xs
xsm
sm
md
lg

ค่าใช้จ่ายหลักประกันสุขภาพพุ่ง สปสช.ของบรายหัวเพิ่มหมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด สปสช.มีมติของบเหมาจ่ายรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพปี 51 เพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านบาท จากเดิม 1,899 บาท/คน/ปี เป็น 2,200-2,300 บาท/คน/ปี พร้อมนำผลสรุประบบร่วมจ่าย “ศ.ดร.อัมมาร” เข้าที่ประชุมบอร์ดสัปดาห์หน้า ส่วนงบเอดส์มียอดสูงขึ้นกว่า 4 พันล้านบาท

วานนี้ (9 เม.ย.)นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้พิจารณาของบ อัตราค่าเหมาจ่ายรายหัว ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีงบประมาณ 2551 โดยคณะกรรมการการเงินการคลังที่มี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ได้เสนองบรายหัวในอัตราเหมาจ่าย 2 กรณี คือ อัตราแรกเป็นเงิน 2,228.60 บาท/คน/ปี และกรณีที่ 2 คืออัตราเหมาจ่ายรายหัว 2,337.11 บาท/คน/ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบปี 2550 กว่า 10,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ในปี 2551 จำนวน 47.386 ล้านคน โดยเพิ่มจากปี 2550 ที่ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัว 1,899.69 บาทต่อประชากร

นอกจากนี้ในที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแหล่งงบประมาณจากผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลด้วย เนื่องจากการพึ่งงบจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว อาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต จึงมีการเสนองบประมาณที่มีความยั่งยืนหลายวิธีแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งภายหลังจากที่มีการยกเลิกเก็บ 30 บาท ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน งบประมาณที่หายไป ก็มีงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ และประชาชนมีความพอใจในบริการ

ส่วนการพิจารณาแนวทาง การร่วมจ่าย (Co payment)ในการรักษาพยาบาลโดยมี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าชุดที่ 3 มีแนวโน้มว่า หากพิจารณาแล้วเป็นโรคที่มีการใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาเกินกว่า กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups : DRG) ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ร่วมจ่าย ซึ่งจะมีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ป่วย โรคที่มีความใกล้เคียงกัน ไว้ในกลุ่มเดียวกันว่าจะใช้ค่ารักษาเท่าไร ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทย์ จะได้งบประมาณที่ต่างจากโรงพยาบาลชุมชนเนื่องจากมีอัตราการรักษาโรคยากๆ มากกว่า โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดส ปสช.ในสัปดาห์หน้า

นพ.มงคล กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการฯได้มีมติให้ สปสช.หารือกับสำนักงบประมาณ 3 ประเด็นประกอบด้วย อัตราการใช้บริการ อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าบริการทางการแพทย์ อัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข (ซึ่งไม่รวมเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข)ก่อนเห็นชอบในการเสนองบเหมาจ่ายรายหัว เสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม งบที่ขอเพิ่มขึ้นนั้นเป็นการเพิ่มงบให้กับบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน พื้นที่ทุรกันดาร การส่งเสริมป้องกันโรค และงบลงทุนเพื่อการทดแทน รวมถึงเพิ่มงบช่วยเหลือผู้ให้บริการเป็น 0.55 บาท ต่อประชากร จากเดิมปี 50 ที่ให้ 0.40 บาทต่อประชากร ซึ่งจะทำให้เงินกองทุนชดเชยผู้ให้บริการที่เสียหายจากการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจำนวน 26 ล้านบาท จากเดิมที่มี 18 ล้านบาท เป็นการสร้างขวัญกำลังใจและความมั่นใจในการปฏิบัติงาน

ในส่วนของกองทุนชดเชยความเสียหายทางการแพทย์ ตามมาตรา 41 นั้น ในปี 2551 ไม่ได้ตั้งงบไว้ เนื่องจากมีเงินคงเหลือในกองทุน 181 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอในการดำเนินการ ขณะที่งบการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) และงบฟื้นฟูสมรรถภาพคงเดิมคือ ที่ 10 บาท ต่อประชากร และ 4 บาท ต่อประชากรตามลำดับขณะที่มีการคิดงบสำหรับการบริหารจัดการโรคเฉพาะ ซึ่งในปีก่อนๆได้คำนวณรวม แต่ปี 51 นี้จะแยกคำนวณ เฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก เพื่อการบริการครอบคลุมและเข้าถึงมาก

ด้านนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า หลักการในประมาณการงบเหมาจ่ายรายหัวนั้นคิดเฉพาะบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่รวมยาต้านไวรัสเอดส์ การเกิดโรคระบาดและสาธารณภัยโดยงบประมาณต้องเพียงพอ และไม่ผลักภาระให้สถานพยาบาลเป็นผู้รับภาระจ่ายเอง

สำหรับงบประมาณด้านเอดส์นั้น ในปี 2551 มีการขอเพิ่มขึ้นเป็น 4,525,966,000 ล้านบาท โดยเน้นบริหารงาน 6 ประเภท คือ การจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ และการรักษาผู้ป่วยสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา การตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ การส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องและการให้คำปรึกษา การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและระบบการให้บริการ การติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาการบริการ และการพัฒนาและควบคุมกำกับคุณภาพการบริการ

ทั้งนี้ แต่เดิม สปสช.ได้รับงบสำหรับการให้บริการผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ในปี 50 จำนวน 3,855.6 ล้านบาท ซึ่งมติคณะกรรมการฯให้ขอบเขตการบริหารงบครอบคลุมการจัดหายาต้านไวรัส เวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง การตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ การสนับสนุนการให้คำปรึกษา การพัฒนาศักยภาพการบริการ และการควบคุมกำกับ พัฒนาคุณภาพบริการและการบริหารระบบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ และการป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น