xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนคำถามหมอประเวศ 9 ข้อ ขอให้คมช.ตอบ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

หัวใจของบทความนี้ คือคำถามในข้อ 6 ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะต้องเคลื่อนไหว และข้อ 8 ควร ทูลเกล้าฯถวายฎีกา และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือไม่

6 เดือนก่อนพฤษภาทมิฬ สังคมไทยตอบคำถามข้อที่ 6 อย่างขอไปที กำกวม การเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อระงับการนองเลือด หรือปฏิรูปการเมืองก็ไม่มี การคัดค้านรัฐธรรมนูญก็เหยาะแหยะ เอาใจหรือกลัว รสช.

ชวลิต ยงใจยุทธ อภิปรายว่าไม่ต้องกลัว เพราะ “การยึดอำนาจที่ผ่านมาในอดีต 50 ปีที่แล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่แปลกที่สุด ที่เรามานั่งด่า รสช.กันได้”

บุญชู โรจนเสถียร ระบายความในใจอย่างเผ็ดร้อน ว่า “ประเทศไทยจะตกต่ำลงไปพอๆ กับซอหม่องละ ไม่ได้หนีไปไหนแล้ว ใกล้ๆ กันนั่นแหละ แล้วทีนี้ประชาชนจะต้องเดือดร้อนมากขึ้นๆ ความไม่พอใจของประชาชนจะมีแน่ แล้วนั่นละครับก็มาอีกละ วงจรอุบาทว์กลับมาอีกแล้ว จะแก้กันอย่างไร เมื่อกี้บอกว่าเราต้องพัฒนาพรรคการเมือง ไม่ทันกินหรอก เพราะพรรคการเมืองอยู่ในท็อปบูตนี้มานานแล้ว มันเป็นบอนไซไม่โต ก็มันจะพัฒนาได้อย่างไร 2-3 ปีหยุดๆ ยึดเรื่อย แล้วมันจะพัฒนาได้อย่างไร ก็ลองบอกกองทัพไปอยู่กองทัพเฉยๆ ก่อน ไปพัฒนากองทัพเสียอย่างที่ว่า แล้วผมจะพัฒนาพรรคการเมืองของผม อย่ามายุ่งเกี่ยวกันได้ไหม อย่างนั้นละ สังคมก็จะมีทางไปได้แน่นอน ถ้าพูดอย่างนี้แล้วจะบอกว่าเป็นการปลุกระดมก็ยอมนะ ผมต้องการที่จะให้ประชาชนทั้งหลายนี่ต้องคิดแล้วว่าจากนี้ไปเราจะปล่อยให้เขาทำอะไรปู้ยี่ปู้ยำโดยเราไม่มีทางต่อต้าน ไม่ได้แล้ว”

บัญญัติ บรรทัดฐาน ปลงตกว่า “ทำอย่างไรได้ครับ มันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศออกมาแล้วมันมาบังคับเราด้วย” ข้อสรุปของบัญญัติก็คือ เมื่อมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ ผู้มีอำนาจได้แก่ทหารกับการเมืองน้ำเน่าก็จะสมานฉันท์กันเป็นใหญ่ต่อไป “ตรงนี้เป็นข้อน่าวิตก สภาพของการเมืองที่วุ่นวายอยู่แล้ว ผมคิดว่าเวลานี้ก็วุ่นวายมาก ความวุ่นวายประการที่ 1 ผมคิดว่านักการเมืองน้ำเน่าเคยอย่างไรก็อย่างนั้นครับ เวลานี้วันๆก็นั่งคิดสมบัติบ้าอยู่ 3 ข้อ 1.จะไปอยู่พรรคไหน มีโอกาสได้รับการสนับสนุนได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรหรือไม่ ซึ่งก็ย่อมขึ้นกับปัจจัยประการที่ 2 ว่าเงินหนาแค่ไหน ท่านหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ระวังนะครับ อย่ารับคนพวกนี้เข้าไป ประการที่ 3 จะไปอยู่พรรคไหน มีโอกาสเป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ครับ ผมคิดว่าการเทตัวไปมาของนักการเมืองจากพรรคนั้นไปพรรคนี้ จากพรรคนี้ไปพรรคนั้นจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอด”

บัญญัติเป็นผู้แทนอุดมคติ อยู่ในประชาธิปัตย์พรรคเดียว เทียบกับ จาตุรนต์ ฉายแสง อยู่มาแล้ว 4-5 พรรค ทวี สุระบาล เขตเดียวกับชวน หลีกภัย อยู่มา 3 พรรค คือ ชาติไทย ประชาธิปัตย์ กับไทยรักไทย

