xs
xsm
sm
md
lg

โชว์ไอเดียต้นตำรับตู้ปลาทีวี รีไซเคิลแตกต่างอย่างมีสไตล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ทุกวันนี้การนำโทรทัศน์เก่าๆ หรือจอคอมพิวเตอร์เสียแล้วมาดัดแปลงทำเป็นตู้เลี้ยงปลาคงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อย่างใด แต่หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 6 ปีก่อน ผู้จุดประการสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวอย่างจริงจัง ต้องยกให้สามีภรรยาจากเมืองสองแคว ซึ่งเริ่มต้นลองทำเล่นเป็นงานอดิเรก ก่อนสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ

เจ้าของผลงานต้นตำรับตู้ปลาจากทีวี คือ “ทรงพล สุขสิริโรจน์” และ “พวงเพชร สุขสิริโรจน์” สามีภรรยา ในหมู่ 4 ซ.สับสน ต.วัดจันทร์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยจุดเริ่มต้นนั้น “พวงเพชร” เล่าว่า เมื่อประมาณ 6ปีที่แล้ว ที่บ้านมีทีวีเก่าอยู่เครื่องหนึ่งไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จะทิ้งก็เสียดาย เพราะเป็นทีวีรุ่นเก่ามีลักษณะรูปทรงสวยงามตัวเครื่องทำด้วยไม้ สามีซึ่งเป็นช่างไฟฟ้าอยู่แล้ว เลยทดลองมาดัดแปลงเป็นตู้ปลา โดยสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่นำทีวีมาทำตู้ปลา คือ จะใช้พื้นที่ส่วนจอภาพเป็นพื้นที่ในการเลี้ยงปลา ซึ่งวิธีการดังกล่าว ถ้าไม่มีความรู้ด้านเครื่องไฟฟ้ามาก่อน ก็ยากจะทำได้ ขณะที่รายอื่นๆทั่วไป จะใช้เฉพาะโครงสร้างภายนอกของทีวี ส่วนภายในจะนำกระจกมาประกอบเข้าไป

พวงเพชร เผยต่อว่า เมื่อลองนำมาตั้งโชว์ที่บ้าน คนผ่านไปผ่านมา แทบทุกคนต้องหยุดมองด้วยความสนใจเข้ามาสอบถาม กระทั่งเกิดการว่าจ้างให้ช่วยทำตู้ปลาจากทีวีให้บ้าง เกิดเป็นกระแสบอกปากต่อปากรู้กันทั่วทั้งชุมชน เรียกกันติดปากกว่า “ตู้ปลาทีวี รีไซเคิล พวงเพชร” ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้น เริ่มมีโครงการประกวดสินค้าโอทอปครั้งแรกขึ้น เมื่อปี 2545-2546 โดยให้แต่ละหมู่บ้านคัดเลือกสินค้าเด่นของชุมชน เพื่อส่งเป็นตัวแทนเข้าคัดสรรโอทอป ซึ่งตู้ปลาทีวีได้รับเลือกจากชาวบ้านหมู่ 4 ต.วัดจันทร์ ชนิดไร้คู่แข่ง

ทั้งนี้ “ตู้ปลาทีวี รีไซเคิล พวงเพชร” ได้จดอนุสิทธิบัตรไว้แล้ว มีจุดเด่นใช้จอภาพจริง ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ถ้าไม่เชี่ยวชาญ จะเกิดปัญหาแตกร้าวได้ง่าย รวมถึง มีเทคนิคพิเศษทำให้สามารถจัดการระบายน้ำได้ดี สามารถอยู่ได้นานกว่า 3เดือนโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ และนอกจากทีวีตู้ไม้เก่าแล้ว ปัจจุบันได้เพิ่มวัสดุอื่นๆ เช่น ทีวีรุ่นใหม่แบบจอแบน จอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพิ่มลูกเล่นต่างๆ มากมาย เช่น เพนท์ลายลงบนเครื่อง หรือเสริมเทคนิคต่างๆ ลงไป ทำให้ตู้ปลาทีวีแต่ละชิ้นจะไม่เหมือนกัน ผลงานเด่นๆ ที่ผ่านมา เช่น ทำเป็นตู้ปลาที่สามารถเลี้ยงหนูแฮมเตอร์ควบคู่กันไปด้วยได้ โดยภายในตู้จะมีแบ่งเป็นสองโซนสำหรับเลี้ยงหนู และปลาแยกจากกัน แต่จะเจาะอุโมงค์ใสให้เจ้าหนูสามารถวิ่งเล่นผ่านในส่วนเลี้ยงปลาได้ บางชิ้นเจาะช่องเพื่อใส่ทีวีเครื่องเล็กๆ ลงไป เป็นตู้ปลาที่สามารถดูทีวีพร้อมกับเลี้ยงปลาได้ เป็นต้น และส่วนผลงานล่าสุด ทำเป็นน้ำตกอยู่ในตู้ปลา ช่วยเพิ่มมิติในการมองยิ่งขึ้น

