xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนคำถามหมอประเวศ 9 ข้อ ขอให้ คมช.ตอบ (1)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการอภิปรายที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้ฟังเต็มจนล้นห้อง หัวข้อที่พูดกันคือ “ทิศทางการเมืองไทย” หัวข้อย่อยคือ “จะนองเลือดหรือไม่”

ผู้พูดประกอบด้วยนักวิชาการ 3 ท่าน ได้แก่ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี นายธีรยุทธ บุญมี และผม ร่วมกับนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคอีก 4 ท่าน เรียงตามอายุคือ นายบุญชู โรจนเสถียร พรรคเอกภาพ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ พลตรีจำลอง ศรีเมือง พรรคพลังธรรม และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน หนึ่งในห้ารองหัวหน้ามาแทนนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคุณหมอประเวศ ผู้นำอภิปรายเย้าว่า มัวแต่ไปหลีกภัยเสียจึงมาไม่ได้

ผมนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้เห็นสัจธรรม 2 ข้อ คือ (1) การเปลี่ยนแปลงตามหลักความเป็นอนิจจังแห่งสังคม (2) ความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองไทยตามหลักผลประโยชน์และอำนาจที่ยังแบ่งกันลงตัว

ในวันนั้น หมอประเวศ ผม และเพื่อนฝูงพากันตั้งคำถามทั้งหมด 9 ข้อ

เราไม่ได้รับคำตอบจาก รสช.และนักวิชาการบริวาร และไม่ทราบด้วยว่าท่านฟังหรือไม่ ถ้าฟัง บางทีพฤษภาทมิฬอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้

เมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพลเอกชาติชายต้องถูกทำลายลง 16 ปีที่แล้ว บรรดาผู้นำคมช. ซึ่งขณะนั้นอายุอานามราว 44-46 ปี ยศอย่างสูงก็พันเอกหรือพลตรี ผมทราบดีว่า ใครยืนอยู่ตรงไหน ฟังคำสั่งของใคร และเชื่อในคำสั่งนั้นหรือไม่

แม้ผมจะเห็นว่า การยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งที่ทำลายรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ต่างกับการกระทำของ รสช.

แต่ คมช. ก็มีหน้าที่จะต้องศึกษาและตอบคำถามดั้งเดิมทั้ง 9 ข้ออยู่ดี มิฉะนั้น คมช.จะตกอยู่ในบ่วงกรรมหรือภาวะ “เข้าง่าย-ออกยาก” ตามคำของ พลเอกสายหยุด เกิดผล อยู่อีกนาน

ขอเล่าถึงความเป็นอนิจจังเสียก่อน บัดนี้นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ บรรดาพรรคอื่นๆ อีก 3 พรรคที่กล่าวมา ได้สูญพันธุ์หรือกลายพันธุ์ไปหมดแล้ว ตามทฤษฎีปราโมทย์ของผมที่ ซ.ต.พ. แล้วว่า “พรรคหัวหน้าตั้งไม่ยั่งยืน” ที่บางพรรคอาจจะยังเหลือซากอยู่ ก็เพราะความด้อยพัฒนาที่บังคับให้พรรคการเมืองจดทะเบียนเหมือนบริษัทรับเหมาสร้างถนนของกรมทางหลวงแผ่นดิน

ผู้นำพรรคที่มีความสามารถ น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ดีกว่าเพื่อน แต่วาสนาไม่ถึงคือบุญชู โรจนเสถียร “สยามหนุ่มคนสุดท้าย” ที่ลาโลกและพวกเราไปเมื่อเดือนที่แล้ว

คุณบุญชู ใจเด็ดมาก หลังสวดอภิธรรมอำลาได้เพียงอาทิตย์เดียว ก็อุทิศสรีระร่างกายให้โรงพยาบาลไปหมด

ที่เหลือ 2 ท่าน พลเอกชวลิต ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 1 ปี และชวน หลีกภัย ได้เป็น 2 สมัยหลายปี

แต่ทุกคนในฐานะผู้นำการเมืองต่างก็ล้มเหลวทั้งหมด เพราะไร้ความสามารถและขาดเจตจำนงทางการเมืองหรือ political will ที่จะสร้างระบอบการเมืองประชาธิปไตยเป็นมรดกลูกหลานให้สำเร็จ

