.
สวิตเซอร์แลนด์นับเป็นประเทศขนาดเล็กมีประชากรเพียงแค่ 7.2 ล้านคน นอกจากนี้ ยังขาดแคลนวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับไม่มีทางออกทะเล ทำให้ต้นทุนในด้านโลจิสติกส์ของประเทศอยู่ในระดับสูงมาก สำหรับหนทางอยู่รอดของประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะขึ้นกับการพัฒนาธุรกิจพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้นว่า การท่องเที่ยว สำหรับอีกธุรกิจหนึ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรค นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ
อุตสาหกรรมยารักษาโรคของสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มต้นเมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว เนื่องจากในช่วงนั้นฝรั่งเศสได้บังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตร ทำให้บริษัทผลิตเคมีภัณฑ์ของฝรั่งเศส ซึ่งทำธุรกิจผลิตเคมีภัณฑ์ลอกเลียนแบบเคมีภัณฑ์ที่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้แล้ว หวั่นเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้น จึงหนีมาดำเนินธุรกิจผลิตเคมีภัณฑ์ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งขณะนั้นไม่มีกฎหมายสิทธิบัตร
ผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์ของฝรั่งเศสก่อตั้งโรงงานกระจุกตัวในแถบนครบาเซลของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากอยู่ติดกับทั้งพรมแดนฝรั่งเศสและเยอรมนี ประกอบกับเป็นสถานที่ตั้งของเหมืองเกลือ ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเคมีภัณฑ์
บริษัทเหล่านี้ได้เริ่มต้นจากการผลิตสีย้อมก่อน จากนั้นได้วิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตเคมีภัณฑ์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผลิตยารักษาโรค ทำให้นครบาเซลได้กลายเป็นคลัสเตอร์สำคัญของโลกในอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคในเวลาต่อมา
ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท ซิบ้า บริษัท ไกกี้ และบริษัท แซนดอซ ต่างมีวิวัฒนาการมาในลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เริ่มต้นธุรกิจจากธุรกิจผลิตสีย้อมผ้ามาก่อน จากนั้นจึงค่อยก้าวมาสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจผลิตยารักษาโรคมาตามลำดับ
ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์นับเป็นฐานสำคัญของโลกในด้านอุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรคโดยในจำนวนบริษัทผลิตยารักษาโรคใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก เป็นบริษัทสวิตเซอร์แลนด์มากถึง 2 บริษัท คือ บริษัท โนวาร์ติส และบริษัท โรช ซึ่งอยู่ในอันดับ 5 และอันดับ 6 ของโลกตามลำดับ โดยทั้ง 2 บริษัทต่างมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครบาเซล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้พื้นที่แถบนี้ได้รับฉายาว่า Bio Valley Basel Area โดยมีประชากรมากถึง 30,000 คน ทำงานสาขาชีวเวชศาสตร์
สำหรับบริษัท โนวาร์ติส แม้ชื่อไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยนัก เนื่องจากเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2539 แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นบริษัทใหม่แต่อย่างใด ก่อตั้งขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ซิบ้า-ไกกี้ และบริษัท แซนดอซแลบอราตอรี่ ซึ่งในอดีตต่างเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์และมีประวัติที่ยาวนานย้อนกลับไปถึงปี 2301 ส่วนบริษัท โรช ก็เช่นกัน นับเป็นบริษัทเก่าแก่ของสวิตเซอร์แลนด์เช่นเดียวกัน ก่อตั้งโดยนาย Fritz Hoffmann มาตั้งแต่ปี 2439
นอกจากกิจการของตนเองแล้ว บริษัทผลิตยารักษาโรคของสวิตเซอร์แลนด์ยังได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจสูงมาก เป็นต้นว่า บริษัท โนวาร์ติสได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Chiron ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก
