xs
xsm
sm
md
lg

ม.ขอนแก่นดัน"แก่นตะวัน"พืชเศรษฐกิจใหม่ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ/พลังงานทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิชาการม.ขอนแก่น วิจัยสมุนไพรมหัศจรรย์ "แก่นตะวัน" พบมีประโยชน์สูงทั้งสรรพคุณทางยาและสกัดเป็นพลังงานทดแทน ชี้ หัวแก่นตะวัน มีสาร อินนูลิน ช่วยลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน มั่นใจเกิดผลเชิงพาณิชย์พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเร่งต่อยอดวิจัย หาลู่ทางแปรรูปเป็นเอทานอล ดันจัดงาน "ทุ่งแก่นตะวันบาน" กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หาลู่ทางหน่วยงานรัฐส่งเสริมปลูกเป็นพืชประจำจังหวัดขอนแก่น

รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ถึงงานวิจัยพืช แก่นตะวัน ว่า จากการวิจัยตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา "แก่นตะวัน" หรือ Jerusalem artichoke ซึ่งเป็นพืชเมืองหนาวมีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อปรับปรุงพันธุ์จนเหมาะสมต่อการปลูกในเขตร้อนเมืองไทย พบว่าเป็นพืชอีกชนิดที่มีศักยภาพสูง สามารถส่งเสริมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้

ลักษณะของต้น แก่นตะวัน เป็นพืชใกล้ชิดกับทานตะวัน มีดอกสีเหลืองสดใส คล้ายดอกบัวตอง และดอกทานตะวัน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีหัวใต้ดินคล้ายกับมันฝรั่งเพื่อเก็บสะสมสารอาหาร ซึ่งหัวของแก่นตะวัน จากการวิจัยพบว่า เป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง

ทั้งนี้ อินนูลิน ประกอบด้วยน้ำตาลฟรักโตสมีโมเลกุลยาว จับยึดไขมันในเส้นเลือดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไขมัน Cholesterol Triglyceride และ LDL จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ขณะที่แก่นตะวัน ให้แคลอรีต่ำ ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน

ที่สำคัญ อินนูลิน เป็นสารเยื่อใยอาหาร จะไม่ถูกย่อยในกระเพาะ และลำไส้เล็ก อยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว กินอาหารได้น้อย จึงช่วยลดความอ้วน นอกจากนี้ อินนูลิน จะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น Coliforms และ E.Coli แต่จะเสริมการทำงานของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคือ Bifidobacteria และ Lactobacillus จึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดีขึ้น

"ข้อมูลเบื้องต้น ที่ได้จากการสอบถามผู้ที่บริโภค หัวแก่นตะวันสด เป็นประจำ พบว่าเมื่อรับประทานหัวแก่นตะวัน จะรู้สึกอิ่ม กินอาหารน้อยลง ระบบขับถ่ายดี ไม่มีปัญหาท้องผูก และช่วยลดอาการจุกเสียดแน่น และแก้อาการท้องเสียได้ ส่วนผลทางอ้อม ทำให้สุขภาพในช่องปากดี ลดกลิ่นปากจากเชื้อแบคทีเรียในช่องปากและในระบบลำไส้ได้"รศ.ดร.สนั่น กล่าวและว่า

สรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพดังกล่าว ทำให้ แก่นตะวัน ได้รับความสนใจ เพราะเข้ากับกระแสรักษ์สุขภาพ สังคมกำลังให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพจากสมุนไพร ที่ผ่านมา การทดลองปลูกแก่นตะวันพันธุ์ 1 ที่แปลงสาธิตคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีประชาชนที่ทราบถึงสรรพคุณของหัวแก่นตะวัน ติดต่อซื้อ หัวสด ไปบริโภคในลักษณะผักสด หรือประกอบอาหารเหมือนผักทั่วๆไป จนไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เชื่อมีลู่ทางแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ยังมี บริษัท แก่นตะวัน ไบโอเทค จำกัด เห็นความสำคัญของพืชชนิดนี้ นำต้นพันธุ์ไปส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตจังหวัดลพบุรีปลูกจำนวนมาก ในลักษณะ คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง โดยนำไปแปรรูปเป็นซุปหัวแก่นตะวัน สลัดบาร์แก่นตะวัน ฯลฯ จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตในเขตกรุงเทพฯ และได้รับการตอบรับจากตลาดกลุ่มเป้าหมายสูงมาก

ลู่ทางการนำไปใช้ประโยชน์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากประเทศแถบยุโรป มีผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนจากพืชชนิดนี้แล้ว ส่วนในประเทศไทย เริ่มมองเห็นคุณประโยชน์พืชชนิดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ น่าจะวิจัยเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ให้เหมาะกับสภาพการเพาะปลูก การตลาดที่เหมาะกับสภาพพื้นที่เท่านั้น

ปัจจุบันกระแสตื่นตัวด้านการวิจัยพืชแก่นตะวัน มีสูงมาก โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กำลังวิจัย เพื่อใช้ประโยชน์จากดอกแก่นตะวัน รองรับอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้ง ส่วนกรมวิชาการเกษตร นำแก่นตะวัน ไปวิจัยพัฒนาให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ

