xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.-ทรท.ชี้ รธน.ใหม่อมาตยาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปชป.-ทรท. ประสานเสียงร่าง รธน. ปี 2550 ส่ออมาตยาธิปไตย ให้อำนาจข้าราชการ-องค์กรอิสระตัดสินใจแทนประชาชน “อภิสิทธิ์” ระบุปัญหาการเมืองคือการใช้เงินซื้อเสียง แต่ รธน.ใหม่ไม่มีการปฎิรูปปัญหาการใช้เงินทั้งที่เป็นสิ่งน่ากลัวที่สุด เรียกร้อง ส.ส.ร.ส่งสัญญาณไปยังผู้มีอำนาจ ถ้า รธน.ไม่ได้มาตราฐานประชาธิปไตยเพียงพออย่าเดินหน้า เตือนอย่าประมาทกระแสประชาชน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา ทางวิชาการ “นานาทรรศนะ วิพากษ์รัฐธรรมนูญ 2550” วานนี้ (1 พ.ค.) ว่า ขอฟันธงว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดีกว่าฉบับเดิมยาก เพราะร่างบนบรรยากาศของความระแวง และรังเกียจนักการเมือง กีดกันตั้งแต่การเข้ามาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และเมื่อร่างเสร็จก็ไม่สอบถามความเห็นของพรรคการเมือง จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นอมาตยาธิปไตย

“เมื่อมีพื้นฐานว่านักการเมืองไม่ดี จึงเขียนเอาไว้ว่าไม่ให้อำนาจ แต่ลืมไปว่า นักการเมืองทำหน้าที่แทนประชาชน ถ้านักการเมืองไม่มีอำนาจ ก็หมายความว่าประชาชนไม่มีอำนาจ และการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไปกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว เช่น กลัวว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก แต่ไม่กลัวว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจเกินขอบเขต ประเด็นกลัวรัฐบาลเข้มแข็งเป็นคนละประเด็นกับการใช้อำนาจเกินขอบเขต”

นายอภิสิทธิ์ ตั้งคำถามว่า วันนี้ รัฐบาลได้ทำอะไรบ้างที่จะไปสกัดกั้นการซื้อขายเสียง และในร่างรัฐธรรมนูญมีข้อไหนบ้างที่ไปปฏิรูปปัญหาการใช้เงิน ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด และทำลายการเมืองมาโดยตลอดคือสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าเขียนอะไรก็ได้แล้วรับไปก่อน เราต้องขีดเส้นมาตรฐานขั้นต่ำของความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้เลือกตั้งแล้วเราไม่วิกฤติ

“ใครที่บอกว่าให้รับไปก่อน แล้วเคยผ่านเหตุการณ์ปี 34 และ 35 จะขนลุก สมัย รสช. ก็ขอร้องว่ารับไปก่อน เลือกตั้งแล้วจบ แต่ก็ไปจบที่การสูญเสียเลือดเนื้อ ดังนั้น ต้องบอกกับผู้เกี่ยวข้องว่า อย่าสร้างเงื่อนไขให้กับบ้านเมือง ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้มาตรฐานประชาธิปไตยเพียงพอ อย่าเดินหน้า ถอยไปเลย อย่าถึงขั้นประชามติเลย ผมเรียกร้องให้ ส.ส.ร.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และส่งสัญญาณไปยังคนมีอำนาจว่า สมัยนี้ไม่เหมือนกับ 20 ปีที่แล้ว ที่ว่าพรรคการเมืองไว้ใจไม่ได้ แล้วเอากลไกราชการมาดูแล เพราะประชาชนไม่ยอมรับการปกครองลักษณะนี้แล้ว”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องการให้ถอดออกจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือ การให้อำนาจผู้ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเข้ามาแทรกแซงการเมือง ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ มาตรา 68 วรรค 2 ที่ให้องค์กรแก้วิกฤติบ้านเมือง ตรงนี้จะทำให้เกิดความหวาดระแวงเรื่องการสืบทอดอำนาจ และเรื่องเครือข่ายองค์กรอิสระ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาการแทรกแซงในกระบวนการสรรหา แต่ก็ยังไม่มีกลไกป้องกัน มีเพียงการปรับกรรมการสรรหาเพียงไม่กี่คน รวมถึงที่มาของ ส.ว. ที่มัวแต่เถียงกันว่า จะมาจากการสรรหา หรือเลือกตั้ง ที่ง่ายที่สุดคือ ควรถอดอำนาจ การถอดถอนฝ่ายการเมือง เหลือเพียงกลั่นกรองกฎหมาย หากเหลือเพียงเท่านี้ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาว่า ส.ว.จะมาจากการสรรหา หรือเลือกตั้ง

