นทางการบินและกำหนดเวลาอย่างชัดเจน และที่แน่นอนที่สุดคือ เครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ มิใช่ของสายการบินพาณิชย์ที่มีตารางการบินปกตินั้น จะลงที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้ ต้องมาลงที่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น, การที่คนในพรรคไทยรักไทยบอกว่า ถ้าหากเจ้านายของเขาจะกลับ ก็ต้องมาลงที่ สนามบินสุวรรณภูมิ อย่างสง่าผ่าเผยนั้น เป็นการพูดไปโดยลืมข้อเท็จจริง เพราะ “ทักษิณ” นั้น มีเงินเช่าเครื่องบินเหมาลำในการเดินทางอยู่ตลอด ไม่ได้นั่งเครื่องบินของสายการบินพาณิชย์เลย และขอให้มองลึกเข้าไปว่า การกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง สำหรับเส้นทางการบินในประเทศ และเครื่องบินเช่าเหมาลำ ก็น่าจะมีเหตุผลที่มองข้ามไม่ได้คือ เครื่องบินจะต้องลงที่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น และดอนเมืองก็เป็นเขตทหารอากาศ เมื่อลงที่ดอนเมืองก็เท่ากับสั่งที่เรียกว่า “การดูแล” หรือ “การอารักขา” โดยทหารอากาศจะเป็นผู้ให้บริการ แต่จะบริการในระดับใด ก็ต้องมองย้อนกลับไปถึงสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกจี้จับบนเครื่องบิน ซี 130 แล้วนำตัวขึ้นรถหุ้มเกราะของอากาศโยธินไปบ้านรับรองกองทัพอากาศ และรับรองกันอยู่เกือบเดือน จึงยุติการให้บริการ เมื่อพล.อ.ชาติชาย ตัดสินใจว่าขอเดินทางไปอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ใครจะกล้ามาลงที่ดอนเมือง

การพูดว่าถ้าจะกลับ-ก็ต้องมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ จึงเป็นการพูดโก้ๆ หรือคิดคำตอบไม่ทันเท่านั้น


ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ก็จะทำให้มีการเทน้ำหนักกลับไปที่เชียงราย และมีคำตอบสำหรับการวิเคราะห์ของนักการข่าวว่า-ทำไมต้องเป็นเชียงราย น่าจะเป็นสนามบินเชียงใหม่มากกว่า เพราะเป็นบ้านเกิดมีมวลชนคนร่วมบ้านอยู่มากมาย ก็ได้คำตอบว่า ที่เชียงใหม่นั้น ฐานการเมืองไม่แน่นพอเท่ากับเชียงราย เพราะที่เชียงใหม่ก็มีกลุ่มปฏิเสธทักษิณอยู่ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงเหมือนกับที่กรุงเทพมหานคร และที่เชียงใหม่เป็นจุดใกล้พี่ใกล้น้องมากเกินไป หากมีอะไรที่ไม่เป็นปกติเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ญาติพี่น้องก็จะพลอยลำบากไปด้วย, ส่วนที่เชียงรายนั้น ไม่มีกลุ่มต่อต้านปฏิเสธทักษิณ เรียกว่าเหมาหมดได้ทั้งเชียงรายและพะเยา ถือว่าศักยภาพการจัดตั้งของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” มีอยู่สูงกว่าที่ใดๆ ในภาคเหนือ และเป็นจุดที่อยู่ใกล้ทั้งสหภาพพม่าและลาว ในการจะใช้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้มากกว่าและเหมาะสมกว่าเชียงใหม่

จึงทำให้ฝ่ายการข่าว “ประเมิน” ออกมาว่า ถ้าหากเลือกเชียงรายเพราะเหตุนี้ และสามารถวิเคราะห์กันออกมาได้ในประเด็นใหญ่คือ-ถ้าหากว่ายังมีความหวั่นไหว มีความกลัวอยู่อย่างนี้ แล้วจะกลับมาทำไม?

ถ้าหากกลับมาด้วยความกลัว ก็ต้องถือว่า ในความกลัวนั้นต้องมีความคุ้มค่าหรือเกินค่าอย่างที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง และสิ่งที่ว่า “คาดไม่ถึง” นั้นคืออะไร? และจากการวิเคราะห์ต่อไปของนักการข่าวของฝ่ายความมั่นคง ก็คือจะใช้สถานการณ์ของการกลับแบบแหย่ๆ เท้าเข้ามา โดยพร้อมที่จะชักเท้ากลับเข้าไปในลาวหรือสหภาพพม่า หากว่าเกิดความผิดปกติ ก็อาจจะนำมาซึ่งเหตุผลของการ “ขอลี้ภัยการเมือง” มีที่พำนักอย่างถาวรอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นประเทศอังกฤษ โดยการเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองเสียก่อน ที่จะตกเป็นจำเลยในศาลนั้น เป็นหนทางอย่างหนึ่งที่ทำให้ไม่ต้องตกอยู่ในฐานะ “ผู้ร้ายข้ามแดน” ที่ถูกออกหมายจับ เมื่อมีการนำคดีฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของนักการเมือง แล้วไม่มีตัวจำเลยมาพร้อมฟ้องของอัยการ ศาลประทับรับฟ้องได้ แต่จะดำเนินในกระบวนการพิจารณาไม่ได้ เพรราะไม่มีตัวจำเลย จึงต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ นำตัวจำเลยมาศาล ในขณะนั้น ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ก่อน และมีการเข้ากระบวนการพิจารณาในศาลต่อไปได้ เมื่อมีตัวจำเลยมาศาลภายในอายุความ 20 ปี

