xs
xsm
sm
md
lg

เก้าคำถามหมอประเวศขอให้ คมช.ตอบ (2)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ


ผมถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็นคนแอนตี้ทหาร ท่านที่เข้ามาอ่านใหม่ก็อาจไม่ทราบว่า ผมสนับสนุนให้ทหารขับไล่รัฐบาลเลือกตั้งที่ทำลายรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ผมเสียดายแต่ว่าทหารไม่รู้จักร่วมมือกับประชาชนเพื่อสร้างพลังประชาธิปไตยอันยิ่งใหญ่ เหมือนกับโปรตุเกส หรือฟิลิปปินส์

ผมทราบดีว่า (1) ผู้ที่เลือกอาชีพทหารได้ตัดสินใจล่วงหน้าแล้วว่าจะสละชีพเพื่อชาติ (2) ตั้งแต่พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา นักเรียนโรงเรียนนายร้อยนายเรือเป็นผู้ที่เรียนเก่งระดับแนวหน้าของประเทศเทียบเคียงได้กับผู้ที่เข้าเรียนแพทย์หรือวิศวกรรม หากลาออกมาเล่นการเมืองเสียแต่เนิ่นๆ ก็จะเป็นคุณต่อระบบการเมืองไทย แต่คุณสมบัติเหล่านี้จะไร้ความหมายเมื่อทหารประจำการสละความเป็นทหารอาชีพเข้ามาเกลือกกลั้วกับการเมือง ซึ่งสกปรกคดโกงคอร์รัปชัน พลโทฤกษ์ดี จปร.รุ่น 8 ตามพลตรีจำลอง ศรีเมือง จปร. 7 ถอดเครื่องแบบมาให้ประชาชนเลือกประสบความสำเร็จ และล้มเหลวในระยะเวลาอันสั้นพ่ายแพ้ความด้อยพัฒนาของระบบการเมืองไทย ที่เงินเป็นปัจจัยตัดสินต้องยกพรรคให้ทักษิณไป

พลโทฤกษ์ดีส่งความมาสั่งสอนผมว่า “ทหารเขาไม่เสือกเข้ามาเองหรอก ก็เมื่อพวกพลเรือนทำเละ ไปไหนไม่ได้ หมดที่พึ่งก็ไปอ้อนวอนเขาเข้ามาเอง” ผมเอาเรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่ว่าสังคมเป็นเป็นห่วงว่า รสช. สืบทอดอำนาจ จะทำให้นองเลือด ก็เป็นจริง ตอนนั้น คุณหมอประเวศมอบคำถามให้ผู้อภิปรายถึง “แนวโน้ม รสช.จะถอนตัวจากอำนาจหรือจะเข้าไปสวมอำนาจทางการเมือง” ผู้อภิปรายทุกคนเห็นเหมือนกันหมดว่า รสช. จะไม่ถอนตัวจากอำนาจ และแอบมีใบสั่งให้ประธานมีชัย ฤชุพันธุ์ร่างรัฐธรรมนูญเปิดทางไว้เรียบร้อยแล้ว

ผมเองไม่เชื่อข่าวลือว่า คมช. คิดจะสืบทอดอำนาจเหมือน รสช. แต่ได้ยินเสียงบ่นไปทั่วว่า ผลงานของ คมช. และรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำกว่าความคาดหมายมาก ก็เลยเกิดความกลัวว่า เวลาของ คมช. ที่จะปฏิบัติภารกิจศักดิ์สิทธิ์ของชาติจะไม่พอ หากต่อหรือไม่ต่ออายุให้ หากทำไม่ดี ความหวังประชาธิปไตยจะพังพินาศ ยิ่งถ้าผู้นำ คมช. กลัวการแก้แค้นของอำนาจเก่า (เมื่อตนเกษียณ) จนเกินเหตุ เชื่อหมอดูจนเกินเหตุ เชื่อนักวิชาการบริวารและลูกน้องจนเกินเหตุปล่อยให้อดีต 2 ผบ.ทบ.จุ้นจ้านวางหมากจนเกินเหตุ ฯลฯ บ้านเมืองก็จะเกิดกลียุคแน่ๆ ขณะนี้ ผมมองเห็นขบวนการทำลายทหารเร่งมืออยู่อย่างหนัก แต่ใครก็ทำลายทหารได้ไม่ดีเท่า ทหารทำลายกันเองและตนเอง

