xs
xsm
sm
md
lg

เมาเหล้ากับเมาเซ็กซ์

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

.
คงรู้กันแล้วนะครับ ว่าตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายนเสียอีกที่หน่วยงานรัฐได้พยายามรณรงค์ให้คนไทยลดละเลิกการดื่มเหล้ามาอย่างต่อเนื่อง และที่โดดเด่นหลังรัฐประหารเรื่องหนึ่งก็คือ การพยายามออกมาตรการห้ามโฆษณาสุราผ่านสื่อต่างๆ

ผมขอไม่กล่าวถึงข้อคัดค้านต่างๆ ที่มีต่อการรณรงค์ในเรื่องนี้ เพราะโดยมากแล้วมักจะเป็นบทบาทของผู้ผลิตสุราที่กลัวสูญเสียผลประโยชน์ของตนแทบทั้งสิ้น

แต่ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนถึงก็เพราะผมไม่แน่ใจว่า การห้ามโฆษณาสุราที่ว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ โดยผลที่ว่านี้หมายถึงเป้าหมายหน่วยงานที่รณรงค์คาดว่า หลังจากออกมาตรการดังกล่าวไปแล้ว การดื่มเหล้าก็จะลดน้อยลงไปในหมู่คนไทย

ที่ผมตั้งคำถามเช่นนั้นไม่ใช่เพื่อที่จะคัดค้านมาตรการดังกล่าว ตรงกันข้ามผมออกจะเชื่อด้วยว่า คนที่คิดมาตรการนี้ออกมาคงได้ศึกษามาแล้วในระดับหนึ่งว่ามันจะได้ผล ส่วนที่ว่าจะศึกษาจากประเทศไหนหรือผ่านตัวแบบและเครื่องมือกลไกอะไรนั้น ผมไม่รู้

แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า มาตรการนี้ถูกคิดขึ้นมาบนสมมติฐานที่เชื่อว่า หากปิดหูปิดตาคนไทยไม่ให้ได้ยินหรือได้เห็นอะไรที่เกี่ยวกับสุราแล้ว คนไทยก็คงจะห่างไกลจากการถูกเย้ายวน (จากโฆษณา) ออกไปเรื่อยๆ

และพอความห่างไกลนั้นถูก “ผลิตซ้ำ” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คนไทยก็จะไม่คิดถึงสุราอีก หรือถ้าคิดถึงก็น้อยลงกว่าแต่ก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่นึกอยากที่จะดื่มไปเอง เพราะตัวเองไม่ถูกเย้ายวนแล้ว

นอกจากนี้ มาตรการที่ว่ายังหวังผลไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่รู้จักสุราเลยอีกด้วย คือสังคมไทยในอนาคต เด็กรุ่นใหม่จะไม่ได้สัมผัสสื่อโฆษณาสุราอีกต่อไป ดังนั้น เด็กไทยในอนาคตก็จะไม่รู้จักสุรา และทำให้ความคิดที่อยากจะลองอยากจะรู้จักเกิดได้น้อยลง หรือไม่ก็ไม่เกิดเลย

สมมติฐานข้างต้นนี้ง่ายดีนะครับ ง่ายจนผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้ามันง่ายอย่างนั้นแล้วทำไมหน่วยงานที่รณรงค์จึงเพิ่งจะคิดออก หรือว่าคิดออกนานแล้วแต่ไม่มีจังหวะเสนอ ต้องรอให้ตนมีโอกาสหรือมีอำนาจอยู่ในมือเสียก่อนจึงจะลงมือปฏิบัติการ ซึ่งก็ให้บังเอิญว่าจังหวะที่ว่านี้ดันผ่าได้มาด้วยการรัฐประหารเสียด้วย