ส่วนคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์แก่นตะวันให้หลากหลาย รองรับการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสายพันธุ์ ให้มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่สั้นลงให้เหลือเพียง 100 วัน จากเดิม 120 วัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกแก่นตะวันได้ถึงปีละ 3 ครั้ง

รุกต่อยอดวิจัยแก่นตะวัน-ผลิตเป็นเอทานอล

ขณะเดียวกัน แก่นตะวัน ยังมีประโยชน์ในฐานะวัตถุดิบแปรรูปเป็นเอทานอล พลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศ ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า หัวแก่นตะวัน เป็นพืชให้น้ำตาล สามารถใช้จุลินทรีย์หมักเป็นเอทานอลได้ โดยหัวแก่นตะวันสด 1 ตัน สามารถหมักเป็นเอทานอลได้ 80 ลิตร ซึ่งสูงกว่าอ้อย 1 ตันที่สามารถหมักเป็นเอทานอลได้ประมาณ 65-70 ลิตร แต่ก็ยังต่ำกว่าหัวมันสำปะหลังสด 1 ตันที่หมักเป็นเอทานอลได้ถึง 160 ลิตร

สำหรับอุปสรรคของการแปรรูปแก่นตะวันเป็นเอทานอล พบว่า ยังมีต้นทุนการจัดการเพาะปลูกค่อนข้างสูงถึง 3,000-4,000 บาท/ไร่ ขณะที่ผลผลิตแก่นตะวันยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำประมาณ 2.5-4 ตัน/ไร่ กอปรกับราคาขายเมื่ออิงกับการนำไปบริโภคสดราคาจึงค่อนข้างสูง ไม่เหมาะที่จะนำไปแปรรูปเป็นเอทานอลในระยะนี้ จำเป็นต้องหาทางเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น เพื่อให้ราคารับซื้อต่ำลง จึงจะเหมาะกับการผลิตเป็นพลังงานทดแทน

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ทุน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสนับสนุนงานวิจัยแก่นตะวัน รองรับการผลิตเป็นพลังงานทดแทน โดยมีกรอบเวลาศึกษาตั้งแต่สิงหาคม 2549 ถึงสิงหาคม 2550 ผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ จะเกิดองค์ความรู้เพิ่ม เกี่ยวกับวิธีการผลิตแก่นตะวันในเชิงอุตสาหกรรม รู้ถึงกระบวนการผลิตเอทานอลจากแก่นตะวัน รวมถึงต้นทุนการผลิตเอทานอลอีกด้วย

ดันจัดงานทุ่งแก่นตะวันบานกระตุ้นท่องเที่ยว

รศ.ดร.สนั่น กล่าวต่อว่า จุดที่น่าสนใจคือ ดอกแก่นตะวัน มีสีเหลืองสดใส คล้ายกับดอกบัวตอง หรือดอกทานตะวัน มีความสวยงามไม่ต่างจากทุ่งบัวตอง หรือทุ่งทานตะวัน ศักยภาพดังกล่าว สามารถส่งเสริมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น โดยคณะเกษตรศาสตร์ ได้เตรียมจัดงาน "ทุ่งแก่นตะวันบาน" ในวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคมนี้ ณ แปลงสาธิตแก่นตะวัน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภายในงานจัดให้มีการแข่งขันวาดภาพและถ่ายภาพแก่นตะวัน การอบรมเกี่ยวกับการเพาะปลูก การตลาด และประโยชน์ของแก่นตะวัน รวมทั้งจัดแสดงอาหารที่ปรุงจากหัวแก่นตะวันและให้ทดลองชิมด้วย โดยจะมีการหารือกับนายปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในแง่การส่งเสริมเพาะปลูกแก่นตะวัน ให้เป็นพืชประจำจังหวัดขอนแก่นอีกชนิด

ทั้งนี้ เนื่องจาก แก่นตะวัน มีดอกสีเหลือง ตรงกับสีประจำจังหวัดขอนแก่น ประกอบกับแก่นตะวัน ยังเป็นพืชชนิดใหม่ ที่ยังไม่มีการปลูกแพร่หลาย แต่เป็นพืชที่มีลู่ทางในการเพาะปลูกรองรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้ โดยจะมีงานวิจัยจากนักวิชาการและหน่วยงานต่างๆออกมารองรับอย่างต่อเนื่อง

การส่งเสริมปลูกแก่นตะวัน จึงน่าจะเป็นโอกาสดีของเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น เพื่อเสริมสร้างรายได้และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แนวทางการส่งเสริมเบื้องต้น น่าจะส่งเสริมปลูกในแปลงขนาดใหญ่ ควบคู่กับการเลี้ยงผึ้งไปด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายน้ำผึ้ง และรองรับด้านการท่องเที่ยว ส่วนในอนาคตน่า จะเกิดอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์สุขภาพและพลังงานทดแทนมารองรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น