นี่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการนองเลือดในพฤษภาทมิฬ และนี่ก็จะเป็นส าเหตุสำคัญพอๆ กันในการนองเล ือดคราวต่อไป ในหน้า 14 ผู้จัดการ วันศุกรพาดหัวว่า “สนธิชี้พฤษภาฯ บ้านเมืองวิกฤตหมอประเวศห่วงนองเลือด-อดีตเด็กแม้วต่อท่อน้ำเลี้ยง” พูดถึงนองเลือด ขอเล่าความหลังครั้ง รสช. ยึดอำนาจตอนนั้นหมอประเวศกับผมกำลังจะอายุใกล้ 60 ปี นับว่าพ้นวัยกระต่ายตื่นตูมแล้ว เราได้ทุ่มเทศึกษาและติดตามปัญหาของบ้านเมืองมาหลายสิบปี จึงมีความแน่ใจว่าจะต้องมีการยึดอำนาจ และในที่สุดการนองเลือดคงจะหลีกเลี่ยงได้ยาก เราสู้อุตส่าห์วิงวอนผู้นำกองทัพ ขอร้องให้อดีตผู้บังคับบัญชาตักเตือน และกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบแสดงความรับผิดชอบ แต่ทุกอย่างไม่ได้ผล

ในเดือนพฤศจิกายน 2533 ก่อน รสช. ยึดอำนาจ 4 เดือน ผมบอกพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก (ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้าพรรคและผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย และจวนจะควบตำแหน่ง รมว.กลาโหมในรัฐบาลชาติชาย) ว่า การยึดอำนาจคราวต่อไปจะต้องเป็นการจับผู้นำรัฐบาลบนเครื่องบิน เพราะถ้าทำบนบก เกิดนัดแล้วไม่มา ทหารอาจจะต้องสู้กันเสียเลือดเนื้อครั้งใหญ่

พลเอกอาทิตย์ว่าผมมองโลกในแง่ร้าย ทหารที่ไหนจะบ้ามาปฏิวัติเพราะมันหมดยุคแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ คุณอาทิตย์บอกว่า “ไอ้เต้มันวิ่งซื้อโอเลี้ยงให้ผมกินตั้งแต่อยู่ ม.4 ที่สระบุรีมันจะมาปฏิวัติผมทำไม”

ในการอภิปรายที่ธรรมศาสตร์ คุณหมอได้เขียนบทความประกอบชื่อว่า “ระวังอย่าให้นองเลือด” แจกจ่าย และตีพิมพ์ในนสพ.หลายฉบับวิเคราะห์ลักษณะของสังคมไทยและเหตุปัจจัยต่างๆที่จะทำให้เกิดความสงบหรือรุนแรงจนกระทั่งนองเลือดทั้งหมด 10 ข้อ ผมจะขอฉายซ้ำเฉพาะข้อ 6 เพื่อเป็นอนุสติ คมช. จะได้ช่วยกันคิดและป้องกันมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

“6. ในการยึดอำนาจเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นั้น คณะ รสช. ประกาศว่าต้องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมืองและต้องการสถาปนาประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่มาบัดนี้มีเค้าว่าประชาชนจะผิดหวังผู้ยึดอำนาจมีท่าทีว่าจะสืบต่ออำนาจและใช้การเมืองน้ำเน่าเป็นฐานอำนาจเหมือนกับว่ายึดอำนาจเพื่อขจัดความสกปรกแต่เสร็จแล้วเข้าไปเสพความสกปรกนั้นเสียเองฯลฯ

ถ้าผู้นำทหารเข้าไปสวมอำนาจทางการเมืองโดยอาศัยการเมืองน้ำเน่าเป็นฐานจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมืองและจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง กองทัพจะอ่อนแอลงเพราะทหารจะแตกแยกกันเอง และมีทหารอื่นคิดแย่งอำนาจโดยการใช้กำลังปัญหาของคนยากจนทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคแรงงานที่ไม่ได้รับการแก้ไขโดยระบอบประชาธิปไตยจะหมักหมมและปะทุออกมาเป็นความรุนแรงทั้งหมดอาจนำไปสู่การนองเลือด”

คมช.ยึดอำนาจในบริบทที่ต่างกับ รสช. ผมไม่คิดว่า คมช.จะสืบทอดหรือใช้การเมืองน้ำเน่าเป็นฐานอำนาจ แต่ผมกรงว่าการเมืองน้ำเน่าต่างหากที่จะใช้คมช.เป็นฐานอำนาจ ตอนนี้มีการเกี้ยวพาราสีกันอยู่ในบางหมู่ การขอให้ทหารวางมือจากอำนาจ หมอประเวศเปรียบว่า “เสมือนเป็นการขอให้เสือกินมังสวิรัติ” เหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การนองเลือดในครั้งนี้มีมากกว่าสมัย รสช.

