xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางการส่งเสริมธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

.
บริษัทการค้าระหว่างประเทศมีชื่อเรียกต่างๆ กันในหลายประเทศ เป็นต้นว่า ในฮ่องกงและแคนาดาเรียกว่า Trading Houses ญี่ปุ่นจะเรียกว่า Sogo Shosha ในกรณีเป็นบริษัทการค้าทั่วไป และจะเรียกว่า Semen Shosha ในกรณีเป็นบริษัทการค้าเฉพาะด้าน สำหรับฝรั่งเศสจะเรียกว่า OSCI (Operateur Specialise en Commerce Exterieur)

ธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ได้เริ่มต้นขึ้นในสมัยที่ประเทศทางตะวันตกขยายอาณานิคม โดยมีการก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษขึ้นเมื่อปี 2142 และรับอนุญาตจากรัฐบาลอังกฤษให้ผูกขาดการค้ากับอินเดีย ต่อมาในปี 2376 รัฐสภาอังกฤษได้ยกเลิกการผูกขาด เปิดโอกาสให้กับการเติบโตของบริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัท Jardine, Matheson & Co ซึ่งเปลี่ยนสถานภาพจากเดิมเป็นเพียงตัวแทนของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษมาเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศรายใหญ่ของโลกในช่วงนั้น

สำหรับสหรัฐฯ ในช่วงนั้นก็ได้มีการก่อตั้งบริษัทที่เรียกว่า Yankee Trader เพื่อเป็นตัวกลางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป และต่อมาได้ขยายการค้าไปยังเอเชียตะวันออกและละตินอเมริกา

สำหรับญี่ปุ่นภายหลังเปิดประเทศนั้น บริษัทการค้าของยุโรปได้เข้ามาก่อตั้งกิจการบริเวณเมืองท่าของญี่ปุ่นและประสบผลสำเร็จยึดครองการนำเข้าและส่งออกสินค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น โดยในปี 2417 บริษัทการค้าของต่างประเทศมีส่วนแบ่งการส่งออกและการนำเข้าของญี่ปุ่นมากถึง 97% และ 94% ตามลำดับ

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงพยายามส่งเสริมกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ก่อตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศขึ้นโดยลอกเลียนแบบบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ของยุโรป ซึ่งประสบความสำเร็จทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่บริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ของทวีปยุโรปสถานการณ์กลับตรงกันข้าม ในช่วงหลังธุรกิจตกต่ำลงมาก โดยเฉพาะภายหลังอาณานิคมได้รับเอกราช

ปัจจุบันญี่ปุ่นนับว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศ โดยบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลกในปี 2548 เป็นบริษัทญี่ปุ่นมากถึง 5 บริษัท เกาหลีใต้ 2 บริษัท บริษัทจีน 2 บริษัท และเนเธอร์แลนด์ 1 บริษัท สำหรับบริษัทการค้าระหว่างประเทศใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกของโลก ล้วนเป็นบริษัทญี่ปุ่น

เนื่องจากบริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จทางธุรกิจเป็นอย่างมาก และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าการลงทุนของญี่ปุ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น รัฐบาลของหลายประเทศจึงพยายามส่งเสริมกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศของตนเองให้เติบใหญ่เช่นเดียวกัน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ

ตัวอย่างหนึ่ง คือ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เรียกในภาษาเกาหลีว่าแชโบลก่อตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศของตนเอง มีการก่อตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่แห่งแรกของเกาหลีใต้ คือ บริษัท Samsung Trading เมื่อปี 2518 จากนั้นได้มีการก่อตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้เพิ่มเติมอีก 12 แห่ง

รัฐบาลเกาหลีใต้มีมาตรการส่งเสริมบริษัทการค้าระหว่างประเทศ โดยสนับสนุนในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับมูลค่าส่งออก ทุนจดทะเบียน รวมถึงสำนักงานในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันระหว่างบริษัทการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้เป็นไปอย่างรุนแรงมาก เนื่องจากรัฐบาลจะให้การสนับสนุนขึ้นกับมูลค่าการส่งออก ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงพยายามเพิ่มตัวเลขส่งออกให้มากที่สุด แม้ว่าการส่งออกสินค้าบางกลุ่มจะไม่มีกำไรหรืออาจจะขาดทุนก็ตาม จากการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้หลายบริษัทต้องขาดทุนและเลิกกิจการ

ในอดีตบริษัทการค้าขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้นับว่ามีบทบาทอย่างมาก โดยในปี 2528 บริษัทการค้าขนาดใหญ่ 7 บริษัทของเกาหลีใต้ มีบทบาทในการส่งออกเป็นสัดส่วน 47.9% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด แต่ในระยะหลังบทบาทมีแนวโน้มลดน้อยลง เนื่องจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้จะอนุญาตให้บริษัทขนาดใหญ่ของตนเองทำการค้าระหว่างประเทศโดยตรงแทนการค้าผ่านบริษัทการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า บริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด สามารถค้าโดยตรงโดยไม่ผ่านบริษัท ซัมซุง จำกัด

