xs
xsm
sm
md
lg

ยันเหมืองทองไร้มลพิษ-ไซยาไนด์ต่ำ ชี้ม็อบมีเบื้องหลัง-บีบ"อัคราฯ"ซื้อที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - "อัคราไมนิ่ง" ครวญมีสิทธิ์สูญเงินมัดจำซื้อที่นับพันล้าน หากประทานบัตรเหมืองทองคำแปลงใหม่มีปัญหา หลังถูกชาวบ้านใกล้เหมืองประท้วงกดดัน พร้อมแจงยิบเหมืองทองชาตรีเขตรอยต่อพิจิตร-เพชรบูรณ์ไร้มลพิษทั้งฝุ่น-เสียง แถมไซยาไนด์ต่ำแค่ 5PPM ยันเบื้องหลังกระแสต้าน คน"หนองระมาน"บีบซื้อที่ดิน ทั้งที่อยู่นอกเขตประทานบัตร ขณะที่กลุ่มชาวบ้านระบุเหมืองแอบระเบิดหินจากเขาหม้อ ปล่อยฝุ่นคลุ้งในยามค่ำคืน-เก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจคุณภาพแล้ว

จากกรณีชุมชนรอบๆเหมืองทองคำชาตรี เช่น บ้านหนองแสง หมู่ 10 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ หนองระมานหมู่ 3,9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ประท้วงต่อต้านเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตแร่ทองคำใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.ปัญหาเรื่องฝุ่นละออง เสียงระเบิด และน้ำประปาที่สูบขึ้นมาจากใต้ดินแดงขุ่น ไม่สามารถใช้อุปโภคได้

นายฟิล แม็คอินไทร์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ชาวบ้านทราบดีว่าเพิ่งมีข้อตกลงในการประชุม 3 ฝ่ายเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯพิจิตรได้ส่งนายวนิช ประทุมขำ อุตสาหกรรมจังหวัดมาเป็นประธาน และบริษัทยินดีที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น แม้จะเชื่อมั่นว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย โดยจะสนับสนุนเครื่องกรองน้ำบริโภค ลดปริมาณฝุ่น ลดระดับเสียงจากเครื่องจักรยามวิกาล และถ่วงจังหวะในการระเบิดหินลดระดับเสียง-แรงสั่นสะเทือน

"มีเพียงข้อเรียกร้องเดียวเท่านั้นที่บริษัททำไม่ได้คือ รับซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพิ่ม เพราะเป็นที่ดินนอกเขตปฏิบัติงานของบริษัท"

เหมืองทองอัคราฯยันไร้มลพิษ
ฝุ่น/เสียงต่ำกว่ามาตรฐาน


น.ส.เยาวนุช จันทร์ดุ้ง ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมเหมืองทองคำชาตรี บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ชี้แจงต่อ "ผู้จัดการรายวัน" เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองทอง กรณีฝุ่นละอองที่คลุ้งจากกระบวนการผลิต ว่า เกิดขึ้นน้อยมาก อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 330ไมโครกรัม รถที่บรรทุกหินผ่านที่ถนนสาธารณะแค่หน้าเหมืองชาตรีระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร อีกทั้งถนนยังใช้สารโพลิเมอร์ให้ฝุ่นเกาะติดถนน และพรมน้ำบนถนนดินลูกรัง ไม่ให้ฝุ่นคลุ้งกระจาย

"จากที่ตั้งเครื่องตรวจวัดทั้ง 9 สถานี ตรวจสอบทุก 4 ครั้งต่อปี พบว่า มีฝุ่นจากขบวนการผลิตเพียง 100-200 ไมโครกรัม ถือว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เป็นอันตราย เช่นเดียวกับที่ตรวจวัดเสียงระเบิดหินเพื่อเปิดหน้าเหมือง สูงสุด 70 เดซิเบล ไม่ได้ดังเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ และกำหนดเวลาระเบิดทุกวันๆ ละครั้ง ช่วง 12.15 น. หรือ 17.30 น.เท่านั้น เพียงแต่เป็นเสียงระเบิดต่อเนื่อง หลายปีก่อนการระเบิดหินจะดังกว่านี้ แต่ปัจจุบันบ่อเหมืองถูกขุดลงไปลึกถึงระดับ 100 เมตร ทำให้เสียงเบาลงมาก"
สภาพฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมการทำเหมือง โดยเฉพาะรถบรรทุก
ไซยาไนด์แค่ 5 PPM

น.ส.เยาวนุช ยังกล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านอ้างถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตทองคำ ที่มีสารไซยาไนด์ ซึมลงสู่ใต้ดิน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้และเป็นผื่นคัน ว่า บ่อเก็บกากโลหะกรรมขนาด 400 ไร่ของบริษัท ใช้บ่อดินเหนียวป้องกันการรั่วซึมได้แน่นอน

