xs
xsm
sm
md
lg

"กว๊านพะเยา"ใกล้เหลือแต่ชื่อ น้ำแห้ง-สาหร่ายพิษแพร่-ผู้ว่าฯมุ่งกู้วัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน

"ผู้ว่าฯเขาไปทำพิธีบวงสรวงเมื่อกลางเดือนมกราคม 50 เพื่อกู้วัดกลางกว๊านพะเยา พร้อมกับบนบานไว้ว่าให้น้ำในกว๊านแห้ง เพื่อจะได้กู้วัดได้ง่าย"

นั่นเป็นเสียงเล่าลือแกมประชดปากต่อปากของคนพะเยา หลังจากที่กว๊านพะเยา แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ของประเทศ เนื้อที่ 12,831 ไร่ แห้งขอดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จนส่งผลกระทบอย่างหนักที่ชาวบ้านทั่วไปสัมผัสได้อย่างชัดเจน คือ
- กว๊านพะเยาไม่มีน้ำให้เล่นสงกรานต์
- สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน หรือ "ไซยาโนแบคทีเรีย" (Cyanobecteria) ในกว๊านเกิดการ "บลูม" มากกว่าทุกปี
- ปริมาณน้ำในกว๊านล่าสุดเหลือเพียง 19.32 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากช่วงเดือนเมษายน 49 มีมากถึง 35 ล้านลบ.ม.
- แม่น้ำอิง ที่เป็น 1 ใน 18 แหล่งน้ำสำคัญที่ไหลลงสู่กว๊าน แห้งขอดตลอดทั้งสาย

ขณะที่พ่อเมืองของพวกเขาคือ นายธนเษก อัศวานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กลับมุ่งหน้าที่จะสูบน้ำออกจากกว๊าน เพื่อกู้วัดติโลกอาราม ตามโครงการกู้วัดติโลกอารามในกว๊านพะเยา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ที่ผลักดันขึ้นมาหลังจากที่มารับตำแหน่งตั้งแต่ปลายปี 49

เมืองพะเยาจึงเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีความเจริญทางอารยธรรม ทั้งด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิทยาการ มานานเกือบ 1,000 ปี โดยมีลักษณะภูมิประเทศตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำโดยมีแหล่งน้ำสำคัญคือพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณแม่น้ำอิง ประกอบด้วย "กว๊านน้อย" และ "กว๊านหลวง" กว๊านน้อย อยู่ทางทิศตะวันตก กว๊านหลวงอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำอิง มีบวกหนอง

รางน้ำหลายแห่ง ประกอบด้วย หนองเอี้ยง หนองหญ้าม้า หนองช้างแดง หนองวัวแดง หนองเหนียว บวกเก้ง บวกกุ้ง บวกตุ้ม บวกฮกจิก มีรางน้ำเชื่อมต่อกันและมีแม่น้ำไหลลงสู่กว๊านหลายสาย ประกอบด้วย แม่ต๊ำ ร่องไฮ แม่ใส แม่นาเรือ ห้วยลึก แม่ตุ่น แม่ต๋อม แม่ต๋ำ แม่ตุ้ม แม่เหยี่ยน แม่ปืม แม่จว้า แม่สุก และน้ำจากหนองเล็งทราย ไหลลงสู่แม่น้ำอิง โดยน้ำในกว๊านพะเยาจะมีมากในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ส่วนในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างฝั่งกว๊านตะวันออกกับตะวันตกได้

นอกจากนี้ยังมีวัดวาอารามหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำอิง ประกอบด้วย วัดท่าศาลา วัดญะ วัดอุ่นหล้า วัดศรีโคมคำ วัดบ้านท่า วัดสันต้นเคราะห์ วัดสันเวียงใหม่ วัดสันกว๊าน วัดสันช้างหิน วัดสันร่องไฮ วัดหนองผักจิก เป็นต้น

ในพ.ศ. 2482 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน บริเวณกว๊านพะเยา พร้อมทั้งออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการรักษาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างประตูกั้นลำน้ำอิง ซึ่งก่อให้เกิดแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ กว๊านพะเยา เนื้อที่ 12,831 ไร่ ส่งผลให้ชุมชนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำอิงจมอยู่ภายในกว๊านพะเยา รวมถึงโบราณสถานและวัดในพระพุทธศาสนาจำนวนมากกว่า 10 วัด

