xs
xsm
sm
md
lg

เปิดทาง DBS ฮุบทหารไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ทหารไทยเปิดทาง “ดีบีเอส”กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ฮุบ ซีอีโอแย้มเจรจาเบื้องต้นแล้วดีบีเอสพอใจ ส่วนคลังไม่ขัดข้อง คาดหลังเพิ่มทุนสัดส่วนสิงคโปร์มากกว่า 16% อาจถึงเพดานที่แบงก์ชาติกำหนด "สมใจนึก"เผยต้องปรับแผนรองรับทำให้การเพิ่มทุนต้องเลื่อนออกไปหลัง มิ.ย. แต่มั่นใจคลังต้องการรักษาสิทธิแม้เพียงบางส่วน

นายสุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) (TMB)เปิดเผยว่า การเจรจาแผนเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยร่วมกับกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่วานนี้ (20 เม.ย.)ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาว่ากระทรวงการคลังต้องการที่จะรักษาสิทธิการเพิ่มทุนจำนวนเท่าใด ซึ่งผู้บริหารธนาคารทหารไทยต้องรอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งก่อนที่จะสรุปผลและแจ้งให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่นได้ ส่วนกลุ่มธนาคารดีบีเอส ของสิงคโปร์ยังมีความสนใจที่จะลงทุนในธนาคารทหารไทยต่อไป และต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุน

“เท่าที่คุยกับกระทรวงการคลังยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาว่ากระทรวงการคลังต้องที่จะเพิ่มทุนในธนาคารทหารไทยในสัดส่วนเท่าไร แต่การเจรจากับกลุ่มดีบีเอสที่ผ่านมายังยืนยันที่จะลงทุนในธนาคารทหารไทยต่อไป ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มดีบีเอสถือหุ้นในธนาคารทหารไทยจำนวน 16% และถ้าหากกระทรวงการคลังไม่พร้อมที่จะเพิ่มทุนธนาคารตามสิทธิ กลุ่มดีบีเอสก็พร้อมที่จะใช้สิทธินั้นแทนกระทรวงการคลังซึ่งกลุ่มดีบีเอสนั้นมีความพร้อมที่จะเข้าถือหุ้นในธนาคารทหารไทยมากกว่า 16% หรืออาจเต็มเพดานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาต” นายสุภัค กล่าว

ทั้งนี้ สัดส่วนผู้ถือหุ้น ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นธนาคารทหารไทยอันดับ 1 อยู่ที่ 20% ส่วนธนาคารดีบีเอสเป็นอันดับ 2 ขณะที่ ธปท.ได้เปิดทางให้ต่างชาติถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทย 49%

นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานธนาคารทหารไทย กล่าวว่า แผนการเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน 2550 คงต้องเลื่อนออกไปอีกสักระยะหนึ่งแต่คงเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนัก เนื่องจากต้องมีการเจรจากับทางกลุ่มดีบีเอสซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 อีกครั้ง โดยการเจรจากับกลุ่มดีบีเอสครั้งต่อไปจะเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ที่กลุ่มดีบีเอสต้องการหากมีการเพิ่มทุนเกิดขึ้น

ส่วนการเจรจากับกระทรวงการคลังนั้นจะต้องมีการปรับแผนการเพิ่มทุนอีกครั้งแต่เป็นการปรับปรุงแผนเพียงเล็กน้อย ซึ่งในการเจรจาเบื้องต้นกระทรวงการคลังต้องการรักษาสิทธิในการเพิ่มทุนแต่คงไม่เพิ่มทุนทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังก็จะยังคงรักษาสิทธิการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทยอยู่

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยในครั้งนี้เชื่อว่ากระทรวงการคลังจะยังคงรักษาสิทธิการเพิ่มทุนแต่ไม่ใช้สิทธิทั้งหมด โดยกระทรวงการคลังจะดำเนินการเพิ่มทุนและรักษาสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน ประมาณ 25% เท่านั้น ส่วนสิทธิในการเพิ่มทุนที่เหลือคงตกเป็นของกลุ่มดีบีเอส

“ตอนนี้กระทรวงการคลังมีปัญหาด้านการเงินค่อนข้างหนักหลังจากการเพิ่มทุนครั้งที่ผ่านมาต้องนำหุ้นบมจ.อสมท ไปจำนำกับธนาคารออมสินเพื่อนำเงินไปเพิ่มทุนธนาคารทหารไทย ซึ่งในการแจ้งผลการดำเนินในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาผลงานค่อนข้างย่ำแย่กำไรลดลงกว่า 2 พันล้านบาทจึงทำให้กระทรวงการคลังต้องพิจารณาให้รอบคอบต่อการเพิ่มทุนในครั้งนี้เพราะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่หากกระทรวงการคลังไม่ใช้สิทธิเพิ่มทุนเลยก็จะทำให้ฐานะของธนาคารย่ำแย่เพราะผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และลูกค้าจะขาดความเชื่อมั่นต่อธนาคารได้” แหล่งข่าวกล่าว

โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เข้าไปพยุงสถานะของ ธนาคารทหารไทยของคลัง ตั้งแต่ปี 2543 โดยใช้เงิน 20,000 หมื่นล้านบาท แลกกับหุ้นบุริมสิทธิ 1,999 ล้านหุ้น ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ตามมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 เพื่อเสริมเงินกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 ให้กับธนาคารทหารไทย

หลังจากนั้นปลายปี 2546 ธนาคารทหารไทยเพิ่มทุนอีก 22,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงการคลังต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาสิทธิการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยนำหุ้นบมจ.การบินไทยไปจำนำไว้กับธนาคารออมสิน เพื่อนำเงินมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน

ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ธนาคารทหารไทยเพิ่มทุนอีก 12,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังต้องหาเม็ดเงินอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท ที่ต้นทุน 3 บาท โดยนำหุ้นบมจ.อสมท ไปจำนำไว้กับธนาคารออมสินเหมือนครั้งที่ผ่านมา

ตั้งแต่ปี 2543-2549 กระทรวงการคลังใช้เงินไปกับการเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยเพื่อพยุงฐานะและรักษาสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 33,000 ล้านบาท โดยไม่เคยได้รับเงินปันผลเลยและยังไม่มีแนวโน้มที่จะได้รับเงินปันผล เนื่องจากผลการดำเนินงานของธนาคารทหารไทยยังมีตัวเลขขาดทุนสะสมในหลักหมื่นล้านบาท

ล่าสุดผู้บริหารธนาคารทหารไทยกำลังทำแผนการเพิ่มทุนครั้งใหม่เตรียมเสนอมายังกระทรวงการคลัง ในวงเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท หากกระทรวงการคลังจะรักษาสิทธิการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะต้องหาเงินมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกราว 10,000 ล้านบาท

ฝั่งผู้บริหารของธนาคาร พยายามจะหาทางออกให้กับผู้ถือหุ้น หลังจากเพิ่มทุนจบจะลดพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท เพื่อล้างขาดทุนสะสมทั้งหมด จากนั้นจะนำกำไรมาจ่ายเงินปันผล ซึ่งวิธีนี้เป็นไปได้ยาก เพราะตามมาตรการ 14 สิงหาคม ขวางการลดพาร์ของหุ้นบุริมสิทธิ ต้องมีการลดราคาหุ้นสามัญล้างส่วนเสียหายที่เกิดขึ้นเสียก่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น