xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ แต่พาคนไปตายหมู่ได้

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
“อาจารย์ เลิกเป่าปี่ได้แล้ว แน่จริง กระโดดลงมาเลย” นี่คือคำพูดที่สาดกระหน่ำเข้ามาหาผมทั้งทางตรงทางอ้อมไม่รู้จักหยุด

บางคนก็เมตตาต่อท้ายให้ว่า ประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากคนจริงที่มีความรู้อย่างอาจารย์ บางคนก็เหี้ยมโหดโกรธขึ้ง ต่อท้ายว่า “อย่ามัวดีแต่พูด”

ปี่ที่ว่า คงจะไม่ใช่ปี่พระอภัยมณี ผู้พูดอาจจะสงสาร หรือหมั่นไส้ผม หรือไม่ก็อาจจะกรุณามองไกลไปถึง “หู” ของบรรดาผู้ฟังทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

ไม่ว่าท่านจะมองทั้งสองพยางค์นี้ในแง่ใด ผมขออภัยที่จะต้องบอกว่าท่านเข้าใจผิดทั้ง 2 เรื่อง เรื่องแรก หากคนที่ต้องเป่าปี่อย่างผม เกิดถอดใจยอมแพ้เสียดื้อๆ ผลเสียก็คงมีไม่มากนัก

เรื่องที่สอง ถ้าบรรดาคนที่ทำหน้าที่คล้ายๆ ผม เกิดมานะในทางที่ผิด กลัวเขาจะว่าไม่แน่จริง เลยกระโดดลงไปตามคำท้า ก็จะเกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง เพราะนอกจากจะเป็นการเอาคนผิดไปทำผิดงานแล้ว ยังเป็นการทำลายการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบตามวิชาชีพและความถนัดของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด

ความหลากหลายทางชีวภาพ (bio-diversity) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของชีวภพ (biosphere) หรือโลกของเราฉันใด ความหลากหลายทางอาชีพก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของสังคมหรือประเทศชาติ ฉันนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนหลายครั้งว่า หากทุกคนทำหน้าที่ที่ตนมีอยู่ให้ดีที่สุด ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย

“วิกฤตที่สุดในโลก” ของประเทศไทยเกิดขึ้น เพราะนักการเมืองไม่ทำหน้าที่นักการเมือง ทหารไม่ทำหน้าที่ทหาร ตำรวจไม่ทำหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการไม่ทำหน้าที่ข้าราชการ ศาลไม่ทำหน้าที่ศาล นักวิชาการไม่ทำหน้าที่นักวิชาการ ฯลฯ

สังคมไทยเป็นสังคมที่หลอกตัวเองและชอบซ่อนความจริง พักหลังนี้เราเพรียกหา “มืออาชีพ” กันหนาหู แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราก็แอบนิยมมือที่ไม่อาชีพ เช่น เอานักเซ็งลี้มาเป็นผู้นำการเมือง เอาทหารมาเป็นนายกฯ เป็นต้น

สังคมไทยไม่เคยเข้าใจว่านักวิชาการมีบทบาทและหน้าที่เหมือนปัญญาชน จะต้องมีความเป็นอิสระ มีหน้าที่ คิด ขีดเขียน พูด ชี้ทางให้สังคมเห็นความจริง สิ่งที่พึงหรือไม่พึงปรารถนา ไม่สมควรวิ่งเข้าหาหรือกระโดดไปเป็นนักการเมืองเสียเอง

นักวิชาการสายพันธุ์อิสระกำลังจะสูญไปจากเมืองไทย ปัญญาชนอย่าง ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เจตนา นาควัชระ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สมบัติ จันทรวงศ์ ผาสุก พงศ์ไพจิตร หรือแม้แต่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ต่างก็พากันเงียบลงๆ หรือหันไปเล่น “ของเก่า” อื่นๆ ที่สนุกกว่า

ถ้าหากมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ของตนอย่างบริบูรณ์อยู่แล้วหรือตลอดมา คือรู้จัก “วิจัย” “วิจารณ์” และเผยแพร่ผลงาน เป็น “การพูด” ที่แจ้งชัด ขัดเกลาอวิชชา ผู้มีอำนาจ นักการเมืองและประชาชน เข้าใจ อาจนำไปใช้เป็นแนวทางอันเกิดประโยชน์ได้ “ควาย” อย่างผมก็คงไม่ต้อง “เป่าปี่ใส่หูคน” จนเกือบจะหมดลมอยู่อย่างทุกวันนี้

