xs
xsm
sm
md
lg

เชือดบิ๊กทีโอทีเซ่นค่าโง่ทรู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สพรั่ง"สั่งเฉียบ บอร์ดทีโอที ลงดาบ “ปริญญา วิเศษสิริ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เด้งพ้นฝ่ายกฎหมายเซ่นค่าโง่ทรู ฐานไม่คัดค้าน “ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล” เป็นประธานอนุญาโตฯ แถมเป็น “ไอ้เสือคล้อย” ยอมให้จ่ายเงินกับเอกชน 9 พันกว่าล้าน ขณะที่แต่งตั้งนางศรัญญา ไชยประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ เข้ามาทำหน้าที่รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมาย ในระหว่างการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ขยายผลหาคนผิดเพิ่ม

นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์  คณะกรรมการ (บอร์ด) และโฆษก บริษัท ทีโอที กล่าวหลังการประชุมบอร์ด ซึ่งมีพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติรับรองการโยกย้ายนายปริญญา วิเศษศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมาย ให้พ้นออกจากตำแหน่ง โดยให้เข้าไปดำรงตำแหน่งประจำสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน  

การโยกย้ายที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นผลมาจากกรณีผลการประชุมบอร์ดเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มี.ค. ผ่านมา  ในการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้บอร์ดดำเนินการหาข้อเท็จจริง เรื่อง ทีโอที ต้องชำระค่าเสียหายแก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการเรียกเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญา ของบริษัท กสท โทรคมนาคม เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือน โดยไม่มีการแบ่งรายได้ให้กับทรู จากผลการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อในวันที่ 17 ม.ค. 2549 ที่มีเสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ตัดสินให้ ทีโอที ชำระค่าเสียหายแก่ทรู เป็นมูลค่ากว่า 9,176 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ บอร์ดได้มีมติให้นางศรัญญา ไชยประเสริฐ  ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ เข้ามาทำหน้าที่รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมาย ทีโอที ในระหว่างการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าว

“การโยกย้ายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนผิด หรือผู้ถูกกล่าวหา แต่เป้นการโยกย้าย เพื่อให้การทำสอบสวนนั้นดำเนินการได้อย่างสะดวกไม่ให้กระทบต่อการสอบสวนและกันออกมาจากส่วนที่เกี่ยวข้อง”

การแต่งตั้งให้มีการสอบสวนครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ สตง.ได้ส่งหนังสือมาให้ฝ่ายบริหารทีโอที และคณะกรรมการบริษัท ให้พิจารณาเรื่องถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยได้ส่งหนังสือมาให้ ทีโอที เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ตรวจสอบความผิดปกติที่ทีโอทีไม่คัดค้านในการตั้ง นายประสิทธิ์ โฆวิไลกุล เป็นประธานอนุญาโต ตุลาการ ในการตัดสินคดี บริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทีโอทีต้องจ่ายเงินให้ ทรู เป็นจำนวนมาก

นายวุฒิพงษ์ กล่าวว่า   การสอบสวนระหว่างนี้ คณะกรรมการสอบสวนพิเศษ โดยมี นายวีรพล ปานะบุตร อธิบดีอัยการฝ่ายที่ปรึกษาซึ่งเป็นหนึ่งในบอร์ด ทีโอที  เป็นประธาน พร้อมด้วย นายไพบูลย์ นิติวัน  พันเอกรัตน์พันธ์ โรจนะภิรมย์  ได้เริ่มดำเนินการทำการสอบสวนแล้ว ที่กำลังรวบรวมรายละเอียดจากเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าว ทาง พล.อ.สพรั่ง ได้ให้ความสนใจและกำชับอย่างพิเศษ ในการตรวจสอบ เพื่อให้เรื่องดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานและดำเนินการต่อผู้ทำให้เกิดความเสียหาย

“ขั้นตอนทุกอย่างอยู่ที่ คณะกรรมการสอบสวน ซึ่งเรื่องนี้ ท่านพล.อ.สพั่ง ก็กำชับและให้ความสำคัญ  โดยให้ทำอย่างรอบคอบและว่าไปตามเนื้อผ้า ซึ่งงานนี้หากใครร่วมวงไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้บริหาร บอร์ดชุดเก่า และ ฝ่ายการเมือง หากรู้เห็นก็จะต้องได้รับผิดด้วย”

ทั้งนี้ โยกย้ายจากสาเหตุดังกล่าว ก็ เพื่อหาคนรับผิดชอบ ไล่ตั้งแต่รัฐมนตรีที่กำกับดูแลทีโอที บอร์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ และฝ่ายกฎหมาย เนื่องจากไม่คัดค้านการตั้งนายประสิทธิ์ โฆวิไลกุลเป็นประธานคณะอนุญาโตฯ กรณีข้อพิพาทบริษัท ทีโอที กับบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น รวมทั้งหากมีพฤติกรรมส่อในทางทุจริตเนื่องจากความเสียหายที่เกิดกับรัฐ โดยสตง.พบว่ามี 3 ประเด็นที่ส่อให้เห็นความไม่เป็นกลางของนายประสิทธิ์คือ

