xs
xsm
sm
md
lg

ฤๅษีสมคบเต่าแก้แห แหพันเต่ารัดคอฤๅษี พากันดิ้นกระแด่ว กระแด่ว

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

การุณ ใสงาม
karoonsen@hotmail.com

ดูท่าทาง ทีไอทีวี จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และจะพลอยทำให้หลายต่อหลายคนโดนหางเลขไปด้วย

ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามข่าวทีไอทีวี ตลอดช่วงสัปดาห์ที่แล้ว บางท่านอาจจะเกิดอาการเบื่อหน่ายและไม่เข้าใจว่ารัฐบาลจะเข้าไปโอบอุ้มหรือเข้าไปช่วยเหลืออะไรกันนักกันหนา

เริ่มต้นจากคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาตำหนิข้าราชการที่ดำเนินการล่าช้า กรณีการเบิกจ่ายเงินหมุนเวียนสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และการจัดทำโครงสร้างเอสดียูเพื่อใช้ในการบริหาร รู้สึกว่าการทำงานของข้าราชการคงใส่เกียร์ว่างมากไปหน่อยถึงทำให้คุณหญิงต้องออกโรงทีเดียว

เรื่องขอเรื่องไม่มีอะไรหรอกครับ เพราะมีเสียงเรียกร้องจากพนักงานทีไอทีวีบอกว่าตอนนี้ค่าใช้จ่ายของสถานี โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของข่าวที่ใช้เงินกองทุนของพนักงานที่มีอยู่ 700,000 บาทหมดแล้ว และขณะนี้ค่าใช้จ่ายที่มาจากเงินของผู้บริจาค จำนวน 900,000 บาท ก็ใกล้หมดแล้วเช่นกัน ที่สำคัญคือพนักงานไอทีวี จำนวน 1,010 คนไม่ได้รับเงินเดือนมา 2 เดือนแล้ว

ฟังดูน่าเห็นใจครับ แต่พนักงานเหล่านี้ลืมไปหรือเปล่าครับว่าพวกคุณได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนมาก ผิดกับพนักงานบริษัทอื่นที่เขาเลิกกิจการไปแล้วไม่ได้รับการว่าจ้างต่อให้กลับมาทำงานทันที จะว่าไปพวกคุณก็ยังไม่ได้รับการว่าจ้างคงเป็นพนักงานเถื่อนอยู่มิใช่หรือ

แต่มีเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ คือการที่กรมประชาสัมพันธ์มีคำแนะนำว่าให้พนักงานทีไอทีวีไปตั้งบริษัทขึ้นมารับจ้างผลิตรายการได้

ท่าทางจะไปกันใหญ่แล้วครับ

เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย มติ ครม. เมื่อวันอังคารที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ครม. มีมติให้ ทีไอทีวี เป็นทีวีสาธารณะ

เท่านั้นแหล่ะครับ เสียงโวยวายแสดงอาการไม่พอใจ ตีอกชกหัว (คนอื่น) ก็ดังขึ้นอีกรอบ ผมสงสัยว่าไม่เหนื่อยกันบ้างหรือไร

ฟังดูหลักการของการเป็นทีวีสาธารณะแล้ว โก้ดูไม่น้อย

มีมติว่า หน่วยงานทีไอทีวี จะเป็นรูปแบบขององค์การมหาชน และมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากกลุ่มทุน และกลุ่มการเมือง มีสัดส่วนของภาคประชาชนเข้ามา โดยจะมีการเขียนกฎหมายให้ชัดเจนว่าองค์การมหาชนดังกล่าว เป็นสื่อสาธารณะ

สิ่งสำคัญคือการเป็นสื่อสาธารณะจะไม่มีโฆษณา

เหตุติดขัดที่ไม่สามารถทำให้เป็นทีวีเสรีได้ เนื่องจากว่า การจะมีทีวีเสรีเกิดขึ้นจะต้องแก้มาตรา 80 ของ พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และต้องมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ซึ่งไม่สามารถทำได้ในขณะนี้

คำถามที่ดังขึ้นตามมา คือ ไม่มีโฆษณาแล้วจะหาเงินจากไหนมาสนับสนุน

ภาษีบาป (ภาษีสรรพสามิตเหล้าเบียร์บุหรี่) + เงินภาษีของพี่น้องประชาชนนั่นแหล่ะครับเป็นคำตอบ

ด้านกฎหมายก็มีการมอบหมายให้ทีมงานไปปรับปรุง ร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ยังไม่จบครับ

คราวนี้ ผู้ผลิตรายการออกมาดาหน้า โจมตีรัฐบาลระบุว่าการทำให้ทีไอทีวีเป็นสื่อสาธารณะนั้นก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ผลิตรายการจำนวนมาก และไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลต้องการให้เป็นสื่อสาธารณะ และยังบอกว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยสอบถามผู้ผลิตรายการว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร อีกทั้งภาครัฐก็มีสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่ไม่มีโฆษณา เหมาะที่จะเป็นสื่อสาธารณะมากกว่า

