xs
xsm
sm
md
lg

ฤๅษีเฒ่ากับองคุลิแม้ว

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

.
ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายๆ คนนอกจากจะได้พักร้อนกับเรื่องของการงานแล้วหลายคนคงได้พักร้อนจากเรื่องของการบ้านการเมืองด้วย ส่วนตัวผมเองก็ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่มีโอกาสนอนพักผ่อนแบบเต็มๆ วันอยู่กับบ้าน ได้มีเวลานั่งลงอ่านหนังสือหลายๆ เล่มที่อยากจะอ่าน ได้ดูภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ซื้อมาเก็บไว้นาน ได้นั่งทานข้าวกับครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ นอกเหนือจากกิจกรรมทั้งหลายข้างต้นที่ผมไม่มีเวลาทำมาระยะหนึ่งแล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ทำก็คือ ได้นั่งเอนหลังเปิดโทรทัศน์สำรวจดูรายการที่ออกอากาศทางฟรีทีวีอย่างจริงๆ จังๆ ...

ช่วงสงกรานต์ปีนี้ บนหน้าจอโทรทัศน์มีการรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับและเล่นสงกรานต์อย่างมีสติ กันอย่างจริงๆ จังๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนเรื่องรองๆ ลงมานั้นก็ดูเหมือนจะเป็นการรณรงค์เรื่อง “ความสามัคคี” ของคนในชาติ ที่ช่องโทรทัศน์ที่อยู่ในความดูแลของภาครัฐ เช่น ช่อง 5 และช่อง 11 นั้นดูเหมือนจะมีการรณรงค์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ การนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับความสามัคคีมาออกอากาศ

ช่วงบ่ายวันหนึ่ง ผมมีโอกาสได้ฟังพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ความว่า

“...สามัคคี คือการเห็นแก่บ้านเมืองและช่วยกันทุกวิถีทางเพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วย การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะประโยชน์ส่วนรวมนั้น คือความมั่นคงของบ้านเมือง...”
พระราชดำรัส พระราชทานในพิธี
ประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 15 มกราคม 2519


จริงๆ พระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีความเกี่ยวข้องกับความสามัคคีของคนในชาตินั้นมีอยู่มากมายมหาศาล โดยในช่วงหลังที่บ้านเมืองของเราเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น ก็มีหลายคนที่มักจะยกเอาพระราชดำรัสเหล่านี้มาอ้างอิงกันอยู่เสมอๆ ทั้งยังชอบผนวกเรื่องนี้เข้ากับคำว่าสมานฉันท์ จนกลายเป็นคำฮิตทางการเมืองที่ใช้คู่กันว่า “สามัคคี-สมานฉันท์”

คำว่า สามัคคี ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้าที่ 1178 ระบุไว้ว่า ถ้าเป็นคำนามก็จะแปลว่า ความพร้อมเพรียงกัน, ความปรองดองกัน ขณะที่ถ้าหากเป็นคำวิเศษณ์ก็จะแปลได้ว่า ที่ทำพร้อมเพรียงกัน, ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ เช่น กฐินสามัคคี ผ้าป่าสามัคคี

ส่วนคำว่า สมานฉันท์ นั้น พจนานุกรมฉบับเดียวกันในหน้าที่ 1130 ระบุถึงความหมายไว้ว่าคือ ความพอใจร่วมกัน, ความเห็นพ้องกัน, เช่น มีความเห็นเป็นสมานฉันท์

ทั้งนี้หากพิจารณาจากการยกตัวอย่างในพจนานุกรม ผมเชื่อว่าแต่เดิมทั้งคำว่า สามัคคีและสมานฉันท์นั้นต่างก็เป็นคำที่ใช้ในความหมายที่ดีเท่านั้นคือ คำว่าสามัคคีนั้นจะใช้สำหรับความพร้อมเพรียง ความร่วมมือร่วมใจกันทำในสิ่งที่สุจริต ถูกศีลธรรม ถูกจริยธรรม ถูกทำนองคลองธรรมเท่านั้น ไม่มีใครผู้ใดหรอกที่อุตรินำคำว่าสามัคคีไปใช้ประกอบกับการกระทำที่ผิดๆ เช่น โจรสามัคคีกันปล้นบ้าน หรือนักการเมืองสามัคคีกันคอร์รัปชัน นอกจากคนไทยที่ไม่ประสีประสา หรือแอบมีวาระซ่อนเร้นเท่านั้น

