xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองป่วย จึง ป่วยการเมือง

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

.
ช่วงหลังมานี้ ผมเริ่มได้ยินเสียงบ่น เสียงรำพึง เสียงรำพันด้วยความเบื่อหน่าย ต่อภาวการณ์การเมืองไทย ของประชาชนโดยทั่วไปหนาหูขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงสะท้อนจากเหล่าบรรดาพันธมิตรฯ ทุ่มทั้งกายทุ่มทั้งใจต่อสู้กับระบอบทักษิณ และต่างก็เล็งผลเลิศกับการทำรัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549, คาดหวังกับรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และที่สำคัญที่สุดต้องการฝากผีฝากไข้ไว้กับ ‘ระบบยุติธรรม’ ของประเทศ ...

โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า ณ วันนี้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ‘สังคมไทยป่วย’ และก็เป็นอาการป่วยที่เรื้อรังมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6 ปีหลัง ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหาร อาการป่วยของสังคมไทยยิ่งทรุดหนักลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะมองในเชิงการเมือง สังคม ศีลธรรม จริยธรรม รวมถึงสถาบันหลักของประเทศทั้ง สถาบันชาติ ทั้งสถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์

ในส่วนประเด็น ‘เศรษฐกิจ’ ที่หลายๆ คนชมนักชมหนาว่า ยุคทักษิณบริหารเศรษฐกิจได้ดีเยี่ยมกว่ายุคไหนๆ โดยส่วนตัวผมกลับมองว่า ทักษิณและพวกไม่ได้บริหารเก่งอะไรเลย ทั้งยังพยายามทำตัวเป็น ‘คุณหมอกำมะลอ’ ที่แสร้งทำตัวเป็นคุณหมอใจบุญ แต่แท้จริงแล้ว กลับประพฤติตัวชั่วช้ายิ่งกว่าพวกโจรห้าร้อย เพราะ ‘หมอทักษิณ’ นอกจากจะเลี้ยงไข้คนป่วยและคิดค่ารักษาแพงหูฉี่แล้ว ที่สำคัญยังมัดมือมัดเท้าบีบให้ ‘คนไข้’ กู้เงินในอนาคตของลูกของหลานมาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย

อาการป่วยของสังคมไทยทั้งหลายทั้งแหล่เหล่านี้ เมื่อพิจารณาจากพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสไว้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่า “วิกฤตที่สุดในโลก” ทำให้หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า พวกเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการรักษาอย่างเร่งด่วน

วันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อมีการลงมืออย่างนิ่มนวล เพื่อปลด ‘หมอกำมะลอ’ ที่ชื่อทักษิณออก และในเวลาไม่นานก็มีการมอบหมายให้ ‘หมอสุรยุทธ์และคณะ’ เข้ามารักษาการการป่วยนี้แทน

เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน ภายใต้ฝีมือของ ‘หมอสุรยุทธ์และคณะ’ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าน่าผิดหวัง เพราะ อาการป่วยของสังคมไทยกลับไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังทรุดหนักลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการป่วยทางการเมือง ที่ถ้าหากจะนำไปเปรียบกับมะเร็งก็คงเทียบได้กับมะเร็งระยะสุดท้ายที่ญาติคนไข้ได้แต่เพียงทำใจ และเตรียมตัวจองศาลาสวดศพ จองเมรุเผาได้เลย ...

สถานการณ์การเมืองไทย ณ วันนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ‘หมอสุรยุทธ์’ ที่ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่ต่างเล็งเห็นว่าเป็นหมอมือฉกาจ เพราะนอกจากประวัติดี มีชื่อเสียงแล้ว โดยคำประกาศเกียรติคุณยังเป็นหมอที่มี ‘ลูกบู๊’ ผสมผสานกับ ‘ลูกบุ๋น’ อย่างลงตัว กลับไม่ลงมือรักษาคนไข้เสียอย่างนั้น ...

แม้คนไข้ที่นอนรออยู่ในห้องไอซียูจะส่งเสียงเรียกให้ ‘หมอสุรยุทธ์’ ลงมือทำอะไรสักอย่าง แต่ ‘หมอสุรยุทธ์’ กลับทำเป็นหูทวนลม ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับหมอเชี่ยวชาญที่พยายามเข้ามารักษาอาการ ไม่ว่าจะเป็น หมอ คตส., หมอ สนช. ที่หนักไปกว่านั้น หลายครั้ง ‘หมอสุรยุทธ์’ ยังสั่งยาผิดมารักษาคนไข้เสียอีก ไม่ว่าจะเป็น ยามาตรการ 30%, ยาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น, ยา พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ,ยาทีไอทีวี เป็นต้น

ทั้งนี้พอคนไข้กับญาติเริ่มจะส่งเสียงแสดงความไม่พอใจต่อวิธีการ (ไม่) รักษาของหมอ ... ‘หมอสุรยุทธ์’ ก็ดันขอลา ‘ป่วยการเมือง’ หนีเข้าไปนอนเล่นในโรงพยาบาลเสียอีก

วันอังคารที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ผมนั่งฟังคำแถลงของ 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บ้านพระอาทิตย์ หลังการประชุมหารือเพื่อประเมินผลงานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลในรอบ 6 เดือน มีคำกล่าวตอนหนึ่งของ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองที่ผมคิดว่าสามารถบ่งบอกถึงสถานการณ์ทางการเมือง และอาการป่วยของสังคมไทย ณ วันนี้ได้อย่างถึงแก่นและแจ่มชัดที่สุด