สำหรับรัฐบาลไต้หวันก็ได้ออกมาตรการสนับสนุนธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน โดยในปี 2521 มีการก่อตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่แห่งแรกของไต้หวัน คือ บริษัท Pan Overseas ต่อมามีการก่อตั้งบริษัทการค้าขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีกรวมเป็น 7 บริษัท

อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมบริษัทการค้าระหว่างประเทศของไต้หวันไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจเอาไว้ แม้ในช่วงเริ่มแรกไต้หวันมีบริษัทการค้าขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล 7 บริษัท แต่เมื่อปี 2544 ลดลงเหลือเพียง 1 บริษัทเท่านั้น คือ บริษัท Collins สำหรับบริษัทที่เหลือมีทั้งเลิกกิจการหรือมียอดส่งออกสินค้าต่ำมากจนไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางราชการในการส่งเสริมกิจการค้าระหว่างประเทศ

แม้บริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ของไต้หวันจะไม่ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ แต่บริษัทการค้าขนาดกลางและขนาดเล็กของไต้หวันกลับประสบผลสำเร็จค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นบริษัทเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในสินค้าเฉพาะด้าน แม้บริษัทเหล่านี้มีจุดอ่อน คือ ไม่มีสำนักงานต่างประเทศ แต่ผู้บริหารจะไปเยี่ยมเยือนลูกค้าในต่างประเทศบ่อยครั้ง พบปะสังสรรค์ เล่นกอล์ฟร่วมกัน ฯลฯ ทำให้มีความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากในการทำธุรกิจบริษัทการค้าต่างประเทศ

สำหรับกรณีของประเทศไทย รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศของคนไทยขึ้น โดยได้เปิดให้การส่งเสริมแก่กิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศเมื่อปี 2521 โดยมีเป้าหมายให้ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขยายมูลค่าส่งออกและพัฒนาตลาดส่งออก

ในระยะที่ผ่านมาได้อนุมัติให้การส่งเสริมในกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศไปแล้ว 21 บริษัท โดยกำหนดยอดส่งออกขั้นต่ำตามกำหนด โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจและเกือบทั้งหมดได้เลิกกิจการ โดยยังคงเหลือที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างจริงๆ จังๆ เพียง 2 บริษัทเท่านั้น คือ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด และบริษัท ค้าสากลซีเมนต์ไทย จำกัด

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมบริษัทการค้าระหว่างประเทศข้างต้น โดยเห็นว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ มักใช้รูปแบบบริษัทการค้าระหว่างประเทศทั่วไปของญี่ปุ่นเป็นแบบอย่าง ทำให้นโยบายไม่บรรลุผลเท่าที่ควร เนื่องจากเหตุผลสำคัญ 3 ประการ

ประการแรก ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นต้องใช้เวลานานนับ 100 ปี กว่าธุรกิจจะเติบใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยธุรกิจจะต้องลงทุนจำนวนมากในระยะแรก ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง

การที่รัฐบาลของประเทศเหล่านี้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทการค้าที่ได้รับการส่งเสริมต้องเน้นส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงตั้งแต่เริ่มแรก ทำให้ธุรกิจของบริษัทการค้าระหว่างประเทศที่ต้องการส่งเสริมขาดความคล่องตัว ส่งผลให้มีกำไรต่ำหรือขาดทุน และส่วนใหญ่ต้องเลิกกิจการอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

ประการที่สอง บทบาทสำคัญของบริษัทการค้าระหว่างประเทศทั่วไปของญี่ปุ่น จะเป็นการนำเข้ามากกว่าส่งออก และจะเน้นสินค้าดั้งเดิมที่จำหน่ายเป็นปริมาณมาก เช่น แร่ น้ำมัน พืชผลทางการเกษตร ฯลฯ มากกว่าจะเป็นสินค้าพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ยิ่งไปกว่านั้น จะเน้นทำธุรกิจกับบริษัทขนาดใหญ่มากกว่าทำธุรกิจกับ SMEs

ประการที่สาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประสบผลสำเร็จค่อนข้างมาก คือ วัฒนธรรมการดำเนินการของญี่ปุ่นซึ่งเน้นความร่วมมือประสานงานซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นความสัมพันธ์กันในระยะยาว ไม่ได้เพื่อผลประโยชน์ในระยะสั้นเท่านั้น โดยบริษัทการค้าระหว่างประเทศจะให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านติดต่อทางการค้า แสวงหาแหล่งเงินทุน แสวงหาวัตถุดิบ ขนส่ง คลังสินค้า ประกันภัย ฯลฯ ขณะที่รูปแบบวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจในประเทศอื่นๆ แตกต่างออกไป จึงไม่สามารถนำรูปแบบการดำเนินธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศแบบญี่ปุ่นไปใช้ได้

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น