xs
xsm
sm
md
lg

‘อัตตา’ ของบางคนในแบงก์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

.
หลังจากเขียนทักท้วงเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อไม่ถึงสองเดือนที่แล้ว เดิมทีผมตั้งใจไว้ว่าจะไม่เขียนถึงเรื่องแบงก์ชาติอีกพักหนึ่ง เพราะรู้ดีว่าตัวเองยิ่งพูดก็ยิ่งเบื่อ ยิ่งเขียนก็ยิ่งเอือม แถมหากเขียนต่อไปก็รังแต่จะเป็นการบ่มเพาะศัตรู ที่หลายคนก็เป็นรุ่นพี่-รุ่นน้องกันอยู่แต่ดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม จากบทบาทของแบงก์ชาติในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สะกิดให้ผมหวนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ของประเทศไทยในช่วง พ.ศ.2540 ขึ้นมา และเมื่อยิ่งคิดทบทวนไปเรื่อยๆ ประกอบกับการสนทนาระดมความคิดกับบรรดาเพื่อนเก่าแล้วก็ยิ่งทำเอาผมอดไม่ได้ที่จะต้องกลั้นใจเขียนถึงแบงก์ชาติอีกครั้ง

ก่อนอื่นผมขอย้อนความทรงจำท่านผู้อ่าน ด้วยการเชิญชวนท่านทั้งหลายกลับไปอ่านรายงานของคณะกรรมการศึกษา และเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อๆ ว่า ‘ศปร.’ ที่อธิบายเบื้องหลังความพินาศเศรษฐกิจไทยซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ.2540 อีกครั้ง

หากใครยังจำได้ตอนหนึ่งของรายงาน ศปร.ได้อธิบายถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติไทยที่เต็มไปด้วย ‘อัตตา’ หรือ Ego จัด ไม่ฟังเสียงใคร องค์กรใด กระโดดเข้าทำสงครามการเงินโดยนำเอาทุนสำรองของประเทศไทยหรืออีกนัยหนึ่งคือ ‘อนาคตของประเทศ’ เป็นเดิมพัน ผลก็คือทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศไทยหมดสิ้น (แถมติดลบ) และที่สำคัญผลักชาวไทยทั้ง 60 ล้านคนให้หล่นตุ๊บ! ลงไปในหุบเหวแห่งวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจถือได้ว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

จาก พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ.2550 เวลาผ่านมาสิบปีพอดิบพอดี พฤติกรรมหลายๆ ประการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติ ณ วันนี้ได้แสดงให้เราเห็นว่า บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 บทเรียนที่สอนคนไทยทั้งประเทศรู้จักคำว่า ‘ไอเอ็มเอฟ’ บทเรียนจำเป็นที่เปลี่ยนชะตาชีวิตของคนไทยจำนวนมหาศาล ไม่ได้สอนให้ ‘อัตตา’ ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติลดลงแต่อย่างใด

‘อัตตา’ ที่ว่าพิสูจน์ได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยืนยันว่าที่ผ่านมาแบงก์ชาติทำถูกทำดีทุกอย่างโดยไม่ฟังเสียงของใครแม้แต่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนล่าสุดอย่าง ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์, คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม (คสร.) หรือกระทั่งนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสอย่าง ดร.อัมมาร สยามวาลา รวมถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง นักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้องในตลาดหลักทรัพย์ ที่เสนอแนะและเรียกร้องให้แบงก์ชาติยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 และการลดอัตราดอกเบี้ยลงในอัตราที่มากกว่าร้อยละ 0.25 แต่เสียงเรียกร้องดังกล่าวก็ยังคงได้รับการปฏิเสธจาก คุณธาริษา โดยอ้างถึงหลักการ ‘ความเป็นอิสระ’ ของแบงก์ชาติและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งอยู่ในการควบคุมของแบงก์ชาติ

พูดตามตรงผมสงสัยจริงๆ ว่าหลักการ ‘ความเป็นอิสระ’ ของแบงก์ชาติตามความหมายของคุณธาริษานั้นเป็นไปเพื่ออะไร?

เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าคนแบงก์ชาติต้องการ ‘ความเป็นอิสระ’ จากความรับผิดชอบในการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดหายนะต่อเศรษฐกิจไทย ต่อคนไทยโดยรวมมากกว่า ‘ความเป็นอิสระ’ ภายใต้ความรับผิดชอบต่อประชาชนคนไทยและเศรษฐกิจไทย

หากจะกล่าวต่อ ผมยิ่งสงสัยใน ‘ความเป็นอิสระ’ ของผู้ว่าฯ ธปท. คนปัจจุบันในช่วงที่ออกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งเมื่อออกมาตรการเสร็จเธอก็รีบบินไปพักร้อนที่จังหวัดเชียงใหม่ทันที ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นการผิดวิสัยของคนที่ทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศชาติ เพราะหลังการประกาศมาตรการสำคัญๆ ผู้รับผิดชอบจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อเหตุฉุกเฉินหรือปัญหาไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นจากมาตรการ แต่ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันหลังประกาศมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เสร็จก็รีบหลบหน้าไป ก่อนที่หายนะกับตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเกิดตามหลังมาติดๆ โดยมูลค่าตลาดลดลงทันทีถึง 8 แสนล้านบาท และถึงปัจจุบันตลาดหุ้นไทยก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาถึงระดับที่ก่อนจะประกาศใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ได้

หลังจากการประกาศใช้มาตรการได้ 1 วัน เมื่อตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในภาวะโกลาหลอย่างหนัก จนบีบให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังในขณะนั้นต้องประกาศยกเลิก ที่น่าสนใจก็คือ เหตุใดในเวลานั้นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนปัจจุบันจึงไม่กล่าวทักท้วงกับการประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าว โดยกล่าวอ้างอิงถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ? เหตุใดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจึงปล่อยให้ฝ่ายการเมือง คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเข้าแทรกแซงนโยบายของแบงก์ชาติ?

