xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกข้ามชาติ หายนะประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

วันอังคารที่ 20 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมาตัวแทนสมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกต่างชาติ ประมาณ 1,300 คน เดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย

สาเหตุที่พี่น้องพ่อค้าประชาชนต้องเดินทางมาเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากการที่ห้างค้าปลีกต่างชาติมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตชุมชนและสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นฐานรากของเศรษฐกิจพอเพียง

สิ่งที่พี่น้องพ่อค้าประชาชนไม่ได้ต้องการอะไรมากขอเพียงแค่ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการยับยั้งการขยายสาขาของห้างค้าปลีกต่างชาติ ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ค้าปลีกหรือกฎหมายอื่นที่เป็นธรรมมาบังคับใช้

มาตรการเร่งด่วนที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ตอนนี้ คือกฎหมายผังเมือง แต่ประกาศกรมโยธาธิการที่ดูแลพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2549 ตรงนี้เองกลายเป็นช่องว่างทำให้ห้างชาติรุกคืบขยายสาขา จาก 24 จังหวัด เพิ่มมาเป็น 57 จังหวัด 123 อำเภอ โดยอาศัยช่องว่างกฎหมายขณะนี้

วันที่ 19 มกราคม 2550 กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ดำเนินการออกประกาศฯ ดังกล่าว แต่ไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดใดดำเนินการ

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 กลุ่มผู้นำองค์กรและประชาชนผู้สนับสนุนการค้าปลีก ค้าส่งรายย่อยโดยคนไทยทั่วประเทศยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนอยู่

วันที่ 6 มีนาคม 2550 สมาพันธ์ฯ โดยตัวแทนจากทุกภาคของประเทศ สมาคมการค้าส่งค้าปลีกไทยและหอการค้าไทยได้เข้าพบปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปลัดกระทรวงฯ ได้รับปากว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน

วันที่ 20 มีนาคม 2550 สมาพันธ์ และพี่น้องพ่อค้าประชาชนได้มาทวงถามและขอทราบความคืบหน้า อาจเป็นเพราะกระแสกดดันที่ทำให้วันนี้เอง ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือลงนาม ด่วนที่สุดที่ มท. 0710/ว 945 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่ง ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดยกเว้นกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และ ภูเก็ต

ส่งผลให้การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการผังเมืองระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตอาคารพาณิชยกรรมค้าปลีกค้าส่ง ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป แล้วขอให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินเกี่ยวกับอาคารพาณิชยกรรมค้าปลีกค้าส่ง

เพราะ ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ที่อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเจ้าพนักงานการผังตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้พิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจและความหนาแน่นของชุมชน โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการผังเมืองระดับจังหวัดก่อน

แต่เรื่องก็เงียบหายไปกับสายลม

ข้อเท็จจริงค้าปลีกค้าส่งมีสัดส่วนถึง 1 ล้านล้านบาท ประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ แม้แต่ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญเรื่องค้าปลีกค้าส่ง บอกว่ามีคนทำงานในค้าปลีกค้าส่งถึง 15 % ของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด และตระหนักดีว่าการแข่งขันเริ่มรุนแรงขึ้น อุตส่าห์เป็นห่วงพ่อค้าแม่ค้าว่าจะปรับตัวไม่ทัน บอกว่ากระทรวงพาณิชย์จะจัดระเบียบการแข่งขันที่เป็นธรรม สนับสนุนให้มีผู้ประกอบการมากๆ ไม่ว่าจะเป็น modern trade, supplier, ค้าปลีกค้าส่งไทย ให้ทั้งหมดนี้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลได้หรือไม่ แล้วยังเชื่อว่าพวกค้าปลีกข้ามชาติไม่มีทางตีหัวเข้าบ้าน มีความรับผิดชอบต่อสังคม ห้างเหล่านี้อยากเห็นความสุขเกิดกับผู้บริโภค ไม่เคยมีป้ายมาชูขอให้ออกไปจากพื้นที่เลย เห็นได้ว่ามีความเป็นประชากรธุรกิจที่เอื้ออาทรต่อกัน

ผมอยากจะบอกคุณเกริกไกรว่า แค่คิดก็ผิดแล้วครับ

การคิดอย่างนั้นตื้นเกินไป แล้วท่านไม่เห็นเลยหรือไรว่า พี่น้องประชาชนเขาออกมาประท้วงต่อต้านกันหลายปีแล้ว ถ้าท่านลองไปศึกษาข้อมูลของห้างค้าปลีกต่างชาติเหล่านี้ให้ดี ท่านจะพบว่า ห้างเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักหรือขอบคุณเงินภาษีของคนไทยเลย

