xs
xsm
sm
md
lg

โทนี่ แบลร์

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช

โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษลาออกจากตำแหน่งโดยรักษาวาจาสัตย์อย่างเคร่งครัด

ตอนที่เขาได้รับเลือกตั้งเข้าสภาโดยพรรคกรรมกรให้ลงเลือกตั้งที่เมือง Sedgefield ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษนั้น

เขาอายุได้ 30 พอดี

หลังจากนั้น 10 ปีต่อมา

โทนี่ แบลร์ได้รับการยอมรับว่า เขาเป็นบุคคลที่ทั่วโลกรู้จักกันดีที่สุดคนหนึ่ง

เขากลับไปที่เมือง Sedgefield อีกครั้งหนึ่งเพื่อบอกลากับประชาชนที่นั่น ด้วยเหตุผลว่าเขาแจ้งเกิดจากเมืองนี้และเติบโตมาทางการเมือง เพราะว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่นี่ ซึ่งเขาไม่เคยลืม และเขามักเดินทางมาเยือนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

และกล่าวว่า เขาจะลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแล้ว

พอแล้วครับ... สำหรับการรับใช้ประชาชน

และพอแล้วสำหรับอำนาจ ไม่เหมือนกับนักการเมืองอีกหลายประเทศที่อำนาจเป็นเหมือนยาเสพติดที่ต้องกอดเก้าอี้ไว้จนวันตาย

คนที่อยู่ใน Sedgefield และได้ฟังคำอำลา แม้มีแค่ 250 คน แต่เสียงปรบมือก็ดังกึกก้อง และมีแต่ความชื่นชมเขาโดยถ้วนทั่ว

จริงๆ แล้ว เขาบอกก่อนหน้านี้มาระยะหนึ่งแล้วว่า เขาเตรียมลงจากตำแหน่ง ซึ่งการที่เขาทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการเตรียมตัวให้กับพรรคได้รับรู้ และตัวเขาจะมีเวลาจัดหาคนสืบทอดอำนาจต่อไปโดยไม่ต้องสะดุด

เดิมนั้นคาดกันว่า เขาจะลาออกในวันที่ 27 มิถุนายน

ในการอำลา แบลร์มีภรรยาเชอรี่ยืนอยู่เคียงข้าง เขากล่าวว่า 10 ปีที่ได้ทำงานนั้นเป็นช่วงที่เขามีความสุขกับการทำงาน และเขาทำงานอย่างเต็มที่และประสานประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย

“มันยาวพอแล้วสำหรับผมและมากพอสำหรับประเทศ... บางครั้งวิธีเดียวที่คุณจะเอาชนะอำนาจก็คือจัดการให้มันหยุดลงเสีย”

แบลร์กล่าวว่า ประเทศอังกฤษได้ประสบความสำเร็จมากใน 10 ปี ที่ผ่านมา จนกล่าวได้ว่าในยุคของเขา เขาได้ทำสำเร็จในการพาประเทศสู่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ, ประชาชนมีความสุข ไม่มีการตกงาน และเศรษฐกิจรุ่งเรืองโดยไม่มีการสะดุด จนนักวิเคราะห์แปลกใจไปตามๆ กัน

“เรามีงานให้ทำมากกว่าเดิม มีคนตกงานน้อยลง, มีสุขภาพดีขึ้นและมีผลการศึกษาที่ดี... และอังกฤษอยู่ได้อย่างดีกับยุคโลกาภิวัตน์”

สำหรับปัญหาซึ่งถือว่าเป็นประเด็นร้อนๆ ของโลก เช่น เรื่องภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปของโลก, ปัญหาในแอฟริกา, ปัญหาการก่อการร้าย ฯลฯ ทั้งหมดนี้แบลร์เห็นว่าเขาต้องแก้ไขเพราะไม่ใช่เป็นปัญหาโลก แต่เป็นปัญหาและผลประโยชน์ของอังกฤษด้วย

เขาชี้ว่า

“อังกฤษไม่ได้เป็นแค่ผู้ตาม... แต่เราเป็นผู้นำ เราทำเรื่องหลักๆ ในสิ่งที่โลกเห็นว่ามันจำเป็น”

เมื่อเขาได้รับการเลือกเข้ามาอีกสมัยในปี 1997 ก็ก่อให้เกิดกระแสที่คนอังกฤษมองโลกในแง่ดีขึ้น