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของระบบที่มีจุดอ่อนระบบที่เลวไม่มีทางที่จะสมานฉันท์กับคนดีได้ ไม่ว่าคมช.จะดีแค่ไหนหรือพลเอกสุรยุทธ์จะบริสุทธิ์เพียงใดก็มิใช่ประเด็นตราบใดที่เราไม่หยุดเครื่องจักรของระบบที่เลว เราก็ไม่มีทางตั้งต้นระบบที่ดีได้เพราะเครื่องจักรที่เดินไปเรื่อยๆ จะบดขยี้ คนดี ความดี และสังคมที่ดีให้เลวลงๆ

ไทยเรามีดีสารพัดอย่างที่ชาติอื่นไม่มีแต่เราต้องยอมรับว่าเราขาดและไม่เคยมีระบบการเมืองที่ดี 75 ปีที่ผ่านมา เรายังเป็นประชาธิปไตยไม่สำเร็จแปลว่าเรายังไม่เคยมีประชาธิปไตย แปลว่าสังคมไทยและคนไทยทุกคน-ทหารข้าราชการ ปัญญาชนและพลเมืองต่างก็ขาดโอกาสและไม่เคยอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คมช.ก็มิใช่ข้อยกเว้น ครม.ก็มิใช่ข้อยกเว้น ส.ส.ร.ก็มิใช่ข้อยกเว้นพรรคการเมืองก็มิใช่ข้อยกเว้น สื่อทุกชนิดก็มิใช่ข้อยกเว้น เพราะฉะนั้นอย่าได้หมายเลยว่าใครจะสามารถเลิศลอย ถึงกับจะผูกขาดการสร้างประชาธิปไตยให้ชาติได้

เราจะโฆษณาต่อชาวโลกอย่างไรก็ได้ว่า การยึดอำนาจในประเทศไทยก็เหมือนกับการเปลี่ยนคณะผู้บริหารธรรมดาๆ เท่านั้นราบรื่นไม่เสียเลือดเนื้อ แต่เราไม่ควรหลอกตัวเองว่า การต่อสู้ในสมัยอยุธยากษัตริย์ถูกปลงพระชนม์ 10 พระองค์ การกบฏปฏิวัติรัฐประหารตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา การสูญเสียจริงๆ หรือโอกาสที่จะสูญเสีย คิดแล้วขนหัวลุก บวรเดช กี่ศพ 14 ตุลา กี่ศพ 6 ตุลา กี่ศพ ฉลาด-อรุณ กี่ศพ และในยุคพลเอกเปรมนั้น หากมิได้บารมีปกเกล้าก็จะสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด และครั้งสุดท้ายก็คือพฤษภาทมิฬที่กำลังทาบเงาลงมาปกคลุมสังคมไทยอีกครั้ง

มหาวิทยาลัยและกองทัพไทยไม่มีความสนใจและสมาธิพอที่จะศึกษาประวัติศาสตร์การสงคราม ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีและยุทธการ วิวัฒนาการของอาวุธและเทคโนโลยี การสู้รบทั้งในแบบและนอกแบบทั้งในทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งเรื่องการปฏิวัติและการต่อสู้ทางการเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของกาลเวลา ผมเป็นเพียงนักเรียนคนหนึ่ง ด้วยเป็นคนรักสงบจึงสู้อุตส่าห์ศึกษาติดตามเรื่องเหล่านี้ ผมใคร่ขอเสนอข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1. ในประเทศหรือสังคมต่างๆ ถึงแม้สังคมนั้นๆจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน แต่การต่อสู้ ความสูญเสีย และความโหดร้ายทารุณของการต่อสู้ทางการเมืองมักจะมีแบบฉบับ วิธีการ ขนาด (สัดส่วน) และทิศทางไปในแนวทางเดียวกันทั้งสิ้น นั่นก็คือ รูปแบบจากการใช้กำลังไปสู่การใช้คามอดทน ไปสู่การใช้ปัญญาเริ่มต้นจากฝูงชนปราบกันเองเพื่อแย่งชิงเป็นผู้นำ ผู้นำปราบฝูงชนเพื่อรักษาอำนาจ ผู้นำฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งอำนาจประชาชนสู้กับผู้นำ ประชาชนสู้กับประชาชนวิธีการต่อสู้และความสูญเสียก็ขึ้นกับความเป็นมา ความเจริญในสังคมวิวัฒนาการและประเภทของอาวุธและเทคโนโลยี ประเภทของคู่ต่อสู้เริ่มจากใครมีกำลังกว่า ใครมีอาวุธดีกว่าการจัดองค์กรปราบปรามและการต่อสู้ กองทัพสู้กองทัพ กองโจรสู้กองทัพการจับตัว การก่อการร้ายและวินาศกรรม การลอบสังหาร และสงครามกลางเมือง