ส่วนบริษัท โรชได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Genetech ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และยังเข้าไปถือหุ้นข้างมากในบริษัท Chugai Pharmaceutical จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาใหญ่เป็นอันดับ 5 ของญี่ปุ่น
สวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นฐานของบริษัท Merck Serono ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งที่นครเจนีวา นับเป็นบริษัททำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยปัจจุบันมีศูนย์วิจัยและพัฒนา 3 แห่ง คือ นครเจนีวา นครบอสตัน และประเทศอิสราเอล ปัจจุบันนับเป็นผู้นำของโลกในด้านผลิตยาด้วยกรรมวิธีเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อแก้การเป็นหมัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกในผลิตภัณฑ์ยาประเภทนี้สูงถึง 60%
เดิมบริษัท Merck Serono เป็นบริษัทอิสระ แต่ต่อมาบริษัท Merck KGaA ของเยอรมนี ได้จ่ายเงินมากถึง 10,600 ล้านยูโร เพื่อถือหุ้นใหญ่ 64.5% ในบริษัท Merck Serono เมื่อปี 2549 อย่างไรก็ตาม ภายหลังกลายเป็นบริษัทในเครือของบริษัทเยอรมนี แต่ยังมีนโยบายตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวาต่อไปอีก ไม่ได้ย้ายไปตั้งในเยอรมนีแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นฐานของบริษัท Syngenta ซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของโลก มีสำนักงานใหญ่ที่นครบาเซล โดยเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นใหม่เมื่อปี 2543 จากการแยกกิจการเฉพาะในด้านการเกษตรของ 2 บริษัท คือ บริษัท โนวาร์ติสของสวิตเซอร์แลนด์ และบริษัทเซเนก้าของสหราชอาณาจักร เข้ามาควบรวมเข้าด้วยกัน
สำหรับข้อได้เปรียบสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ที่ทำให้เป็นฐานของธุรกิจชีวเวชศาสตร์มีหลายประการ
ประการแรก อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราต่ำ เพียงประมาณ 24.5% โดยรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้มีนโยบายที่จะให้สิทธิและประโยชน์ในด้านการลดหรือยกเว้นภาษีอากรเป็นการพิเศษแก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งแต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของตนเองต่ำอยู่แล้ว
ประการที่สอง เป็นฐานในด้านวิชาการในสาขาชีวเวชศาสตร์สำคัญของโลก เป็นต้นว่า แถบนครบาเซลเป็นสถาบันที่ตั้งของมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ที่ได้รับการจัดอันดับว่ายอดเยี่ยม 100 อันดับแรกของโลก
ในอดีตที่ผ่านมามีนักวิจัยในด้านชีวเวชศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก เป็นต้นว่า ดร.Tadeus Reichstein ซึ่งเคยเป็นศาสตราจารย์สาขาเคมีทั้งที่สถาบันเทคโนโลยีนครซูริคและที่มหาวิทยาลัยบาเซล ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 2493 จากผลงานวิจัยในด้านฮอร์โมน นอกจากนี้ ยังมีผลงานในด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การสังเคราะห์วิตามินซี
ส่วนนาย Werner Arber แห่งมหาวิทยาลัยเจนีวา ซึ่งเป็นนักจุลชีววิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้ค้นพบเอ็นไซม์พิเศษที่มีชื่อเรียกว่า Restriction Enzymes ในแบคทีเรียเมื่อปี 2511 ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถตัดสาย DNA ในตำแหน่งที่ต้องการได้ ดังนั้น สามารถใช้ประโยชน์ในด้านชีวะโมเลกุล โดยใช้ตัด เคลื่อนย้าย และต่อยีนเข้าด้วยกัน ผลการค้นพบนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เช่นเดียวกันในปี 2521