เวลานั้น “ความคาดหวังสูงมาก..อาจสูงเกินไป” และทุกวันนี้เกิดปัญหาความแตกต่างด้านความคิดเป็นผลมาจากการที่เขานำอังกฤษไปผูกไว้กับสงครามในอิรัก

เป็นนโยบายที่แบลร์จะอยู่ในความทรงจำของประชาชนอีกยาวนาน และแน่นอนว่านโยบายอิรักได้สร้างความรู้สึกแปลกแยก, แตกต่างทางความคิดระหว่างรัฐบาลกับประชาชนอย่างไม่เคยลบออกได้

แบลร์บอกว่า

“เราต้องมองให้ทะลุ.. เพราะว่าพวกผู้ก่อการร้ายได้ข่มขู่เราและทำกันทั่วโลกโดยไม่ยอมหยุด ถ้าเรายอมก็จะเป็นข้อผิดพลาด”

บทนำของ นสพ.ไฟแนนเชียลไทม์นั้น กล่าวถึงการอำลาตำแหน่งของนายกฯ โทนี่ แบลร์ ว่า แม้จะไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าเขาจะเป็น “the most remarkable politician of his generation” ก็ตาม

เขาได้อยู่ในอำนาจมา 10 ปี และมีคำขวัญว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ซึ่งมันก็มักเป็นไปตามที่เขาพูดเสมอ เพราะอังกฤษเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่สะดุดเลยในรอบ 10 ปี โดยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และมีอัตราคนว่างงานน้อยเหลือเกิน

ความมั่งคั่งเช่นนี้ ความจริงเป็นเพราะกอร์ดอน บราวน์ ผู้กำลังขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนโทนี่ แบลร์

พรรคกรรมกรรุ่นใหม่นี้ยอมรับโลกาภิวัตน์และทำให้เศรษฐกิจและประเทศเปิดต่อการค้า, การลงทุน รวมทั้งผู้อพยพเข้ามาในประเทศ ทั้งหมดนี้แบลร์ทำให้อังกฤษมีเกียรติและศักดิ์ศรีต่อประชาคมโลก

แม้ว่ารัฐบาลนายแบลร์จะยังไม่สร้างสังคมที่ทัดเทียมหรือให้ความยุติธรรมเสมอกันได้ แต่เขาก็พยายามทำให้ได้มากที่สุด

และแบลร์และกอร์ดอน บราวน์ ก็ได้เริ่มกล้าหาญที่จะให้ธนาคารชาติมีความเป็นอิสระ และลงทุนให้กับการบริการด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นไปอย่างรอบคอบโดยไม่ต้องการให้กระทบต่อผู้เสียภาษีจนเกินเหตุ

หากจะมีจุดที่ต้องวิพากษ์ก็คือปัญหาอิรัก ถือว่าเป็นความพินาศในการใช้การตัดสินใจของแบลร์

มันทำให้สังคมเกิดความแตกแยก การก่อการร้ายอันตรายเสียยิ่งกว่า การเข้าไปในอัฟกานิสถานซึ่งมีพวกตอลิบานหรือพวกอิหร่าน และแน่นอนว่าคนอังกฤษไม่อยากให้ประเทศเผชิญกับศัตรูที่มีหลากหลาย

แบลร์ตกอยู่ภายใต้การนำเอาประเทศไปผูกไว้กับความล้มเหลวในการบริหารของอเมริกาในนโยบายอิรัก และปลีกตัวออกจากกลุ่มอียู ซึ่งนักวิจารณ์ว่ามันไม่ฉลาดเลย

ดังนั้นมันก็เลยขัดแย้งกัน ระหว่างบุคคลที่ทำทุกอย่างตามความต้องการของประชาชน หลังมรณกรรมของเจ้าหญิงไดอาน่า และท้าทายผู้ก่อการร้ายเมื่อระเบิดลอนดอนในปี 2005 แต่กลับมาพัวพันกับอิรักทวนกระแสประชาชน

ครับ แบลร์ จะถูกระลึกถึงในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เก่งและบริหารประเทศได้มั่นคง มั่งคั่ง เพียงแต่เขาทำตามใจอเมริกามากไปเท่านั้นแหละ
กำลังโหลดความคิดเห็น