นี่แสดงให้เห็นว่าหัวหน้าพรรคเองก็อ้าแขนรับผู้แทนจากพรรคอื่นๆ เพราะทุกพรรคสนใจพัฒนาที่นั่งมากกว่าพัฒนาพรรค เขตของหัวหน้ามักจะไม่มีสาขาพรรคเลย เพราะหัวหน้าพรรคจะได้มีอำนาจควบคุม เลือกคนมาเพิ่ม ที่นั่งให้พรรค ตามยุทธศาสตร์ชิงที่นั่งเพื่ออำนาจรัฐเป็นคราวๆ ไป นี่คือสาเหตุที่ ทวี สุระบาล ข้ามจากชาติไทยมาเขี่ยประชาธิปัตย์แท้ๆ ออกจากทีมชวน

นี่คือปัญหาพื้นฐานหรือมะเร็งของระบบการเมืองไทย ถึงจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ก็แก้ไม่ได้ ปฏิวัติก็แก้ไม่ได้ เลือกตั้งก็แก้ไม่ได้ ตราบใด ที่ยังบังคับ ส.ส.ให้สังกัดพรรค ตามกรอบคิดและพฤติกรรมเดิม

การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเป็นระบบเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหา ดังกล่าวได้ เพราะการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ หูตาสว่างไม่ถูกจูงจมูกโดยตัวหนังสือ การโฆษณาโกหก หรือแม้แต่ตัวเลขบนใบธนบัตร

เป็นระบบนั้นคืออย่างไร ดูได้จากตัวอย่างการเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณ จากปรากฏการณ์สนธิ-เมืองไทยรายสัปดาห์-ไปสู่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การคว่ำบาตรการเลือกตั้งก็ดี การขยายองค์ประกอบและขบวนการ ต่อต้านอย่างต่อเนื่องโดยสันติก็ดี การฉีกบัตรเลือกตั้งและลงคะแนนโนโหวต ตั้ง 10 ล้านเสียงก็ดี ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวอย่างมีระบบ

แต่นั่นเป็นเพียงการทำลายสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา คือ รัฐบาลทักษิณ

คำถามต่อไปก็คือ เราจะเคลื่อนไหวสร้างการเมืองใหม่ที่พึงปรารถนา คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างไร

คำตอบนั้นอยู่ในคำถามทั้งข้อ 6 และข้อ 8 ควรทูลเกล้าฯถวายฎีกา และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือไม่ อย่างแยกกันไม่ออก

ในยุค รสช. นั้นเงียบงันไม่มีคำตอบข้อ 8 ถ้าเราตอบได้เสียตั้งแต่คราวนั้น เราจะไม่มีพฤษภาทมิฬ และจะไม่ต้องกลับมาถามกันอีกในยุค คมช. เลย

ผมเป็นคนที่ตอบว่าควร แต่จะต้องมีเงื่อนไขเงื่อนเวลาอันถูกต้อง สอดคล้องกับหลักและจารีตประเพณีประชาธิปไตย

ผมเชื่อว่าถ้าเราทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีเสียแต่ต้น การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีโดยมาตรา 7 โดดๆ ในยุคทักษิณจะไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้มาตรา 7 แก้วิกฤตที่สุดในโลกของชาติ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศ ตัวอย่างเช่น พระราชดำรัสต่อประธานศาลฎีกากับศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น

ถ้าหากพันธมิตรฯและประชาชนได้เคลื่อนไหวสร้างเงื่อนไขและเงื่อนเวลา ให้ถูกต้องสมบูรณ์เสียก่อน ผมแน่ใจว่า พระองค์ท่านสามารถพระราชทานนายกรัฐมนตรีได้ เพราะพระองค์ตรัสว่า “ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ (มาตรา 7) ก็ไม่กลัว” และ “ศาลจะบอกได้”

บังเอิญศาลของเราหาใช่ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่แท้จริงไม่ จึงหาคำตอบได้เพียงครึ่งเดียวให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ส่วนคำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ทักษิณพ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีศาลไม่กล้าคิด ไม่งั้นคงไม่ยุ่งถึงกับต้องให้ทหารถลำลึกเข้ามาถึงเพียงนี้

