.
กิเลส 3 กองที่เป็นต้นเหตุให้บุคคลประกอบกรรมชั่วร้าย หรือที่เรียกว่า อกุศลกรรม ได้แก่
1. โลภะ หมายถึง ความอยากได้ของคนอื่นอันเป็นเหตุให้ทุจริต คอร์รัปชัน หรือในภาษาโบราณเรียกว่า การคดโกง
2. โทสะ หมายถึง ความเคียดแค้น ขุ่นเคืองในอารมณ์เป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้ายผู้อื่น
3. โมหะ หมายถึง ความหลง เป็นเหตุให้เกิดการคิดผิด พูด และทำในสิ่งผิดด้วยคิดว่าเป็นสิ่งถูก
ในกิเลส 3 ประการนี้ โมหะถือได้ว่าเป็นเหตุแห่งอกุศลกรรมที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นต้นตอหรือรากเหง้าให้เกิดกิเลสอื่นๆ ในทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิด หรือที่เรียกว่า มิจฉาทิฐิ อันเป็นอุปสรรคต่อการทำดีทั้งทางกายและวาจา และความเห็นผิดดูเหมือนจะยิ่งเกิดขึ้นและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในสังคมที่เจริญด้วยวัตถุแต่ด้อยในคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนที่เรียกตัวเองว่า ปัญญาชน หรือคนที่มากด้วยความรู้เมื่อดูจากวุฒิทางการศึกษา และตำแหน่งหน้าที่การงานที่ได้รับ ดังจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อมีการนำเรื่ององคุลิมาลมาเปรียบเทียบกับคนที่สังคมรังเกียจในพฤติกรรมที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรมของศาสนา เพื่อต้องการให้เห็นด้วยและคล้อยตามในการนำหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยการเรียกร้องให้คนทุกคนมีความสมานฉันท์ รักใคร่ กลมเกลียวกัน ด้วยการให้อภัยในความผิดที่บุคคลที่ว่านี้ได้กระทำไว้ ในทำนองเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้โปรดองคุลิมาลให้กลับใจเป็นคนดี และออกบวช ทั้งยังได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยพุทธปริศนาธรรมย่อๆ ว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิหาไม่หยุด”
เมื่อพูดถึงประโยคดังกล่าวข้างต้น ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวของพระสาวก และพุทธประวัติก็คงจะนึกถึงที่มาของประโยคดังกล่าวข้างต้นได้
แต่เพื่อให้ท่านที่มิได้อ่านเรื่องราวที่ว่านี้ หรือเคยอ่านแต่นานมาแล้วจนเลือนหายไปตามกาลเวลาได้รื้อฟื้นความจำอีกครั้ง ผู้เขียนใคร่ขอเล่าประวัติย่อขององคุลิมาลอันเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิหาหยุดไม่” พอสังเขปดังต่อไปนี้
องคุลิมาล มีชื่อเดิมว่า อหิงสกุมาร ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นคนที่มีร่างกายใหญ่โต แข็งแรง และในวัยหนุ่มได้เสาะแสวงหาความรู้แขนงต่างๆ มาจากอาจารย์ดังๆ ในยุคนั้น จนกระทั่งได้ไปพบกับอาจารย์ผู้หนึ่ง และได้บอกว่าจะสอนมนต์วิเศษให้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องนำนิ้วคนคนละนิ้วจนครบ 1,000 นิ้ว แล้วจะสอนมนต์วิเศษให้
ด้วยความอยากได้มนต์วิเศษ อหิงสกุมารได้ออกไล่ล่าฆ่าผู้คน และเอานิ้วมาแขวนคอจนเกือบครบเหลืออยู่เพียงนิ้วเดียว และจากการที่ได้นำนิ้วคนมาแขวนคอนี้เอง จึงได้ชื่อว่าโจรองคุลิมาล คือ ผู้ที่มีนิ้วมือแขวนคอ
ต่อมาในวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรวจดูสัตวโลกผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับการสอนธรรม และปรากฏว่าองคุลิมาลได้ปรากฏในข่ายพระญาณว่า จนได้รับการสอนแล้วได้บรรลุธรรม
