xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวเขย่าขวัญคนกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ชาวกรุงฯตื่นตกใจ แผ่นดินไหวที่พรมแดนลาว-พม่า รู้สึกได้ถึงกรุงเทพฯหนีตายลงจากตึกสูงกันอลหม่าน ธุรกิจเอกชนประกาศเลิกงานอย่างกระทันหัน ส่งผลจราจรติดขัดอย่างหนัก เผยวัดแรงสั่นสะเทือนถึง 6.1 ริกเตอร์ “สมิทธ” ระบุรุนแรงสุดเท่าที่เคยเกิดในภาคเหนือ อาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้งตามมา สำรวจพบเชียงรายเสียหายหลายจุด ยอดฉัตร “พระธาตุจอมกิตติ” โบราณสถานสำคัญอายุกว่า 500 ปีหักโค่น อาคารร้าว ส่วนกรุงเทพฯไม่พบความเสียหายโดยตรง แต่มีผลทางอ้อม ก.ล.ต.กุมขยัม บริษัทจัดการกองทุนรวมหลายแห่ง ยกเลิกประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

เกิดเหตุแผ่นดินไหวต่อเนื่องกันหลายครั้งวานนี้(16พ.ค.) โดยศูนย์กลางอยู่บริเวณพรมแดนลาว-พม่าห่างจาก จ.เชียงราย ประมาณ 95 กิโลเมตร หรือละติจูดที่ 21.1 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 100.32 องศาตะวันออก ซึ่งรู้สึกได้ในหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมถึงกรุงเทพมหานคร
ครั้งที่รุนแรงที่สุดวัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 6.1 ริกเตอร์ เมื่อเวลาประมาณ 15.57 น. ซึ่งสร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนที่กำลังทำงานและพักอาศัยในอาคารสูงทั่วทุกย่านของกรุงเทพฯพากันหนีจากออกจากตัวอาคารกันจ้าละหวั่น
นายสมิทธ ธรรมโรช ประธานอำนวยการศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมาจากบริเวณรอยเลื่อนแม่จันที่อยู่บริเวณประเทศลาว ห่างจากอำเภอเชียงของประมาณ 60 กิโลเมตร ถือว่าครั้งนี้ เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประสบมาในภาคเหนือ(อ่านสถิติแผ่นดินไหวของไทย) 
นอกจากนี้ยังได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “อาฟเตอร์ช็อก” ตามมาอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาตามธรรมชาติของการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งก่อนหน้านี้ เวลา 02.00 น. และเวลา 21.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาแล้ว ขนาดความรุนแรง 4.1 และ 4.2 ริกเตอร์ ซึ่งหมายถึงว่ายังคงมีพลังงานสะสมอยู่ในรอยเลื่อนดังกล่าว
นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขนาด 6.1 ริกเตอร์ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวขนาดกลางที่ลึกลงไปใต้ดินไม่มากนัก นอกจากประชาชนที่อยู่บริเวณจังหวัดเชียงรายจะรู้สึกได้แล้ว ยังรู้สึกได้ในจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
“รอยเลื่อนแม่จัน เป็นรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ จึงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวอยู่เป็นระยะ”นายอภิชัยกล่าว
ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าแผ่นดินไหวจะรู้สึกได้ถึงกรุงเทพฯ แต่เคยเกิดขึ้นแล้ว ไม่น่ามีปัญหา ส่วนที่แผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ มากยังรู้สึกถึงได้นั้น มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแผ่นดินไหวจะมาถึงและเมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯ แล้ว เนื่องจากกรุงเทพฯ มีชั้นดินอ่อน คลื่นแผ่นดินไหวก็จะขยาย 3-4 เท่าของการสั่นสะเทือน
“ ผู้ที่อยู่บนตึกสูงประมาณ 10 ชั้นขึ้นไป จะรู้สึกว่าตัวโยกแต่ไม่น่ามีอะไรรุนแรง สำหรับอาฟเตอร์ช็อกที่จะตามมาของแผ่นดินไหวขนาด 6.1 ริกเตอร์นั้น ก็มีขนาดเล็กกว่า”