บัดนี้ ผู้นำทั้งทหารและพลเรือน ปล่อยให้เราลอยเท้งเด้ง กลับไปวนในอ่าง นับหนึ่งกันใหม่ ในน้ำมือของนักวิชาการและขุนนางที่รู้จักประชาธิปไตยแต่ปากและในทฤษฎี

ผมขอเสนอคำถามโบราณทั้ง 9 ข้อให้ คมช. นำไป พินิจพิจารณาและหาคำตอบที่ถูกต้องให้เจอ

คำถามนี้คงความหมายทางอรรถไว้ตามเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ จะปรับเปลี่ยนที่พยัญชนะไปบ้างให้เข้ากับยุคสมัย และเปลี่ยนคำว่า รสช.เป็น คมช. ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญ คมช. จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

2. จะต้องร่างอย่างไรรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นประชาธิปไตย

3. ผู้นำ คมช. ควรเป็นผู้นำประเทศหรือไม่

4. ทหารไม่ควรเล่นการเมืองจริงไหม

5. ควรมีประชามติรัฐธรรมนูญหรือไม่

6. ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะต้องเคลื่อนไหว

7. จะป้องกันการนองเลือดได้อย่างไร

8. ควรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญหรือไม่

9. ตุลาการเป็นอำนาจอธิปไตยอิสระหรือ

ท่านผู้อ่านคงจะตอบคำถามเหล่านี้ได้โดยแทบจะไม่ต้องคิด แต่สำหรับ คมช. คงจะไม่กล้วยขนาดนั้น การที่ รสช. ที่ไม่ยอมตอบคำถามดังกล่าว ทำให้เราได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดในอดีต คมช. ต้องครวญใคร่ให้ดี ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

เวลาผ่านไป 16 ปี ทำไมคำถามต่างๆจึงยังคงเหมือนเดิม และคำตอบสำหรับปัจจุบันเล่า จะต่างจากอดีตบ้างหรือไม่

เรามา เริ่มจากข้อที่น่าจะง่ายที่สุด น่าจะมีข้อยุติไปได้นานแล้ว คือ

ข้อที่ 4 ทหารไม่ควรจะเล่นการเมือง และข้อที่ 3 ผู้นำ คมช. เช่นเดียวกับผู้นำรสช. ไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ

ผมยกเหตุผลของผู้อภิปรายวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 มาเล่าซ้ำดังนี้

นายบุญชู โรจนเสถียร กล่าวว่าหากทหารลงมาเล่นการเมือง ทหารจะกลายจากการเป็นผู้พิทักษ์มาเป็น “โจรปล้นประชาธิปไตย” เสียเอง พลตรีจำลอง ศรีเมือง กล่าวว่า ถ้าทหารยังคุมอำนาจ นำกองทัพมาเล่นการเมือง อาจจะเกิดนองเลือด นายกรัฐมนตรีต้องมาจากเลือกตั้ง หากทหารคนใดอยากเล่นการเมือง ก็ให้ถอดเครื่องแบบลาออกมาให้ประชาชนเลือกเสียก่อน

ผู้อภิปรายทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ตลอด 60 ปี ของการทดลองประชาธิปไตย (2475-2534) ทหารได้เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองกว่า 50 ปี ที่เมืองไทยยังด้อยพัฒนาอยู่ กองทัพยังด้อยพัฒนาอยู่ พรรคการเมืองและการเมืองยังด้อยพัฒนาอยู่ น่าจะเป็นการพิสูจน์ฝีมือทหารเพียงพอแล้ว

แต่ทหารก็เป็นประชาชนเหมือนคนอื่นๆ คงต้องพูดให้ชัดเจนว่าทหารที่ไม่ควรเล่นการเมืองนั้นคือทหารประจำการ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำประเภทหนึ่ง ไม่ว่ารัฐบาลจะลากตั้งหรือเลือกตั้งก็ตาม ทหารประจำการจะต้องไม่เล่นการเมือง ไม่รับตำแหน่งการเมือง ไม่พูดเรื่องการเมือง ไม่เอาอำนาจหรือทรัพยากรกองทัพไปฝักฝ่ายกับการเมือง ถ้าทหารประจำการไปเล่นการเมือง กองทัพก็จะไม่พ้นความมัวหมอง กองทัพจะขาดความยุติธรรม แทนที่กองทัพจะธำรงศักดิ์ศรีและสามัคคีทุกรุ่นทุกเหล่า กองทัพก็จะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ทหารการเมืองกับทหารอาชีพ ซึ่งทหารการเมืองได้เปรียบทุกอย่าง ไม่ว่า ตำแหน่ง ยศ ฐานะ เงินทอง แน่ละ ทหารอาชีพจะเสียเปรียบทุกอย่าง และขัดสนอับจนเหมือนประชาชนที่ไร้อภิสิทธิ์ทั้งหลาย เพราะไม่มีขั้นพิเศษ ยศขึ้นช้า และไม่มีตำแหน่งรัฐวิสาหกิจให้กิน