สำหรับสารไซยาไนด์ได้ผ่านการบำบัดก่อนปล่อย ทำให้เป็นสารประกอบเชิงซ้อน กล่าวคือ เป็นสารพันธะไม่แตกตัว ลักษณะที่ไม่ละลายในน้ำและอากาศ แต่ชาวบ้านไม่ทราบและไม่เข้าใจ อีกทั้งบริษัทได้ตรวจวัดระดับสารไซยาไนด์อยู่ในระดับ 5 ส่วนในล้านส่วน หรือ 5 PPM ขณะที่เกณฑ์มาตรฐาน ห้ามเกิน 20 PPM

ส่วนกรณีที่ชาวบ้านระบุว่า น้ำประปาสีแดง ขุ่นและคัน เชื่อว่า เป็นผลจากตะกอน เพราะสนิมเหล็กพบมากในแถบนี้ ยืนยันไม่ใช่สารไซยาไนด์ เพราะไซยาไนด์ไม่มีสี อีกทั้งบ่อเก็บกากโลหะกรรมอยู่ด้านทิศใต้ของ 3 หมู่บ้าน ขณะที่บ้านหนองแสงอยู่ห่างจากเขาหม้อ 2 กิโลเมตร ชุมชุนเขาหม้อ ห่างจากเขาหม้อ 3 กิโลเมตร และ ชาวบ้านหนองระมาน ห่างจากเหมืองทองคำชาตรี 3 กิโลเมตร

ชี้เบื้องหลังแรงต้าน-ชาวบ้านบีบซื้อที่ดิน

น.ส.เยาวนุช ยืนยันอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะชาวบ้านต้องการขายที่ดินให้แก่เหมืองชาตรี โดยเฉพาะชาวบ้านหนองระมาน มีความประสงค์ขอย้ายที่อยู่ออกไปอย่างเดียว โดยให้บริษัทซื้อที่ดินเช่นเดียวกับชาวบ้านหนองแสง - ชุมชนหลังเขาหม้อ ซึ่งที่บริษัทวางมัดจำซื้อ ก็เพราะที่ดินของชาวบ้านอยู่ในเขตประทานบัตรที่มีสินแร่ทองคำเท่านั้น
เครื่องจักรที่มีการนำมาใช้ในการทำเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด
ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมเหมืองทองคำชาตรี บอกว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ก่อตัวขึ้นมานานเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด มีแผนที่จะซื้อที่ดินผืนใหม่ จำนวน 2,000 ไร่ ตั้งแต่ถนนเขต ต.เขาเจ็ดลูก- ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ จึงทำให้เกิดกระแส เก็งกำไรที่ดิน จากเดิมที่บริษัทเคยซื้อไร่ละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ขยับขึ้นไป 500,000 บาท จนถึง 1 ล้านบาท ต่อไร่ รวมเงินที่บริษัทซื้อเฉพาะที่ดินในเขตสัมปทานไปแล้วร่วมหนึ่งพันล้านบาท

สำหรับการประท้วงต่อต้านที่ผ่านมามีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกชาวบ้านหนองระมาน ต้องการให้บริษัทซื้อที่ดินของตนเอง ส่วนอีก 2 กลุ่ม คือ ชาวบ้านหนองแสงและเขาหม้อ ต้องการให้บริษัทปรับปรุงเรื่องเสียงและฝุ่น ซึ่งการเจรจาจะมีขึ้นในวันที่ 20 เมษายนนี้
ป้ายประกาศเวลาวางระเบิดของเหมืองทองคำชาตรี ที่บริษัทยืนยันว่า ระเบิดวันละครั้งเท่านั้น ขณะที่ชาวบ้านบริษัทใกล้ ๆ เหมืองยืนยันว่า มีการแอบระเบิดในช่วงกลางคืนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามกรณีของชาวบ้านหนองระมาน ที่ต้องการให้บริษัทซื้อที่ดิน คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอยู่นอกเขตประทานบัตร แต่บริษัทยินดีรับข้อเสนอและแก้ไขปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตามข้อเสนอชาวบ้านหนองแสงและชุมนุนเขาหม้อ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำจำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 1,166 ไร่อายุประทานบัตร 20 ปี นับแต่ 19 มิถุนายน 2543 ผลิตทองคำก้อนแรกปลายปี 2544 พบเนื้อหินปนแร่ทองคำ 5 ล้านตัน ผลิตเป็นทองคำบริสุทธิ์ทั้งหมด 32.8 ตัน ปัจจุบันได้ผ่านกระบวนการผลิตไปแล้วร้อยละ 95 คงเหลือการผลิตส่วนที่เหลืออีกเล็กน้อยในช่วงปลายปีนี้

