ศูนย์ข่าวศรีราชา - เผยปัจจัยลบฉุดตัวเลข GPP หรือผลิตภัณฑ์จังหวัดในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกที่ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราดลดลงต่อเนื่องนับ ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เพราะการกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งขาดการวางแผนและเชื่อมโยงระหว่างกัน ส่งผลให้แต่ละจังหวัดไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ ที่สามารถส่งต่อให้เป็นวัตถุดิบระหว่างกันได้
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตัวเลข GPP หรือผลิตภัณฑ์จังหวัดในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2545 -2549 ระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ "การพัฒนาศักยภาพจังหวัด และการพึ่งพาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัด" ซึ่งสำนักงานคลังจังหวัดชลบุรี จัดขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดชลบุรี ว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐ ที่ให้ความสำคัญระดับประเทศจนไม่สามารถบอกได้ว่า จังหวัดใดมีศักยภาพในการผลิตสินค้าใด
รวมทั้งยังขาดการวางแผนและการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด โดยเห็นได้จากการจัดทำ GPP ของแต่ละจังหวัดขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน นอกจากนั้น การจัดทำ GPP ของแต่ละจังหวัด ในช่วงที่ผ่านมาเป็นการมองปัญหาเพียงด้านเดียว คือ การมุ่งเน้นเพียงการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่มองถึงผู้บริโภคและต้นทุนในการขนส่ง นอกจากนั้น ยังลืมคิดต่อไปว่าเมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้ว กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและตลาดสำคัญคือใคร
"จุดประสงค์ของการบรรยายในวันนี้ อยู่ที่การขยายแนวคิดและแนวทางในการทำงานให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออก เพื่อเสนอแบบจำลองเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ทุกภาคส่วนพึ่งพาตนเองได้ เพราะปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดยังต่างคนต่างทำ ซึ่งหากสามารถรวมกลุ่มการพัฒนาร่วมกันได้ หมายถึงจังหวัดหนึ่งอาจผลิตวัตถุดิบชนิดหนึ่ง เพื่อป้อนให้แก่จังหวัดหนึ่งสำหรับผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งนั่นหมายถึงการเน้นการผลิตที่เชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดให้สามารถเดินไปด้วยกันได้ ทั้งภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและการเกษตร"
สำหรับแบบจำลองที่จัดทำเพื่อเสนอต่อที่ประชุมในครั้งนี้ เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับสินค้าส่งออก-นำเข้าที่สำคัญของแต่ละจังหวัด ต้นทุนการขนส่ง รวมทั้งการทำโปรแกรมเพื่อคำนวณว่า นโยบายใดของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ ภายใต้บทสรุปสำคัญที่การนำเม็ดเงินที่ได้จากการจัดสรรงบประมาณมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งยังก่อให้เกิดการกระจายงบปร ะมาณสู่ภาคการผลิตต่างๆ อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายพัฒนากลุ่มจังหวัดที่ถูกต้องจะต้องคำนึงถึง 1.ความเป็นอยู่ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม 2.การพัฒนา SMEs ให้มีความเข้มแข็งและเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งจะต้องเป็นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3.จะต้องพิจารณาถึงความเข้มแข็งของผู้บริโภคในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร โดยพิจารณาผลกระทบจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของค้าปลีกยักษ์ใหญ่ส่วนกลางและต่างชาติ โดยดูว่ามีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นอย่างไร