เป็นอย่างไรครับ รัฐบาลขิงแก่อุตส่าห์ช่วยทีไอทีวีไม่ยอมให้จอมืด แต่ดูเหมือนกลุ่มคนเหล่านี้ได้คืบจะเอาศอก จนผมสงสัยว่าทีวีเสรีคืออะไร

ทีวีเสรี คือให้หากินกันอย่างเสรีใช่หรือไม่

ความพยายามที่จะแก้ปัญหาทีไอทีวี ของคุณหญิงทิพาวดีผ่านรูปแบบองค์กรพิเศษหรือเอสดียู ความหวังริบหรี่เต็มที เพราะเมื่อ วันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ก.พ.ร. ได้ประชุมพิจารณาแผนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งหน่วยงาน เอสดียู ของสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ที่กรมประชาสัมพันธ์นำเสนอ

ปรากฏว่า ก.พ.ร.ตีกลับแผนการจัดตั้ง เอสดียู เป็นรอบที่ 3 ย้ำเป็นครั้งที่ 3 ครับ เพราะแผนไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากยังเป็นการจัดงบประมาณในลักษณะที่แสวงหากำไร แต่เรื่องนี้แทบไม่มีคนพูดถึงเลย

และที่สำคัญคือ จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการตรวจสอบทรัพย์สินของไอทีวีเลย ทั้งๆที่จะครบ 60 วัน ที่ทางไอทีวีจะต้องส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้กับปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผมอยากทราบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายท่านจะแก้อย่างไร

ในความเป็นจริง ปัญหาไอทีวีต้องมีการจัดการเป็นขั้นเป็นตอน กิจการต้องหยุด ไม่ใช่พอมีเสียงหรือข้อกดดันห้ามจอมืด รัฐก็ดันทุรังให้ไอทีวีทำรายการต่อไป ปัญหาตอนนี้ยิ่งยุ่งยากซับซ้อนไปใหญ่ มีลักษณะเหมือนกับลิงแก้แห ทั้งปัญหาเรื่องจอห้ามมืด ให้กรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่ดูแลโอบอุ้มออกอากาศต่อไปทั้งๆ ที่ผิด เงินรายได้เข้ามาก็ใช้เงินไม่ได้ ปัญหาด้านกฎหมายที่ฟ้องกันนัวเนียไม่รู้ใครเป็นใคร ใครผิดใครถูก และปัญหาที่จะต้องทำเป็นทีวีสาธารณะให้ได้ตามมติ ครม.

ดังนั้นเรื่อง การเป็นองค์กรรูปแบบพิเศษ หรือ เอสดียู ที่คุณหญิงทิพาวดีพยายามทั้งผลักทั้งดันให้เกิดขึ้น น่าจะจบเกมกันไป เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการขัดแย้งกันเอง

ตอนนี้ ทีไอทีวี ทำให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ไม่มีความชัดเจนว่ากระทรวงการคลัง สปน. หรือกรมประชาสัมพันธ์ ใครจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องระเบียบการใช้เงิน

ทางออกที่ทำกันคือ ส่งให้กฤษฎีกาตีความเรื่องกรรมสิทธิ์ของเงิน

เชื่อเถอะครับ เรื่องนี้ไม่จบง่ายๆ

ท่านยิ่งแก้ ยิ่งไปกันใหญ่

การแก้ปัญหาเราต้องแก้ที่สาเหตุ

เราอย่าลืมว่า ปัญหาที่แท้จริงคือการที่ ทีไอทีวีมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย มีการสมรู้ร่วมคิดร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน ที่มีการจัดสรรคลื่นความถี่และนำคลื่นความถี่ยูเอชเอฟไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

กลุ่มคนที่กระทำผิดนั้น เป็นคนของรัฐบาลไล่เรียงมาตั้งแต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี , คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

กระทำผิดทั้งในเรื่องการล็อกสเป็ก การทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว และกระทำผิด พ.ร.บ.ร่วมทุนกับรัฐอีกด้วย

ตอนนี้กลุ่มพนักงานทีไอทีวีที่ทำงานออกอากาศ เป็นเพียงกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการคลื่นความถี่ หรือนำเครื่องมือเครื่องไม้ของรัฐไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองได้

การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มพนักงานเหล่านี้สมคบกันกระทำความผิดกฎหมายอาญาเทียบเคียงได้กับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร

ท่านลองพิจารณาดูแล้วกันครับว่ากลุ่มคนเหล่านี้เข้าข่ายหรือไม่ ยิ่งแก้แหก็ยิ่งพันตัว ยิ่งแก้แหก็ยิ่งรัดคอ ทั้งเต่าทั้งฤๅษีก็จะพากันดิ้นกระแด่วๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น