xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าไม่กล้าปฏิรูปการเมือง กรุณาอย่าอ่าน

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

ตอนนี้มีร่างรัฐธรรมนูญให้พี่น้องประชาชนทำการศึกษาออกมาประมาณ 2 อาทิตย์แล้วครับ ข้อถกเถียงหรือข้อเสนอแนะจากทั้งนักวิชาการ นักการเมือง ประชาชน ทยอยออกมาอย่างมากมาย แต่ละประเด็นล้วนแต่เป็นเรื่องที่สามารถขยายผลไปได้ทั้งหมด

ร่างแรกที่ออกมา ดูเหมือนยังไม่ค่อยถูกใจพี่น้องประชาชนเท่าไหร่นัก อาจส่งผลไปยังการลงประชามติก็เป็นได้

ทำเอากรรมาธิการยกร่างและ ส.ส.ร. ออกมาให้ข่าวกันว่า ร่างนี้เป็นเพียงร่างแรกยังสามารถปรับเปลี่ยนได้

กระแสที่ออกมานี้ เป็นเพียงการลดแรงเสียดทานจากสังคมเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ร่างนี้มีข้อบกพร่องอยู่หลายส่วน และประเด็นที่สังคมถกเถียงหรือถูกโยนเข้าไปในวงก็หนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ ที่มัวแต่เถียงกันเรื่องเพิ่มลดจำนวน ส.ส. ที่มาของ ส.ว. ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องไกลตัวประชาชน

การเข้าสู่อำนาจ โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ กลายเป็นประเด็นที่ร้อนระอุ เพราะเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อุตส่าห์เชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าปรึกษาหารือเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่

น่าเสียดาย ท่านมีเวลาให้กับตัวแทนพรรค 44 พรรค เพียง 1 ชั่วโมง แล้วสาระสำคัญที่ได้จากการประชุมก็ไม่ได้มีเรื่องอะไรใหม่ การประชุมแบบนี้มีก็เหมือนไม่มี

เรื่องที่ผมอยากจะมาแลกเปลี่ยน เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะทางความคิดในวันนี้ คือเรื่อง นิติบัญญัติ ที่มองดูว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวแต่แท้ที่จริงแล้วการจะแก้ไขเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่าย เหมือนกับ หญ้าปากคอกก็ไม่ผิดนัก

ประเด็นที่ถูกหยิบยกกลางวงสนทนาแทบจะทุกที่ คือเรื่อง ระบบการเลือกตั้งที่ยังไม่มีความชัดเจน , ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนเรื่อง มาตรา 68 วรรค 2 เรื่องการให้มีองค์กรแก้วิกฤตชาติจากประมุข 11 สถาบัน เป็นอันพับไป เพราะมีแรงต่อต้านมากเหลือเกิน ทำให้กรรมาธิการยกร่างยอมตัดประเด็นนี้ออกไป

กรรมาธิการยกร่าง เสนอว่า สภาผู้แทนราษฎรควรมีจำนวน 400 คน เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวน 320 คน และให้มี ส.ส. แบบสัดส่วนจำนวน 80 คน แบ่งเป็น 4 เขตเลือกตั้ง ส่วนวุฒิสภาควรมีจำนวน 160 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหา ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

ส่วนร่างของ สนช. ที่กำลังเป็นประเด็นว่าจะเป็น พิมพ์เขียว รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ กลับมีความเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรควรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน มี ส.ส.แบบสัดส่วน 100 คน และ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 200 คน มาจากการเลือกตั้ง

มาวันนี้ผมอยากถามว่า รูปแบบทั้งหมดที่ว่ามา ประเทศไทยเคยใช้มาหมดหรือยัง แล้วมันเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือเลวลง ประชาชนได้อะไร

ประชาธิปไตยภาคตัวแทนที่เรียกชื่อว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้ชนะเป็นใคร มาจากกลุ่มไหน ถามแค่นี้พวกท่านก็น่าจะเข้าใจ กลุ่มคนที่เข้ามาเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ผู้มั่งคั่ง ผู้มีทรัพยากรมาก นายทุน ผู้มีอำนาจ กลุ่มอิทธิพล เจ้าพ่อ โกงการเลือกตั้งสารพัดรูปแบบวิธีการเป็นส่วนใหญ่

เคยเห็นคนยากคนจน เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ กรรมกร ผู้ด้อยโอกาส คนพิการฯ เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาบ้างหรือไม่

ทุกคนมีสิทธิสมัครเข้าแข่งขันเท่าเทียมกันล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิจอมปลอม ที่มักกล่าวอ้างกันไป ผู้เข้มแข็งยิ่งใหญ่กว่าในทุกด้านเข้าแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ที่อ่อนแอกว่าในทุกด้าน ท่านลองนึกดูว่า คนที่มีทรัพยากรแตกต่างกันเมื่อเริ่มเข้ามาสู้ในเวทีเดียวกันภายใต้กติกาอย่างเดียวกัน คนที่อ่อนแอกว่าก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งขัน