แต่ทหารที่ลาออกหรือปลดเกษียณแล้ว ย่อมจะมีสิทธิเสรีภาพบริบูรณ์ เช่น พลเอกสุรยุทธ์ หรือนายอานันท์ ปันยารชุน ย่อมจะไม่มีอะไรแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า รัฐบาลนายอานันท์ มีทหารประจำการหลายคนเป็นรัฐมนตรี ในขณะที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ไม่มี

สภานิติบัญญัติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ ของ รสช. กับ คมช. ไม่ต่างและเหมือนกัน และมีบุคคลชั้นนำซ้ำกันเสียด้วย อาจจะเป็นเพราะความขี้เกียจคิดหรือหลงเชื่อนักกฎหมายและนักวิชาการเกินไป หรือความจำเป็นที่จะต้องให้บำเหน็จรางวัลหน่วยกำลังที่ช่วยยึดอำนาจ ทหารประจำการจึงถูกอัดเข้าไปในสถาบันดังกล่าว เปิดโอกาสให้ข้าราชการและนักวิชาการลอยคอตามเข้าไปด้วย

สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ข้าราชการประจำเข้าไปควบคุมเป็นประธานและคณะกรรมการอยู่แล้ว ทำไมจึงจะกีดกันทหาร ทางที่ดี ควรแก้ไขกฎระเบียบให้โปร่งใส และฟังได้ว่ารัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องให้ราชการประจำควบคุม ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องคุม

ในตอนนั้น ผมได้ประมวลเหตุผลที่ทหารไม่ควรเล่นการเมืองไว้ดังนี้ ข้อความที่อยู่ในวงเล็บหลังแต่ละข้อเป็นความเห็นเพิ่มเติมเรื่อง คมช.และรสช.โดยเฉพาะ

1. ทหารเป็นผู้สร้างวงจรอุบาทว์ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอาจจะในอนาคตอีกด้วย พลเอกสายหยุด เกิดผล เคยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อทหารยึดอำนาจแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น และเลือกทางเดินเก่าๆ ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเก่าๆ ร่างรัฐธรรมนูญแบบเก่าๆ หวาดระแวงและรักษาอำนาจแบบเก่าๆ ซึ่งล้มเหลวมาทั้งสิ้น ไม่ว่า รัฐประหารของจอมพลผิน ปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ปฎิรูปของพลเอกเกรียงศักดิ์-พลเรือเอกสงัด ต่างใช้วิธีการตั้งคนอื่นมาสลับฉาก ซื้อเวลาเพื่อจัดกำลังและสมการอำนาจเพื่อตนเองและคณะ เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางสะดวกให้ตนเองกับบริวาร และกวาดต้อนนักการเมืองสารพัดชนิดฯลฯ 1.(นายกรัฐมนตรีสลับฉาก ได้แก่ ควง พจน์ ธานินทร์ และอานันท์ สุรยุทธ์ ของ รสช. และ คมช. ขอให้สังเกตว่ามีทหารเกษียณคนเดียว นอกนั้นเป็นพลเรือน) 2. (องค์ประกอบบุคคล ขบวนการเขียนและทิศทางรัฐธรรมนูญ รสช. กับ คมช. ไม่มีอะไรแตกต่างกัน นอกจากการระบุที่มาของนายกรัฐมนตรีอันเป็นต้นเหตุของการประท้วงที่นำไปสู่พฤษภาทมิฬ)

