ผู้จัดการรายวัน - เทเลคอมพูล แนวคิดนี้ ทำได้หรือไม่ในรัฐบาลขิงแก่ บนแนวคิดของ"วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์" หลังทุ่มสุดตัวผลักดันให้เกิด หวังช่วยแก้ปัญหาระบบนายทุนเข้ามาดูดซึมทรัพยากรสื่อสารประเทศ ผ่านองค์กรรัฐ กลุ่มนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มผู้ประกอบการ ต่างจับตาผลสรุปหลังสงกรานต์ บอร์ด ทีโอที และ กสท ตกผลึกแนวคิดร่วมกันได้หรือไม่ "อานุภาพ" เริ่มรับได้ หากรวม ทีโอที–กสท เข้าด้วยกันมากกว่าเอาการไฟฟ้าสามแห่งมาร่วมสังฆกรรม เหตุอยากให้มีโครงข่ายทางเลือกบริหารจัดการโดยรัฐวิสาหกิจ ด้านทีทีแอนด์ที รอลุ้นผล พร้อมแนะผู้เกี่ยวข้องระวังเรื่องข้อกฎหมายสัญญาร่วมการงาน อาจจะมีผลต่อสิทธิสัญญา
นายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ ด้านโทรคมนาคม อดีตผู้อำนวยการสถาบันการบริหารการสื่อสารไทย กล่าวถึงแนวคิดการจัดทำโครงข่ายโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เทเลคอมพูล ว่า ขณะนี้แนวคิดการจัดทำเทเลคอมพูล ยังตอบไม่ได้แน่ชัดว่าจะสรุปในออกในทิศทางใด ถึงแม้ในระหว่างนี้จะได้ข้อสรุปเบื้องต้นด้วยการนำโครงข่าย บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม เข้าด้วยกันโดยไม่มีการนำโครงข่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และ ของผู้ประกอบการเอกชน แต่ถ้าสรุปออกมาในทิศทางนี้ก็จะส่งผลดี ซึ่งการรวมกันระหว่าง ทีโอที และ กสท ถือเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของลดการลงทุนซ้ำซ้อน อีกทั้งยังเป็นทางเลือกการเข้าใช้โครงข่าย ที่มีทั้งส่วนหลักของประเทศและโครงข่ายสำรองของการไฟฟ้า
"เหมือนโยนหินถามทางเลยนะ ตอนแรกว่าจะรวมทุกโครงข่ายเข้ามาด้วยกัน แต่พอมีหลายเสียงคัดค้านคนที่เกี่ยวข้องก็เริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดไปบ้าง ซึ่งถ้ารวม ทีโอที กับ กสท เข้าด้วยกัน ตรงนี้รับได้ มีเหตุผลที่ดีต่อสิ่งที่จะกระทำ หรือเข้ามาแก้ไขให้ถูกจุด"
ทั้งนี้ หากยังใช้แนวคิดด้วยการนำโครงข่ายของเอกชน เข้ามาบริหารจัดการด้วย หรือให้มีโครงข่ายหลักเดียวของประเทศ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า การทำลักษณะนี้จะเกิดประโยชน์อย่างไร มีการป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะดำเนินการรวมโครงข่ายทีโอที และ กสท ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือ รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)ต้องออกกฎหมายเข้ามาดูแลหรือรองรับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง กลุ่มทุนผลประโยชน์เข้ามามีผลต่อการทำงานและการบริหารจัดการเทเลคอมพูล และในขณะเดียวกัน คณะกรรมการ(บอร์ด)ของทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจควรทำการปรับองค์กรตัวเองให้มีความชัดเจนในเรื่องประสิทธิภาพองค์กร การบริหาร และบุคลากร ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิ่งที่กำลังจะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือการสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
"ช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งสององค์กรทำได้ แต่ถูกการเมืองแทรกแซง ผู้บริหารคอยเอาใจบอร์ด พนักงานทำงานแบบขาดประสิทธิภาพ จึงทำให้องค์กรเกิดความล้มเหลว ซึ่งบอร์ดที่เข้ามาควรจะแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย เพราะหากรวมไปแล้วยังเป็นอยู่ในลักษณะเดิม บริหารจัดการไม่เป็น ทุกอย่างก็ไม่ต่างไปจากเดิม"
