xs
xsm
sm
md
lg

น้ำจะท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว ... นายกฯ จะเป็นพระ พระจะเป็นนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

.
“... คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพดอุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาลเกิดนิมิตพิศดานทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนกอกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมืองผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนีพระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิดเมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงมมิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้นมิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัดเกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนาจะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปรุษย์จะแพ้แก่ทรชนมิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัวคนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกสิทธ์จะสู้ครูพักจะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจนักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอยน้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่าเพราะจันทานมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา ...”

ตอนหนึ่งของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

“เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” สันนิษฐานกันว่าเป็นเพลงยาวที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้แม้ในตอนท้ายจะมีการบันทึกกำกับเอาไว้ว่า “พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนาย...” (ในที่นี้ “พระนารายณ์” ก็หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน “นพบุรี” คือเมืองลพบุรี อย่างไรก็ตาม นักวิชาการยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นผู้แต่งกันแน่ ที่แน่ๆ ก็คือ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” หรือที่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเรียกกันติดปากว่า “เพลงยาวพุทธทำนาย” นี้กล่าวถึงอาเพศและความวิบัติของบ้านเมืองที่ในเวลาต่อมา คนรุ่นหลังนิยมยกมาเพียงท่อนหนึ่งและนำมาต่อเติมเสริมแต่งเป็นว่า “น้ำจะท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม ...” เป็นต้น

สาเหตุที่ผมยกเอาตอนหนึ่งของ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” มากล่าวถึงในวันนี้ก็เพราะว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในบ้านเมืองของเรานับวันดูเหมือนจะสามารถนำมายกเปรียบเทียบเคียงกับสิ่งที่บรรจุไว้ในตำราโบราณได้มากขึ้นทุกทีๆ

ณ วันนี้ แม้มหาเมฆจะยังไม่ลุกเป็นเพลิงกาล พระคงคาจะยังไม่แดงเดือดดั่งเลือดนก กระเบื้องจะยังไม่เฟื่องฟูลอย หรือน้ำเต้าอันลอยนั้นจะยังไม่ถอยจม แต่ก็มีปรากฏการณ์แปลกประหลาดอื่นๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองมากมาย อย่างเช่น นายกรัฐมนตรีอยากประพฤติตัวเป็นพระ พระอยากประพฤติตัวเป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองอยากเดินทางสายกลาง พระสงฆ์อยากเดินประท้วงบนท้องถนน ... สิ่งเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นอาเพศของบ้านเมืองที่วิปริตไม่แพ้กัน

เรื่องความวิปริตเกี่ยวกับพฤติกรรมในการบริหารชาติบ้านเมืองของนายกรัฐมนตรีหรือของนักการเมืองทั้งหลายนั้นผมใช้เนื้อที่ตรงนี้เขียนถึงอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายตอน วันนี้ขออนุญาตเขียนถึงเรื่องพระเรื่องเจ้าบ้างก็แล้วกัน

ในฐานะที่ตัวเองก็เป็นพุทธมามกะและพุทธศาสนิกชนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ผมขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจและตรงไปตรงมา เกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวขององค์กรศาสนาบางแห่ง และพระสงฆ์บางกลุ่มที่ออกมาเรียกร้อง ให้มีการบัญญัติพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่กำลังร่างและแก้ไขกันอยู่

เริ่มตั้งแต่การออกมาเคลื่อนไหวของพระสงฆ์และองค์กรบางแห่งเรียกร้อง (แกมบังคับ) ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ โดยขู่ว่าหากคณะกรรมาธิการดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามก็จะเดินหน้ารณรงค์ให้พระและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศนับแสนนับล้านคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ที่น่าตกใจก็คือ พอท่านประธานคณะกรรมาธิการดังกล่าวออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของการออกมาเคลื่อนไหวของพระสงฆ์กลุ่มดังกล่าว ตัวแทนของพระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวกลับออกมาให้สัมภาษณ์เชิงข่มขู่ในทำนองที่ว่า ต่อไปหากคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธผู้ใดไม่สนับสนุนการบรรจุข้อความดังกล่าวลงในรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจจะกล่าวว่า ‘ตนเป็นชาวพุทธที่ดี’ ได้อีกต่อไป ทั้งยังจะรณรงค์ไม่ให้รับทำบุญ ทำสังฆทานจากคนผู้นั้น ขณะที่มีพระบางรูปยังกล่าวเลยเถิดไปมากกว่านั้น ถึงขั้นที่ว่าผู้ใดคัดค้าน หรือไม่สนับสนุนการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว นั้นถือว่าเป็นคนที่ดื้อด้าน ไร้ยางอาย ทำความชั่วแล้วปิดบังไว้ ทำเป็นไม่รู้ นิ่งเฉย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจกลับตัว ลด ละ เลิกทำความชั่ว ...