ขณะที่คำว่าสมานฉันท์ก็จะใช้แต่เฉพาะในกรณีที่บุคคลหลายฝ่ายมีความพอใจร่วมกัน เห็นพ้องต้องกันในการที่จะทำสิ่งที่ดี ที่ถูกที่ต้อง มิใช่จะนำไปใช้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เช่น พระสมานฉันท์กับโจร ตำรวจสมานฉันท์กับผู้ร้าย เป็นต้น

ซึ่งถ้านำความหมายตามพจนานุกรมดังกล่าวย้อนกลับไปพิจารณาประกอบกับความหมายของความสามัคคีที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยพระราชทานไว้แก่ นายตำรวจชั้นนายพลในพิธีประดับยศที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2519 ก็จะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกัน กล่าวคือ ความสามัคคี นั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเห็นอกเห็นใจกัน การทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมและนึกถึงความมั่นคงของบ้านเมือง ...

โดยทัศนะส่วนบุคคล ผมเห็นว่า ในช่วงหลัง ผู้ใหญ่และคนในบ้านเมืองจำนวนไม่น้อยต่างมีความเข้าใจและใช้คำว่า สามัคคี-สมานฉันท์อย่างผิดๆ ผิดเสียจนน่ากลัวว่า หากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไป เยาวชนไทยรุ่นหลังนอกจากจะใช้ภาษาไทยอย่างผิดๆ แล้วพฤติกรรมและบรรทัดฐานทางจริยธรรมของสังคมไทยที่ในปัจจุบันถือว่าตกต่ำอยู่แล้วก็จะยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

ความเข้าใจ และการใช้ภาษาอย่างผิดๆ ของผู้นำประเทศนั้น เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น

วันที่ 16 ตุลาคม 2548 - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการฟ้องร้องสื่อมวลชน และหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนว่า “อุ๊ย! อันนี้ท่านเมตตาผมมาก่อนเยอะเลย เพราะฉะนั้นผมก็ต้องเมตตาท่าน”

วันที่ 25 ธันวาคม 2548 - พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวกับคนขับแท็กซี่ที่อาคารอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมากว่า “ถ้าผมไม่จงรักภักดี ผีที่ไหนจะจงรักภักดี”

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 - พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวผ่านรายการ “นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน” ทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ โดยระบุว่า จะลาออกก็ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระซิบ ก็จะกราบบังคมทูลลาออกทันที

หลายๆ กรณีข้างต้นนั้น ในทัศนะของประชาชนทั่วไปแล้วนอกจากจะถือว่าเป็นการใช้ภาษาไทยที่ผิดมหันต์แล้ว ก็ยังถือได้ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นบุคคลและสถาบันอันเป็นที่เคารพอีกด้วย (ขณะที่ทัศนะของบุคคลในหน่วยงานภาครัฐบางแห่งกลับเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวนั้นไม่หมิ่น แต่ไม่สุภาพ ไม่สมควร ไม่เหมาะสม และอาจหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่น?!?)

ขณะที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ล่าสุด ก็มีกรณีคล้ายๆ กันเกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นก็คือ คำกล่าวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในวันที่ 12 เมษายน 2550 เมื่อท่านถูกสื่อมวลชนซักถามว่า รัฐบาลเน้นนโยบายสมานฉันท์ แต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปฏิเสธโดยกล่าวว่าการสมานฉันท์กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ์ก็ให้คำตอบว่า

“ผมคิดว่า คำเปรียบเทียบว่า พระกับโจรอยู่ด้วยกันไม่ได้นั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ในหลักพุทธศาสนานั้น พระจะให้อภัยโจร พยายามพูดให้โจรกลับใจ พระพุทธเจ้าสอนองคุลิมาลให้กลับใจ จนสามารถบรรลุนิพพานได้นั้นเป็นสิ่งที่สอนได้อย่างดีว่า ในศาสนาพุทธนั้นพระพุทธเจ้าสอนให้ทุกคนมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งควรนำไปใช้ในการดำรงชีวิต และแก้ไขปัญหาของตัวเอง ...”