2. ทหารเป็นผู้สร้างการเมืองน้ำเน่าเอง โดยทำลายนักการเมืองดีๆ สมคบกับนักการเมืองที่ไร้ยางอายชนะไหนเข้าด้วย เริ่มตั้งแต่การตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา สร้างมุ้งเล็กหรือพรรคผีในประชาธิปัตย์ พรรคชาติสังคม พรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ พรรคสหประชาไทย -พรรคอิสระของจอมพลถนอม ซึ่งมี ส.ส.ประเภทเดียวกับ 2 พรรคที่ประกาศสนับสนุน รสช. อยู่ขณะนี้ บางคนก็ตกทอดมาจากยุคแรก (ส.ส.จากพรรคสามัคคีธรรมของรัฐบาล รสช. แยกย้ายกันไปอยู่ในพรรคต่างๆ เช่นความหวังใหม่ กิจสังคมและเสรีธรรม ต่อมาก็ไหลมารวมในพรรคไทยรักไทยของทักษิณเกือบหมด เวลานี้กำลังแตกสาขาแยกย้ายกันไปตามความจำเป็นทางการเมือง แต่บรรดาผู้นำต่างก็วิ่งเข้าหาคมช. ความอ่อนหัดและความใจอ่อนของผู้นำ คมช. บางคน จะทำให้ทหารและกองทัพตกเป็นเหยื่ออีก)

3. ถ้าทหารยังเล่นการเมืองอยู่ ก็ไม่มีทางแยกข้าราชการประจำออกจากการเมืองสำเร็จ เมืองไทยก็ไม่มีโอกาสเป็นประชาธิปไตย

4. ถ้าทหารยังเล่นการเมืองอยู่ กองทัพก็จะอ่อนแอ ทหารอาชีพก็จะเสียขวัญและกำลังใจ เพราะสู้ทหารการเมืองไม่ได้ สังคมก็จะแตกแยกอ่อนแอตามไปด้วย

5. อายุขัยของคนไทยสั้นกว่าจะมีอำนาจ ทหารต้องคอยให้ได้ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพเสียก่อน จึงจะมาเล่นการเมืองโดยเปิดเผย เมื่อถึงตอนนั้นก็ชรา หย่อนความสามารถและศักยภาพแล้ว

6. ทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี สังคมที่เจริญจึงเคารพยกย่องทหารว่า เป็นผู้พิทักษ์และเป็นหลักประกันเสรีภาพที่สำคัญที่สุดของสังคมคือ Civil Liberty หรือเสรีภาพที่จะทำให้สังคมนั้นศิวิไลซ์หรือเป็นผู้ดี ซึ่งก็คือเสรีภาพทางการเมืองนั่นเอง ทหารจึงไม่ควรทำลายเกียรติยศของชาติและของตนเองด้วยการทำลายเสรีภาพทางการเมือง

ทหารเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมไทย เมื่อสังคมและการเมืองยังด้อยพัฒนา กองทัพก็ด้อยพัฒนาไปด้วย ตัวบ่งชี้ที่สำคัญตัวหนึ่งของความด้อยพัฒนา ก็คือโครงสร้างมาตรฐานและมาตรการในการตัดสินใจ ถ้าหากทหารพัฒนาแล้ว โครงสร้าง มาตรฐานและมาตรการนั้นๆ จะต้องโปร่งใส มีข้อมูลและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนมีเหตุผล ตั้งอยู่บนรากฐานของจรรยาบรรณแห่งอาชีพ

แต่การตัดสินใจของผู้นำทหารไทยบ่อยครั้งจะไม่เป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่จะขึ้นกับบุคคล เช่น หมอดูบ้าง หลังบ้านบ้าง ผู้ใหญ่ที่เป็นอุปถัมภกบ้าง เพื่อนฝูงและลูกน้องที่ต้องการอาศัยบารมีบ้าง ความกลัวและความโกรธที่จะถูกรังแกบ้าง และที่สำคัญที่สุดเหตุผลและทฤษฎีที่นักวิชาการและข้าราชการกาฝากสรรหามาสนับสนุนเยินยอ

ความจริงผมมีรายละเอียดเหล่านี้ แต่ไม่อยากจะสาธยายให้กระเทือนใจกัน ได้แต่ตั้งความหวังว่า คมช.จะหลุดพ้นจาก โลภะ โทสะ และโมหะ ไม่พาบ้านเมืองและตนเองไปสู่ชะตากรรมเช่นเดียวกับ รสช.

ขณะนี้ สังคมไทยและคนไทยยังรักและนิยมทหารอยู่ หากทหารกระทำผิดแล้วไม่รู้จักหลาบจำ ความรู้สึกที่ดีก็นับวันจะหมดไป

เมื่อนั้น อนาคตของประเทศไทยจะน่าหวาดกลัว จนกระทั่งไม่มีใครทายถูก!
กำลังโหลดความคิดเห็น