2. ความทารุณโหดร้ายและความยืดเยื้อยาวนานมักจะขึ้นกับปัจจัย 2 อย่างคือ ความเหมือนกัน หรือแตกต่างกันขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ จำนวน-สัดส่วนของผู้ใช้อำนาจกับประชาชนพลเมือง กติกาการให้รางวัลและลงโทษของสังคม กับ ทางเลือกของสังคมนั้น ว่ามีมากน้อยต่างกันอย่างไร ถ้าสังคมมีความยืดหยุ่นน้อยก็เจ็บตัวมาก ถ้ามีเสรีภาพมาก มีทางเลือกมาก ก็เจ็บตัวน้อย การนองเลือดเป็นการก่อกรรมและผลของกรรมอันเป็นบาปร่วมของสังคมเกิดจากเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกันตามหลักปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุปัจจัยครบก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่มีใครช่วยได้ หากจะมองในแง่ความเคลื่อนไหวของสังคมตามหลักวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อสังคมเติบโตมาถึงจุดหนึ่งเกิดความหลากหลายของความคิด ผลประโยชน์ขนาดและองค์ประกอบของกลุ่ม ท่ามกลางความปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มถี่และมีการเผชิญหน้ามากขึ้นในที่สุดความขัดแย้งก็นำไปสู่ความโหดร้ายและการต่อสู้ดังที่ผมได้กล่าวมา 2 ข้อข้างต้น

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนองเลือดใยยุค รสช.โดยสรุปก็คือ การยึดอำนาจ การร่างรัฐธรรมนูญให้คนนอกคือ รสช.สืบอำนาจ การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน เช่น นักศึกษา และคนงานที่ต้องการคิดบัญชี 6 ตุลา เทคโนโลยีมือถือและการตื่นตัวของชนชั้นกลางมือที่มองไม่เห็นของพลตรีจำลอง และอดีตผู้บัญชาการทหารบกคนหนึ่ง ฯลฯ สำหรับเหตุปัจจัยในปัจจุบันมีมากมายกว่านั้น เช่น การต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ คลื่นใต้น้ำและการเคลื่อนไหวบนดินของกลุ่มปฏิปักษ์ที่ต่างก็อ้างประชาธิปไตยเหตุการณ์สามจังหวัดภาคใต้ภาวะไร้เอกภาพและความไม่ลงตัวในกองทัพและตำรวจ ข้าราชการระดับสูงที่เสพติดระบบเก่าเกษตรกรและคนยากจนที่แบกภาระหนี้สินที่ไม่เป็นธรรมหรือเกินกำลังกลุ่มพุทธและกลุ่มเรียกร้องต่างๆ ซึ่งมีผลประโยชน์และข้ออ้างหลากหลาย รวมทั้งอดีต ผบ.ทบ. สองท่าน อดีตนายกรัฐมนตรีอีกสองท่านต่างก็จะอาศัยร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเป็นข้อต่อสู้หรือเครื่องมือของตน โดยอ้างประเทศชาติบังหน้า ฯลฯ ถ้าหาก คมช. ประมาท ไม่หนักแน่นหรือคิดไม่ออกประเทศชาติก็จะสูญเสียและวนเวียนอยู่กับที่

ที่หมอประเวศและผมพากันห่วงนั้นมิใช่การแช่ง แต่เป็นการเตือนไม่อยากให้พวกเราสร้างเงื่อนไขหรือเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้า เราเชื่อว่าการนองเลือดและปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ป้องกันและแก้ไขได้ โดยยึดถือคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ให้บำเพ็ญเพียรเอาชนะตัณหา อวิชชาและตัวตน อาศัยบุญญาธิการของพระเจ้าอยู่หัว และคุณความดีของชาวไทยทั้งมวล ตลอดจนหลักวิทยาศาสตร์สังคม ซึ่งกลมกลืนกันได้ทั้ง 4 ประการ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้เพียรเสนอร่างรัฐธรรมนูญราชประชาสมาสัยแบบที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงระหว่างปวงชนกับในหลวง ภายใต้พระราชอำนาจพระบรมราชวินิจฉัยและบารมีของพระองค์ ผมจะพูดอย่างไรท่านผู้มีอำนาจและความรับผิดชอบก็ไม่เข้าใจ เป็นความผิดของผมเอง ขอโทษด้วยครับ มันเป็นเช่นนี้เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น