xs
xsm
sm
md
lg

แฝด

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

.
หลายวันมานี้ คนที่ไปดูภาพยนตร์ไทยสยองขวัญเรื่อง “แฝด” มาแล้วหลายคนมาชักชวนให้ผมไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ได้ โดยทั้งหมดต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวว่า “น่ากลัวมาก” น่ากลัวถึงขนาดที่ว่าถ้าหากใครไม่ได้ดูฉากตัวอย่างในโฆษณาแนะนำภาพยนตร์มาก่อน เมื่อไปดูจริงในโรงก็อาจช็อกคาเก้าอี้ได้ ...

ส่วนตัว ผมไม่ได้ดูภาพยนตร์ไทยตามโรงมาพักใหญ่แล้ว ส่วนภาพยนตร์เรื่อง “แฝด” ที่นำแสดงโดยดาราม่ายสาวพราวเสน่ห์ มาช่า วัฒนพานิช นั้น ผมได้ยินข่าวคราวจากเพื่อนฝูง และข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์-อินเทอร์เน็ต เสียมากกว่า

ว่ากันว่า เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องแฝดนั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแฝดสยามวัย 15 ชื่อว่าพิมและพลอย ที่ตัวติดกันแต่ความคิดกลับไม่ลงรอยกัน คือ แฝดคนหนึ่ง (พิม) อยากผ่าตัดแยกตัว ขณะที่ (พลอย) ไม่ต้องการ โดยในที่สุดการผ่าตัดก็เกิดขึ้นและทำให้พลอยต้องเสียชีวิตไป เมื่อเวลาล่วงเลย พิมที่ย้ายไปอยู่ประเทศเกาหลีและกำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่กับชายที่ตนรัก มีความจำเป็นต้องกลับมาที่บ้านหลังเก่าที่เธอเคยใช้ชีวิตร่วมกับพลอยอีกครั้ง เมื่อกลับมาที่บ้านเดิมเธอก็เริ่มรู้สึกว่าแม้แต่ความตายก็ไม่อาจพรากเธอจาก พลอย-คู่แฝดของเธอได้ ...

เอ้า! หลีกจากเรื่องบันเทิงเริงรมย์สักพัก หันกลับมาสนในเรื่องการบ้านการเมืองกันดีกว่า

และแล้วเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่มีภารกิจเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน ก็จรดปากกาลงนามในสัญญาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ฟังเสียงการทักท้วงและการเคลื่อนไหวคัดค้านจากภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ “ต่อสู้” ในเรื่องนี้มานานปี ตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

แม้แต่เสียงคัดค้านการลงนามใน JTEPA ที่ดูเหมือนจะมีน้ำหนักที่สุดของอาจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้อาวุโสในแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการของไทยก็ยังถูกหมางเมินจาก พล.อ.สุรยุทธ์

พูดกันตามตรง ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ผมได้รับการติดต่อจากมิตรสหายจำนวนมาก ที่ต่างก็รู้สึกอึดอัดกับการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ และต่างก็มีข้อมูล “ลึกๆ” เกี่ยวกับเบื้องหน้าเบื้องหลังของการกระทำ-การดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดนี้มาป้อนให้

ยกตัวอย่าง ในกรณีการลงนาม JTEPA มิตรของผมคนหนึ่งที่คบหากันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ถึงกับโทรศัพท์สายตรงมาจากประเทศออสเตรเลียเพื่อเปิดเผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรของประเทศไทย หากข้อตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีของไทยกับญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการจริง ...

มิตรของผมผู้นี้เป็นอาจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เขาส่งข้อมูลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นหลังสัญญาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าหากหลายคนได้ยินแล้วอาจจะตกใจ

ทั้งนี้จากการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นพบว่า ถ้าหากอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นลดลงเหลือ “ศูนย์” จริง (ซึ่งก็ใกล้เคียงกับเงื่อนไขในสัญญาจริงที่ระบุว่า ภายใน 10 ปี สินค้าญี่ปุ่นที่ส่งออกไปยังไทยร้อยละ 97 และสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นร้อยละ 92 จะปลอดภาษี) สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เกษตรกรของไทยนั้นรอวันเจ๊ง! ได้เลย

ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ในภาคเกษตร นอกจากสินค้าข้าวเปลือก, ข้าวเจ้า, อ้อย, น้ำตาล และผลผลิตทางการเกษตรอื่นอีกบางรายการซึ่งแน่นอนย่อมรวมถึงกุ้งและผลไม้บางชนิดซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ถูกผลักดันจากเครือการเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยบางบริษัทแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่จะต้องประสบกับหายนะไม่ว่าจะเป็น ธัญพืช, น้ำนมดิบ, เนื้อวัว, ข้าวสาลี, พืชน้ำมัน, ขนสัตว์ ฯลฯ


นอกจากนี้แล้ว จากข้อบังคับ-เงื่อนไขในการลงนามตามข่าวสารที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาก็ชี้ให้เห็นได้ว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงนามครั้งนี้ ก็คือ กลุ่มทุนทั้งหลาย โดยเฉพาะเครือการเกษตรยักษ์ใหญ่ รวมถึงบริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่นที่มาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์และธุรกิจการขนส่งในประเทศไทยนั่นเอง