หากสังคมเห่อตุลาการยุคนี้เหมือนกับการเห่อองค์กรอิสระในยุคที่ผ่านมา อำนาจตุลาการที่ปลีกตัวเป็นอำนาจอธิปไตยอิสระ ปราศจากความสัมพันธ์ยึดโยงหรือการควบคุมแบบมีดุลยภาพระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม จะทำให้เรามีเผด็จการครบทั้ง 3 ฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ (หากไม่นับทหาร)

บัดนี้ปรากฏชัดแล้วว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองมาถึง ทางตัน แม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติฯแท้ๆ ยังรับว่ามีอันตรายในรัฐธรรมนูญ องค์กรกลางของพลเอกสายหยุดประกาศว่ารับไม่ได้ สมศักดิ์ เทพสุทินบอกว่าประชามติต้องคว่ำแน่ๆ

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ พยายามปลอบใจสังคมว่า ไม่เป็นไรรัฐธรรมนูญยังมีทางแก้ไขได้ แต่ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บรมครูรัฐธรรมนูญบอกว่าแก้อย่างไรก็ไม่มีความหมาย เพราะรัฐธรรมนูญมีชัย 2549 ผูกเงื่อนมฤตยูไว้มาก สมมติว่าแก้แล้วรัฐธรรมนูญผ่าน ก็นับวันคอยกลียุคกันได้เลย บรรดาอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่ถกเรื่องนี้ ดูจะเห็นด้วยทั้งสิ้นว่า แย่แล้ว ไม่มีทางออก

ผมเห็นด้วยกับท่านเหล่านั้นทุกอย่าง แต่ผมเชื่อว่ามีทางออก แต่มิใช่แก้ร่างรัฐธรรมนูญ เราต้องเลือกว่าจะผันวิกฤตเป็นโอกาส หรือจะอวดฉลาดไปตายดาบหน้าผมพูดถึงความไม่ชอบของรัฐธรรมนูญมามากพอแล้ว ทางตันที่คล้ายๆ วันนี้ ผมเห็นทางออกมาตั้งแต่ปี 2534 แล้วว่า อยู่ที่การ เคลื่อนไหวอย่างมีระบบ ของประชาชนชาวไทย เพื่อนำไปสู่ การทูลเกล้าฯถวายฎีกา และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ

การขอพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น มิได้หมายความว่าผลักภาระการ ร่างให้ในหลวง หรือรบกวนเบื้องยุคลบาท แต่หมายความถึงการที่พระมหา-กษัตริย์กับปวงราษฎรมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยหลัก พระราชอำนาจ พระบรมราชวินิจฉัย และวิธีการที่พระองค์เคยทรงปฏิบัติ มาแล้วตามครรลองประชาธิปไตยที่เรียกว่า ราชประชาสมาสัย

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระบรมราชวินิจฉัยต่างๆ โดยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 แต่คณะผู้มีอำนาจปกครองไม่ฟัง และไม่มีราชประชาสมาสัย

แต่ในหลวงองค์ปัจจุบันของเราทรงเป็นจอมกษัตริย์ มีบุญญาธิการ แผ่ไพศาล ไม่ว่าจะเป็น คมช.หรือรัฐบาลหรือปวงชนทั้งหลาย ใครเลยจะไม่เคารพบูชาหรือไม่อยากมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยให้แก่แผ่นดิน ภายใต้พระบารมี

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องเคลื่อนไหว โดยสันติวิธี มีทิศทาง อย่างเป็น ระบบจากเล็ก-ไปหาใหญ่ จากน้อย-ไปหามาก จากต่ำ-ไปหาสูง อย่าทำโดดเดี่ยว กลุ่มเดียว แต่ทำเป็นระบบเชื่อมโยง เริ่มตั้งแต่บุคคลต่อบุคคล บุคคลต่อกลุ่ม กลุ่มต่อกลุ่ม สมาคมต่อสมาคม จนกระทั่งเป็นสมัชชาใหญ่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน ด้วยกิจกรรมที่ต่อเนื่อง มีพลังและเป็นเอกภาพ เพื่อร่วมสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถ้าจะให้เร็ว คมช. ควรเป็นผู้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา แต่ถ้าจะให้ดีและมี น้ำหนักก็ต้อง คมช.ร่วมกับสมัชชาประชาธิปไตยแห่งชาติ ส่วนขั้นตอน ควรจะเป็นอย่างไร ให้คำนึงถึงสถานการณ์ว่า ประเทศจะทนเจ็บปวดได้นานเท่าไร กับความกดดันสับสนวุ่นวาย และไม่แน่นอนของขบวนการร่างและกระแสคลื่นการเมืองที่ถาโถมเข้ามา โดยเอารัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งบังหน้า