ถ้าไม่ฉวยโอกาสตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะฉวยตอนไหนอีกแล้ว เพราะรู้กันอยู่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นย่อมยากที่คลอดมาตรการนี้ออกมาใช้ได้ง่ายๆ ด้วยว่ามักจะเป็นรัฐบาลของกลุ่มทุน และมักมีผลประโยชน์จากธุรกิจสุราไม่โดยตรงก็โดยอ้อม แต่จะยากหรือจะง่ายก็ช่างเถิด เอาเป็นว่าตอนนี้มาตรการนี้จะต้องถูกประกาศใช้แน่ๆ

แต่ที่ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าจะได้ผลจริงนั้นก็อยู่ตรงที่ผมรู้สึกว่า มาตรการนี้ออกจะคล้ายๆ กับการห้ามเผยแพร่สื่อลามกอนาจารยังไงอยู่ ถึงแม้มันจะไม่ชัดเจนเท่าก็ตาม

และด้วยเหตุที่ผมรู้สึกและคิดเห็นเช่นนั้น ผมจึงจำต้องมองประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยมานานหลายปีดีดัก ว่าการห้ามเผยแพร่สื่อลามกนั้นได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งในที่นี้ผมคงไม่ต้องเท้าความว่าเขาห้ามกันอย่างไรบ้าง ขอละเอาไว้ในฐานที่รู้และเข้าใจกันอยู่แล้ว

การห้ามเผยแพร่สื่อลามกนั้น หากดูเผินๆ แล้วก็เหมือนกับว่าจะมีความชัดเจนและชอบธรรมมากกว่าการห้ามเผยแพร่โฆษณาสุรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางจริยธรรม ส่วนเหตุผลของการห้ามนั้นก็ไม่ต่างกัน คือไม่ต้องการให้ภาพลามก (หรือที่ถูกมองว่าลามก ทั้งที่อาจเป็นภาพศิลป์) มาเย้ายวนจิตใจของผู้คน ซึ่งอาจจะทำให้ชีวิตหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเซ็กส์

จะต่างกันก็แต่ว่า การมีเซ็กซ์ให้ความสุขชัดเจนและง่ายกว่าการดื่มสุราเท่านั้น เพราะการที่จะแล้วรู้สึกสุขนั้นจะต้องผ่านความหวานอมขมกลืนก่อนในเบื้องต้น ด้วยรสชาติของสุรามีทั้งหวานทั้งขมปนๆ กันไป คนที่ทดลองดื่มตอนแรกๆ ย่อมไม่รู้สึกเป็นสุขมากนัก

บางคนถึงกับสำรักออกมา บางคนก็ไม่อยากแตะมันอีก ส่วนคนที่แตะจนรู้สึกอร่อยและเป็นสุขนั้นก็ยังมิวายที่จะมีอาการมึนเมา หรือแฮงก์จนปวดหัวในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ยังไม่นับบางคนที่ไปมีเรื่องมีราวหรือเสียการเสียงานอีกต่างหาก

ต่างกับการมีเซ็กซ์อย่างลิบลับ

แต่เอาล่ะ...ไหนๆ เราก็ว่ากันเฉพาะคนที่ดื่มสุราแล้ว ยังไงก็ต้องยอมรับกันว่าคนที่ดื่มเขามีความสุขก็แล้วกัน ส่วนจะมากหรือจะน้อยกว่าการมีเซ็กซ์ หรือจะชอบการดื่มมากกว่าการมีเซ็กซ์ยังไง ก็ช่างเถิด แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การห้ามโฆษณาสุรานั้นดูยังไงๆ ก็ไม่ต่างกับการห้ามโฆษณาสื่อลามกจริงๆ

แล้วจากหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น การห้ามเรื่องสื่อลามกได้ผลในเชิงยกระดับมาตรฐานทางศีลธรรมในสังคมไทยหรือไม่? ผมว่าถ้าเราไม่โกหกตัวเองและไม่ดัดจริตกันจนเกินไปแล้วก็ต้องสารภาพกันตรงๆ ว่า ไม่

และที่ไม่ได้ผลก็เพราะมันเข้าทำนองยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ คือยุให้อยากรู้ อยากเห็น และอยากลอง