หวั่นประทานบัตรใหม่หลุดมือ/สูญเงินพันล้าน

น.ส.เยาวนุช ย้ำว่า หากบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ถูกต่อต้าน และไม่ได้รับอนุมัติประทานบัตรใหม่ เหมืองทองคำชาตรี อาจต้องหยุด ปลดคนงานบริษัทและพนักงานก่อสร้างในเหมืองชาตรีประมาณ 1 พันคนออก ซึ่งบริษัทฯจะต้องสูญเงินนับพันล้าน ที่จ่ายเงินมัดจำซื้อที่ดินของชาวบ้านหนองแสงและเขาหม้อไปแล้ว บนพื้นที่ประทานบัตรใหม่ที่คาดว่า มีปริมาณสำรองสินแร่ 65 ล้านตัน แยกเป็นทองคำบริสุทธิ์จำนวน 3 ล้านออนซ์ เงิน 24 ล้านออนซ์
นางเปียน ทับทิม อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 314 หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก
ชาวบ้านรอบเหมืองยังครวญ
เสียงระเบิดเขาหม้อดังทุกวัน


นางเปียน ทับทิม อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 314 หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก กล่าวว่า ได้ยินเสียงระเบิดจากเขาหม้อทุกวัน ก็อดทนมาตลอด รวมไปถึงฝุ่นที่คลุ้งจากการขนแร่ พัดปลิวไปถึงชุมชนในหมู่บ้าน ขณะที่น้ำเป็นตะกอน ต้องซื้อน้ำกิน ที่ผ่านมาตนได้ขายที่ดินต่อให้บริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 24 ไร่ ราคาไร่ละ 5 แสนบาท ตนได้รับเงินมัดจำแล้วจำนวน 2.5 ล้านบาท วันประท้วงที่ผ่านมา ตนไม่ได้ประท้วงแต่ทราบว่า ชาวบ้านหนองระมานเดินทางไปร่วมชุมนุม

เช่นเดียวกับชาวบ้านที่รวมตัวอยู่ร้านค้าชุมชน บ้านเลขที่ 176 บ้านหนองระมาน กล่าวเป็นเสียงเดียวว่า ตนและชาวบ้านยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ คือ 1.ให้เหมืองชาตรีหยุดระเบิดหินในเวลากลางคืน ระงับการขยายพื้นที่สัมปทานใหม่ 2. ขอย้ายตนเองและชาวบ้านหนองระมานออกจากพื้นที่ เพราะปัญหาฝุ่นละอองเป็นมลพิษทางอากาศ ฝุ่นเกาะติดทุกหลังคาเรือน เสียงระเบิดไม่เป็นไปตามข้อประกาศ แอบระเบิดช่วงค่ำคืน ตลอด 4 ปีต้องซื้อน้ำดื่มน้ำใช้เอง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ แจ้งว่า ไม่มีเงินซื้อที่ดินแถบนี้แล้ว บอกว่า จะต้องรอมีเงินก่อนค่อยมาซื้อ

ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 3 ชุมชน ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างน้ำที่ใช้อุปโภค เพื่อขอให้ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่นำส่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ ตลอดจนหาสิ่งเจือปนที่จะเป็นอันตรายต่อชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว
ป้ายต่อต้าน-ขับไล่เหมืองทองคำชาตรี ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ที่ชาวบ้านนำมาติดไว้ตามต้นไม้เส้นทางเข้าสู่เหมือง
เหมืองชาตรีเตรียมบริจาค 100 ล้าน
ตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่


นส.เยาวนุช เปิดเผยตอนท้ายอีกว่า หลังจากที่เหมืองชาตรีขุดสินแร่ทองคำในประทานบัตรชุดแรกแล้ว ยังได้เตรียมจัดตั้งกองทุน จำนวน 100 ล้านบาท แบ่งเป็นปีปี ละ10 ล้านบาท มอบให้ 2 จังหวัดคือ พิจิตรและเพชรบูรณ์ ตั้งคณะกรรมการดูแลเงินกองทุน เพื่อใช้พัฒนาพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ นับตั้งแต่เริ่มขุดแร่ทองคำ เหมืองชาตรียังได้บริจาคผ่านหน่วยงานต่างๆไปแล้วร่วม 30 ล้านบาท นอกเหนือจากภาคค่าหลวงอีกด้วย

อนึ่งบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด มีบริษัท Kingsgate Consolidated NL จากประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นหลักเริ่มลงทุนในเหมืองชาตรีจำนวน 1,216 ล้านบาท นำแร่ทองคำมาสกัดเป็นโลหะทองคำบริสุทธิ์จำนวน 32.8 ตัน โลหะเงินประมาณ 98 ตัน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 10,600 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับอาชญาบัตรใหม่หลังสำรวจโดยทางธรณีวิทยาพบว่ามีสายแร่ทองพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม จึงได้กว้านซื้อที่ดินข้างเคียง พร้อมกับรออนุมัติประทานบัตร เนื่องจากคาดว่ามีทองคำบริสุทธิ์อีก 3 ล้านออนซ์ เงินอีก 24 ล้านออนซ์
กำลังโหลดความคิดเห็น