“ขอยืนยันด้วยความเห็นส่วนตัวว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่เราช่วยกันทำในขณะนี้อาจจะดีกว่าที่แล้วๆ มาเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถทำให้การเมืองเรามั่นคงได้ถ้าตราบใดที่เรายังเป็นอยู่อย่างนี้ คือ ไม่มีการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง ขออภัยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุและโทรทัศน์ ถ้าตราบใดประชาชนยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย ประชาชนยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ประชาชนยังไม่ติดตามข่าวคราวอย่างกระชั้นชิดเพราะสื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้นมักทุ่มน้ำหนักไปที่การเผยแพร่เรื่องที่มอมเมา เรื่องที่ไร้สาระ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเลย ถ้าตราบใดยังเป็นอยู่อย่างนี้ การเมืองเราจะล้มลุกคลุกคลานไปอีกนานเท่านาน ...”

มองจากสายตาของผู้สังเกตการณ์ความเป็นไปของการเมืองไทยตัวเล็กๆ คนหนึ่ง สถานการณ์ทางการเมือง ณ วันนี้ทำเอาผมหวนนึกไปถึงคำพูดของสุภาพบุรุษนักสู้ชาวจีนผู้หนึ่ง ผู้มีนามว่า ‘หลู่ซวิ่น’

ประวัติศาสตร์จารึกเอาไว้ว่า ‘หลู่ซวิ่น (鲁迅)’ เปรียบได้กับบิดาแห่งวรรณกรรมจีนยุคใหม่ ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวถึงที่มาที่ไปของการเขียนเรื่องสั้นเรื่อง ‘บันทึกประจำวันของคนบ้า (狂人日记)’ วรรณกรรมอมตะที่ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมจีนในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อจากยุคศักดินาเป็นสาธารณรัฐ และวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมจีนในยุคนั้นได้อย่างเจ็บแสบที่สุด เอาไว้ว่า

“ลองนึกดูว่ามีบ้านเหล็กหลังหนึ่ง ไม่มีหน้าต่างสักบาน แล้วก็ไม่อาจจะพังมันเสียด้วย ภายในบ้านผู้คนเป็นอันมากกำลังหลับสนิท ไม่ช้าก็จะหายใจไม่ออกต้องอัดอั้นตายไป การตายไปในยามที่หลับใหลย่อมไม่เป็นการตายด้วยความทรมาน

“ครั้นมาบัดนี้คุณมาส่งเสียงตะโกนขึ้นจนมีคนสองสามคนตื่นขึ้นมา คนเคราะห์ร้ายสองสามคนนี้ต้องพบกับความทรมานก่อนจะตายไปอย่างช่วยไม่ได้ ... แล้วคุณคิดจริงๆ หรือว่ามันเป็นการดีต่อพวกเขา?

“กระนั้นในเมื่อคนสองสามคนตื่นขึ้นมาแล้ว คุณก็พูดไม่ได้เหมือนกันว่า ไม่มีหวังที่จะทำลายบ้านเหล็กหลังนี้...” - - - หลู่ซวิ่น (สำนวนแปลโดย ทวีปวร)

‘หลู่ซวิ่น’ คือ ยอดกวีเอกของจีนในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ที่เดิมทีเขามีโอกาสอันงดงามที่จะเข้าไปศึกษาวิชาแพทย์ แต่เมื่อหันกลับมามองสภาพสังคมของประเทศบ้านเกิดเมืองนอนแล้วหลู่ซวิ่นกลับเห็นว่า “วิชาแพทย์จะไม่มีความสำคัญอย่างที่คิดไว้เลย หากประชาชนในชาติปราศจาก จิตวิญญาณ สติปัญญา และสำนึกทางการเมืองที่แข็งแรงเพียงพอ ...”

ด้วยเหตุนี้หลู่ซวิ่นจึงตัดสินใจเลิกคิดที่จะจับมีดหมอเพื่อนำมาผ่าตัดช่วยเหลือผู้คน แต่เลือกที่จะหันมาจับปากกา ขีดเขียนเรื่องราวต่างๆ ลงบนกระดาษ เพื่อกอบกู้สังคมแทน

อย่างที่ พล.ต.จำลอง กล่าวครับ วันนี้หากพวกเราประชาชนชาวไทยมัวแต่นอนงอมืองอเท้า รอใครก็ไม่รู้ที่อาสาจะเข้ามาดูแลรักษาอาการป่วยของประเทศ โดยไม่คิดจะลงมือทำอะไร นอกจากจะหาความสุขใส่ตัว หาเงินใส่กระเป๋า แต่ไม่ยอมทำความเข้าใจกับข่าวสารของบ้านเมือง ไม่ยอมสนใจใส่ใจกับการปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปการเมือง ...

สักวันหนึ่งเราก็จะเป็นเหมือนกับ ผู้คนภายใน ‘บ้านเหล็ก’ ของหลู่ซวิ่นที่จะนอนตายไปอย่างโง่งม และทิ้งสังคม ทิ้งประเทศอันป่วยไข้ไว้ให้แก่ลูกหลาน
กำลังโหลดความคิดเห็น