xs
xsm
sm
md
lg

ตุลาการภิวัตน์ กับวิกฤติประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

.
“ขอให้ท่านไปปรึกษากับศาลอื่นๆ ว่าควรจะทำอะไร ต้องรีบทำ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะล่มจม และกู้ไม่ได้ ประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็จะจมลงไปด้วย ประชาชนทั้งประเทศและประชาชนทั่วโลกจะอนุโมทนา จะเห็นว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทยยังมีน้ำยา เป็นคนมีความรู้ และตั้งใจจะกู้ชาติจริงๆ ถ้าถึงเวลา”

พระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 พระราชทานแก่คณะตุลาการศาลยุติธรรม

ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ถือหลักนิติรัฐ คือ ยึดถือตัวบทกฎหมายในการปกครองบ้านเมือง

โดยหลักของการเมืองการปกครอง ได้มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ส่วน เพื่อให้มีการตรวจสอบ ดุลและคานอำนาจ ประกอบด้วย อำนาจนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร อำนาจบริหารของรัฐบาล และอำนาจตุลาการของศาลยุติธรรม

พูดง่ายๆ ว่า รัฐสภาเป็นผู้ออกกฎหมายบังคับใช้ในบ้านเมือง เพื่อให้ศาลยุติธรรมพิพากษาอรรถคดีไปตามกฎหมาย ในขณะเดียวกัน รัฐสภาก็มีอำนาจตรวจสอบรัฐบาล แต่มีคำถามว่า ตุลาการใช้อำนาจคานและดุลกับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเพียงพอหรือไม่

ภายใต้ระบอบทักษิณ วิกฤติของประเทศไทย มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่อำนาจของฝ่ายบริหารใหญ่โตสุดโต่ง อยู่เหนือการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ และยังพยายามแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระที่มีอำนาจกึ่งตุลาการอีกด้วย


กรณีคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สะท้อนปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน เพราะได้มีการเปิดโปงกันในเวลาต่อมาว่า ระหว่างการพิจารณาคดีซุกหุ้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนไม่ได้ยึดหลักกฎหมายในการพิพากษาคดี แต่ใช้การเมืองเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ และยังมีการวิ่งเต้นกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ซึ่งในที่สุด ผลการพิจารณาคดีดังกล่าว ก็ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นผิด และยึดครองอำนาจการบริหารประเทศต่อมา จนกระทั่งนำบ้านเมืองไปสู่วิกฤติ ก่อความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติ

หากครั้งนั้น อำนาจตุลาการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกแทรกแซงการตัดสินใจโดยการเมือง ประเทศไทยก็อาจจะไม่ต้องมาเผชิญวิกฤติรุนแรงอย่างในวันนี้

รอจนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระบารมี พระเนตรพระกรรณอันยาวไกล พระวินิจฉัยปัญหาสำคัญของชาติบ้านเมืองอย่างลึกซึ้ง พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 หลังจากนั้น อำนาจตุลาการจึงได้ลุกขึ้นมาเพื่ออภิวัตน์บ้านเมือง

ตุลาการภิวัตน์ ไม่ใช่การที่อำนาจตุลาการเข้าไปแทรกแซงอำนาจบริหารหรือนิติบัญญัติ

ภายใต้ระบอบทักษิณ ฝ่ายบริหารได้มีการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม กระทั่งว่า หลายกรณีเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ทำลายหลักนิติรัฐ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น การฆ่าตัดตอน การอุ้มฆ่า การทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงที่หน้าโรงแรมเจบีหาดใหญ่ การทำให้ประชาชนผู้ชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบเสียชีวิตอย่างทรมาน การทุจริตคอรัปชั่นขนานใหญ่ การแทรกแซงองค์กรอิสระ การพยายามส่งคนของตัวเองเข้าไปอยู่ในองค์กรที่มีอำนาจต่างๆ เพื่อปกป้องและเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ทั้ง ตำรวจ วุฒิสภา ก.ก.ต. ป.ป.ช. ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก จึงสามารถใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ถูกตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ มิหนำซ้ำ ยังใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นในอัตราส่วนที่สูงขึ้นเพื่อเอื้อต่อการขายหุ้นและแสวงหาผลประโยชน์ของพวกพ้องอีกด้วย

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้อาศัยข้อบกพร่องดังกล่าว โดยพยายามจะใช้การเลือกตั้ง ใช้การเมืองเป็นเครื่องมือฟอกการกระทำผิด กระทั่งประชาชนที่รู้เท่าทันได้ออกมาประท้วงขับไล่ กรณีเช่นนี้ หากเกิดขึ้นในบางประเทศที่มีระบบกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ จะไม่มีปัญหายืดเยื้อ สิ้นเปลืองพลังงานของสังคมเช่นนี้

ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น อดีตนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมาย เรื่องขึ้นสู่การฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม แม้นายกฯ คนดังกล่าวจะยุบสภาเพื่อหลีกหนีการตรวจสอบทางการเมือง และสามารถชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาได้อีกครั้ง แต่ในที่สุด ศาลยุติธรรมก็พิพากษาความผิด ทำให้ไม่สามารถหลบหนีความรับผิดทางกฎหมายไปได้

หรือกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดีกระทำผิด ก็มีการตั้งคณะอัยการพิเศษขึ้นมาสอบสวนต่างหาก เป็นคนนอก มิใช่ข้าราชการซึ่งมีสถานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี เพื่อทำการสอบสวนอย่างอิสระ ปราศจากการครอบงำแทรกแซงโดยรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี ซึ่งในที่สุด ประธานาธิบดีก็ถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

ที่ผ่านมา เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอนการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และสั่งจำคุก อดีต กกต.นั้น ก็เป็นแต่เพียงการใช้อำนาจพิพากษาคดีตามกฎหมายเท่านั้น มิใช่การเข้าไปใช้อำนาจบริหารประเทศแทนฝ่ายบริหาร และมิใช่การเข้าไปใช้อำนาจออกกฎหมายแทนฝ่ายนิติบัญญัติ

ตุลาการภิวัตน์ มิได้มีความหมายแค่เพียงว่า ตุลาการ 3 ศาล ประชุมกันเพื่อตัดสินข้อขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น แต่อาจจะหมายรวมถึง การใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบกฎหมายและการกระทำทางปกครอง การตัดสินคดีวางนโยบายเพื่อความเป็นธรรมในสังคม และการตีความกฎหมายแบบก้าวหน้า เพื่อความเป็นธรรมในสังคม หรือไม่ ?

ตุลาการภิวัตน์ เพิ่งเริ่มต้น

หลังการรัฐประหารระบอบทักษิณ 19 กันยายน 2549 กระแสสังคมให้การสนับสนุนการทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดมีข้อเสนอให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาทิ หน้าที่ในการแก้ปัญหาประเทศในยามวิกฤติ หน้าที่สรรหาบุคคลเข้าสู่องค์กรอิสระ หน้าที่ให้ใบเหลืองใบแดงในการเลือกตั้ง ฯลฯ

ยิ่งกว่านั้น ยังปรากฎว่า บุคลากรในแวดวงตุลาการจำนวนมาก ได้เข้าไปทำหน้าที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และในองค์กรที่มีอำนาจสำคัญๆ ได้แก่ กกต. ปปช. และ คตส.

น่าคิดว่า สิ่งเหล่านี้ จะถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ตุลาการภิวัตน์” หรือไม่?

น่าเป็นห่วงว่า จะมีผลกระทบอย่างไร ต่อความน่าเชื่อและศรัทธาที่สังคมมีต่ออำนาจตุลาการในระยะยาว อย่างไร หรือไม่?


ขณะนี้ ยังมีคดีสำคัญๆ หลายคดี ที่อำนาจตุลาการต้องทำหน้าที่พิพากษา ไม่ว่าจะเป็น คดียุบพรรค คดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ฯลฯ คดีเหล่านี้ต่างหากที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ตุลาการภิวัตน์” ที่แท้จริง

น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับแนวคิดและข้อเสนอของนักกฎหมาย “ทีมวิจัยปัญหาตุลาการศาสตร์” นำโดยอาจารย์พิเชษฐ เมาลานนท์ ประเด็นเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องอำนาจตุลาการในอนาคต

1. ตุลาการ ควรตีความ “ผู้เสียหาย” กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางอาศัยอำนาจศาลเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายได้

2. ควรตีพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาของศาลทุกระดับทางเวบไซต์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างเต็มที่และรวดเร็ว

3. ตุลาการควรให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลในเชิงวิชาการ โดยไม่ถือเป็นการหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล

4. ควรให้ประชาชนได้ให้แง่คิดและข้อมูลแก่ศาลบางประการ ก่อนตัดสินคดี และศาลควรเดินเผชิญสืบ เพื่อไปดูสถานที่เกิดเหตุด้วยตนเอง เข้าใจปัญหาชาวบ้านอย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น

5. ตุลาการควรยึดหลักคุ้มครองแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ค้ำจุนผู้ด้อยโอกาส

6. ศาลจะไม่ตัดสินคดีโดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา บางกรณีรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิแก่ประชาชนไว้ แต่ยังไม่มีกฎหมายลูก การอ้างเช่นนั้นกลับเป็นการตัดสิทธิของประชาชนไปโดยไม่เป็นธรรม

7. ถือหลัก “ความเป็นธรรมอยู่เหนือกฎหมาย” โดยวินิจฉัยตีความกฎหมายตามความเป็นธรรมมากกว่าตามลายลักษณ์อักษร และศาลต้องตีความวางนโยบายเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ในกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติชักช้าในการออกกฎหมาย และฝ่ายบริหารไม่กล้าตัดสินใจในการรักษาความเป็นธรรมทางสังคมให้กับชาวบ้าน

แนวคิดเหล่านี้ จะช่วยให้ “ตุลาการภิวัตน์” ทำประโยชน์แก่แผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลยิ่งขึ้น หรือไม่?

ตุลาการภิวัตน์ที่แท้จริง เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น