ตอนนี้ ผมยังห่วงว่าไม่นานคนไทยจะฆ่ากันตายเพราะรัฐธรรมนูญอีก ทำไมผมจึงห่วงก็เพราะผมสังหรณ์ใจว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เหมือนกรณีหลังรัฐธรรมนูญปี 2517 หรือ 2521 หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2534 ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานร่าง อันเป็นต้นเหตุของพฤษภาทมิฬ

คนไทยตายหมู่ยุค รสช.นั้นเพราะมี (1) ธรรมนูญปกครองประเทศเป็นชนวน (2) มีรัฐธรรมนูญ 2534 เป็นเชื้อเพลิง (3) กลุ่มที่ขัดแย้งกันเพื่ออำนาจเป็นมือที่สุมไฟ (4) ประชาชนเป็นทั้งเครื่องมือและเหยื่อ(5) ทหารใช้กำลังเข้าปราบปราม

หากท่านลองไปอ่านธรรมนูญปกครองรสช.เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว2549 ดู แล้วค่อยๆ ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่า สมการที่จะก่อให้เกิดการนองเลือดก็ยังเกือบเหมือนเดิม ปรับเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ (3) มีกลุ่มอำนาจเก่าหรือบริวารที่ยังสู้อย่างไม่ลดละ (4)ประชาชนหลายกลุ่มหูตาสว่างและมีฝีมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นไม่ยอมตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของฝ่ายใดแต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม เพราะมิได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง (5) ทหารมีเอกภาพน้อยลง และอาจจะแยกฝ่ายต่อสู้กันเองตามพวกของตนในข้อ (3) และข้อ (4)

ผมขอภาวนา อย่าให้เป็นอย่างนั้น เลือดจะนองแผ่นดินยิ่งกว่าเดิม

วิธีที่จะป้องกันการเดินหน้าไปสู่ความตาย อยู่ที่ขบวนการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมมากที่สุดภายใต้พระบารมีของในหลวงหรือวิธีราชประชาสมาสัย

ในบทนำของมติชนฉบับ 28 มีนาคมนี้นายกฯสุรยุทธได้ขานรับเรื่อง “ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ” มีความตอนหนึ่งว่า “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันคิดและมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปรียบเทียบเสมือนกับการร่วมกันสร้างถนนเส้นใหม่ แทนที่จะไปเดินตามตรอกเดิมที่ทำให้เกิดปัญหาแก่ประเทศชาติ”

ผมเดาเอาว่า “ตรอกเดิม” ของนายกฯ น่าจะเหมือนกับ “กรอบเดิม” ที่ผมพูดเสมอมา กรอบเดิมเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือ บุคคลหน้าเดิม ความคิดเดิมๆ ขบวนการเดิม มีความยึดโยงกับอดีตอย่างเหนียวแน่น คือ จากรัฐธรรมนูญเผด็จการ 2521 ถึง รัฐธรรมนูญ (มีชัย) รสช. 2534 ถึงรัฐธรรมนูญ (มีชัย) คมช.2549 และกำลังจะถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเทวดาร่างจวนจะเสร็จและจะส่งไปให้ประชาชนขานรับด้วยการโฆษณา เผยแพร่ ฟังความคิดเห็นและประชาวิจารณ์ที่ต้องใช้เงินเป็นพันๆ ล้าน

ผมขออนุญาตฉายหนังซ้ำ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นความเป็นอมตะของ “ตรอกเดิม” ของท่านผู้ดีเหล่านี้

6 เม.ย. 30 เม.ย. กรรมาธิการกำหนดในร่าง รธน. ห้าม 25 อดีต รมต.เล่นการเมือง ‘ชวน’ ชี้ร่างรัฐธรรมนูญ เดินตามรอยผู้มีอำนาจสั่ง

-- อุกฤษ คุยคนในสภา รสช.ไม่เคยปริปากพูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ร่างกันเต็มที่ กรรมาธิการ 20 คนมีทหารนายเดียว หมดห่วงเรื่องบังคับบัญชาหรือสั่งการ คาดภายใน 6 เดือนเสร็จ .....

*อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภา

8 เม.ย. ร่างรัฐธรรมนูญนัดแรกวันนี้ ‘มีชัย1’ ไม่ยึดของเก่าแค่ใช้เป็นหลักพิจารณา

-- กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ฤกษ์ประชุมวันแรก ดัน ‘มีชัย’ นั่งเก้าอี้ประธาน อันไม่ยึดแนวทาง ‘ของเก่า’ แต่จะเอามาเปรียบเทียบ นำฉบับปี 2521 มาเป็นหลักพิจารณา ย้ำอีกครั้งไม่มีใครก้าวก่ายแน่นอน สภา รสช.มีแต่เร่งให้เสร็จ

*มีชัย ฤชุพันธุ์รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านกฎหมายทั้งหมด รวมทั้งเป็นประธานกรรมาธิการร่าง รธน.

30 เม.ย. กรรมาธิการกำหนดในร่าง รธน. ห้าม 25 อดีต รมต.เล่นการเมือง

23 ก.ค. รัฐธรรมนูญงอกบทเฉพาะกาล ยืดอายุ รสช.-ให้อำนาจตั้งวุฒิฯ


-----กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทเฉพาะกาลแล้ว หลังร่างครบทุกมาตราเปิดช่องให้สภา รสช.สภานิติบัญญัติ และรัฐบาลชั่วคราวครองอำนาจจนถึงประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ให้อำนาจสภา รสช.ร่วมเลือกกรรมการรัฐธรรมนูญถาวร ตั้งวุฒิ-คุมเลือกตั้ง.

16 ส.ค. ‘มีชัย’ โอ่รัฐธรรมนูญ ‘ฉบับครบวงจร’

----ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนำตัวร่างเสนอสภานิติบัญญัติฯ แล้ว ‘มีชัย’ โอ่เป็นฉบับครบวงจรที่สุด ‘อุกฤษ’ เรียกประชุมสภานัดพิเศษ 2 วันรวด 26-27 ส.ค. เผยขั้นตอนพิจารณา 3 เดือน เตรียมการเลือกตั้ง 3 เดือน เป็นครึ่งปีมีรัฐบาลชุดเลือกตั้งชุดใหม่แน่นอน รอ ครม.อนุมัติถ่ายทอดสดประชุมพิจารณา

--------------- 6 เดือนหลังรัฐประหาร---------------

27 ส.ค. หวั่น ‘รธน.’ ผ่านนองเลือดแบบ 14 ต.ค.

----สภานิติบัญญัติฯ ถกร่าง รธน.น้ำท่วมทุ่งสุดกร่อย ตลอดวันได้แค่ 5 หมวด 58 มาตรา เหลืออีกร่วม 200 มาตรา ประธานกรรมาธิการ ‘มีชัย’ แถลงเคลียร์ 3 ประเด็นใหญ่ที่ถูกถล่มมาตลอดกรณี กรรมาธิการ รธน.-อำนาจวุฒิฯ-แก้ไขยาก น.ศ.ค้านไม่เลิก ส่วนนักวิชาการ-นักการเมืองตั้งวงเสวนาชำแหละ....

29 ส.ค. พรรคการเมืองรุมกระหน่ำนอกสภา ตั้ง 25 ‘ร่างทรง รสช.’ แปรญัตติ รธน.วาระ2

30 ส.ค. สุจินดาปากแข็ง! ไม่รู้จัก 25 ร่างทรง

31 ส.ค. ตะเพิดหัวหน้าพรรคชวนเล่นการเมือง ‘สุ’ บอกเป็นนายกฯ
ไม่มีใครบังคับได้!