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีที กล่าวว่า การตั้งเทเลคอมพูล ในความคิดของตนนั้นยังเป็นการรวมโครงข่ายเฉพาะของทีโอที และ กสท เท่านั้น ส่วนภาคเอกชนจะเข้าร่วมด้วยต้องมาจากความสมัครใจ และหากภาคเอกชนต้องการขยายโครงข่ายเพิ่มก็สามารถกระทำได้ โดยช่วงนี้อยากให้คณะทำงานที่มาจากบอร์ดทั้งสองฝ่ายทำข้อมูล และ ตกลงร่วมกันให้ได้
"ในสัปดาห์นี้คงจะเห็นถึงความเป็นรูปร่างในแนวคิดนี้ได้ ซึ่งผมเองก็ไม่อยากเข้าไปก้าวก่าย อยากให้ตัวแทนบอร์ดทีโอที และ กสท ที่เป็นคณะทำงานตกลงในแนวคิดได้ก่อน ส่วนทางผมขอพิจารณาจากข้อสรุป ถ้าเป็นไปในทางที่ตกลงแล้วไม่มีอุปสรรคในการรวมโครงข่าย และประชาชนได้ประโยชน์ กระทรวงไอซีทีก็พร้อมนำเสนอเข้าให้ ครม.อนุมัติ"
ขณะที่นายโกศล เพ็ชรสุวรรณ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องยุทธศาสตร์และการดูแล ซึ่งตอนนี้ยังมองไม่เห็นภาพ ไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่ปัญหาในเรื่องอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศในช่วงอดีตที่ผ่านมา คือ ความไม่โปร่งใส ในด้านบริหารและการจัดการ จึงทำให้การพัฒนาของอุตสาหกรรมไปข้างหน้าได้อย่างล่าช้า
ทั้งนี้ หากเอกชนสามารถลงทุนให้บริการได้ การบริการนั้นก็ไม่จำเป็นต้องผูกขาดโดยรัฐอีกต่อไป และการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการให้แก่องค์กรผูกขาดของรัฐเป็นการเพิ่มต้นทุนและทำให้ค่าบริการสูง ตกเป็นภาระแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ดี หากมองเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและในแถบเอเชีย ประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างช้ามากในขณะนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจในเรื่องยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างการวางโครงข่ายโทรคมนาคมและการบริหารของหน่วยงานกำกับดูแล 2 กลุ่มที่มีผลต่อยุทธศาสตร์โทรคมนาคมของชาติ คือ กลุ่มที่ 1 รัฐบาล กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) นโยบายรัฐ แผนแม่บทไอซีที การคุมกิจการรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม คือ ทีโอที และ กสท
กลุ่มที่ 2 วุฒิสภา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)นโยบายกำกับดูแลแผนแม่บทโทรคมนาคม การให้ใบอนุญาต ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีแนวทางบริหารงานที่มองไปในทิศทางเดียวกันในการพัฒนาแต่ไม่สามารถบรรจบเข้าหากันได้ และไม่สามารถบอกถึงสถานะหรือเจ้าภาพในการกำหนดยุทธศาสตร์หลักของประเทศได้โดยไม่มีใครสามารถบอกถึงคำตอบในด้านแนวทางและการจัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของชาติได้
นายโกศล กล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญของความล่าช้าในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมไทยมีอุปสรรคมาเป็นระยะเวลาหลายปีโดยไม่มีทางออก ซึ่งทุกฝ่ายต่างมีทัศนะมุมมองที่แตกต่างกัน โดยเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาเกิดจากเรื่องของสัญญาสัมปทาน
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า แนวคิด เทเลคอมพูล จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดยเป็นโมเดลที่น่าสนใจมากกว่า การพูดถึงในเรื่องข้อพิพาทโดยลืมนึกถึงสิ่งที่ทำให้ประชาชน โดยระหว่างนี้ขอความชัดเจนในข้อสรุปจากคณะทำงานของบอร์ด ทั้งสองฝ่ายซึ่งการสร้างโครงข่ายหลักของประเทศจะเข้ามาช่วยเรื่องการลดลงทุนและสร้างทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่
