xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรกลางต้าน รธน. พบมี 4 ประเด็นจุดบอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระแสต้าน รธน.บานหนัก ล่าสุด องค์กรกลาง ระบุ 4 ประเด็นจุดบอด ร่าง รธน.แนะ กมธ.ยกร่างฯทบทวน ขู่หากไม่ดำเนินการพร้อมร่วมกับองค์กรอื่นรณรงค์ไม่รับร่าง ระน. ขณะที่อดีต ส.ว.ปี 2549 จี้ทบทวนที่มา ส.ว. หากทำเฉยจะรณรงค์คว่ำ รธน. เตือนต้องฟังเสียงประชาชน

พล.อ.สายหยุด เกิดผล รองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) แถลงว่า จากการติดตามดูเนื้อหา รัฐธรรมนูญเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ยังมีข้อบกพร่อง ดังนั้น หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิที่จะไม่ยอมรับ และเห็นว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ควรยกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ขึ้นมาแก้ไขบังคับใช้ เพราะเป็นฉบับที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง และได้รับการยอมรับมากที่สุด

“ผมดูประวัติการเมืองมา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 18 ที่เหมือนกับทุกครั้งคือ มีการยึดอำนาจ แล้วตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะผ่านประชามติ แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะจะมีการตั้งคำถาม ถึงที่มาของผู้ร่าง ที่เกิดจาก คมช. ไม่เหมือนกับฉบับปี 2540 ที่เกิดจากประชาชนอย่างแท้จริง”

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางฯ และผู้ประสานงานเครือข่ายพีเน็ต กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขสำคัญ 4 ประเด็น คือ ต้องยกเลิกมาตรา 68 วรรค 2 เพราะการให้มีคณะบุคคลมาทำหน้าที่ แก้ปัญหาวิกฤติบ้านเมือง ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ที่ปัจจุบันให้อำนาจ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่มาตราดังกล่าวกลับให้อำนาจคณะบุคคลเพียง 11 คน ที่จะมีอำนาจพิจารณาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

“การให้วุฒิสภามาจากการสรรหา ก็ไม่มีหลักประกันว่า จะได้ ส.ว.ดีขึ้น และยังให้อำนาจกับกรรมการสรรหาเพียงไม่กี่คน ตัดสินใจแทนประชาชน ดังนั้น จึงควรกลับไปใช้วิธีการเลือกตั้ง แล้วปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)”

นายสมชัย กล่าวว่า การจัดตั้งระบบ ส.ส.แบบสัดส่วน ขาดความชัดเจน และไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการกำหนดสัดส่วน ไม่ได้มีข้อแตกต่างจากระบบบัญชีรายชื่อ จึงเห็นว่าควรปรับปรุงให้มี ส.ส.เขต 400 คนเท่าเดิม และยกเลิกระบบบัญชีรายชื่อ มากกว่า นอกจากนี้ เห็นว่ากลไกการสรรหาองค์กรอิสระ ตามร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ให้น้ำหนักกับฝ่ายตุลาการ หรือศาลมากเกินไป ควรมีการทบทวน

“ที่บอกว่า ให้รับไปก่อนแล้วมาแก้ไขภายหลัง เราคงยอมเช่นนั้นไม่ได้ เพราะหากรับไปแล้ว การเมืองจะไปสู่รูปแบบใหม่ เป็นการให้ความเข้มแข็งแก่กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง และยังมีสาระขัดกับความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการให้อำนาจตัดสินใจกับคนบางกลุ่ม”

นายสมชัย กล่าวว่า หากสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ปรับเนื้อหา เราคงร่วมรณรงค์กับองค์กรอื่น ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่ซ้ำซ้อนกับบทบาทขององค์กรกลาง ที่จะตรวจสอบการลงประชามติอย่างตรงไปตรงมา เพราะ กกต.ก็มีหลายบทบาท เช่น การทำประชามติ และบางคนก็นั่งเป็นกรรมาธิการยกฯด้วย

“มันเหมือนกับการทอผ้า ผมไม่อยากให้กรรมาธิการยกร่างฯ ภาคภูมิใจกับผ้าทอ ที่เห็นว่างามวิจิตร แต่ยังมีช่องโหว่ และรอยขาด ซึ่งคงจะซื้อไม่ได้ และหากยังจะเสนอผ้าขาดผืนนี้ให้กับประชาชน อาจจะต้องถามว่า จะต้องทวงต้นทุนค่าจ้าง ทอผ้าคืนด้วยหรือไม่”

ขณะที่ นายวรินทร์ เทียมจรัส เลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า จากนี้ไปจะทำจดหมาย และเอกสารเผยแพร่ให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อชี้ให้เห็นปัญหา และข้อขัดข้องของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ขณะเดียวกัน จะเดินสายเข้าพบประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมือง เพื่อชี้แจงจุดยืน แต่หากกรรมาธิการยกร่างฯ และ ส.ส.ร.ยังไม่รับฟัง ก็จะร่วมมือกับทุกองค์กร รณรงค์ไม่ให้รับรัฐธรรมนูญปี 2550 และหากร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ผ่านประชามติ จะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ คมช.นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้