----‘สุจินดา’ เปิดใจถึงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 19 แบ่งรับแบ่งสู้ไม่มีใครมาบังคับได้ เผยขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมจึงตอบเวลานี้ไม่ได้ ประกาศชัดเลือกตั้งอย่างช้าไม่เกินเดือนมีนาคมปีหน้า สนับสนุนร่าง รธน.เต็มที่เพราะมีเจตนาขจัดนักการเมืองเลว

พฤศจิกายน 2534 ผมขอร้องให้น.พ.ประเวศ วะสี เป็นผู้จัดอภิปรายเรื่อง “อย่าให้ถึงกับนองเลือด (เพราะรัฐธรรมนูญ) เลย” ที่หอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ มีบุญชู โรจนเสถียร ชวลิต ยงใจยุทธ จำลอง ศรีเมือง บัญญัติ บรรทัดฐาน ธีรยุทธ บุญมี และผมเป็นผู้ร่วมอภิปราย

17-20 พฤษภาคม 2535 พฤษภาทมิฬ

ผมเป็นคนโบราณก็จริง แต่ผมก็ไม่ชอบเดินตรอกเดิมและฟังเพลงบทเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนหน้าเดิมๆ(รวมทั้งตัวเอง)

ในสมัยอาจารย์สัญญาผมเป็นคนคัดค้านและตัดงบนักศึกษาเผยแพร่ประชาธิปไตยจาก 30 ล้านมาเป็น 3 ล้าน ผมไม่เชื่อว่าประชาธิปไตยจะเผยแพร่ได้เหมือนขายสินค้า เพราะประชาธิปไตยเป็นยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญหรือระบบการปกครอง ประชาธิปไตยครอบคลุมถึงวิถีชีวิต และลัทธิความเชื่อของประชาชน จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย (ขบวน) การมีส่วนร่วมหรือการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างแท้จริง หรือโดยการทำตัวอย่างเท่านั้น

ตัวอย่างของชนชั้นปกครองหรือปัญญาชนไทยไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย ไม่เป็นเผด็จการขวา ก็เป็นเผด็จการซ้าย ไม่เป็นทั้งสองอย่างก็เป็นผู้ผูกขาดสัจธรรมและศีลธรรม

ผมฟังเพลงเก่าๆ ที่ร้องกันด้วยความหวังดีหรือหวังร้าย โดยคนหน้าเดิม เช่น สันต์ หัตถีรัตน์ เหวง โตจิระกาล หรือใครๆ ในขบวนการพันธมิตรก็ตาม หลายเพลงหาใช่เพลงประชา ธิปไตยไม่

ตัวอย่าง การยกขบวนไปส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอนุกรรมการสภาร่างฯ ที่ชัยภูมิ วันนั้นพิภพ ธงไชยพูดได้ดีมาก มีเหตุมีผลน่าฟังตั้งแต่ต้นจนบท จุดเน้นของพิภพอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ต้องมีส่วน (ทางอ้อม) ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีสวัสดิการ เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องกินได้

แต่ผมมั่นใจว่าชาวบ้านจะฟังไปอีกอย่าง เพราะเขาต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือโดยตรงในการแก้ปัญหาหนี้สินและอุปสรรคต่างๆ ในการทำมาหากินของเขา ซึ่งหลายๆ อย่างเป็นปัญหาของกฎหมายหรือธรรมาภิบาล จะพึ่งรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ได้เลย จนกว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองแท้จริง รื้อตรอกที่เป็นทางตันให้หมดเสียก่อน เปิดทางให้ประชาชนออกมาเดินบนถนนแห่งประชาธิปไตย

ผมเชื่อว่า คมช.และ ส.ส.ร.ทำไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะเต็มใจเปลี่ยนทิศทาง เดินออกจากตรอกเดิมมาหาประชาชนเสียก่อน แล้วพากันเดินไปสู่ถนนประชาธิปไตย ภายใต้พระบารมี

ดาบสองคมของพิภพจะปลุกระดมให้ประชาชนผู้ทุกข์ยากเข้ามามีปากเสียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นความตั้งใจและเป็นสิ่งที่ดี แต่ชาวบ้านจะเพรียกหาสิ่งซึ่งเขาเคยหวัง เคยเห็น เคยสัมผัส เช่น กองทุนหมู่บ้าน โคล้านตัว 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหนี้กู้สะดวกฯลฯ ถ้าทุกอย่างนี้ไม่มี เขาจะลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญของ คมช.หรือ คุณมีชัย นี้กินไม่ได้

พิภพที่รัก ไม่มีหรอกรัฐธรรมนูญที่กินได้ มีแต่รัฐธรรมนูญที่จะพาคนไปตายหมู่
กำลังโหลดความคิดเห็น