xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 48 ชีวิตนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: เรืองวิทยาคม

.
จะว่าชีวิตนักเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจืดชืดไปทั้งหมดเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะยังมีกิจกรรมสำคัญอยู่บ้างประปราย เช่น การปฐมนิเทศเพื่อต้อนรับนักเรียนใหม่

ทางโรงเรียนจัดให้นักเรียนที่สอบเข้าได้ทั้งหมดเข้าทำพิธีปฐมนิเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแม้เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว้าง แต่ในขณะนั้นไม่มีหอประชุมใหญ่ที่พอเพียงกับการทำพิธีปฐมนิเทศได้

ในเวลานั้นท่านอาจารย์บุญเลื่อน เครือตราชู เป็นอาจารย์ใหญ่ในตำแหน่งผู้อำนวยการ

อาจารย์บุญเลื่อน เครือตราชู เป็นกุลสตรีที่เป็นแบบอย่างของชาติบ้านเมือง มีความเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว อุดมด้วยความรู้ควรแก่ความเป็นครูอาจารย์คน ท่านมุ่งเน้นในการปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดของศิษย์ให้เป็นคนมีความกตัญญู ทุกครั้งที่ท่านอาจารย์บุญเลื่อน เครือตราชู อบรมสั่งสอนศิษย์ก็จะย้ำเตือนเสมอว่าคนเราจะเป็นคนดีหรือไม่ดีต้องดูที่ความกตัญญู ครูต้องการให้ศิษย์ทุกคนเป็นคนดี จึงต้องเป็นคนมีความกตัญญูและต้องปลูกฝังความกตัญญูอยู่เป็นนิตย์

ยังจำได้มั่นคงว่าท่านอาจารย์บุญเลื่อน เครือตราชู ได้ยกเอาพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ว่า “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา” ซึ่งแปลว่าความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี มาอบรมสั่งสอนศิษย์เสมอ และได้ใช้เป็นคำขวัญในสมุดนักเรียนของโรงเรียนด้วย ซึ่งในประการนี้ศิษย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทุกคนย่อมจดจำใส่ใจไว้เป็นอย่างดีชั่วชีวิต

นอกจากเรื่องความกตัญญูแล้ว อาจารย์บุญเลื่อน เครือตราชู ยังได้พร่ำเพียรสอนให้ศิษย์มีความขยันหมั่นเพียรในการเรียน ให้มีความประพฤติปฏิบัติที่ดี และชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาว่าในวันข้างหน้าแม้วิชาที่เรียนจะหลงลืมไปหมด แต่การศึกษาก็ยังเป็นสิ่งที่เหลืออยู่คู่กับตัว

อาจารย์บุญเลื่อน เครือตราชู ได้เล่าให้นักเรียนฟังในงานปฐมนิเทศ ซึ่งผมยังจำได้มั่นคงว่าหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอันประเสริฐทางการศึกษา เป็นปูชนียบุคคลสำคัญทางด้านการศึกษาของชาติ มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาและบทกวี และเป็นผู้ที่มุ่งเน้นในการอบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีความขยันหมั่นเพียรและมีความอดทน ถึงกับได้แต่งโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากเพื่ออบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีความอดทนและความเพียรพยายามว่า

“กล้วยไม้มีดอกช้าฉันใด

การศึกษาเป็นไปเช่นนั้น

แต่ดอกออกคราใดงามเด่น

งานสั่งสอนปลูกปั้นเสร็จแล้ว แสนงาม”

ในระยะเวลาต่อมาผมมีความเข้าใจว่าการที่หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ได้ใช้เรื่องกล้วยไม้เป็นบทอุปมาเกี่ยวกับการศึกษาว่าต้องใช้เวลาและความอดทน ก็เพราะในช่วงนั้นประเทศไทยกำลังเห่อเรื่องกล้วยไม้ และกล้วยไม้ก็เพิ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทย สะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ทันสมัยในการยกเอาความนิยมปัจจุบันขึ้นเป็นอุทาหรณ์ในการอบรมสั่งสอนศิษย์ ซึ่งทำให้เข้าใจและฝังใจได้โดยง่าย ไม่ใช่นึกอะไรไม่ออกก็ลอกตำราฝรั่งมาอวดภูมิรู้แข่งกันดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ในครั้งนั้นท่านผู้อำนวยการยังได้เล่าให้นักเรียนใหม่ฟังว่าถึงแม้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จะมีความชำนาญอักษรกลอนการปานนี้ แต่มีกลอนอยู่บทหนึ่งซึ่งท่านแต่งไว้เพียงครึ่งเดียว คือแต่งไว้เพียง 2 บาทก็มีความหมายเหมือนเต็มบทแล้ว จึงไม่สามารถหาคำมาแต่งต่อให้จบบทได้ เป็นเนื้อความว่า