และพอได้ลองก็ติดใจ ครับ, ไม่เห็นจะต่างกับการดื่มตรงไหนเลย (ยกเว้นความต่างที่ผมได้ว่าไปแล้ว) ตรงนี้เองที่ทำให้ผมอดคิดถึงสมัยตอนที่ตัวเองยังเป็นเด็กไปไม่ได้ สมัยนั้นอย่าว่าแต่ทีวีเลยนะครับ แค่วิทยุก็ยังนับบ้านได้ว่าบ้านไหนมีไม่มี ฉะนั้น สื่อลามกที่ถูกแอบเผยแพร่จึงเป็นหนังสือปกขาว ซึ่งมีระบบการพิมพ์ที่บอกได้คำเดียวว่า ห่วยมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือที่เลอะๆ เลือนๆ หรือภาพ (ลามก) ที่เบลอๆ และมัวซัวเอามากๆ

แต่ด้วยความที่อยากรู้อยากลอง เด็กๆ อย่างพวกเราจึงต้องแอบอ่านไม่ให้ครูเห็น (นี่แสดงว่าเราอ่านกันที่โรงเรียน และเจ้าเพื่อนคนที่เป็นเจ้าของหนังสือปกขาวมาก็มักจะได้รับการซูฮกจากเพื่อนๆ ไปด้วย) ที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อก็คือ ขนาดคุณภาพการพิมพ์ห่วยแตกเอามากๆ แต่ (เด็ก) ทุกคนกลับมีจินตนาการบรรเจิดยิ่งกว่าการได้ดูหนังสือที่มีคุณภาพการพิมพ์ดีไม่รู้จักกี่เท่าต่อกี่เท่า

ยิ่งตอนนี้ไม่ต้องพูดถึง ผมว่าหากเราไม่ดัดจริต (อีกครั้ง) เราก็ต้องยอมรับมาเสียดีๆ ว่า สื่อลามกในทุกวันนี้ไม่เพียงจะเข้าถึงได้ง่ายเท่านั้น หากแม้แต่เรื่องเซ็กซ์ที่สามารถเปิดเผยกันได้นั้น หากอ่านดูดีๆ แล้วก็จะเห็นว่า หลายเรื่องไม่เห็นจะต่างกับการอ่านหนังสือปกขาวตรงไหน

จนผมอยากจะบอกว่า กฎหมงกฎหมายที่ห้ามเผยแพร่สื่อลามกนั้นไม่มีความหมาย มีก็เหมือนไม่มี

ฉันใดก็ฉันนั้น หากการห้ามโฆษณาสื่อลามกเป็นเรื่องที่ดัดจริต การห้ามโฆษณาเหล้าเบียร์ก็ไม่น่าจะต่างกันตรงไหน ยิ่งสุราสามารถวางขายได้อย่างเปิดเผย (ถึงแม้จะดัดจริตกระมิดกระเมี้ยนก็ตาม) มากกว่าสื่อลามก (บางประเภท) ด้วยแล้ว การห้ามการโฆษณาก็จะยิ่งส่งผลในด้านกลับมากขึ้น นั่นคือ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

ตรงนี้เองที่ผมตั้งเป็นประเด็นคำถามขึ้นมาว่า การรณรงค์ด้วยมาตรการนี้ไม่แน่ว่าจะได้ผล

พอเป็นเช่นนี้ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้ใหญ่ที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมานั้นหลายคนขึ้นชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีคนหนึ่งของสังคมไทย ถ้าเช่นนั้นแล้วท่านก็ย่อมรู้ดีว่า การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม พระพุทธองค์ทรงสอนให้แก้ที่ต้นเหตุมิใช่หรือ แต่ไหงท่านจึงมาแก้ที่ปลายเหตุเล่า

ผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า ต้นเหตุที่ว่านั้นคืออะไร หรือประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
กำลังโหลดความคิดเห็น