“เรื่องการทำประชามติ อย่าสักแต่ว่าทำเพื่อให้เกิดความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ โดยแค่บอกประชาชนว่า มีหน้าที่ต้องไปลงประชามติ เพราะจะเสียงบประมาณเปล่า ๆ แต่ควรจะบอกประชาชนว่า ถ้าไม่รับฉบับนี้แล้ว จะได้ฉบับไหน ขอเตือนว่า อย่าดึงดัน และอย่าประมาทกระแสประชาชน เพราะถ้าประชาชนกล้าที่จะไม่รับรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เหตุใดประชาชนจะไม่กล้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ดังนั้น อย่าขู่ว่าถ้าไม่รับ คมช. จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ได้อยู่แล้ว”

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า การทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนกับมัดมือชกประชาชน เพราะไม่รู้ว่าถ้าไม่รับแล้วจะเจออะไร และยังมีการขู่ว่าถ้าไม่รับแล้วจะเจออะไร ซึ่งขัดกับหลักการทำประชามติที่ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะต้องแสดงความเห็นได้เท่าเทียมกัน ส่วนตัวคิดว่า ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียว ที่มีความชอบธรรมที่จะหยิบมาใช้ได้ คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ คมช.ไปฉีก แต่ถ้าจะนำมาใช้ ต้องแก้บทเฉพาะกาลใหม่ แสดงให้เห็นว่าไม่หมกเม็ด เพราะเวลานี้ คมช. วางคนไว้ในองค์กรอิสระ และให้อยู่จนครบวาระ

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการท้วงติงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การให้ ส.ว.มาจากการสรรหา โดยคนเพียง 7 คน และคนเหล่านี้ต้องถูกตรวจสอบโดยวุฒิสภา ซึ่งคิดไม่ออกว่าการให้ 7 คนนี้เลือก จะดีกว่าให้ประชาชนเลือก และกติกาการสรรหา ก็ไม่ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญ แต่ไปอยู่ในกฎหมายลูก ขอบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ นำประเทศกลับไปสู่อมาตยาธิปไตย และกลุ่มคนที่เป็นข้าราชการและองค์กรอิสระ มีอำนาจตัดสินใจแทนประชาชน

“ผมเคยอยู่ในฝ่ายตุลาการ เห็นว่าทุกองค์กรก็มีปัญหาได้ ตุลาการก็เคยอยู่ในวิกฤติ และหลายคนก็เคยมีปัญหา แต่มาตรวจสอบคนอื่น อยู่ในขณะนี้ เช่น นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และนายวิชา มหาคุณ ก็เคยถูกให้ออกจากราชการ ตอนวิกฤติตุลาการ จนต้องถวายฎีกา และพวกผมต้องไปพบกับพรรคการเมือง ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ยับยั้ง พ.ร.บ.ยุบคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.)”

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็มีส่วนดี เช่น การเพิ่มสิทธิประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอนบุคคลทางการเมือง การเสนอกฎหมาย แต่ก็ยังต้องการเห็นการมีส่วนร่วม และการให้สิทธิประชาชนมากกว่านี้ เพราะองค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไว้ใจให้เข้ามาทำงานแทนประชาชน จะยึดถือประชาชนเป็นหลักโดยไม่มีวาระซ่อนเร้นมากกว่าตัวแทนของประชาชนหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น