“การศึกษาคือสิ่งซึ่งเหลืออยู่

เมื่อลืมเรื่องที่ครูได้สั่งสอน”


ผมเป็นนักเรียนมาจากบ้านนอก แต่เมื่อได้ยินความที่คนผู้เป็นปราชญ์ของแผ่นดินแต่งบทกวีค้างไว้ไม่จบฉะนี้ ก็จำฝังใจว่าไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ดังนั้นมีโอกาสคราใดจึงได้พยายามคิดอ่านหาถ้อยคำเพื่อจะแต่งเติมให้จบครบบริบูรณ์ ทั้งนี้ด้วยจิตที่คิดกตเวทีต่อบูรพาจารย์ผู้มีพระคุณ

ในปี พ.ศ. 2531 ผมทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการจัดทำหนังสือ ประมวลพระราชกรณียกิจสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เนื่องในมหามงคลสมัยคล้ายวันพระราชสมภพครบ 3 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2531

หนังสือเล่มนี้ได้มีการแต่งบทกวีหลายชนิดเพื่อพรรณนาภาพพระราชกรณียกิจเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในสมัยนั้นมีภาพการรับปริญญาที่ทรงพระราชทานอยู่ภาพหนึ่ง ผมจึงได้ถือโอกาสแต่งต่อบทกลอนบทนี้ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ว่า

“การศึกษาคือสิ่งซึ่งเหลืออยู่

เมื่อลืมเรื่องที่ครูได้สั่งสอน

ความสำเร็จงามงดกว่าบทกลอน

อนุสรณ์จากครูไม่รู้ลืม”

การปฐมนิเทศของโรงเรียนมีสิ่งหนึ่งซึ่งอาบเอิบอยู่ในทุกเรื่องราวก็คือการสร้างสถาบันนิยมให้มีความภาคภูมิใจและยึดมั่นถือมั่นในเกียรติภูมิของโรงเรียน ซึ่งแสดงออกอย่างลึกซึ้งในบทเพลงประจำโรงเรียนที่ว่า

“พระเกี้ยวเราแม้นพรชัยจากสวรรค์
สีชมพูชูเชิดไว้ให้ผ่องพรรณ เป็นมิ่งขวัญสถิตอยู่คู่อุรา
เรียนเราเด่น เล่นเราดี กีฬาเลิศ หวังจะเทิดจึงทุกผู้รู้รักษา
ใครหยามเหยียดเกียรติ ต.อ. ไม่รอรา ทั้งกายาใจเรายอมน้อมพลี”


ชาวเตรียมอุดมศึกษาจึงได้รับการปลูกฝังให้มีความรัก ความผูกพันและภาคภูมิใจในสถาบันการศึกษา ยิ่งกว่าความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่แปลกประหลาดยิ่งกว่าความสัมพันธ์ในสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ดำรงอยู่สองชนิดพร้อมกันไปและในระดับที่ทัดเทียมกัน คือความรักความผูกพันต่อสถาบันอย่างหนึ่ง และความรักความผูกพันต่อเพื่อนๆ อีกอย่างหนึ่ง

การแข่งขันกีฬาสีนั้นดูเหมือนว่าทำกันไปแบบเสียไม่ได้ เพราะนักเรียนที่สังกัดอยู่ในคณะสีต่างๆ แทนที่จะเล่นกีฬาด้วยความสนุกสนานตามท่วงทำนองของการเล่นกีฬา กลับกลายเป็นว่าเล่นกีฬาสีไปตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดให้

แต่ตัวผมนั้นมีความสุขสนุกสนานกับการเล่นกีฬาสี ซึ่งผมรับหน้าที่เล่นหมากฮอสตามที่ได้สมัครไว้

ในการแข่งขันภายในคณะสีเดียวกัน ตอนแรกๆ มีผู้สมัครกันหลายคน และเนื่องจากหมากฮอสเป็นกีฬาทางความคิด ดังนั้นผู้สมัครซึ่งเป็นเด็กกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จึงมีความมั่นใจว่าคิดเก่ง เล่นเก่ง ส่วนผมนั้นไม่ได้คิดว่าเก่งหรือไม่เก่งเพราะมีความคุ้นเคยชำนาญและรู้ตัวรู้ฝีมือตนเป็นอย่างดี

ดังนั้นพอลงสนามแข่งขันครั้งแรกและเล่นกระดานแรก ผมก็รู้อนาคตเบื้องหน้าแล้วว่าจะเป็นอย่างไร เพราะคู่แข่งแต่ละคนนั้นล้วนแต่อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเล่นหมากฮอสเป็นเท่านั้น แม้จะคิดเก่ง เดินเก่ง เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องอย่างไรก็ไม่ต่างอันใดกับเด็กเพิ่งหัดเดิน.

โปรดติดตามตอนที่ 48 “ชีวิตนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอน 2” ในวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น