พอมาถึงวานนี้ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว คือพระสงฆ์และองค์กรพุทธบางแห่งได้เดินทางมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ขณะที่ก็มีกระแสข่าวรายงานต่อเนื่องอีกว่าวันนี้ (26 เม.ย.) จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ที่จะมีพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนออกมาเข้าร่วมนับแสนคน

พูดตามตรง โดยส่วนตัวแล้วเมื่อทราบข่าวดังกล่าว ผมรู้สึกสลด หดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง และนับวันศรัทธาต่อพระสงฆ์ก็ยิ่งเสื่อมลงเรื่อยๆ สำหรับตัวผมเอง ผมไม่เคยคัดค้านกับการที่ประชาชนบางคน บางกลุ่ม บางวิชาชีพ จะออกมาแสดงความเห็น เรียกร้อง หรือการรณรงค์ให้มีการบรรจุเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อพวกของตน เพราะผมถือว่าภายใต้สังคมประชาธิปไตยนั้น ความเห็นต่างๆ คือความหลากหลายที่ล้วนแล้วทรงคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนา ปรับปรุง ให้คนกลุ่มต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ การออกมาปกป้องผลประโยชน์ตนเองของคนกลุ่มต่างๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย สังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุนนิยม กระนั้นความเห็นที่หลากหลายดังกล่าว แม้จะแสดงออกมาได้ แต่ก็ต้องดำรงอยู่บนพื้นฐานของความเคารพในความเห็นของผู้อื่น รับฟังความเห็นที่แตกต่างจากของตน

ในกรณีการเรียกร้องให้ บัญญัติพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ผมไม่เห็นด้วยนัก แม้ประชาชน นักวิชาการ ปราชญ์ พระสงฆ์ บางกลุ่มจะออกมาให้ความเห็นว่า การบัญญัติดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องดีเพราะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ยึดถือหลักการแห่งเสรีภาพในการใช้ปัญญา ทั้งยังเอื้อเฟื้อต่อศาสนาอื่นมาตลอด ดังนั้นการบัญญัติศาสนาพุทธไว้เป็นศาสนาประจำชาติดังกล่าวก็ย่อมจะทำให้มั่นใจได้ว่า ในประเทศไทยศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ ก็จะดำรงอยู่ร่วมกันได้ ขณะที่คนบางกลุ่มก็ให้เหตุผลสนับสนุนต่อการเรียกร้องดังกล่าวว่าก็เพราะศาสนาพุทธกำลังเสื่อมจึงจำเป็นที่จะต้องบัญญัติข้อความดังกล่าวไว้ หรือ เพราะนับวันคนไทยยิ่งนับถือศาสนาพุทธน้อยลง แต่หันไปนับถือศาสนาอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงควรบัญญัติไว้ รวมไปถึงบางคนที่กล่าวว่าที่ควรบัญญัติเอาไว้เพราะทุกวันนี้ศาสนาพุทธไม่ได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจากภาครัฐเท่าที่ควร เป็นต้น

ทั้งนี้สาเหตุที่ผมไม่เห็นด้วยก็คือ

ประการแรก จริงอยู่ที่ในสายตาของชาวพุทธแล้วศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เคารพ และเอื้อเฟื้อต่อศาสนาอื่น แต่ถามว่าในสายตาของผู้ที่นับถือศาสนาอื่นเล่า ใครตอบได้บ้างว่าเขามองพวกเราว่าอย่างไร? เพราะทุกวันนี้อย่าว่าแต่ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นเลย แม้แต่พุทธศาสนิกชนเองเมื่อถามถึงทัศนะที่มีต่อศาสนาพุทธโดยเฉพาะสถาบันสงฆ์แล้วหลายคนได้แต่ส่ายหัว บ่งบอกถึงความเสื่อมศรัทธา

ประการที่สอง ผมไม่เห็นว่าทุกวันนี้ศาสนาพุทธในบ้านเราจะเสื่อมเพราะปัจจัยทางภายนอก หรือเพราะการคุกคามจากลัทธิ-ศาสนาอื่นแต่อย่างใด เพราะเมื่อพิจารณาไปแล้วเหตุของความเสื่อมของศาสนาพุทธทุกวันนี้ก็เป็นเพราะคนพุทธด้วยกันเองทั้งนั้น พระเสพกามกับสีกา, พระโกงที่วัด, พระใบ้หวย, วัดสร้างจตุคามรามเทพ, พระเดินตามห้างซื้อภาพยนตร์ลามก หรือพฤติกรรมของพระเถระที่พยายามแอบอิงหาผลประโยชน์กับนักการเมือง ฯลฯ

หรือท่านจะกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ถูกทำนองคลองธรรม และไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสียอะไรเลยของศาสนาพุทธ? ถ้าตอบว่าไม่ใช่ ... แล้วเหตุใดพระสงฆ์ทั้งหลายจึงไม่เคยออกมาเรียกร้องให้มีการคุมเข้มวินัยกับพวกเดียวกันเองอย่างจริงจังบ้าง แต่กลับออกมาเดินขบวนข่มขู่ฆราวาสอย่างโน้นอย่างนี้

ประการสุดท้าย ผมเห็นว่าแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นที่รับรู้กันโดยพฤตินัยอยู่แล้วว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พิสูจน์ได้อย่างอ้อมๆ จากมาตรา 9 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก แล้วเหตุใดในประเทศที่เราต่างยอมรับว่ามีความหลากหลายในการนับถือศาสนา ในรัฐธรรมนูญของเราจึงต้องไปตอกย้ำราวกับว่า ศาสนาอื่นเป็นศาสนาชั้น 2 ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นเป็นพลเมืองชั้น 2 ด้วยการบัญญัติซ้ำลงไปอีกว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ?

ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ผมยังละเรื่องความเหมาะสม/ไม่เหมาะสม ของการออกมาเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ ไว้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเพียงกล่าวแค่นี้ปัญหาของบ้านเมืองก็ดูเหมือนว่าจะหนักหนาเพียงพอแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น