แต่ในขณะเดียวกัน องคุลิมาลกำลังจะฆ่าแม่ตัวเองเพื่อเอานิ้วมาให้ครบหนึ่งพันนิ้ว และถ้าองคุลิมาลฆ่าแม่ก็จะทำอนันตริยกรรมคือกรรมหนัก มีโทษถึงขั้นห้ามสวรรค์ห้ามนิพพานจึงได้เสด็จไปขวางหน้าไว้ และทำให้องคุลิมาลโกรธไล่ฟันพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าได้แสดงปาฏิหาริย์โดยทำให้พระองค์เสด็จไปโดยเร็วจนองคุลิมาลวิ่งไล่ไม่ทัน และได้ตะโกนให้หยุด และพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่าเราได้หยุดแล้ว แต่ท่านสิหาหยุดไม่ องคุลิมาลก็กล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าโกหกเพราะยังเสด็จดำเนินอยู่ แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้แจงว่า พระองค์หยุดแล้วจากการทำลายชีวิต แต่องคุลิมาลยังกระทำอยู่ ทำให้องคุลิมาลคิดได้ และได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขอบวชในพระพุทธศาสนา และบรรลุอรหันต์
จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าการที่องคุลิมาลเป็นโจรกลับใจ จนทำให้คนบางคนมาอ้างว่าพระสามารถอยู่ร่วมกับโจรได้ และโจรกลับใจเป็นคนดีได้
ดังนั้น การสมานฉันท์กับคนไม่ดีเป็นเรื่องที่คนดีพึงกระทำเพื่อให้เกิดความสงบสุขของบ้านเมืองนั้น ถ้าฟังดูเพียงผิวเผินก็คือคำพูดที่มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปและหาเหตุผลในเชิงตรรกะ ก็พบว่าเป็นคำพูดที่ขาดเหตุผลรองรับ และเกิดขึ้นไม่ได้ในโลกแห่งสมมติที่ทุกคนมีหน้าที่ และความรับผิดชอบต้องทำดังต่อไปนี้
1. องคุลิมาลมิได้เป็นโจรโดยสันดาน แต่เป็นเพราะถูกอาจารย์หลอกให้เป็นโดยอาศัยความอยากได้มนต์วิเศษเป็นแรงจูงใจ
ดังนั้นเมื่อได้รับฟังคำพูดที่ทำให้ได้คิดจากพระพุทธเจ้า ก็ทำให้สามัญสำนึกในความเป็นคนดีกลับคืนมาได้ไม่ยาก
2. พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีญาณหยั่งรู้ถึงอนาคตของเวไนยสัตว์ว่าใครควรจะได้รับการสอน และถ้าได้รับการสอนแล้วจะเกิดประโยชน์อันใดตามมาทั้งแก่ตัวผู้ได้รับการสอนเอง และสังคมโดยรวม
แต่การที่ใครต่อใครรวมทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้พูดทำนองว่า พระอยู่ร่วมกับโจรได้นั้น มีนัยแตกต่างที่ไม่น่าจะนำมาเทียบเคียงกับกรณีขององคุลิมาลได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ถ้าโจรที่หมายถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ตกเป็นจำเลยสังคมว่าเป็นผู้คดโกงชาติ โกงแผ่นดิน อันถือได้ว่าเป็นผู้กระทำความชั่วโดยมุ่งแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไม่สามารถเทียบกับองคุลิมาลได้เพราะนั่นเป็นโจรเพราะต้องการเรียนรู้มนต์วิเศษด้วยการถูกหลอกให้หลงผิด มิใช่ผู้ร้ายโดยสันดาน จึงง่ายต่อการกลับใจเป็นคนดี
แต่คนคดโกงบ้านเมืองอันถือได้ว่าเป็นผู้ร้ายโดยสันดาน ยากต่อการกลับใจเป็นคนดี
2. ถ้าผู้พูดอยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง จะอยู่ร่วมกับโจรในทำนองเดียวกับพระคงกระทำไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่าพระกับผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองมีหน้าที่ต่างกัน
กล่าวคือ พระมีหน้าที่สอนให้ทุกคนเป็นคนดี ถึงแม้ในบางครั้งจะสอนแล้วไม่ได้ผลก็ไม่ถือว่ามีความผิดใดๆ ที่จะต้องได้รับโทษ ทั้งในทางสังคมและกฎหมาย แต่นักปกครองมีหน้าที่ต้องดูแลแก้ไขปัญหาบ้านเมือง จะนิ่งดูดายโดยปล่อยให้คนกระทำผิดกฎหมายลอยนวลย่อมกระทำไม่ได้ เพราะจะถูกสังคมลงโทษด้วยการก่นด่า และอาจถึงขั้นต้องได้รับโทษทางกฎหมาย โดยข้อหาละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย
ด้วยเหตุ 2 ประการที่ว่านี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าคำว่า พระอยู่ร่วมกับโจรได้ก็ดี คนดีสมานฉันท์กับคนชั่วได้ก็ดี เป็นคำพูดที่ให้เหตุผลในเชิงตรรกะไม่ได้ เพราะจะต้องไม่ลืมว่าแม้พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ทรงสอนให้คบคนพาลเป็นมิตร แต่ทรงสอนให้คบบัณฑิตเป็นมิตร แล้วไฉนคนที่เป็นพุทธจึงลืมคำสอนข้อนี้ไปโดยสิ้นเชิง