วัดติโลกอาราม หนองเต่า เป็นวัดหนึ่งที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2019 กำหนดอายุได้ประมาณ 531 ปี เทียบเคียงกับกลุ่มโบราณสถานบ้านร่องไฮ วัดติโลกอารามนั้นเป็นวัดร้าง ซึ่งพบซากโบราณสถาน มีวัชพืชปกคลุมหนาแน่น มีขนาดประมาณ 15x35 เมตร พบเสาหินทรายเจาะรูตรงกลางจำนวน 4 ต้น มีกองอิฐกระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีเศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้องดินขอและแผ่นหินทรายขนาดต่าง ๆ จำนวนมาก วัสดุส่วนมากก่อด้วยอิฐสอดินและฉาบปูนขาวผิวนอก เมื่อวัสดุเสื่อมสภาพน้ำฝนจึงกัดเซาะ ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้ เหลือกองอิฐที่จมอยู่ใต้น้ำเท่านั้น

กว๊านพะเยา ยังมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ อีกหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสเมืองพะเยาหลายครั้ง โดยเฉลี่ยจะเสด็จพระราชดำเนินทุก 2 ปี โดยโปรดให้พระตำหนักกว๊านพะเยา เป็นที่ประทับในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในภาคเหนือ และพระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่ม และผู้นำในการเก็บผักตบชวาในกว๊านพะเยาเป็นพระองค์แรก

จากความสำคัญของโบราณสถานที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา และความเกี่ยวกันกับพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าว จังหวัดพะเยา พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดพะเยา หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน จึงได้มีแนวคิดที่จะทำการกู้วัดติโลกอาราม ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 500 ปี ซึ่งจมอยู่ในกว๊านพะเยามานานกว่า 66 ปีขึ้น เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยวางแผนดำเนินการไว้ดังนี้

1. ก่อสร้างคันกั้นน้ำคอนกรีตขนาดประมาณ 150x150 เมตร เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ ล้อมรอบโบราณสถาน

2. ขุดแต่ง บูรณะโบราณสถานที่จมอยู่ใต้น้ำ

3. ก่อสร้างวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยาองค์เดิมที่เคยอยู่วัดนี้ อายุกว่า 500 ปี พระเจดีย์ พญานาค ตามศิลปะทางประวัติศาสตร์พะเยา นอกบริเวณโบราณสถานให้พ้นน้ำไม่ถมดิน โดยให้มีน้ำในกว๊านไหลผ่านออกได้

กำหนดเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีนี้ (2550) เป็นต้นไป โดยใช้งบประมาณ จากการบริจาคของประชาชน และงบประมาณจากส่วนราชการ - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ล่าสุดขณะนี้ผู้ว่าฯพะเยา ได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)พะเยาและสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด กั้นดินส่วนหนึ่งแล้วสูบน้ำออก เพื่อทดสอบคำนวณเวลาที่น้ำที่ไหลเข้า โดยพื้นที่วัดที่จะสูบน้ำออกขนาดกว้าง 150 เมตร ยาว 150 เมตร ซึ่งจากการคำนวณน้ำทั้งหมดที่จะสูบออกในครั้งนี้มีปริมาณ 126 ลบ.ม.

ในระหว่างที่พ่อเมืองพะเยากำลังเดินเครื่องกู้วัดติโลกอาราม สภาพของกว๊านพะเยาที่แห้งขอด จนเห็นสันดอนบริเวณริม-กลางกว๊านมากมาย ก็ปรากฏ "สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน" เป็นคราบกระจายทั่วริมกว๊านอย่างรวดเร็ว - หนักข้อขึ้นทุกวัน จนคนพะเยา - ผู้ที่ผ่านไปมา "ขยาด" ที่จะลงไปสัมผัสน้ำในกว๊าน แถมไม่มั่นใจในคุณภาพของน้ำประปา ที่ใช้น้ำดินจากกว๊านมาผลิต ชาวประมงหลายคนหาปลาในกว๊าน แล้วกลับขึ้นมาพร้อมกับอาการคันที่ผิวหนังตลอดเวลา

ส่วนหนึ่งที่สาหร่ายชนิดนี้เกิดการบลูมอย่างรวดเร็วเนื่องจาก 1. ปริมาณน้ำทิ้งและน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากชุมชน โดยไม่ผ่านการบำบัดอย่างถูกต้องตามขั้นตอน 2. สารเคมีจากภาคเกษตรกรรมที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยาเป็นประจำ 3.พืชน้ำบางตัวที่ทำหน้าที่กรองสารอาหารของสาหร่าย ฯ ถูกนำออกไปจากเหนือน้ำทำให้สารอาหารของสาหร่าย ฯ มีมากซึ่งส่งผลให้สาหร่ายฯ บลูมอย่างรวดเร็ว และ 4. การขุดลอกอย่างเป็นล่ำเป็นสันที่ไม่เป็นระบบ

