xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กซิล”ฟ้องอีก สกอ.สั่งเช็ก นศ.เสี่ยงฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กฤษณพงศ์” สั่งมหาวิทยาลัยทุกแห่งคัดกรองเด็กตรวจความเครียด ป้องกันการฆ่าตัวตาย และเตรียมหารือ สพฐ.คัดกรองอาการเครียดของเด็กตั้งแต่ระดับมัธยม หวั่นเกิดแรงกดดันจากการแข่งขัน ด้าน “วิจิตร”ยังไม่ชัวร์แอดมิชชั่นทำเด็กคิดสั้น ขณะที่เด็กซิลยื่นฟ้องศาลปกครองอีก ขอใช้คะแนนโอเน็ตครั้งแรกที่ไม่ตรงกับปีการศึกษาที่ศึกษาจบยื่นแอดมิชชั่น จุฬาฯ -ธรรมศาสตร์ ชี้ชะตาเด็กซิล 16-17 พ.ค.นี้ ทปอ.ระบุแอดมิชชั่นปี 53 ใช้ GPAX โอเน็ต และ Adtitude Test

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวถึงกรณีที่เด็กนักเรียนชั้น ม.6 ฆ่าตัวตายหลังจากพลาดหวังจากการสอบแอดมิชชั่น ว่า รู้สึกเสียใจแทนผู้ปกครองและครอบครัว ซึ่งสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายน่าจะมาจากอาการเครียดสะสมของเด็กที่เริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เพราะฉะนั้นควรมีการแก้ปัญหาหรือเริ่มดูแลเด็กตั้งแต่ระดับนี้ ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยคาดว่ามีคลินิก หรือศูนย์บำบัดความเครียด ที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการคัดกรองนักศึกษาทุกคนว่านักศึกษาแต่ละคนมีอาการเครียดระดับใด เพื่อทำงานเชิงรุกเข้าถึงตัวเด็ก พร้อมกับให้การเยียวยาโดยไม่ต้องรอให้เด็กเดินเข้ามาหาเพราะโดยปกติน้อยคนนักที่เด็กจะเดินมาหาแพทย์ สำหรับมหาวิทยาลัยใดที่ไม่มีระบบการคัดกรองเด็กก็ขอความร่วมมือให้เริ่มดำเนินการได้ทันทีในปีการศึกษา 2550 นี้ อาจจะทำเสร็จช่วง 1-2 เดือนภายหลังเปิดเทอม

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า ตนจะหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยว่าจะมีวิธีการหาสาเหตุ และเยียวยาความเครียดของเด็กตั้งแต่เริ่มแรกที่เด็กมีอาการ เพราะหากไม่เริ่มทำในอนาคตที่สังคมมีแรงกดดัน มีการแข่งขันที่มากขึ้น จะส่งผลให้จำนวนเด็กที่เกิดความเครียดมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งอาการเครียดมีหลายระดับ จึงจำเป็นต้องดูแลเด็กที่มีความเครียดเป็นกรณีพิเศษ ขณะเดียวกันจะต้องพูดคุยกับผู้ปกครองถึงปัญหาดังกล่าวเพื่อร่วมกันแก้ไข ดูแลให้เด็กกลับมาสู่สภาวะปกติ

นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เด็กฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจมาจากสาเหตุอื่นๆ แต่น่าเสียดาย เพราะเด็กคนดังกล่าวเป็นเด็กที่เรียนเก่ง ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กแม้จะไม่ได้อันดับ 1 ที่เลือก แต่คณะ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เป็นคณะที่ทุกคนอยากเข้าเรียน จึงไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุนี้จริงหรือไม่ อยากฝากถึงเด็กที่แอดมิชชั่นไม่ติดว่ายังมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงจำนวนมากรองรับอยู่ หากไม่มีเงินเรียนก็มีกองทุนให้กู้ยืม แม้ว่าเราจะไม่ได้โอกาสที่ดีที่สุดก็ยังมีโอกาสที่รองลงมา และยังสร้างความสำเร็จในชีวิตได้อยู่