ผู้ที่มีใจเป็นธรรมจะต้องไม่ให้เกิดการแข่งขันแบบที่กล่าวมา จะต้องไม่ให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างรุ่นเฮฟวี่เวท (ทุนพันล้านหมื่นล้าน) กับรุ่นจิ๋ว ผู้ด้อยโอกาสหรือคนพิการ ยากจนอนาถา

ความเป็นธรรมในการแข่งขันจะต้องจัดให้กลุ่มคนในรุ่นเดียวกันเข้าแข่งขันกัน เพื่อให้ได้ผู้ชนะที่ดีที่สุด เป็นตัวแทนของกลุ่มนั้นๆ


กลุ่มนักอุตสาหกรรมหรือนักธุรกิจการค้า ในแต่ละระดับเข้าแข่งขันกันในกลุ่มของตน

ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรแต่ละสาขาเข้าแข่งขันกันในกลุ่มของตน

กรรมกรเข้าแข่งขันกันในกลุ่มของตน

คนพิการเข้าแข่งขันกันในกลุ่มของตน

เราก็จะได้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มคน ในจำนวนตามสัดส่วนมากหรือน้อยตามความเหมาะสม และเป็นสัดส่วนของตัวแทนอย่างแท้จริง

คนจน มีจำนวนประมาณ 80 % ของประชากรทั้งประเทศ เขาก็จะมีสมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสาขาอาชีพของตน จำนวน 80 % เช่นเดียวกัน

สมมติว่า สมาชิกรัฐสภาไทย มีจำนวนไม่เกิน 700 คน คนยากคนจน ก็จะมีตัวแทนของตนประมาณ 560 คน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ผู้มั่งคั่งร่ำรวยจะมีตัวแทนเพียงประมาณ 140 คนเท่านั้น

เสียงข้างมากในรัฐสภา ก็จะจัดตั้งรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นรัฐบาลของคนยากคนจนคนส่วนข้างมากของประเทศ

วาระการประชุมของรัฐสภาและวาระการประชุมของรัฐบาลแบบนี้ ก็จะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาคนยากคนจนทั้งสิ้น

การจัดสรรทรัพยากร การจัดสรรงบประมาณ การบัญญัติกฎหมาย กติกาของสังคม ก็ล้วนแต่เพื่อประโยชน์ของคนยากคนจนทั้งสิ้น ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

กฎหมายจัดเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ภาษีทรัพย์สิน การจำกัดการถือครองที่ดินและจัดเก็บภาษีการถือครองที่ดินอัตราก้าวหน้าเข้าสภา 2 แบบ สภาคนยากคนจนแบบใหม่ กับสภาของผู้มั่งคั่งแบบเดิมๆ ท่านว่าสภาไหนจะผ่าน สภาไหนจะไม่ผ่าน

นักการเมืองหน้าเก่าไม่ว่าจะ ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องเข้าแข่งขันในสาขากลุ่มอาชีพของตน ซึ่งคือกลุ่มผู้มั่งคั่ง นักการเมืองหน้าเก่าจะมีโอกาสเหลือเข้ารัฐสภาไม่ถึง 10 คน

วันนี้ ผมอยากจะเสนอแนวความคิดให้มีการเลือกตั้งแบบกลุ่มสาขาอาชีพ

รัฐสภาอย่างนี้ จะเป็นสภาเดียว ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเลือกให้มากความเลือกให้ยุ่งยาก สิ้นเปลืองเงินงบประมาณไปเปล่าๆ คุณสมบัติของผู้เข้าแข่งขันไม่ต้องคำนึงถึงอายุ การศึกษา สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ คำนึงเพียงว่าผู้สมัครนั้น มีคุณสมบัติสาขาอาชีพหรือกลุ่มใด ตรงตามกลุ่มของตนหรือไม่ และผู้เลือกตั้งตรงตามกลุ่มของตนหรือสาขาของตนหรือไม่

อยากถามว่าคุณกล้าปฏิรูปการเมืองหรือไม่ ถ้าไม่กล้าคุณกลัวอะไร คุณมีผลประโยชน์อะไร คุณกำลังจะสูญเสียใช่ไหม

ผมอยากเสนอว่า ถ้าแน่จริงลองเอาประเด็นนี้ถามประชาชนทั้งประเทศไหม

ทุกเวทีที่ผมไปร่วมแสดงความคิดเห็น ประเด็นนี้ได้รับเสียงตอบรับเป็นเอกฉันท์

ตอนนี้เหลือแต่ถามผู้ที่เกี่ยวข้องจะกล้าเปลี่ยนแปลงตามแบบที่ผมเสนอมาหรือไม่เท่านั้น

คุณกลัวใช่ไหมล่ะ กลัวคำตอบที่จะออกมาไม่ตรงกับความต้องการของคุณ
กำลังโหลดความคิดเห็น