1.คณะอนุญาโตฯ ได้อนุญาตให้ผู้เรียกร้องแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องจาก 6,034.65 ล้านบาทเป็น 15,415.37 ล้านบาท 2.มีข้อเท็จจริงที่ไม่เปิดเผยว่านายประสิทธิ์ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันภัย จำกัด ซึ่งมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทดังกล่าวเช่นเดียวกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ก็มีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการมีส่วนได้เสียของนายประสิทธิ์กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทที่มีผลกระทบต่อความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุญาโตฯ

3.มีข้อสังเกตว่าในการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น ประธานอนุญาโตฯได้ร่วมกับอนุญาโตฯฝ่ายผู้เสนอข้อพิพาท (ทรู คอร์ปอเรชั่น) จัดทำเอกสารคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเสร็จเรียบร้อยโดยไม่ได้นำข้อเสนอคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตฯ ฝ่ายคู่กรณี (ทีโอที) มาพิจารณาเพื่อให้อนุญาโตฯฝ่ายคู่กรณีลงนามร่วมเป็นองค์คณะโดยไม่ได้พิจารณาร่วมกันแต่อย่างใด อนุญาโตฯฝ่ายคู่กรณี จึงไม่ยอมลงนาม และในเอกสารคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทก็มิได้จดแจ้งเหตุขัดข้องที่อนุญาโตฯฝ่ายคู่กรณี ไม่ยอมลงนามไว้ให้ถูกต้องตามกฏหมาย

ทั้งนี้ คณะอนุญาโตฯ ตัดสินเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2549 ให้ทีโอทีจ่ายค่าเสียหายให้ทรู เป็นเงิน 9,175.82 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% โดยนับจากวันที่ 22 ส.ค. 2545 ซึ่ง ทีโอที จะต้องดำเนินการชำระภายใน 60 วันนับจากที่ผลชี้ขาด เนื่องจากทรูฟ้องร้องว่าทีโอที ไม่แบ่งรายได้จากการเรียกเก็บค่าเชื่อมโครงข่ายจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เป็นคู่สัญญาของบริษัท กสท โทรคมนาคม เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือน และเรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง หลังจากที่ทีโอทียื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2549 เพื่อคัดค้านอนุญาโตฯและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตฯ ถือเป็นการตอกย้ำถึงกระบวนการอนุญาโตฯ ที่รัฐไม่เคยชนะเอกชน โดยเฉพาะประเด็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดช่องให้เกิดการเอื้อประโยชน์ในตัวสัญญาหรือตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สำหรับคณะอนุญาโตฯดังกล่าวประกอบด้วยนายโฆษิต เป็นประธาน นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นอนุญาโตฯฝ่ายทีโอทีและนายเฉลิม สุคนธ์ขจร เป็นอนุญาโตฯฝ่ายทรู สำหรับนายประสิทธิ์นั้นเป็นคนที่นายเข็มชัย ชุติวงศ์ บอร์ดทีโอทีแนะนำ ทำให้บอร์ดและผู้บริหารทีโอทีมั่นใจว่าปิดประตูแพ้ จนถึงกับบอร์ดทีโอทีที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ เป็นประธานคล้อยตามความเห็นของฝ่ายกฎหมายทีโอทีที่นายปริญญา วิเศษสิริ เป็นผู้รับผิดชอบขณะนั้น ไม่ได้ดำเนินการคัดค้านการเป็นประธานอนุญาโตฯของนายประสิทธิ์ รวมทั้งนายปริญญายังชี้แจงว่าประธานมีความเป็นกลางต่อคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง

รวมทั้งยังแสดงถึงความเป็นกลางและความบริสุทธิ์ใจด้วยการประกาศ และเปิดโอกาสให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้มีโอกาสพิจารณาคัดค้านการทำหน้าที่ประธานคณะอนุญาโตฯ โดยในวันที่ 26 เม.ย. 2547 นายประสิทธิ์แถลงกับสถาบันอนุญาโตฯว่าเป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท อัลลิอันซ์ เยอรมันซึ่งมาร่วมทุนกับซี.พี และวันที่ 20 พ.ค. 2547 นายประสิทธิ์ ได้ทำบันทึกยื่นกับสถาบัน อนุญาโตฯ เพื่อให้ส่งต่อให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายโดยแจ้งว่าเป็นกรรมการอิสระของบริษัท ประกันวินาศภัย Allianze +CP จำกัด โดยเป็นผู้แทนของฝ่าย Allianze (เยอรมัน) ด้วยบุคคลในครอบครัวเจียรวนนท์ ได้เป็นกรรมการของบริษัทนี้ และอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เทเลคอม เชียคอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็ได้ ซึ่งไม่ทราบในรายละเอียด เพราะไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องในทางธุรกิจแต่ประการใด โดยบันทึกดังกล่าวส่งถือทีโอที เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2547 และทีโอทีมีเวลาจนถึงวันที่ 3 มิ.ย. 2547 เพื่อคัดค้านนายประสิทธิ์

แต่ปรากฏว่าบอร์ดทีโอที ได้มีมติให้ฝ่ายกฎหมายไม่ต้องดำเนินการคัดค้าน จากเอกสารรายงานการประชุม เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2547 ซึ่งขณะนั้น นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์เป็นประธานบอร์ด นายอรัญ เพิ่มพิบูลย์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในสมัยระบอบทักษิณเป็นใหญ่

“อย่างไรก็ตาม เรื่องการตรวจสอบจะพิจารณาในทุกแง่มุม ทั้งด้านข้อสัญญา ข้อกฎหมาย ตัวบุคคลและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น