xs
xsm
sm
md
lg

"พีเน็ต"ติงร่าง รธน.ใหม่"3ขาด" ไร้สมดุล-เหตุผล-การมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สมชัย ศรีสุทธิยากร"ติงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังขาด 3ประเด็นสำคัญ ทั้งความสมดุล-เหตุผลและการมีส่วนร่วม ชี้ให้ความสำคัญกับระบบตุลาการมากเกินไป เน้นแก้ปัญหาในอดีต แต่ชี้แจงเชิงเหตุผลไม่ได้ ขณะเดียวกันเร่งยกร่างฯ จนทำให้กระบวนการรับฟังความเห็นเป็นแค่พิธีกรรม แนะส.ส.ร.ต้องแก้ไข

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต)กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการยกร่างจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และจะออกมาให้ประชาชนเห็นใน วันที่ 19 เมษายน นี้ว่าส่วนตัวมองว่า เป็นรัฐธรรมนูญ 3 ขาด คือ ขาดความสมดุล ขาดเหตุผล และขาดการมีส่วนร่วม คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญต่อองค์กรด้านตุลาการมากเกินไป โดยฝ่ายศาลจะเพิ่มบทบาทในทางการเมืองอย่างมาก เช่น บทบาทในการสรรหาองค์กรอิสระ บทบาทในการพิจารณาใบเหลือง-ใบแดงแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบทบาทในคณะบุคคลเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ เป็นต้น

"การให้ความสำคัญดังกล่าวจะเป็นเหตุให้องค์กรด้านตุลาการมีความหมายทางการเมืองมากขึ้น และทำให้การเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรด้านตุลาการ และจะทำให้สถาบันดังกล่าวมีปัญหาตามมาทั้งระบบในภายหลัง ดังนั้นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญควรใคร่ครวญให้ดีถึงการให้ตุลาการมีอำนาจจนขาดความสมดุลเช่นนี้"

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า เหตุที่มองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ขาดเหตุผล เพราะมีความพยายามในการยกร่าง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต โดยพยายามคิดถึงรูปแบบวิธีการใหม่ๆ แต่ไม่สามารถชี้แจงในเชิงเหตุผลได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น การลดจำนวน ส.ส.เขตเหลือ 320 คน และให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบสัดส่วนภาค จำนวน 80 คน ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนายทุนเข้ามามีอิทธิพลใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสัดส่วนภาคก็เกิดขึ้นใน ส.ส.เขตอยู่แล้ว

"การลดจำนวน ส.ส.จะทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง การซื้อเสียงและการใช้อิทธิพล เพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งจะมีมากขึ้น และโอกาสที่ ส.ส.หน้าใหม่จะเกิดขึ้นในสภาจะน้อยลง เช่นเดียวกับประเด็นการสรรหา ส.ว. ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสภาผัว-เมียในอดีต โดยใช้วิธีการสรรหาแทน ไม่สามารถมีหลักประกันได้ว่าการเมืองจะไม่เข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหา และหากมีการแทรกแซงเกิดขึ้น ส.ว.ทั้งชุดจะเป็นพวกเดียวกับที่สนับสนุนรัฐบาล เลวร้ายยิ่งกว่าในอดีตที่อาจมีสัดส่วนของ ส.ว.คุณภาพแทรกเข้ามาได้ในบางจุด โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง หากประชาชนในพื้นที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง"ผู้ประสานงานเครือข่ายพีเน็ต กล่าว

ส่วนที่มองว่ารัฐธรรมนูญนี้ขาดการมีส่วนร่วมนั้น นายสมชัย กล่าวว่า เนื่องจากกระบวนการยกร่างที่ต้องเร่งรัดดำเนินการให้รวดเร็ว การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจึงมีลักษณะเป็นพิธีกรรม เพื่อให้เหมือนว่ามีการรับฟังแล้ว หรือเพื่อใช้งบประมาณให้หมดไปมากกว่าที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการยกร่างฯ ประชาชนไม่สามารถรับรู้ถึงสาระที่เกิดขึ้นและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปประกอบการร่างฯ อีกทั้งประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกยกร่างขึ้นจะมาจากการนำเสนอของกรรมาธิการฯ บางคน โดยปราศจากฐานการสนับสนุนความคิดจากประชาชน ซึ่งประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้หรือจับต้องประเด็นการร่างได้อย่างแท้จริง

"ผมจึงเกรงว่าการจัดทำประชามติที่จะเกิดขึ้นจะตั้งอยู่บนฐานของความว่างเปล่า คือ รับ หรือไม่รับ โดยไม่มีโอกาสรับรู้เนื้อหาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)จึงควรใช้โอกาสและเวลาที่เหลืออยู่ในการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่และชี้แจงเหตุผลในเรื่องต่าง ๆ ต่อประชาชนให้ชัดเจน" นายสมชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น