“คมช.จะไปนำฉบับอื่นมาใช้ไม่ได้ เพราะปี 2540 ได้รับการยอมรับมากที่สุด โดยหากต้องแก้ไขก็มีประเด็นสำคัญเพียง 3 ประเด็น คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การเพิ่มอำนาจการตรวจสอบภาครัฐให้กับประชาชน และการทำให้กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งหาก คมช.ทำเช่นนี้ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ภายในปลายปี 2550 อย่างแน่นอน”

ที่รัฐสภา วานนี้ (24 เม.ย.) กลุ่มอดีต ส.ว.ปี 2549 ประมาณ 15 คน นำโดย นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ อดีต ส.ว.นครศรีธรรมราช นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ว.ปทุมธานี และนายเพทาย ออประเสริฐ อดีต ส.ว.อ่างทอง เข้ายื่นหนังสือต่อ นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อเรียกร้อง ให้มีการสงวนคำแปรญัตติ เกี่ยวกับประเด็นที่มาของ ส.ว. และจำนวน ส.ว.ตามเดิม

นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า อดีต ส.ว.ปี 49 จำนวนกว่า 150 คน ประชุมหลายครั้ง จนมีข้อสรุปตรงกันว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยบิดเบือนเจตนารมณ์ ของประชาชน ไม่ว่าจะผลการสำรวจของกลุ่มอดีต ส.ว. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า หรือแม้แต่ผลสำรวจของ ส.ส.ร.เอง ก็สรุปตรงกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง มีเพียงเล็กน้อยที่ต้องการให้มาจากการสรรหา หรือแต่งตั้งโดยตรง เราจึงไม่ต้องการปล่อยผ่านประเด็นนี้ไป เพราะจะนำไปสู่ภาวะวิกฤติที่วิกฤติยิ่งขึ้น

“ก่อนหน้านี้ เคยเข้าพบนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธาน ส.ส.ร.ซึ่งรับปากว่า จะดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน แต่มาถึงวันนี้ เป็นเพียงแค่ลมปาก ของพวกเนติบริกร กลุ่มนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง ที่ทำงานรับใช้ คมช. เพื่อสืบทอดอำนาจ ที่ผ่านมาพวกเราไม่เคยเคลื่อนไหว เพราะไม่ต้องการซ้ำเติม สถานการณ์บ้านเมือง ทั้งที่มีมวลชนให้การสนับสนุน แต่วันนี้เราเงียบต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ละเมิดสิทธิประชาชนอย่างร้ายแรง ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แต่กลับให้มาจากการสรรหา”

นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า คำถามที่ตามมาคือ ผลการสำรวจของทุกสถาบัน ต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้ง 35 คน กลับร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน นับจากนี้ไปประเทศไทย คงพบกับความสุ่มเสี่ยง ที่ประชาชนจะไม่รับ และจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความรับผิดชอบทั้งหมดจะตกอยู่ที่ ส.ส.ร. และ คมช. ที่เป็นผู้ตั้ง ส.ส.ร.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะงบประมาณที่สูญเสียไปกว่า 2,000 ล้านบาท

“คมช.อย่าหวังว่า เมื่อประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีสิทธิอันชอบธรรมในการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาแก้ไข แล้วประกาศใช้ได้ ผมเป็นห่วงว่า สถานการณ์ขณะนี้ จะไม่ยอมเปิดโอกาสให้ คมช.ทำอย่างนั้นได้ เมื่อประชาชนไม่ยอมรับ อาจทำให้การชุมนุมออกมาเรียกร้อง จนทำให้สถานการณ์บานปลาย และผมไม่เห็นด้วยกับที่บอกว่า ให้รับไปก่อน แล้วค่อยมาแก้ไขภายหลัง ทำไมไม่ทำให้สมบูรณ์ไปเลย เพราะยังมีเวลาควรจะแก้ไข”

ส่วนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับการที่จะลงเลือก ส.ว.ตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นั้น นายสิริวัฒน์ ยืนยันว่า กลุ่มอดีต ส.ว.มองเรื่องของบ้านเมืองเป็นหลัก มากกว่าชะตากรรมของพวกเราเอง การจะลงเลือกตั้งหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะรอดูกติกา บ้านเมืองก่อน ส่วนเรื่องที่มีความเป็นห่วงสภาผัวเมียอาจถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ ก็ควรไปแก้ไขในเรื่องคุณสมบัติ แต่ขอร้อง อย่ามองว่าประชาชนโง่ ไม่รู้อะไรถูก อะไรผิด จนไปตัดสิทธิประชาชน

“หากข้อเรียกร้องของพวกเราไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันต่อไป แต่จะทำในแนวทางสันติวิธี เพราะไม่ต้องการให้สังคมเข้าสู่กลียุค”
กำลังโหลดความคิดเห็น