  **ระทึกอาคารสูงทุกย่านในกรุงเขย่าขวัญ  
        นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีรายงานจากประชาชนเข้ามาถึงทุกย่าน อาทิ สีลม คลองเตย เพชรบุรี เพลินจิต ซึ่งขอย้ำให้ประชาชนมั่นใจและอย่าตื่นตระหนัก สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของ กทม. กระจายอยู่ทั่ว กทม.ทั้ง 50 เขต ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือ หากเกิดกรณีอัคคีภัย หรือสิ่งของเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหว หรือช่วยชีวิต
รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทเอกชนหลายแห่งทั้งที่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง เช่น สีลม สาทร สุขุมวิท พระราม 3 และ อยู่ห่างออกมาต่างประกาศให้พนักงานที่กำลังทำงานอยู่หนีลงจากตัวอาคาร บางบริษัทอนุญาตให้พนักงานเลิกงานทันทีเพื่อความปลอดภัย ซึ่งการอพยพคนจากอาคารสูงบางแห่งก็ชุลมุนวุ่นวาย เพราะกรูกันลงมา
เมื่อออกมาพ้นตัวอาคารอยู่ด้านล่างต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางส่วนก็แยกย้ายโดยสารรถไฟฟ้าจนทำให้การใช้บริการแน่นขนัด ขณะที่การจราจรซึ่งวานนี้เป็นวันเปิดเทอมวันแรกก็ติดขัดอย่างหนักเช่นกัน
ที่ตึก SM ทาวเวอร์ ถ.พหลโยธิน เวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ที่อยู่บนอาคารกล่าวกับผู้สื่อข่าวว้า รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารได้แจ้งให้ทุกสำนักงานภายในตึก ขนย้ายคนออกจากตัวอาคาร ทำให้อาคารสำนักงานต่างๆ ภายในตึกต้องเลิกทำการอย่างกะทันหัน       
        เช่นเดียวกันคนซึ่งทำงานอยู่ที่ อาคารวิทยาลัยการจัดการมหิดล (CMMU) ริมถนนวิภาวดีรังสิต เยื้องแฟลตดินแดง บอกว่า เวลาประมาณ 16.00 น ก็รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนโดยทุกคนที่ทำงานในตัวอาคารได้เกิดอาการเหมือนกันคือเวียนศรีษะ เนื่องจากรู้สึกว่าอาคารสั่นอย่างแรง ผ้าม่านปลิว และ มีตัวอาคารเริ่มสั่นแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยอาคารดังกล่าวมีความสูง 25 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในย่านนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ทุกคนต่างทยอยกันออกจากตัวอาคารทันที
ขณะเดียวกันที่อาคารธนาลงกรณ์ ปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นที่ทำการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นอาคารสูง 25 ชั้น ได้มีการแจ้งเตือนข้าราชการและคนที่อยู่ในตึกให้อพยพออกจากตัวอาคารให้หมด เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหว ทำให้เกิดโกลาหลขึ้น หลายคนกล่าวถึงความรู้สึกว่ารู้สึกเวียนศีรษะเหมือนไม่สบาย แม้เหตุการณ์จะสงบ ข้าราชการส่วนใหญ่เกิดความกลัวไม่กล้าที่จะขึ้นมาทำงานต่อ จึงเดินทางกลับบ้านรวมทั้งคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกำลังนั่งเซ็นเอกสารอยู่บนชั้นที่ 23 สำนักรัฐมนตรี เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าเกิดแผ่นดินไหว จึงได้ออกจากตึกเช่นกัน       
**เชียงรายยอดพระธาตุจอมกิตติหัก-อาคารร้าว
การสำรวจความเสียหายเบื้องต้นพบว่า ในเขตกรุงเทพฯยังไม่พบความเสียหาย และผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ในพื้นที่ จ.เชียงราย มีรายงานว่า แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นเวลา 35 วินาที ทำให้อาคารสำนักงานและตึกสูงได้รับความสั่นสะเทือนเป็นอย่างมาก จนทำให้ยอดพระธาตุจอมกิตติที่ตั้งอยู่บริเวณ อ.เชียงแสน แตกร้าวและหักลงมา
ส่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีรอยร้าว หลังคาตกลงมาได้รับความเสียหายหลายแผ่น รวมทั้งฐานของอาคารธนาคารออมสิน สาขาเชียงของเกิดรอยร้าวเช่นกัน