ประการที่สาม สวิตเซอร์แลนด์มีสภาพแวดล้อมดีเยี่ยม เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย โดยมีจุดขายสำคัญ คือ ทิวทัศน์ที่สวยงามและสภาพธรรมชาติ ทำให้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถสนใจจะมาทำงานและอาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสำคัญในปัจจุบัน คือ บริษัทยาของสวิตเซอร์แลนด์กำลังย้ายฐานการผลิตและการวิจัยและพัฒนาไปยังต่างประเทศ เป็นต้นว่า บริษัท โรชได้เปิดดำเนินการศูนย์วิจัยและพัฒนายารักษาโรคที่อุทยานวิทยาศาสตร์ Zhangjiang High-Tech Park ที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2547 นับเป็นศูนย์วิจัยอันดับ 5 ของบริษัท และเป็นศูนย์วิจัยของบริษัทแห่งแรกที่ก่อตั้งในประเทศกำลังพัฒนา
บริษัท โนวาร์ติสได้ย้ายสำนักงานใหญ่ในส่วนการวิจัยและพัฒนาจากสวิตเซอร์แลนด์มายังนครเคมบริดจ์ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยได้ลงทุนเป็นเงินมากถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท ในโครงการก่อตั้งสถาบันวิจัยชีวเวชศาสตร์โนวาร์ติส (Novartis Institutes of Biomedical Research) ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งให้ ดร. Mark Fishman ซึ่งมีชื่อเสียงทั่วโลก มาเป็นผู้บริหารของสถาบันวิจัยแห่งนี้ โดยในอดีตเขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ด้านแพทย์ทั้งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 1,000 คน ทำงานภายในสถาบันวิจัยแห่งนี้
ล่าสุดเมื่อปลายปี 2549 บริษัท โนวาร์ติสได้ประกาศลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท ในการก่อสร้างศูนย์วิจัยที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 38,000 ตร.ม. กำหนดมีนักวิจัยมากถึง 400 คน การวิจัยจะเน้นหนักในด้านการนำเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศตะวันตกมาผสมผสานกับเทคโนโลยียาแผนโบราณของจีน โดยในช่วงเริ่มต้นจะเน้นการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับสาเหตุของโรคมะเร็ง
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
สวิตเซอร์แลนด์นับเป็นประเทศขนาดเล็กมีประชากรเพียงแค่ 7.2 ล้านคน นอกจากนี้ ยังขาดแคลนวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับไม่มีทางออกทะเล ทำให้ต้นทุนในด้านโลจิสติกส์ของประเทศอยู่ในระดับสูงมาก สำหรับหนทางอยู่รอดของประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะขึ้นกับการพัฒนาธุรกิจพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้นว่า การท่องเที่ยว สำหรับอีกธุรกิจหนึ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรค นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ
อุตสาหกรรมยารักษาโรคของสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มต้นเมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว เนื่องจากในช่วงนั้นฝรั่งเศสได้บังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตร ทำให้บริษัทผลิตเคมีภัณฑ์ของฝรั่งเศส ซึ่งทำธุรกิจผลิตเคมีภัณฑ์ลอกเลียนแบบเคมีภัณฑ์ที่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้แล้ว หวั่นเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้น จึงหนีมาดำเนินธุรกิจผลิตเคมีภัณฑ์ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งขณะนั้นไม่มีกฎหมายสิทธิบัตร
ผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์ของฝรั่งเศสก่อตั้งโรงงานกระจุกตัวในแถบนครบาเซลของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากอยู่ติดกับทั้งพรมแดนฝรั่งเศสและเยอรมนี ประกอบกับเป็นสถานที่ตั้งของเหมืองเกลือ ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเคมีภัณฑ์
บริษัทเหล่านี้ได้เริ่มต้นจากการผลิตสีย้อมก่อน จากนั้นได้วิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตเคมีภัณฑ์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผลิตยารักษาโรค ทำให้นครบาเซลได้กลายเป็นคลัสเตอร์สำคัญของโลกในอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคในเวลาต่อมา
ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท ซิบ้า บริษัท ไกกี้ และบริษัท แซนดอซ ต่างมีวิวัฒนาการมาในลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เริ่มต้นธุรกิจจากธุรกิจผลิตสีย้อมผ้ามาก่อน จากนั้นจึงค่อยก้าวมาสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจผลิตยารักษาโรคมาตามลำดับ
ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์นับเป็นฐานสำคัญของโลกในด้านอุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรคโดยในจำนวนบริษัทผลิตยารักษาโรคใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก เป็นบริษัทสวิตเซอร์แลนด์มากถึง 2 บริษัท คือ บริษัท โนวาร์ติส และบริษัท โรช ซึ่งอยู่ในอันดับ 5 และอันดับ 6 ของโลกตามลำดับ โดยทั้ง 2 บริษัทต่างมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครบาเซล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้พื้นที่แถบนี้ได้รับฉายาว่า Bio Valley Basel Area โดยมีประชากรมากถึง 30,000 คน ทำงานสาขาชีวเวชศาสตร์
สำหรับบริษัท โนวาร์ติส แม้ชื่อไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยนัก เนื่องจากเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2539 แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นบริษัทใหม่แต่อย่างใด ก่อตั้งขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ซิบ้า-ไกกี้ และบริษัท แซนดอซแลบอราตอรี่ ซึ่งในอดีตต่างเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์และมีประวัติที่ยาวนานย้อนกลับไปถึงปี 2301 ส่วนบริษัท โรช ก็เช่นกัน นับเป็นบริษัทเก่าแก่ของสวิตเซอร์แลนด์เช่นเดียวกัน ก่อตั้งโดยนาย Fritz Hoffmann มาตั้งแต่ปี 2439
นอกจากกิจการของตนเองแล้ว บริษัทผลิตยารักษาโรคของสวิตเซอร์แลนด์ยังได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจสูงมาก เป็นต้นว่า บริษัท โนวาร์ติสได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Chiron ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก
ส่วนบริษัท โรชได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Genetech ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และยังเข้าไปถือหุ้นข้างมากในบริษัท Chugai Pharmaceutical จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาใหญ่เป็นอันดับ 5 ของญี่ปุ่น
สวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นฐานของบริษัท Merck Serono ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งที่นครเจนีวา นับเป็นบริษัททำธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยปัจจุบันมีศูนย์วิจัยและพัฒนา 3 แห่ง คือ นครเจนีวา นครบอสตัน และประเทศอิสราเอล ปัจจุบันนับเป็นผู้นำของโลกในด้านผลิตยาด้วยกรรมวิธีเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อแก้การเป็นหมัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกในผลิตภัณฑ์ยาประเภทนี้สูงถึง 60%
เดิมบริษัท Merck Serono เป็นบริษัทอิสระ แต่ต่อมาบริษัท Merck KGaA ของเยอรมนี ได้จ่ายเงินมากถึง 10,600 ล้านยูโร เพื่อถือหุ้นใหญ่ 64.5% ในบริษัท Merck Serono เมื่อปี 2549 อย่างไรก็ตาม ภายหลังกลายเป็นบริษัทในเครือของบริษัทเยอรมนี แต่ยังมีนโยบายตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวาต่อไปอีก ไม่ได้ย้ายไปตั้งในเยอรมนีแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นฐานของบริษัท Syngenta ซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของโลก มีสำนักงานใหญ่ที่นครบาเซล โดยเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นใหม่เมื่อปี 2543 จากการแยกกิจการเฉพาะในด้านการเกษตรของ 2 บริษัท คือ บริษัท โนวาร์ติสของสวิตเซอร์แลนด์ และบริษัทเซเนก้าของสหราชอาณาจักร เข้ามาควบรวมเข้าด้วยกัน