ขณะที่ศูนย์วิจัยและประมงน้ำจืดพะเยา ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในปี 2549 จำนวน 33 ล้านบาท เพื่อมาขุดลอกกว๊านพะเยา ให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น เพราะเหตุผลหลักของกว๊านพะเยาที่แท้จริงคือ เพื่อเก็บกักน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภคในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นแหล่งน้ำเพื่อผลิตประปาหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ดอกคำใต้บางส่วน

นายนิคม บุญเสริม คณะกรรมการมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา (มพพ.) จังหวัดพะเยา ได้เล่าให้ฟังถึงแนวทางของการกำจัดสาหร่ายพิษชนิดนี้ ว่า คณะผู้วิจัยของ มช. ซึ่งนำโดย อาจารย์ยุวดี พีรพรพิศาล พร้อมคณะได้ศึกษาเมื่อปี 2543-2544 ได้แนะนำถึงมาตรการในการกำจัดสาหร่ายพิษดังกล่าวไว้ คือ

1. ลดปริมาณสารอาหารประเภท ไนเตรท แอมโมเนีย และฟอสเฟต เพราะสาหร่ายพิษชนิดนี้ต้องใช้ในการสังเคราะห์แสง ซึ่งมากับน้ำเสียของชุมชนหรือแหล่งเกษตรกรรมต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำโดยไม่ได้ผ่านการบำบัด

2.ใช้วิธีกวนน้ำให้ขุ่น เพื่อบดบังแสงแดด อันจะทำให้กระบวนการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายพิษลดลง การกวนอาจเป็นจุดๆ และบางช่วงเวลาในตอนกลางวัน 3.ใช้วิธีปลูกพืชน้ำ เช่น ผักตบชวา หรือสาหร่ายประเภทที่เป็นพืชดอก เช่น สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายฉัตร สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก ในแหล่งน้ำที่ตื้น สาหร่ายประเภทนี้จะช่วยดูดซับสารอาหารในแหล่งน้ำดังกล่าวได้มาก ทำให้สาหร่ายพิษเจริญได้น้อยหรือช้าลง

4.ใช้สารเคมีกำจัดสาหร่ายเหล่านี้โดยตรง เช่น คอปเปอร์ซัลเฟต หรือโพแทสเซียมไดโครเมต ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะกำจัดสาหร่ายทั้งหมดไม่เพียงแต่สาหร่ายพิษเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแพลงก์ตอนพืชชนิดอื่น ๆที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ จึงไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมนัก

5.สร้างสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ทำให้สาหร่ายชนิดอื่น ๆ ขึ้นมาแทนสาหร่ายพิษ เช่น ในประเทศญี่ปุ่นใช้วิธีปั๊มอากาศจากท่อขนาดใหญ่ลงสู่แหล่งน้ำ เช่นนี้จะทำให้สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิดไม่สร้างสารพิษโตอย่างรวดเร็วแทนที่สาหร่ายพิษ เป็นวิธีที่ดีแต่การลงทุนสูงและต้องศึกษาแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่จะทำจริง และ 6. สร้างจิตสำนึกในการระวังและหวงแหนแหล่งน้ำให้แก่ประชาชนทั่วไป เรื่องนี้สำคัญยิ่งและมีผลในระยะยาวต่อคุณภาพน้ำในทุกแห่ง ถ้าประชาชนทุกคนช่วยกันระมัดระวัง และเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลแหล่งน้ำของตนอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ประมงได้ยืนยันว่า ปัญหาเรื่องสาหร่ายพิษในกว๊านพะเยาแก้ยาก เพราะทำลายไม่ได้อีกทั้งช่วงน้ำแห้งจะเกิดการบลูมหนัก คงต้องรอให้ฝนตกมีน้ำมาก ๆ จึงจะช่วยเจือจางได้บ้าง

ยกเว้นสิ่งที่ชาวบ้านหวาดกลัวว่า คำบนบานศาลกล่าวของพ่อเมือง ที่ว่ากันว่า "ได้ขอให้น้ำในกว๊านแห้ง เพื่อกู้วัดได้ง่าย" จะเป็นจริง คนพะเยาก็จำต้องทนกับแหล่งน้ำจืดที่เต็มไปด้วยสาหร่ายพิษซ้ำซากต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น