xs
xsm
sm
md
lg

19 ก.ย. 49 และก้างขวางคอของการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ช่วงเวลาหลังเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นัยในทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ การกันเอา พ.ต.ท.ทักษิณ ปัญหาของประเทศ ณ เวลานั้นให้ไปอยู่นอกสมการทางการเมืองไทยชั่วคราว ก่อนที่คณะผู้นำการรัฐประหารจะผ่องถ่ายอำนาจในการบริหารประเทศให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะรัฐมนตรี กระจายอำนาจในทางนิติบัญญัติให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขณะที่ คปค.ในเวลาต่อมาก็แปลงโฉมไปเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อดูแลเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

แน่นอนว่าในประเทศไทยที่การเมืองกับเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนแยกกันไม่ออก เมื่อสมการทางการเมืองเปลี่ยน สมการทางเศรษฐกิจของชาติก็ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลง ...

ผมคงไม่ใช้เนื้อที่อันจำกัดตรงนี้กล่าวถึง ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศอันเกิดจากการออกนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด และความเชื่องช้าในการทำงานของคณะรัฐมนตรีของพล.อ.สุรยุทธ์ หรืออธิบายสถานการณ์ความอึมครึมทางการเมืองที่กระตุกให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งหลายต้องชะงักการบริโภคและการลงทุนลงเพื่อจะรอความชัดเจนทางการเมือง แต่ผมอยากจะใช้เนื้อที่เล็กๆ ตรงนี้กล่าวถึงประเด็นทางเศรษฐกิจประเด็นหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปนั่นก็คือ “ความเปลี่ยนแปลงทางการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549”

“ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันสั้นๆ ว่า “ค่าเช่า (Rent)” นั้นคือ การที่นักธุรกิจได้กำไรหรือมีรายได้จากการประกอบธุรกิจสูงกว่าระดับปกติ สูงกว่าผลตอบแทนที่ควรจะได้ (Normal Profit) ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น คือ ปรากฏการณ์ที่ตลาดเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น เกิดการผูกขาด การฮั้วกัน ไม่มีการแข่งขัน จนทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ ยกตัวอย่างเช่น กรณี UBC เป็นเคเบิลทีวีเพียงเจ้าเดียวในประเทศ การผูกขาดของ UBC ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการชมการแข่งขันฟุตบอลลีกในยุโรปไม่มีทางเลือกอื่น นอกเหนือจากการสมัครเป็นสมาชิก UBC ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สูงมาก หรือ การที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลายเป็นบริษัทเอกชนที่มีกำไรสูงกว่าแสนล้านบาทต่อปี ด้วยสถานะในการเป็นผู้ผลิต เป็นผู้กลั่นและเป็นผู้จำหน่ายก๊าซและน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

อ้างอิงจากบทความทางวิชาการเรื่อง “การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในประเทศไทย” ของ อ.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่บรรจุอยู่ในหนังสือ “การต่อสู้ของทุนไทย : การปรับตัวและพลวัต” คำว่า ‘ค่าเช่า’ นั้นหมายถึง ค่าตอบแทนที่สูงกว่าระดับปกติ โดยค่าเช่านั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุและสามารถสร้างผลกระทบที่หลากหลาย ทั้งนี้นักวิชาการได้แยก ‘ค่าเช่า’ ออกเป็น 4 ประเภทกว้างๆ ด้วยกันคือ

(1) ค่าเช่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น จากความสามารถพิเศษของนักกีฬาอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด นักฟุตบอลชาวโปรตุเกสของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่ความสามารถในการเตะฟุตบอลของเขาทำให้เขามีรายได้จากการเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรมากกว่าสัปดาห์ละ 120,000 ปอนด์

(2) ค่าเช่าที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา หรือ ค่าเช่าจากนวัตกรรม อย่างเช่น การที่บริษัทไมโครซอฟท์สามารถพัฒนาระบบปฏิบัติการวินโดว์สให้มีความสามารถและประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่ง จนทำให้เจ้าของอย่างบิล เกตส์นั้นกลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกติดต่อกันหลายปีซ้อน

(3) ค่าเช่าที่เกิดจากการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และการบริหารจัดการที่ดี
และ (4) ค่าเช่าที่เกิดจากกฎ ระเบียบที่กำหนดขึ้นจากภาครัฐ เช่น สัมปทาน ใบอนุญาต ซึ่งถ้าบุคคลหรือนิติบุคคลผู้ใดได้สัมปทานหรือใบอนุญาตก็จะสามารถทำกำไรได้สูง โดยเป็นผู้ผูกขาด ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในกรณีที่บริษัทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับสัมปทานผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงรายเดียวในช่วงแรก บริษัทชินแซทเทิลไลท์ได้รับสัมปทานในการยิงดาวเทียมแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิชาการเห็นว่าค่าเช่า 3 ประเภทแรกนั้นเป็นค่าเช่าที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าเช่าประเภทที่ 4 นั้นหลักๆ แล้วจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากการแสวงหาค่าเช่าประเภทนี้มักจะมาพร้อมกับการฉ้อราษฎร์ การคอร์รัปชัน การรับ-จ่ายเงินใต้โต๊ะ ที่นอกจากจะก่อให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณแผ่นดินแล้ว การแสวงหาค่าเช่าประเภทนี้ยังก่อให้เกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (Policy Corruption) ที่เกี่ยวโยงกับความขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interests) อีกด้วย

เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิชาการว่า ตั้งแต่ปี 2544-2549 หรือ ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทยกุมอำนาจในการบริหารประเทศ มีการแทรกแซงในองค์กรและหน่วยงานรัฐในทุกระดับชั้น เพื่อการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจตามความหมายของค่าเช่าประเภทที่ 4 (หรืออีกนัยหนึ่งคือ การค้ากำไรเกินควร) ของกลุ่มธุรกิจที่แอบอิงอยู่กับพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะจากกลไกที่ พ.ต.ท.ทักษิณสร้างให้ตนเองเป็นผู้นำกลุ่มอำนาจทางการเมืองและผู้นำกลุ่มธุรกิจ ผนวกเข้ามาอยู่ในตัวคนเดียว ครอบครัวเดียว ผสานเข้ากับนักธุรกิจในกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ มาลีนนท์ มหากิจศิริ เลาหพงศ์ชนะ เป็นต้น ไม่นับรวมกับการที่กลุ่มธุรกิจส่งตัวแทนเข้ามาในรัฐบาล และให้เงินทุนสนับสนุนพรรคไทยรักไทยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เครือเซ็นทรัล เครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์ คิงพาวเวอร์ กลุ่มธุรกิจสุรา-ก่อสร้าง-ค้าปลีกต่างๆ ฯลฯ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อกระบวนการการแสวงหาค่าเช่าอย่างเอารัดเอาเปรียบในยุคทักษิณ ดำเนินไปจนถึงระดับที่ประชาชนทั่วไปจะรับไหวก็ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านของมวลชนขึ้นจนในที่สุดก็นำมาสู่ความล่มสลายของ ‘ระบอบทักษิณ’ และเครือข่ายธุรกิจในระบอบทักษิณ

สังเกตได้ว่าในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา การทำงานแบบแข่งกับเวลาของ สนช. และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ได้กลายเป็น ก.ข.ค. หรือ ‘ก้างขวางคอ’ ชิ้นใหญ่ต่อการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุน ส่งผลให้กระบวนการแสวงหาค่าเช่าที่เกินเลยในบางส่วนต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาค่าเช่าจากโครงการต่างๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น ร้านค้าปลอดภาษี การจัดจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย โรงแรมในสนามบิน เป็นต้น ซึ่งในภาพรวมต้องถือว่าส่งผลดีต่อประเทศ เพราะกระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดความโปร่งใสในการลงทุน ทั้งยังทำให้การแข่งขันทางธุรกิจดำเนินไปอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น

ขณะที่การแสวงหาค่าเช่าของกลุ่มธุรกิจที่เคยอิงแอบอยู่กับระบอบทักษิณ ในส่วนอื่นๆ ก็พลอยต้องสะดุดไปด้วย อย่างเช่น โครงการต่อสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯ ของห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ย่านลาดพร้าว, การแบ่งเค้กกันในบริเวณที่ดินรอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิที่แต่เดิม พ.ต.ท.ทักษิณมีนโยบายตั้งเป็นมหานครสุวรรณภูมิ, การจัดสรรผลประโยชน์ให้กับบริษัทธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่ในโครงการยาง 1 ล้านไร่ ฯลฯ

กระนั้น หากมองกันในภาพใหญ่แล้ว ‘กระบวนการก้างขวางคอ’ ในการแสวงหาค่าเช่าของกลุ่มทุนที่ทำมาหากินในประเทศไทยก็มิได้เกิดขึ้นหลัง 19 ก.ย. 2549 แต่ก่อกำเนิดขึ้นก่อน 19 ก.ย. 2549 ในประชาชนหลากหลายกลุ่มโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งในเวลาต่อมานำมาสู่การเคลื่อนไหวแบบดาวกระจาย เพื่อต่อต้านกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่กำลังพยายามจะฮุบและยึดครองพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จในทุกปริมณฑลทางเศรษฐกิจ

... หลังการเลือกตั้งใหญ่ปลายปี 2550 นี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าจับตายิ่งว่า ‘กระบวนการก้างขวางคอ’ ดังกล่าวจะพัฒนา ถอยหลังหรือเดินหน้าไปในทิศทางใด?
กำลังโหลดความคิดเห็น