xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลอย่าเสียโอกาสดี

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

.
ผู้นำชุดนี้นั้นมีพันธกิจที่มาจากคณะรัฐประหารหรือ คมช. ในปัจจุบัน ไม่น่าถูกประเมินผลงานที่ผ่านมาแล้ว 7 เดือน ด้วยความผิดหวัง

น่าเสียดายที่การเลือกคนมาบริหารประเทศในช่วงสำคัญซึ่งขณะนี้จำเป็นต้อง “ปฏิรูปครั้งใหญ่” ดูเหมือนมิได้คำนึงถึง “คุณสมบัติสำคัญที่ต้องการ” (Core Competency) คือ ต้องการคน รู้จริง เที่ยงธรรม และกล้าลุย!

ประเทศไทยได้เสียต้นทุนความน่าเชื่อถือทางด้านประชาธิปไตย “ตามหลักคิดแบบตะวันตก” ไปพอสมควร

แต่ถ้าด้วยจะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายให้คุ้ม การลงโทษคนทุจริต และทวงคืนผลประโยชน์ของชาติที่ถูกเบียดบังไป อีกทั้งมีกฎกติกาใหม่ที่สร้างความเป็นธรรม สกัดการสืบทอดเชื้อชั่ว และตีแผ่ให้สังคมไทยและสังคมโลกได้รู้ประจักษ์เพื่อมิให้ร่วมมือหรือเอาเยี่ยงอย่าง

หากมีการเอาจริงและทำจริงเช่นนั้นแล้ว รู้จักใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐให้เกิดความเข้าใจทั้งภายในประเทศ และสังคมโลก ความเข้าใจและภาพลักษณ์ที่ดีก็จะเกิดขึ้น

อย่างการถูกโจมตีจากกลุ่มต่อต้านโดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจแล้วพลอยถูกเหมาว่าเป็น “รัฐบาลเผด็จ” โดยไม่มีตัวอย่างพฤติกรรมสนับสนุนข้ออ้าง ทั้งๆ ที่รัฐบาลนี้ถูกวิจารณ์ว่า “เกียร์ว่าง” เพราะไม่รู้จักใช้อำนาจลุยปัญหา

หรือบางคนขยันที่จะทำเรื่องที่ยังไม่น่าทำ แต่เรื่องควรทำกลับไม่ทำ

อย่างกรณีการยกเลิก “พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484” ซึ่งน่าจะรีบจัดการให้สำเร็จ และจะได้คะแนนจากสังคมโดยยืนยันกับสังคมโลกได้ว่าได้ยกเลิก “กฎหมายเผด็จการ” ฉบับนี้แล้ว ขณะที่รัฐบาลทักษิณไม่คิดทำ

ถ้าถามว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 มีความเลวร้ายอย่างไร

ก็ขอตอบว่า มีผู้รู้เล่าว่าเป็นกฎหมายนี้เกิดในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปลอกกฎหมายเก่าที่ประเทศอังกฤษเขียนขึ้นเพื่อใช้ควบคุมอียิปต์ในยุคที่เป็นเมืองขึ้น

เนื้อหากฎหมายการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มีการควบคุมหนังสือพิมพ์ตั้งแต่การต้องขอใบอนุญาตก่อนจึงออกเผยแพร่ได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานการพิมพ์ เช่น

• การเตือน

• การตรวจหรือเซ็นเซอร์ก่อนพิมพ์ (หากเตือนครั้งแรกแล้วไม่สังวร)

• การสั่งห้ามเผยแพร่

• การเซ็นเซอร์ในยามเกิดเหตุฉุกเฉินในราชอาณาจักร หรือมีเหตุคับขันระหว่างประเทศหรือมีการสงคราม (ซึ่งอาจถูกอ้างใช้อย่างไม่ถูกต้อง)

ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลว่า “อาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ซึ่งเป็นข้ออ้างแบบครอบจักรวาล และเป็นการวินิจฉัยโดยบุคคลซึ่งก็คือ ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานการพิมพ์