เมื่อมองไปตามนี้ ก็พอประเมินได้ต่อไปว่า ไม่มีความตั้งใจที่จะกลับมาเพื่อต่อสู้คดี แต่จะกลับมาเพียงการสร้างฉากเพื่อเป็นเหตุผลของการต้องขอลี้ภัยการเมืองอย่างถาวร เพราะได้พยายามจะกลับแล้วแต่มีอุปสรรคหรือเกรงว่าจะเกิดอันตราย...ซึ่งนี่เป็นการนำผลของการข่าวมาประเมินและวิเคราะห์ตามสภาพแวดล้อมเท่านั้น

ที่ “การข่าว” ใดๆ จะต้องมีเหตุผลเชื่อมโยง และมีคำตอบได้เสมอ เพื่อเป็นน้ำหนักของข่าว-เช่น

1. ด้วยเหตุผลที่ว่าการแหย่เท้าเข้ามาและเลือกเชียงราย เพราะว่ามีความเหมาะสมหลายๆ ด้าน และมีทางออกไปสู่สหภาพพม่าและลาวได้อย่างทันที เป็นทางเลือกที่มีทางหลบมากกว่าเชียงใหม่ดังกล่าว คือพูดง่ายๆ ว่า-เมื่อจะเข้ามาแล้ว เหตุใดจึงต้องมีการคิดไว้สำหรับทางหนี? จึงต้องมองและศึกษาให้ลึกลงไปว่า-ถ้าหากกลัว, ในความกลัวนั้นคืออะไร? กลัวการปฏิวัติซ้ำ หรือ ปฏิวัติซ้อน หรือ-ก็น่าจะไม่ใช่ เพราะสองประการนี้เกิดขึ้นได้ยาก ไม่มีปัจจัยใดที่สนับสนุนว่าควรเป็นเช่นนั้น

2. การประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นสิ่งที่สมควรใช้หรือใกล้จะถูกนำมาใช้แล้ว โดยในพระราชกำหนดนี้ใช้คำเรียกสั้นๆ ในบทบัญญัติว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” มีการอธิบายความหมายของสถานการณ์ฉุกเฉินว่า “หมายความว่าสถานการณ์อันตราย หรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน...” ข้อความนี้อยู่ในมาตรา 4 และวรรคท้ายของมาตรานี้คือ “พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่าผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้”

มาตรา 5 “เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันช่วยเหลือ ป้องกัน แก้ไข ปราบปรามหรือระงับยับยั้ง” ความในข้อนี้ จึงเท่ากับว่า มีการใช้อำนาจได้ก่อนที่จะมีเหตุการณ์/สถานการณ์ โดยมีเหตุอันสมควรโดยไม่ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่โตขึ้นก่อน

มาตรา 9 เป็นมาตราที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ในการออกข้อกำหนดรวม 6 ข้อ

เช่น การห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานในระยะเวลาที่กำหนด, การห้ามชุมนุมมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือการกระทำใดที่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, การห้ามเสนอข่าว การจำหน่ายหรือแพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร, การห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ (ซึ่งในข้อนี้ อาจจะหมายถึงการห้ามเครื่องบินของ “ทักษิณ” มาลงสนามบิน?), การห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปในสถานที่ใดๆ และการให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด โดยนายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจออกข้อห้ามข้อใดข้อหนึ่งโดยเฉพาะแก่กรณีได้

มาตรา 11 มีการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกระดับหนึ่งเรียกว่า “เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง” และมีอำนาจอีก 10 ข้อ เมื่อเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และมีข้อที่ 10 เป็นเรื่องของการใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเหลือฝ่ายปกครองหรือดำรงระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน และในข้อ 1 ของการใช้อำนาจนี้ มีความว่า “ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัว บุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน...”

มาตรา 12 เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากคือ “ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยตามประกาศในมาตรา 11 (1) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ ร้องขอต่อศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนด ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขังทัณฑสถานหรือเรือนจำ หากมีความจำเป็นต้องควบคุมต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมต่อได้อีกคราวละ 7 วัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกิน 30 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว หากต้องควบคุมต่อไปให้ดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

3. วิเคราะห์ในสิ่งที่จะเป็นไป โดยมองในข้อ 2 ทั้งหมดแล้ว เชื่อว่า-ยังไม่กล้ากลับมาหรือการกลับมาก็จะเป็นเหตุผลเฉพาะกิจเพื่อขอเป็นผู้มีฐานะเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ และมองอย่างเผื่อขาดเผื่อเหลือว่า ถ้าหากทำอย่างนั้นเป็นการลงทุนสูงและเสี่ยงมาก หากว่ามีการประกาศใช้พระราชกำหนดนี้ขณะอยู่ในเมืองไทย (เชียงราย?) ก็มีช่องทางเผ่นออกไปได้ทั้งทางเหนือคือสหภาพพม่าที่เมืองท่าขี้เหล็ก หรือทางตะวันออก ข้ามแม่น้ำโขงไปเมืองต้นผึ้งในลาว คงไม่ยอมให้เป็นไปตามมาตรา 12 อย่างแน่นอน

คงไม่คิดว่าที่เชียงรายเป็นจุดที่ปลอดภัยกว่าจุดอื่นเพราะ พล.ต.กานนท์ บุญริ้ว ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ด้วยกัน, เพราะพล.ต.กานนท์ ที่เลื่อนจากรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย เมื่อ 1 เมษายนนี้นั้น เป็นผู้ที่ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ให้คุมพื้นที่ทางตอนนี้ไว้ เพราะเป็นพื้นที่ล่อแหลมเห็นว่าจะมีปัญหา...ระหว่างการเป็น “เพื่อนทักษิณ” กับเป็น “น้องพี่สพรั่ง” นั้น-พล.ต.กานนท์ เป็นอย่างหลัง 100%
กำลังโหลดความคิดเห็น