นอกจากนี้ในเขตอ.เมือง พบว่าคนไข้และชาวบ้านได้วิ่งหนีลงมาจากอาคารชั้น 3 โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ผู้ใช้รถต่างจอดรถกลางถนนหลายสาย ด้วยความแตกตื่น
    อาคารการเคหะแห่งชาติ ถนนอุตรกิจ สูง 6 ชั้น บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งรายมหาราช เขตเทศบาลนครเชียงราย มีผิวปูนซีเมนต์ กระเทาะหลายจุด ที่บริเวณห้องน้ำด้านล่าง
คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้กรมศิลปากรเร่งสำรวจความเสียหายของพระธาตุจอมกิตติโดยด่วนที่สุด เพราะพระธาตุแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญมาก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธียกยอดฉัตรขององค์พระธาตุจอมกิตติเมื่อปี พ.ศ.2519
นายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เบื้องต้น พบว่าพระธาตุจอมกิตติ ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี สร้างตามแบบศิลปะล้านนา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ได้พังถล่มลงมามีความเสียหายมาก ยอดฉัตรได้หักพังลงมา ส่วนองค์พระธาตุก็เกิดรอยร้าว
ด้านนายบุญสนอง สุชาติพงศ์ โฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบเขื่อนว่าได้รับความเสียหายหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขื่อนขนาดเล็ก แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากการสร้างเขื่อนได้ออกแบบไว้ให้ทนต่อแผ่นดินไหวถึง 7 ริกเตอร์

**แนะวิธีสู้ภัยพิบัติแผ่นดินไหว
      ทั้งนี้ มีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่อยู่บนตึกสูง ว่า หากเกิดแผ่นดินไหว ให้หลีกให้ไกลจากวัสดุของมีคม หากมีท่อแก๊สหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไอระเหยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดการติดไฟได้ ให้ปิดวาล์วทันที หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้สายไฟฟ้าที่อาจจะพาดผ่านถึง และรีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด อีกทั้งไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณที่มีกระจก ซึ่งอาจจะแตกร้าวใส่ตัวได้
นอกจากนี้ อย่าแย่งกันวิ่งหนีออกจากตึกหรือลงลิฟต์ แต่ให้ลงบันไดและมีสติให้มาก โดยหลักปฏิบัติของประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ๆ สำหรับกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง จะไม่ให้วิ่งออกจากตัวอาคาร แต่ให้หลบใต้โต๊ะที่แข็งแรงหรือข้างตู้ วัสดุที่แข็งแรง
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. ให้สัมภาษณ์พิเศษทางโทรศัพท์จากประเทศสหรัฐอเมริกาว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจเพราะสปภ.กทม.ได้มีการซักซ้อมการรับมือหากตึกสูงต่างๆเกิดอาการสั่นไหวตลอดเวลา หากประชาชนที่มีข้อมูลหรือสงสัยการสั่นไหวของอาคารที่อยู่จากเหตุการณ์นี้ ให้แจ้งเข้ามายังหมายเลข 1555 ซึ่งกทม.จะส่งเจ้าหน้าที่สปภ.และเจ้าหน้าที่โยธาเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างของอาคาร

**ก.ล.ต.กุมขมับ-กระทบกองทุนรวม
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ระบุว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหววานนี้ ส่งผลทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีสำนักงานอยู่ในอาคารสูงหลายแห่งไม่สามารถเข้าอาคารได้ หรือผู้บริหารของบลจ.มีนโยบายให้พนักงานหยุดการทำงานเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน หรือมีเหตุสุดวิสัยอื่นใดซึ่งเป็นจากซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) ราคาขาย ราคารับซื้อคืน ในวันทำการดังกล่าวได้ รวมถึงการประกาศมูลค่าดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานก.ล.ต.กำหนด
