xs
xsm
sm
md
lg

การร่างรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ : ประสบการณ์สำหรับประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: สีดา สอนศรี

.
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใดนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ห่างไกลกัน วัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน และความตกต่ำเหินห่างกันไปจากการบริหารงานของมาร์กอสช่วงเวลา 13 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจ (คือระหว่างค.ศ.1973-1986) ทำให้ไทยกับฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผลพวงพอสมควรนับแต่สิ้นยุคของมาร์กอส แม้ระบบการปกครองจะต่างกันก็ตาม แต่ก็มีหลายเรื่องในฟิลิปปินส์ที่สามารถจะเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทยได้ เช่น เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เขามีมาตั้งแต่ปี 1940 และการหยั่งเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ฟิลิปปินส์มีประสบการณ์มาตั้งแต่ ค.ศ.1935 ซึ่งในขณะนั้นสหรัฐฯ ยังปกครองฟิลิปปินส์อยู่ ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นก็ได้มีการหยั่งเสียงประชามติ ว่ายอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนั้นหรือไม่ แต่ก่อนที่จะมีการหยั่งเสียงประชามตินั้น คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญต้องไปให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เสียก่อนว่าในแต่ละมาตรานั้นมีความหมายอย่างไร ประชาชนสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้างจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมาธิการจะต้องอุทิศตัวอย่างเต็มที่ มิใช่ใช้เวลาแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น นอกจากนั้นคณะกรรมาธิการต้องปลอดจากภาระหน้าที่เดิมที่เคยทำอยู่ด้วย รัฐธรรมนูญที่ผ่านการหยั่งเสียงประชามติปี 1987 เป็นกฎหมายสูงสุดที่ได้ผ่านกระบวนการอย่างเข้มข้นที่สุด เนื่องจากประชาชนได้เห็นความเลวร้ายของระบบเผด็จการของมาร์กอสมาแล้ว จึงต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อุดช่องโหว่ มิให้ผู้นำเผด็จการแสวงหาผลประโยชน์ได้อีก

ประเด็นที่สำคัญที่รัฐบาลของประธานาธิบดีอากิโนคำนึงถึงก็คือ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมาจากผู้อาวุโสที่มีความเป็นกลาง มีความรู้ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย ที่สำคัญยิ่งก็คือผู้ที่เป็นประธานนั้น จะต้องมีวุฒิภาวะ เป็นนักกฎหมายที่มีประสบการณ์มายาวนาน กล่าวคือเป็นเนติบัณฑิตที่ปฏิบัติงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ปี กรรมาธิการเหล่านี้มาจากการแต่งตั้งจากบุคคลในสาขาและอาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นนักหนังสือพิมพ์ กลุ่มเยาวชน องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ที่มีพื้นความรู้อย่างต่ำปริญญาตรี ผู้เสนอชื่ออาจเสนอผ่านสื่อมวลชน เช่นหนังสือพิมพ์ (มีคอลัมน์เฉพาะให้เสนอชื่อ) โทรทัศน์ วิทยุ ทางจดหมาย หรือผ่านตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ในฟิลิปปินส์มีกลุ่มต่างๆ และรายชื่อผู้นำที่แน่นอนอยู่แล้วประมาณ 2,000 ชื่อ ประธานาธิบดีและที่ปรึกษาจะต้องปรึกษาตัวแทน หรือผู้แทนกลุ่มต่างๆ อีกครั้งว่า จะเลือกผู้ใดมาเป็นตัวแทน และเมื่อได้ตัวแทนตามจำนวนที่ต้องการแล้ว (คือ 48 คน) ก็ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอีกครั้ง ในครั้งนี้จะต้องระบุคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ของแต่ละคน โดยตีพิมพ์ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทั่วประเทศ ซึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะพร้อมใจกันอุทิศหน้ากระดาษของคนทำการประชาสัมพันธ์นี้ให้กับรัฐบาล