กิเลส 3 กองที่เป็นต้นเหตุให้บุคคลประกอบกรรมชั่วร้าย หรือที่เรียกว่า อกุศลกรรม ได้แก่
1. โลภะ หมายถึง ความอยากได้ของคนอื่นอันเป็นเหตุให้ทุจริต คอร์รัปชัน หรือในภาษาโบราณเรียกว่า การคดโกง
2. โทสะ หมายถึง ความเคียดแค้น ขุ่นเคืองในอารมณ์เป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้ายผู้อื่น
3. โมหะ หมายถึง ความหลง เป็นเหตุให้เกิดการคิดผิด พูด และทำในสิ่งผิดด้วยคิดว่าเป็นสิ่งถูก
ในกิเลส 3 ประการนี้ โมหะถือได้ว่าเป็นเหตุแห่งอกุศลกรรมที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นต้นตอหรือรากเหง้าให้เกิดกิเลสอื่นๆ ในทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิด หรือที่เรียกว่า มิจฉาทิฐิ อันเป็นอุปสรรคต่อการทำดีทั้งทางกายและวาจา และความเห็นผิดดูเหมือนจะยิ่งเกิดขึ้นและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในสังคมที่เจริญด้วยวัตถุแต่ด้อยในคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนที่เรียกตัวเองว่า ปัญญาชน หรือคนที่มากด้วยความรู้เมื่อดูจากวุฒิทางการศึกษา และตำแหน่งหน้าที่การงานที่ได้รับ ดังจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อมีการนำเรื่ององคุลิมาลมาเปรียบเทียบกับคนที่สังคมรังเกียจในพฤติกรรมที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรมของศาสนา เพื่อต้องการให้เห็นด้วยและคล้อยตามในการนำหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยการเรียกร้องให้คนทุกคนมีความสมานฉันท์ รักใคร่ กลมเกลียวกัน ด้วยการให้อภัยในความผิดที่บุคคลที่ว่านี้ได้กระทำไว้ ในทำนองเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้โปรดองคุลิมาลให้กลับใจเป็นคนดี และออกบวช ทั้งยังได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยพุทธปริศนาธรรมย่อๆ ว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิหาไม่หยุด”
เมื่อพูดถึงประโยคดังกล่าวข้างต้น ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวของพระสาวก และพุทธประวัติก็คงจะนึกถึงที่มาของประโยคดังกล่าวข้างต้นได้
แต่เพื่อให้ท่านที่มิได้อ่านเรื่องราวที่ว่านี้ หรือเคยอ่านแต่นานมาแล้วจนเลือนหายไปตามกาลเวลาได้รื้อฟื้นความจำอีกครั้ง ผู้เขียนใคร่ขอเล่าประวัติย่อขององคุลิมาลอันเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิหาหยุดไม่” พอสังเขปดังต่อไปนี้
องคุลิมาล มีชื่อเดิมว่า อหิงสกุมาร ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นคนที่มีร่างกายใหญ่โต แข็งแรง และในวัยหนุ่มได้เสาะแสวงหาความรู้แขนงต่างๆ มาจากอาจารย์ดังๆ ในยุคนั้น จนกระทั่งได้ไปพบกับอาจารย์ผู้หนึ่ง และได้บอกว่าจะสอนมนต์วิเศษให้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องนำนิ้วคนคนละนิ้วจนครบ 1,000 นิ้ว แล้วจะสอนมนต์วิเศษให้
ด้วยความอยากได้มนต์วิเศษ อหิงสกุมารได้ออกไล่ล่าฆ่าผู้คน และเอานิ้วมาแขวนคอจนเกือบครบเหลืออยู่เพียงนิ้วเดียว และจากการที่ได้นำนิ้วคนมาแขวนคอนี้เอง จึงได้ชื่อว่าโจรองคุลิมาล คือ ผู้ที่มีนิ้วมือแขวนคอ
ต่อมาในวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรวจดูสัตวโลกผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับการสอนธรรม และปรากฏว่าองคุลิมาลได้ปรากฏในข่ายพระญาณว่า จนได้รับการสอนแล้วได้บรรลุธรรม