อย่างไรก็ตาม สำนักงานก.ล.ต.ได้สั่งการให้บลจ.ทุกแห่งทำการคำนวณ NAV ราคาขาย ราคารับซื้อคืนของวันที่ 16 พ.ค. 50 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 พ.ค.50 ก่อนเวลา 12.00 น. และต้องลงประกาศในหนังสือพิมพ์ในวันทำการถัดไป ในส่วนของการซื้อขายหน่วยลงทุนที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 พ.ค.50 ยังคงใช้ราคาของวันดังกล่าวตามปกติ
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่บนถนนสาธร กล่าวว่า บริษัทจะประกาศเอ็นเอวีของกองทุนรวมภายใต้การบริหารเป็นวันถัดไป เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น มีการขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนออกจากตึกเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่คำนวนเอ็นเอวีตามปกติที่จะต้องคำนวนทุกวัน
นายจุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายการตลาด-กองทุนรวม บลจ.ไอเอ็นจี ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่บนตึกสินธร ถนนวิทยุ กล่าวว่า บริษัทไม่มีการประกาศเอ็นเอวีเช่นกัน แต่ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของเอ็นเอวีสำหรับกองทุนที่ถืออยู่ได้ทางเว็บไซด์ของบริษัท

*****
(ล้อมกรอบหน้าต่อ)

สถิติการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในไทย
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า สถิติการเกิดแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 5 ริกเตอร์ขึ้นไป ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างปี 2518-2549 รวม 8 ครั้ง ได้แก่
-วันที่ 17 ก.พ.2518 แผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก รู้สึกได้ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ มีความเสียหายเล็กน้อย
-วันที่ 15 เมษายน 2526 แผ่นดินไหวขนาด 5.5 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี รู้สึกแผ่นดินไหวชัดเจนในกรุงเทพฯ
-วันที่ 22 เมษายน 2526 แผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี รู้สึกแผ่นดินไหวตลอดภาคกลางและภาคเหนือหลายคนตื่นตระหนก เสียหายเล็กน้อยแก่อาคารใน กทม.
-วันที่ 22 เมษายน 2526 แผ่นดินไหวขนาด 5.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี แผ่นดินไหวเกิดภายหลังของเหตุการณ์แรก
-วันที่ 11 กันยายน 2537 แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่อำเภอพาน จ.เชียงราย รู้สึกได้ที่ อ.สรวย อ.พาน จ.เชียงราย มีความเสียหายกับสิ่งก่อสร้างใกล้ศูนย์กลาง เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัด ใน อ.พาน จ.เชียงราย
-วันที่ 9 ธันวาคม 2538 แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่อำเภอร้องกวาง จ.แพร่ รู้สึกได้ที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ และน่าน เสียหายเล็กน้อยที่ จ.แพร่
-วันที่ 21 ธ.ค.2538 แผ่นดินไหวขนาด 5.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่อำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ รู้สึกได้ที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน เสียหายเล็กน้อยใกล้ศูนย์กลาง เสียชีวิต 1 คน เพราะล้มศีรษะกระแทกพื้น
-ครั้งล่าสุดวันที่ 13 ธันวาคม 2549 แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รู้สึกที่ อ.แม่ริม อ.สันทราย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย
กำลังโหลดความคิดเห็น