**เด็กซิลฟ้องศาลปกครองอีก

นายณพวรรช ลิ้มจำรูญธร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในกลุ่มเด็กซิลที่จบการศึกษาก่อนปีการศึกษา 2548 กล่าวว่า ตนพร้อมเพื่อน 2 คน ได้ฟ้องที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) สกอ. และ สทศ. ต่อศาลปกครองกลางวานนี้ (14 พ.ค.)ขอให้เพิกถอนมติ ทปอ.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ระบุว่าให้ใช้คะแนนโอเน็ตที่สอบในปีการศึกษาที่จบเท่านั้นยื่นแอดมิชชั่น และขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามมติของ ทปอ.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้สามารถนำคะแนนโอเน็ตของเด็กซิลทั้ง 1,370 คนที่สอบโอเน็ตครั้งแรกหลังปีการศึกษาที่จบ ไปประมวลผลเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทั้งนี้ เนื่องจากมติดังกล่าวละเมิดสิทธิ ความเสมอภาค ปิดกั้นการศึกษาตามรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

**จุฬาฯ-มธ.สรุปชะตาเด็กซิ่ล 17-18 พ.ค.

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวภายหลังการประชุมวิสามัญ ทปอ.ว่า ทปอ.ได้ติดตามประกาศผลแอดมิชชัน พร้อมกับได้ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างให้กำหนดคุณสมบัติของเด็กซิล และเด็กที่พลาดแอดมิชชั่นในครั้งนี้ โดยขอให้พิจารณายืดหยุ่นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา เพื่อรับเด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะบางคณะไม่สามารถยืดหยุ่นคุณสมบัติการรับเด็กเข้าเรียนได้ อย่างไรก็ตาม หากบางคณะยังมีที่ว่างหลงเหลืออยู่ก็ขอให้พิจารณาเด็กเหล่านี้เข้าเรียนด้วย

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย จะพิจารณาเด็กซิลเข้าเรียนในวันที่ 17 พ.ค. ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้คำตอบวันที่ 18 พ.ค.นี้ ส่วนมหาวิทยาลัยจะรับได้จำนวนเท่าใด ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมฟอรั่มแอดมิชชั่น  ทปอ. ได้รายงานผลการประชุมเกี่ยวกับเกณฑ์แอดมิชชั่นปี 2553 ว่า ที่ประชุมยืนยันว่าจะใช้คะแนนจาก 3 ส่วน คือ คะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (GPAX) คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการสอบวัดความรู้ (Adtitude Test) ซึ่งการสอบวัดความรู้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการวัดแบบทั่วไป และวัดแบบเฉพาะทาง และการสอบแบบเกณฑ์ใหม่นี้จะเปิดให้สอบปีละ 3 ครั้ง ส่วนการจัดทำคลังข้อสอบพร้อมการจัดสอบจะมอบเป็นหน้าที่ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์แอดมิชชั่นปี 2553 ยังคงต้องหารือในรายละเอียดและวิธีการอีกมาก ในที่ประชุม ทปอ. สามัญ ในวันที่ 16 มิ.ย.ที่จะถึง

ด้าน ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึง เด็กซิลจำนวน 27 คน ที่ มศว ต้องรับผิดชอบว่า มศว ต้องรอผลสัมภาษณ์ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ก่อน และจำนวน 27 คนนั้นมิได้หมายความว่าจะได้เรียนในคณะที่ตัวเองร้องขอ เพราะอธิการบดี คณบดีในแต่ละคณะ ไม่มีอำนาจตัดสินใจโดยเด็ดขาด ต้องผ่านคณะกรรมการแต่ละคณะเห็นชอบด้วย แต่จะดูแลเด็กซิลเต็มความสามารถ
กำลังโหลดความคิดเห็น