เมื่อเรานำเอาคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุรยุทธ์ มาแจกแจงและพิจารณาให้ละเอียดแล้วก็จะพบว่า พล.อ.สุรยุทธ์ นอกจากจะใช้ภาษาไทยผิดแล้ว ยังมีความเข้าใจในหลายๆ เรื่องคลาดเคลื่อนอย่างมหันต์

ประการที่หนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เคยกล่าวว่า พระกับโจรอยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่กล่าวว่า พระมิอาจสมานฉันท์กับโจรได้ กล่าวคือ พระมิอาจพอใจร่วมกันกับการกระทำผิดๆ ของโจร หรือเห็นพ้องต้องกันกับการกระทำของโจรได้ มิได้หมายความว่าคนดีจะไม่ยอมอยู่ร่วมกับคนเลว เพราะเป็นสัจธรรมของโลกที่ทุกสังคมย่อมมีคนดีและคนเลวปะปนกันไปอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่คนดีก็มิอาจเห็นด้วยหรือเห็นพ้องต้องกันกับการกระทำของคนเลว มิฉะนั้นสังคมนั้นๆ ก็คงมิอาจดำรงอยู่ได้

ประการที่สอง ท่านเข้าใจผิดที่นำคนโกงบ้านกินเมืองอย่างเช่น อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคพวก ไปเปรียบเทียบกับ “องคุลิมาล” พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล ทั้งๆ ที่กระบวนโกงบ้านกินเมืองของคนกลุ่มดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่ ‘ชั่วโดยกมลสันดาน’ ทั้งยังเป็นการกระทำชั่วที่มีการวางแผนกันอย่างเป็นระบบ ตั้งใจ และจงใจ สร้างความเดือดร้อนและความทุกข์ยากให้กับคนทั้งแผ่นดิน ขณะที่ “องคุลิมาล” นั้น เป็นผู้ที่มิได้เลวโดยสันดาน แต่หลงผิดไปชั่วครู่จากคำสอนของอาจารย์

ประการที่สาม ท่านเข้าใจผิดคิดว่าคนธรรมดา เดินดิน กินข้าวแกงอย่างเราๆ ท่านๆ (รวมถึงคนทั่วไป) จะสามารถพูดให้โจรที่ชั่วโดยกมลสันดาน และทำผิดกับคนทั้งแผ่นดินกลับใจได้ ความจริงผมเชื่อว่าตัวท่านคงไม่ได้ตั้งใจยกตนไปเปรียบเทียบกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก แต่จากคำพูดประโยคดังกล่าวนั้นทำให้ผู้ที่ฟังและผู้ที่อ่านคำให้สัมภาษณ์ของท่านสามารถอนุมานได้ว่า “ตัวท่านเองเป็นพระที่พร้อมจะอภัยให้โจร และกำลังจะใช้วิธีกล่อมให้โจรกลับใจ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้ากล่อมองคุลิมาลให้กลับใจ ...”

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา คำพูดประโยคดังกล่าวของ พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ว่าจะจากมุมไหน ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกตงิดใจ ที่ตงิดใจก็เพราะผมสงสัยจริงๆ ว่า ที่ท่านกล่าวเช่นนี้ท่านรู้ตัวหรือไม่ว่าตัวเองอยู่ในสถานะอะไร พระหรือนายกรัฐมนตรี?, ท่านทราบได้อย่างไรว่าโจรชั่วผู้นั้นจะมีจิตใจที่สูงส่งเช่นองคุลิมาลที่ในเวลาต่อมากลายเป็นถึงพระอรหันต์?, การยกโทษของท่านหมายความว่า ผลประโยชน์ที่ชาติสูญเสียไปจะกลับคืนมา? น้ำตาของประชาชนผู้สูญเสียจากการประพฤติมิชอบและการคอร์รัปชันจะกลายเป็นรอยยิ้มแน่หรือ?

... และที่สำคัญที่สุด การให้อภัยของท่านต่อโจร จะทำให้ประเทศชาติเกิดความ “สามัคคี-สมานฉันท์” ในความหมายที่แท้จริง จริงหรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น