ความจริงผลกระทบต่อเนื่องที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยจากการลงนามใน JTEPA ของ พล.อ.สุรยุทธ์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาอาจจะสามารถจำกัดวงให้แคบลงได้บ้าง หากรัฐบาลมีความจริงใจกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเรื่องนี้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยระบุให้เป็นวาระที่ให้สมาชิก สนช. ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ, การเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก JTEPA, การมีนโยบายและมาตรการที่แน่ชัดในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการทำประชาพิจารณ์-รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และประชาชนให้ครบถ้วนเสียก่อน

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา การที่ ‘รัฐบาลสุรยุทธ์’ ทำเช่นนี้หากนำไปเปรียบเทียบกับการกระทำของ ‘รัฐบาลทักษิณ’ เมื่อปีก่อนแล้ว อาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่ต่างกันเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งนี้ หากใครที่ไม่รู้เรื่องการเมืองไทย เมื่อมาเห็นนโยบายเช่นนี้ ก็อาจจะคิดไปได้ว่า ‘รัฐบาลสุรยุทธ์’ นั้นเป็น “คู่แฝด” กับ ‘รัฐบาลทักษิณ’ แบบโขกเบ้าเดียวกันออกมา ...

มากกว่านั้นโดยส่วนตัว ผมเห็นว่าในบางประเด็นการกระทำของรัฐบาลชุดนี้นั้นยังเลวร้ายกว่า รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เสียด้วยซ้ำ ที่บอกว่าเลวร้ายกว่าก็เพราะ สำหรับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มีฐานเสียงจากประชาชน การจะตัดสินใจดำเนินนโยบายอะไรไปส่วนหนึ่งก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความเห็นประชาชนบ้าง แต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์นั้นเป็นรัฐบาลที่ไม่จำเป็นต้องแคร์เสียงใคร เพราะตัวเองไม่มีฐานประชาชนที่ไหนต้องเอาอกเอาใจ

นอกเหนือจากเรื่องของเอฟทีเอแล้ว หากกวาดตามองไปในเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นอีกหลายๆ กรณีแล้วหลายคนคงจะเริ่มเห็นด้วยกับผม ไม่ว่าจะการอุ้มพนักงานไอทีวี, การหมางเมินต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตรกร, ความพยายามผลักดันพระราชบัญญัติหวยบนดิน รวมไปถึงกระบวนการดึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีลงมาคลุกกับการเมือง ...

เชื่อว่าหลายคนคงจำเหตุการณ์ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 ได้ ที่ระบอบทักษิณพยายามจะเล่นเกมสื่อ โดยใช้อดีตนักการเมืองใหญ่ 2 ราย ออกมาโจมตี พล.อ.เปรม ผ่านรายงานทางโทรทัศน์ของกองทัพทุกเช้า จนประชาชนทั่วไปรู้สึกแปลกใจและตกใจกับความไม่รู้ที่ต่ำที่สูงของคนทั้งสอง จนต้องส่งเสียงทักท้วงกันยกใหญ่

กระนั้นการกล่าวหา พล.อ.เปรม ผ่านรายการโทรทัศน์ดังกล่าวก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีนายทหาร “ลูกป๋า” คนใดออกมาปกป้อง เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของระบอบทักษิณ ที่โดยธรรมชาติย่อมแกล้งทำเป็น “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” อยู่แล้ว

ผมอยากถามท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจริงๆ ว่า ท่านคิดว่าความพยายามหมิ่น พล.อ.เปรม ณ วันนี้ ผิดแผกหรือแตกต่างไปจากเมื่อปี 2548 หรือไม่? และท่านในฐานะนายทหารผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ลูกป๋า” คนหนึ่งคิดจะทำอะไรบ้างหรือไม่? หรือท่านยังคงยืนกรานที่จะวางเฉยเช่นเดิม?

ถ้าแม้แต่ ‘ลูกป๋า’ อย่างท่านยังทำใจวางเฉยกับกรณีดังกล่าวได้ พวกประชาชนตาดำๆ อย่างผมก็คงไม่มีความจำเป็นต้องร้องแรกแหกกระเชอ หรือ ชี้เป้าคนที่กำลังกระทำผิดให้เสียแรงแต่อย่างใด เพราะพวกผมมันก็แค่สามัญชน คนธรรมดาที่จำเป็นต้องหาเช้ากินค่ำเท่านั้น...

ย้อนกลับมาถึงเรื่อง คำชักชวนของเหล่าเพื่อนฝูงแต่แรกที่แนะนำให้ไปดูภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง “แฝด” ... ผมนึกออกแล้วล่ะว่า เมื่อพบกันคราวหน้าผมควรจะให้คำตอบเขาว่าอย่างไรดี

“แหมเพื่อน! การเมืองไทยทุกวันนี้ก็มี ‘แฝดสยองขวัญ’ จริงๆ ให้ดูกันอยู่แล้ว จะเสียสตางค์ไปเข้าโรงดูหนังกันอีกทำไม การเมืองไทยมีแฝดคนละฝาที่ดูแล้วหน้าตาไม่เหมือนกันสักเท่าไหร่ เพราะข้างหนึ่งเป็นทุนนิยมสามานย์ อีกข้างเป็นศักดินาล้าหลัง แต่พฤติกรรมนี่มันเหมือนกันเป๊ะเลย!”
กำลังโหลดความคิดเห็น