สาเหตุที่รัฐบาลอากีโนไม่เลือกตั้งคณะกรรมาธิการโดยตรงจากประชาชนทั้งประเทศ เนื่องจากต้องการป้องกันการซื้อเสียง จากผู้ที่ต้องการเข้ามามีอิทธิพลประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งสังคมฟิลิปปินส์โดยพื้นฐานดั้งเดิม เป็นสังคมยึดติดกับค่านิยมในสังคมที่ต้องสำนึกในบุญคุณผู้มีพระคุณ รวมทั้งการช่วยเหลือเครือญาติและบริวาร ซึ่งค่านิยมเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง

จึงนับได้ว่าในขั้นตอนของการเลือกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความต้องการและเจตนารมณ์อันแท้จริงของประชาชน สำหรับขั้นตอนในการร่างรัฐธรรมนูญมีดังต่อไปนี้

1. ปรึกษาหารือประชาชน ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานมาก โดยคณะกรรมาธิการทั้ง 48 คน จะออกเดินทางไปทั่วทุกจังหวัดประมาณ 1 เดือน เพื่อจัดสัมมนาร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น กลุ่มศาสนา กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ประมาณ 100 ครั้ง

2. คณะกรรมาธิการทั้ง 48 คนนี้ จะประมวลข้อคิดเห็นต่างๆ จากประชาชนกลุ่มต่างๆ ทุกจังหวัดมาจัดกลุ่มเนื้อหา แล้วจัดตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นชุดต่างๆ ขึ้นต่อจากนั้นก็ทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ว่ามีคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นชุดใดบ้าง โดยผ่านทางหนังสือพิมพ์ (มีคอลัมน์เฉพาะ) โทรทัศน์ทุกช่อง วิทยุทุกสถานี จากนั้นก็จะรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพอีกครั้ง

3. หลังจากคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นชุดต่างๆ ได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะจัดพิมพ์เป็นเอกสารรับฟังความคิดเห็นชุดต่างๆ เข้าประชุมใหญ่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อร่างเสร็จแล้วคณะกรรมาธิการทั้ง 48 คน จะลงนามในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว

4. เมื่อลงนามแล้ว คณะกรรมาธิการทั้ง 48 คน ก็จะออกไปพบปะกับประชาชนทั่วทุกจังหวัดทุกท้องถิ่นอีกครั้ง ด้วยการจัดสัมมนารณรงค์ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ พร้อมทั้งตอบคำถามและข้อข้องใจต่างๆ ของประชาชน ระยะเวลาในการปรึกษาหารือประชาชน การรับฟังความคิดเห็น การประชุมใหญ่ และการให้ความรู้แก่ประชาชนนั้นมีอยู่ 8 เดือน

5. การหยั่งเสียงประชามติเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายของการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เหมือนกับการเลือกตั้งคือ ไปหย่อนบัตรเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เมื่อประชาชนยอมรับเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงทะเบียนการเลือกตั้ง ถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นประกาศใช้ได้ และนำผลการหยั่งเสียงเสนอต่อรัฐสภา

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์นั้นมีการรับฟังเสียงของประชาชน และคณะกรรมาธิการก็อุทิศแรงกายแรงใจ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง การที่พวกเขาต้องทุ่มถึงขนาดนี้ก็เนื่องมาจาก เขาได้รับการกล่อมเกลามาแต่เยาว์วัยให้ยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศที่จะละเมิดไม่ได้ สิ่งใดที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญจึงต้องรอบคอบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์กว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ใช้มาแล้ว 37 ปี (ค.ศ. 1935-1972 ก่อนมาร์กอสจะประกาศกฎอัยการศึก)

สำหรับประเทศไทยนั้น ถ้าหากเราจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านของเราก็น่าจะทำได้ เพราะลักษณะสังคมมีความคล้ายคลึงกันในหลายเรื่อง ยกเว้นแต่วัฒนธรรมทางการเมืองที่มีความต่างกัน สำหรับข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญของไทย จากบทเรียนของฟิลิปปินส์ก็คือ

1. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญควรจะทุ่มเทกับการทำหน้าที่นี้อย่างจริงจัง ด้วยการอุทิศเวลา กำลังกาย กำลังใจ ลงไปขอความเห็นจากประชาชนในจังหวัดของท่าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ และนำข้อเสนอต่างๆ ที่ประชาชนเสนอ เข้ามาถกเถียงกันในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองก็น่าจะมีส่วนร่วมด้วย

2. สภาร่างรัฐธรรมนูญน่าจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศเสนอความคิดเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับน่าจะอุทิศคอลัมน์นี้ให้ (อาจจะเป็นชื่อคอลัมน์เฉพาะของสภาร่างรัฐธรรมนูญ) เพื่อจะได้รวบรวมข้อเสนอของประชาชนได้อย่างสะดวก

3. ถ้าจะมีการหยั่งเสียงประชามติประชาชนให้ยอมรับรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องมีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับทราบสักระยะหนึ่งก่อน พร้อมทั้งรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และ ส.ส.ร. น่าจะลงไปให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศก่อนลงประชามติ เพราะการลงประชามติจะไม่มีความหมาย หากประชาชนไม่ทราบว่าเขาจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญ

การที่ประชาชนจะเข้าถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” ได้นั้น ต้องมีการศึกษา และได้รับการกล่อมเกลาให้มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย จึงต้องมีการรณรงค์ปลูกฝังทั้งแนวคิดและภาคปฏิบัติ ให้รู้จักกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ในระยะยาวและต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำกันเฉพาะกิจเท่านั้น มิฉะนั้น รัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงเศษกระดาษ ที่คนในท้องถิ่นไม่รู้ช่องทางที่จะอ้างสิทธิที่เขาพึงจะได้รับ และถึงแม้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่รัฐธรรมนูญก็มิได้ช่วยสร้างชาติใหม่ หากปัญหาเก่าๆ ที่เรื้อรังอยู่ยังมิได้ถูกแก้ไข

การหยั่งเสียงประชามติประชาชนว่า ยอมรับ หรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ไม่เคยกระทำมาก่อน แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชาชนที่จะได้เปิดหูเปิดตาว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะให้ประโยชน์อะไรกับพวกเขาบ้าง และพวกเขาสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้างตามที่ระบุไว้รัฐธรรมนูญ

อันที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ได้ใส่สิ่งดีๆ ไว้มากมาย แต่เมื่อร่างเสร็จก็เพียงแต่ทำประชาพิจารณ์กันอย่างรีบเร่ง โดยมิได้หยั่งเสียงประชามติประชาชน เพราะในช่วงนั้นมีหลายฝ่ายคิดว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะลงมติ และงบประมาณมีไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ

รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีช่องโหว่ ประเด็นสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ควรอุดช่องโหว่เหล่านั้นมิให้ผู้นำได้แสวงหาอำนาจอีกต่อไป และภาคประชาชนก็ไม่ควรเพิกเฉยเมื่อผู้นำละเมิดรัฐธรรมนูญ รวมทั้งควรสอดส่องการกระทำของผู้นำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นระยะๆ

ขั้นตอนสำคัญที่สุดก็คือ ขั้นตอนของการไปปรึกษาประชาชนและการประชาพิจารณ์ ซึ่งต้องใช้เวลาและใช้ความอดทนทุ่มเทเป็นอย่างมาก ถ้าหากเราทำขั้นตอนนี้อย่างฉาบฉวยแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นเพียงเศษกระดาษ ที่คนในท้องถิ่นห่างไกลมองไม่เห็นช่องทางที่จะอ้างสิทธิที่เขาพึงจะได้รับ

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานต่างๆ ที่บั่นทอนประชาธิปไตยในสังคมไทยกันเสียที

หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Website: http://www.thaiworld.org
กำลังโหลดความคิดเห็น