ข้อนี้ต้องถามใจ คมช. รัฐบาล พันธมิตรฯและประชาชนไทยทุกคน

เพราะถ้าตอบได้ทันที เราอาจจะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2549 ทันทีเพื่อออกจากวิกฤต ซึ่ง คมช. ทำได้เพราะมีอำนาจสิทธิขาด เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ใครมาตีสำนวนว่าเป็นการปฏิวัติซ้อนก็อย่าเชื่อ เพราะมันไม่ใช่

ภายใต้การร่วมมือสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฏฐาธิปัตย์ และรัฐบาล สังคมไทยพึงกระทำการต่อไปนี้

1. ประชุมและชุมนุมอภิปรายกันทุกหนทุกแห่งจากเล็กไปหาใหญ่ จนเกิดความเข้าใจร่วมกันว่าหลักรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ควรเขียนหรือไม่ควรเขียนอะไรลงในรัฐธรรมนูญ

2. ดำเนินการอย่างมีระบบ เพื่อชี้แจงแก่ประชาชนทั่วไปผ่านการประชุม หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ โรงเรียนและสถาบันการศึกษา ศูนย์การประชุมของท้องถิ่น ภูมิภาค และส่วนกลาง และดำเนินการต่อไปสู่การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเตรียมการลงประชามติ

3. ร้องขอให้ คมช. ฟังเสียงประชาชน ยอมรับและเข้าร่วมในการกำหนด ทิศทางประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ และดำเนินการให้เกิดบรรยากาศและการปกครองเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน แล้วจึงร่างหรือใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2517 กับ 2540 ที่ปรับปรุงให้เป็นประชาธิปไตย ส่วนการเลือกตั้งจะกำหนดก่อนหรือหลังหรือพร้อมกับรัฐธรรมนูญก็ได้

4. ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ไม่สำเร็จ คมช. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2549 ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือถวาย พระราชอำนาจคืน ให้ในหลวงทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน ซึ่งพระองค์จะต้องทรงสั่งให้ปฏิบัติตามจารีตประชาธิปไตยแน่ๆ ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น

5. ถ้าทำดีที่สุดตามข้อ 4 แล้วไม่สำเร็จ ประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ ทหาร ข้าราชการ ตำรวจ นิสิตนักศึกษา คนงาน พรรคการเมือง พันธมิตรฯ สมัชชาประชาชน ฯลฯ ซึ่งเคลื่อนไหวโดยสันติ มีทิศทาง และอย่างเป็นระบบ รวมตัวกันขึ้นเป็น “สมัชชาประชาธิปไตยแห่งชาติ” ร่วมกับคนไทยใน ต่างประเทศอีกนับแสน รวบรวมรายนามร่วมกันทูลเกล้าฯถวายฎีกา

รัฐธรรมนูญของเราทุกฉบับ ยกเว้นฉบับ 2517 กับฉบับ 2540 ได้มาโดยการยึดอำนาจ มีการต่อสู้ มีผู้แพ้ผู้ชนะ มีผู้คุมแค้นและต้องการ ล้างแค้น มีผู้สร้างความแค้นและกลัวถูกล้างแค้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับจึง เต็มไปด้วยภยาคติ คือความกลัวและการหาทางป้องกันรักษาความได้เปรียบของผู้ยึดอำนาจต่อไป และเต็มไปด้วยอคติกีดกันราษฎรโดยข้ออ้างต่างๆ นานา

ถึงเวลาที่ชาวไทยทุกคนจะมีส่วนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ให้แก่ประเทศ ช่วยให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ และการเมืองน้ำเน่าที่เกิดจากรัฐธรรมนูญภยาคติ ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันเรียกร้องให้ คมช. รัฐบาล และพลังมวลชนทุกหมู่เหล่า สำแดงความกล้าหาญ เสียสละ และพิสูจน์ความเป็นคนไทย ด้วยการ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และหรือขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระภัทรมหาราชที่พึ่งสุดท้ายของคนไทย เพื่อคนไทยจะได้มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นฉบับพระราชทานที่แท้จริง จากผู้ที่คนไทยทั้งชาติเคารพ บูชา เชื่อมั่น และไว้ใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น