ในส่วนการออกแบบและควบคุมการผลิตทั้งหมดนั้น เป็นหน้าที่ของ “ทรงพล” โดยพัฒนาผลงานขึ้นมาตามลำดับ จากในยุคแรกแค่พอใช้งานได้ แต่ยังพบปัญหาจุกจิกต่างๆนานา เช่น น้ำซึมตามขอบ ล้างทำความสะอาดลำบาก เป็นต้น จึงปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องมาตลอดมาจนได้งานลงตัว และพัฒนาต่อยอด ได้ชิ้นงานใหม่ๆ ที่แปลกแตกต่างใหม่ขึ้นมาเสมอ

เขาอธิบายว่า ในการออกแบบแต่ละชิ้นจะเริ่มจากดูวัสดุที่ได้มาก่อนว่า มีข้อดีหรือข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ได้มากน้อยเพียงใด เพราะทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์ แต่ละชิ้นจะมีรายละเอียดต่างๆกันไป หลังจากนั้น การออกแบบจะพยายามคิดให้แตกต่างจากผลงานเดิมๆ ที่เคยทำมาแล้ว เพราะนอกจากจะได้ผลงานชิ้นใหม่ไม่เหมือนใครแล้ว ยังเป็นความสนุก และช่วยพัฒนาความสามารถของตัวเองด้วย

ในด้านการตลาด จะรับทำตามออเดอร์เป็นรายๆไป ลูกค้าส่วนใหญ่จะติดต่อเข้ามาเอง กับอีกส่วนมีตัวแทนขาประจำ ว่าจ้างผลิตแล้วนำไปจำหน่ายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร สำหรับราคามีตั้งแต่ 2 พันถึง 6 พันกว่าบาท แล้วแต่ความยากง่าย โดยลูกค้าสามารถนำวัสดุมาเอง หรือจะให้ทางร้านฯจัดหาให้ก็ได้ โดยจะไปซื้อหาจากร้านขายของเก่า ซึ่งแบบขายดีที่สุดตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันยังเป็นตู้ปลาที่ทำจากทีวีไม้แบบโบราณ

พวงเพชร สะท้อนปัญหาในการทำงานอยู่ที่เป็นงานฝีมือ ต้องใช้ความชำนาญสูง แม้จะออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก แต่ว่าต่อเดือนจะสามารถทำได้เต็มทีประมาณ 10 ชิ้นเท่านั้น เพราะงานดังกล่าวถ้ารีบมาก หรือรับผลิตมากจนเกินกำลัง งานจะออกมาไม่สมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงาน ในที่สุดชื่อเสียงที่สะสมมานานก็จะเสียไปด้วย

“เรามีช่างทำงานรวมแค่ 3 คน เคยพยายามจะฝึกคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงาน แต่เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความชำนาญมาก เด็กที่มาฝึกส่วนใหญ่ก็จะหมดความอดทนไปก่อน ดังนั้น เราเลยรับงานได้ไม่มาก แต่ก็อยากให้คนที่สนใจจริงๆ มาทำงานนี้ เพราะเป็นงานฝีมือเฉพาะตัว ถ้ามีไอเดีย และฝีมือดีจริง เขาสามารถเอาไปยึดเป็นอาชีพหลักได้เลย ซึ่งในอนาคตก็มีความคิดจะเปิดเป็นหลักสูตรสอนเหมือนกัน” พวงเพชร กล่าวทิ้งท้าย

* * * * * * *

โทร.089-567-1235
กำลังโหลดความคิดเห็น