หลายยุคที่ผ่านมา ก็มักมีการสั่งจากนักการเมืองให้จัดการกับสื่อมวลชน หรือนักหนังสือพิมพ์ที่เขียนข่าวเปิดโปงความชั่วร้าย หรือเขียนวิจารณ์ความฉ้อฉลหรือบริหารผิดพลาดของนักการเมือง หรือผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ

อิสระและเสรีภาพของสื่อมวลชน แท้จริงแล้ว ก็มีความหมายเท่ากับ สิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน นั่นเอง

การมีกฎหมายเช่นนี้จึงเป็นการควบคุมสื่อมวลชนให้ทำงานไม่ได้เต็มที่ หรือข่มขู่ไม่ให้กล้าหือ ซึ่งก็จะทำลายสิทธิของประชาชนที่จะได้บริโภคข่าวสารเพื่อการรู้ทันนักการเมืองที่ไม่ดี และทำลายการใช้สื่อช่วยรักษาผลประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ

โดยหลักการแล้ว ผู้มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยย่อมเห็นด้วยที่จะยกเลิกกฎหมายล้าหลังฉบับนั้น

เรื่องนี้ทำท่าจะไปดี เมื่อนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ ยืนยันว่าเห็นด้วยที่จะยกเลิกกฎหมายฉบับนั้นที่ล้าสมัย และขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่มีหลักการคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชนในงานพบสื่อมวลชนครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 13 ธันวาคม 2549 แล้วตามมาด้วยการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย โดยมีตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 4 คนเข้าร่วมเป็นกรรมการ

ความจริงถ้าเป็นไปตามนโยบายของผู้นำรัฐบาลก็ร่างเป็นกฎหมายเพื่อยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ได้ง่ายๆ และตามคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวก็ระบุให้ร่างเป็นกฎหมายว่าด้วย “จดแจ้งการพิมพ์” ก็เป็นการยกเลิกกฎหมายการพิมพ์เก่า และเป็นกฎหมายสำหรับผู้ออกหนังสือพิมพ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ก็ได้รับการจดแจ้งเหมือนขึ้นทะเบียนเท่านั้น

แต่ที่มีปัญหาขึ้นเพราะตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมา 8 ครั้ง เห็นว่าการใช้วิธีนำกฎหมายการพิมพ์เก่ามาพิจารณาเป็นรายมาตรา ขณะที่กรรมการจากภาคราชการยังมีความคิดที่แตกต่างจากตัวแทนสื่อ จนหลายประเด็นประธานต้องให้ “แขวน” ไว้ก่อน และหากหลักการที่เป็นปัญหาขัดกับหลักเสรีภาพสื่อมวลชนถูกนำมาบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่

มันก็เป็นการยกเลิกเพียงชื่อ พ.ร.บ.การพิมพ์ฉบับเผด็จการ หรือเป็นแค่การ “ปรับปรุง” ไม่ใช่ “ยกเลิก” เพราะบางมาตราที่เป็นเชื้อเดิมยังมาอยู่ในร่างใหม่ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไป

นี่จึงเป็นเหตุให้ตัวแทนวิชาชีพสื่อหนังสือพิมพ์ทั้ง 4 ขอถอนตัวจากการเป็นกรรมการชุดนี้

องค์การวิชาชีพสื่อ 6 สถาบันซึ่งได้แก่ 1. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 2. สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 3. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 4. สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย 5. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 6. สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

ที่ประชุมมีมติสนับสนุนและออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อประชาชนให้รับรู้ และเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาใช้ร่างกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ซึ่งฝ่ายวิชาชีพได้เสนอรัฐบาลก่อนหน้านี้ เพราะมีเนื้อหาหลักการที่ดี

โอกาสในการทำเรื่องดีๆ ที่แสดงถึงความก้าวหน้าในการให้หลักประกันเสรีภาพสื่อ ซึ่งจะเป็นกลไกสนับสนุนการเกิดธรรมาภิบาลในทางการเมืองการบริหารภาครัฐตามที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติรออยู่หน้าท่านแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น