... คำตอบที่ผมพอจะนึกได้ก็คือ แบงก์ชาติพร้อมจะเป็นอิสระจากรัฐบาล รองนายกฯ ผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจ รวมถึง รมว.คลังทุกคน ยกเว้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร

สิ่งที่น่าเกลียดที่สุดที่พิสูจน์ให้เราเห็นจากการออกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ก็คือ แบงก์ชาติไม่ได้คำนึงถึงความพร้อม ปัจจัยของเศรษฐกิจไทย และปฏิกิริยาของตลาดทุนและตลาดการเงินต่อการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวให้สมกับการเป็นองค์กรที่ทำงานสำคัญระดับประเทศเลยแม้แต่น้อย

มากกว่านั้น จนถึงขณะนี้แบงก์ชาติได้ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปแล้วราว 1 ล้านล้านบาทเพื่อภารกิจในการแทรกแซงค่าเงินบาท ซึ่งผลลัพธ์ที่พิสูจน์ชัดก็คือแบงก์ชาติล้มเหลวในการกดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนของการแทรกแซงค่าเงินให้ถี่ถ้วนแล้วก็จะเห็นได้ชัดว่า ไม่ได้มีเพียงแค่ต้นทุนทางตรงจำนวนล้านล้านบาทที่แบงก์ชาติใช้ไปเท่านั้น หากแต่ต้องคำนวณรวมเอาความเสียหายจากมาตรการที่ผิดพลาดของแบงก์ชาตินับเป็นต้นทุนเข้าไปด้วย เช่น ความเสียหายจากตลาดหุ้นไทย ความซบเซาของตลาดตราสารหนี้ ความซบเซาของธุรกิจกองทุนรวม การชะลอการกู้เงินต่างประเทศของธุรกิจในประเทศไทยเพื่อขยายการลงทุนในประเทศ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหากนำมานับรวมกันก็จะเห็นได้ว่าทะลุหลักล้านล้านบาทไปไกล หรือไม่แน่ว่าอาจจะทะลุหลัก 2 ล้านล้านบาทก็เป็นได้

ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้แต่ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องในตลาดเงินและตลาดทุนที่เสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยแทนการใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ...

ถึงตอนนี้เมื่อดูจากสัญญาณ เศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำอย่างรุนแรงเนื่องจากมีการชะลอตัวในการบริโภคและการลงทุน นักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคนก็ชักจะหวั่นใจแล้วว่า จะเป็นการสายเกินไปหรือไม่ที่จะดำเนินการกอบกู้เศรษฐกิจ เนื่องจากถึงปัจจุบันผู้ว่าฯ แบงก์ชาติก็ยังคงยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวว่าจะไม่ยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 และไม่ยืนยันว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ 0.25 ตามที่รัฐบาลและภาคเอกชนร้องขอ

ส่วนตัวผมเอง แม้ปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันหลายๆ อย่างจะผิดแผกไปจากเมื่อปี พ.ศ.2540 แต่พอเห็นสัญญาณทางเศรษฐกิจหลายๆ อย่าง ณ วันนี้ รวมถึงท่าทีของแบงก์ชาติก็อดคิดไม่ได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจกำลังจะหวนมาอีกครั้ง

สุดท้ายไม่ท้ายสุด ในเมื่อบทความนี้เริ่มต้นกล่าวถึงประวัติศาสตร์ ก็ขอจบลงที่ประวัติศาสตร์เช่นกัน ...

หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเคยเขียนเอาไว้ว่า ในปี พ.ศ.2527 สมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ผู้ว่าแบงก์ชาติในสมัยนั้น นายนุกูล ประจวบเหมาะ ดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาดและขัดกับนโยบายของรัฐบาลหลายประการ โดยหนึ่งในนั้นก็คือการยืนกรานไม่ลดค่าเงินบาท จนในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมหมาย ฮุนตระกูล ต้องสั่งปลดและตั้งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ ที่สำคัญก็คือดำเนินการลดค่าเงินบาท

ผลจากการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของรัฐบาลครั้งนั้น ได้นำพาให้เศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรมเดินหน้าต่อไปอย่างดี แม้ว่าในยุคของพลเอกเปรมจะมีผู้ก่อการปฏิวัติอยู่หลายครั้งหลายหน แต่ทุกครั้งการปฏิวัติก็ต้องประสบกับความล้มเหลวไป เพราะประชาชนไทยนั้นเชื่อมั่นการนำพาชาติของพลเอกเปรมที่มีผลงานคือ ‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ เป็นหลักฐาน!
กำลังโหลดความคิดเห็น