สำหรับข้อได้เปรียบสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ที่ทำให้เป็นฐานของธุรกิจชีวเวชศาสตร์มีหลายประการ
ประการแรก อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราต่ำ เพียงประมาณ 24.5% โดยรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้มีนโยบายที่จะให้สิทธิและประโยชน์ในด้านการลดหรือยกเว้นภาษีอากรเป็นการพิเศษแก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งแต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของตนเองต่ำอยู่แล้ว
ประการที่สอง เป็นฐานในด้านวิชาการในสาขาชีวเวชศาสตร์สำคัญของโลก เป็นต้นว่า แถบนครบาเซลเป็นสถาบันที่ตั้งของมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ที่ได้รับการจัดอันดับว่ายอดเยี่ยม 100 อันดับแรกของโลก
ในอดีตที่ผ่านมามีนักวิจัยในด้านชีวเวชศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก เป็นต้นว่า ดร.Tadeus Reichstein ซึ่งเคยเป็นศาสตราจารย์สาขาเคมีทั้งที่สถาบันเทคโนโลยีนครซูริคและที่มหาวิทยาลัยบาเซล ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 2493 จากผลงานวิจัยในด้านฮอร์โมน นอกจากนี้ ยังมีผลงานในด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การสังเคราะห์วิตามินซี
ส่วนนาย Werner Arber แห่งมหาวิทยาลัยเจนีวา ซึ่งเป็นนักจุลชีววิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้ค้นพบเอ็นไซม์พิเศษที่มีชื่อเรียกว่า Restriction Enzymes ในแบคทีเรียเมื่อปี 2511 ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถตัดสาย DNA ในตำแหน่งที่ต้องการได้ ดังนั้น สามารถใช้ประโยชน์ในด้านชีวะโมเลกุล โดยใช้ตัด เคลื่อนย้าย และต่อยีนเข้าด้วยกัน ผลการค้นพบนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เช่นเดียวกันในปี 2521
ประการที่สาม สวิตเซอร์แลนด์มีสภาพแวดล้อมดีเยี่ยม เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย โดยมีจุดขายสำคัญ คือ ทิวทัศน์ที่สวยงามและสภาพธรรมชาติ ทำให้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถสนใจจะมาทำงานและอาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสำคัญในปัจจุบัน คือ บริษัทยาของสวิตเซอร์แลนด์กำลังย้ายฐานการผลิตและการวิจัยและพัฒนาไปยังต่างประเทศ เป็นต้นว่า บริษัท โรชได้เปิดดำเนินการศูนย์วิจัยและพัฒนายารักษาโรคที่อุทยานวิทยาศาสตร์ Zhangjiang High-Tech Park ที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2547 นับเป็นศูนย์วิจัยอันดับ 5 ของบริษัท และเป็นศูนย์วิจัยของบริษัทแห่งแรกที่ก่อตั้งในประเทศกำลังพัฒนา
บริษัท โนวาร์ติสได้ย้ายสำนักงานใหญ่ในส่วนการวิจัยและพัฒนาจากสวิตเซอร์แลนด์มายังนครเคมบริดจ์ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยได้ลงทุนเป็นเงินมากถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท ในโครงการก่อตั้งสถาบันวิจัยชีวเวชศาสตร์โนวาร์ติส (Novartis Institutes of Biomedical Research) ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งให้ ดร. Mark Fishman ซึ่งมีชื่อเสียงทั่วโลก มาเป็นผู้บริหารของสถาบันวิจัยแห่งนี้ โดยในอดีตเขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ด้านแพทย์ทั้งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 1,000 คน ทำงานภายในสถาบันวิจัยแห่งนี้
ล่าสุดเมื่อปลายปี 2549 บริษัท โนวาร์ติสได้ประกาศลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท ในการก่อสร้างศูนย์วิจัยที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 38,000 ตร.ม. กำหนดมีนักวิจัยมากถึง 400 คน การวิจัยจะเน้นหนักในด้านการนำเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศตะวันตกมาผสมผสานกับเทคโนโลยียาแผนโบราณของจีน โดยในช่วงเริ่มต้นจะเน้นการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับสาเหตุของโรคมะเร็ง
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th