แต่ในขณะเดียวกัน องคุลิมาลกำลังจะฆ่าแม่ตัวเองเพื่อเอานิ้วมาให้ครบหนึ่งพันนิ้ว และถ้าองคุลิมาลฆ่าแม่ก็จะทำอนันตริยกรรมคือกรรมหนัก มีโทษถึงขั้นห้ามสวรรค์ห้ามนิพพานจึงได้เสด็จไปขวางหน้าไว้ และทำให้องคุลิมาลโกรธไล่ฟันพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าได้แสดงปาฏิหาริย์โดยทำให้พระองค์เสด็จไปโดยเร็วจนองคุลิมาลวิ่งไล่ไม่ทัน และได้ตะโกนให้หยุด และพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่าเราได้หยุดแล้ว แต่ท่านสิหาหยุดไม่ องคุลิมาลก็กล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าโกหกเพราะยังเสด็จดำเนินอยู่ แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้แจงว่า พระองค์หยุดแล้วจากการทำลายชีวิต แต่องคุลิมาลยังกระทำอยู่ ทำให้องคุลิมาลคิดได้ และได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขอบวชในพระพุทธศาสนา และบรรลุอรหันต์
จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าการที่องคุลิมาลเป็นโจรกลับใจ จนทำให้คนบางคนมาอ้างว่าพระสามารถอยู่ร่วมกับโจรได้ และโจรกลับใจเป็นคนดีได้
ดังนั้น การสมานฉันท์กับคนไม่ดีเป็นเรื่องที่คนดีพึงกระทำเพื่อให้เกิดความสงบสุขของบ้านเมืองนั้น ถ้าฟังดูเพียงผิวเผินก็คือคำพูดที่มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปและหาเหตุผลในเชิงตรรกะ ก็พบว่าเป็นคำพูดที่ขาดเหตุผลรองรับ และเกิดขึ้นไม่ได้ในโลกแห่งสมมติที่ทุกคนมีหน้าที่ และความรับผิดชอบต้องทำดังต่อไปนี้
1. องคุลิมาลมิได้เป็นโจรโดยสันดาน แต่เป็นเพราะถูกอาจารย์หลอกให้เป็นโดยอาศัยความอยากได้มนต์วิเศษเป็นแรงจูงใจ
ดังนั้นเมื่อได้รับฟังคำพูดที่ทำให้ได้คิดจากพระพุทธเจ้า ก็ทำให้สามัญสำนึกในความเป็นคนดีกลับคืนมาได้ไม่ยาก
2. พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีญาณหยั่งรู้ถึงอนาคตของเวไนยสัตว์ว่าใครควรจะได้รับการสอน และถ้าได้รับการสอนแล้วจะเกิดประโยชน์อันใดตามมาทั้งแก่ตัวผู้ได้รับการสอนเอง และสังคมโดยรวม
แต่การที่ใครต่อใครรวมทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้พูดทำนองว่า พระอยู่ร่วมกับโจรได้นั้น มีนัยแตกต่างที่ไม่น่าจะนำมาเทียบเคียงกับกรณีขององคุลิมาลได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ถ้าโจรที่หมายถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ตกเป็นจำเลยสังคมว่าเป็นผู้คดโกงชาติ โกงแผ่นดิน อันถือได้ว่าเป็นผู้กระทำความชั่วโดยมุ่งแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไม่สามารถเทียบกับองคุลิมาลได้เพราะนั่นเป็นโจรเพราะต้องการเรียนรู้มนต์วิเศษด้วยการถูกหลอกให้หลงผิด มิใช่ผู้ร้ายโดยสันดาน จึงง่ายต่อการกลับใจเป็นคนดี
แต่คนคดโกงบ้านเมืองอันถือได้ว่าเป็นผู้ร้ายโดยสันดาน ยากต่อการกลับใจเป็นคนดี
2. ถ้าผู้พูดอยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง จะอยู่ร่วมกับโจรในทำนองเดียวกับพระคงกระทำไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่าพระกับผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองมีหน้าที่ต่างกัน
กล่าวคือ พระมีหน้าที่สอนให้ทุกคนเป็นคนดี ถึงแม้ในบางครั้งจะสอนแล้วไม่ได้ผลก็ไม่ถือว่ามีความผิดใดๆ ที่จะต้องได้รับโทษ ทั้งในทางสังคมและกฎหมาย แต่นักปกครองมีหน้าที่ต้องดูแลแก้ไขปัญหาบ้านเมือง จะนิ่งดูดายโดยปล่อยให้คนกระทำผิดกฎหมายลอยนวลย่อมกระทำไม่ได้ เพราะจะถูกสังคมลงโทษด้วยการก่นด่า และอาจถึงขั้นต้องได้รับโทษทางกฎหมาย โดยข้อหาละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย
ด้วยเหตุ 2 ประการที่ว่านี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าคำว่า พระอยู่ร่วมกับโจรได้ก็ดี คนดีสมานฉันท์กับคนชั่วได้ก็ดี เป็นคำพูดที่ให้เหตุผลในเชิงตรรกะไม่ได้ เพราะจะต้องไม่ลืมว่าแม้พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ทรงสอนให้คบคนพาลเป็นมิตร แต่ทรงสอนให้คบบัณฑิตเป็นมิตร แล้วไฉนคนที่เป็นพุทธจึงลืมคำสอนข้อนี้ไปโดยสิ้นเชิง