"เป็นเรื่องดีในการแก้ไขในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ โดยวันนี้เป็นการพูดถึงเรื่องของอนาคต และเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยแท้จริง"
ด้านนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ทีทีแอนด์ที ผู้รับสัมปทานให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน 1.5 ล้านเลขหมาย ของ ทีโอที ในส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ระหว่างนี้คงตอบอะไรไม่ได้ เพราะแนวคิดดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปออกมาอย่างชัดเจน และจะมีผลต่อการแก้ไขให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้เดินหน้าไปได้ดีขึ้นหรือไม่
"ในส่วนตัวแล้วตอนนี้ยังไม่สามารถตอบอะไรได้ จากแนวคิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการนำโครงข่ายมารวมกัน การแก้ไขสัญญา การมีผลต่อข้อผูกพันในสัญญาร่วมการงาน ซึ่งเรื่องนี้คณะทำงานต้องระวังและควรทำเรื่องนี้ออกมาให้ชัดเจนด้วยถ้าจะมีการนำโครงข่ายมารวม ตอนนี้อยากฟังนโยบายที่ตกผลึกออกมาจากทุกฝ่ายอย่างชัดๆ และตอนนั้น ทีทีแอนด์ที ก็อาจจะเจรจา หรือให้ความเห็นได้"
พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)กล่าวว่า การนำโครงข่ายมารวมกัน หากรวมกันเพื่อให้บริการอย่างทั่วถึงจะเป็นผลดี แต่ไม่สามารถผูกขาดได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง ซึ่งจะขัดต่อพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
นายสุรนันท์ วงศ์วิทยะกำจร เลขาธิการ กทช.กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามว่าเป็นนโยบายรัฐบาลหรือยัง ซึ่งยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งหากยังไม่ผ่านก็ถือว่ายังไม่เป็นนโยบายจากรัฐบาลโดยตรง อีกทั้งหากมีการตั้งคำถามต่อแนวทางที่เกิดขึ้น การทำแบบนี้จะเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ ถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่ควรดำเนินการ และมีคำถามต่อไปคือ การทำแบบนี้จะกลับไปสู่ระบบการผูกขาดแบบเดิมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาการตั้ง กทช.ขึ้นมา ทุกฝ่ายต้องการสร้างระบบการแข่งขันเสรี ไม่มีการผูกขาด เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกและได้รับประโยชน์สูงสุด
นายประเจิด สุขแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า หากนำโครงข่ายการไฟฟ้าไปรวมด้วยอาจจะไม่เหมาะสมในด้านการบริหารจัดการ แต่ถ้ามาเชื่อมต่อและใช้งานร่วมกันจะเป็นประโยชน์กว่า เพราะโครงข่ายไฟเบอร์ของการฟ้านั้นจะใช้งานร่วมกับสายไฟฟ้า ซึ่งหากเข้าไปอยู่เทเลคอมพูลด้วยการซื้อโครงข่าย หรือ ขอบริหารสิทธิ อาจจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ซึ่งโครงข่ายส่วนนี้การไฟฟ้าต้องการให้เป็นจุดต่อเชื่อมไปยังปลายทาง และการสื่อสารข้อมูลมากกว่า อีกทั้งยังส่งผลดีในแง่ของปัญหาสายพาดตามเสาไฟฟ้าจะไม่รกรุงรังและไม่เกิดอุบัติเหตุจากการวางสาย โดยจะให้มาเลือกเช่าใช้ผ่านโครงข่ายของ กฟภ.โดยการให้บริการส่วนนี้ของ กฟภ.ต้องการช่วยลดช่องว่างการให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 17 ล้านครัวเรือน แต่มีโทรศัพท์บ้านใช้เพียง 3 ล้านครัวเรือน ซึ่งการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสายไฟฟ้า จะช่วยให้การสื่อสารทั่วถึงเพราะไฟฟ้าเข้าถึงประชากร 14 ล้านครัวเรือนแล้ว