อีกทั้งร้านค้าปลีกค้าส่งของประเทศไทยจำนวน 4 แสนกว่ารายทั่วประเทศ ก็มีการกระจายกันเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีทางต่อกรหรือรับมือกับห้างขนาดยักษ์ได้ เพราะเป็นปัญหาของระบบ คือความสามารถของระบบที่ไม่เท่าเทียมกัน พลังการต่อรองที่แตกต่างกัน พลังการซื้อก็ต่างกันมาก นั่นคือ สายป่านยาวต่างกันไม่ทันกัน การคานอำนาจไม่ทันกัน สิ่งที่สำคัญคือพลังเงินที่แตกต่างกันอย่างฟ้ากับดิน

ถึงแม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้มีการออก พ.ร.บ.ค้าปลีก แต่การออกกติกาให้คนที่มีความแตกต่างกันมาต่อสู้ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันอย่างเดียวกัน ในโลกของความเป็นจริงไม่มีทางที่คนที่อ่อนแอจะสู้คนที่แข็งแรงกว่าได้ และการเอากิจการทั้งหมดมารวมกันไม่คำนึงถึงขนาด ก็จะเป็นไปตามหลักการปลาใหญ่กินปลาเล็ก ร้านค้าปลีกขนาดเล็กก็จะล้มหายตายจากปิดตัวไปในที่สุด

การแก้ปัญหาตอนนี้ก็เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะสาเหตุลึกๆจริงๆมาจากปี 2541 ที่ประเทศไทยเรามีนักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์เฉพาะตนไม่คำนึงถึงประเทศชาติ ต้องการเป็นผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO แต่ติดขัดด้วยคุณสมบัติของตน ที่มีข้อหนึ่งว่าต้องเป็นผู้มีความเชื่อมั่นและส่งเสริมการค้าเสรีและระบบการค้าพหุภาคี จึงมีการเร่งรัดผลักดันให้ประเทศไทยเปิดการค้าเสรี โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมไม่พร้อมของประเทศชาติ หรือบริบทของประเทศ

ทั้งที่ความเป็นจริงตามหลักการเปิดการค้าเสรีในพิธีสาร ภาคที่ 4 ข้อ16 เรื่องการเจรจาเกี่ยวกับข้อผูกพันพิเศษ ก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กระบวนการการเปิดการค้าเสรีทั้งหมดและแต่ละภาคควรมีขึ้นด้วยความเคารพในวัตถุประสงค์แห่งนโยบายชาติและลำดับขั้นของการพัฒนาของแต่ละประเทศสมาชิก ควรให้มีความยืดหยุ่นอย่างเหมาะสมแก่ประเทศภาคีที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่ละประเทศเพื่อค่อยๆ เปิดการค้าเสรีทีละภาคในบางกิจการ ค่อยๆ ขยายการเปิดตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการพัฒนาประเทศ เละเมื่อการเปิดตลาดนั้นเอื้อต่อผู้ให้บริการต่างชาติให้มีการตั้งเงื่อนไขการเข้าตลาดได้ โดยมุ่งที่จะบรรลุวัตถุประสงค์

หมายความว่า วิธีการเปิดการค้าเสรีแบบทีละขั้นควรดำเนินการล่วงหน้าในแต่ละรอบด้วยวิธีการเจรจาแบบทวิภาคีหรือพหุภาคี มุ่งสู่การเพิ่มขึ้นในลำดับทั่วไปของข้อผูกพันพิเศษกระทำโดยประเทศภาคีแห่งข้อตกลง ถ้าการเปิดเสรีการค้ากระทบต่อประเทศ เราก็สามารถออกกฎหมายเพื่อควบคุมได้ แล้วยังเป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติอีกทางหนึ่ง

แต่นักการเมือง ผู้บริหารประเทศเรากลับไม่ทำเช่นนั้น เพราะไม่อยากขัดผลประโยชน์ผู้ให้การสนับสนุนด้านธุรกิจการเมือง หรือหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจนละทิ้งการปกป้องผลประโยชน์ของคนในชาติ

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลทักษิณ กลับซ้ำเติมรังแกพี่น้องพ่อค้าประชาชนคนไทย ด้วยการสนับสนุนให้มีการเปิดเสรีการค้าให้ต่างชาติสามารถเข้ามาแย่งการทำมาหากินต่างๆ ของคนไทย ตั้งแต่ภาคการบริการ ขายปลีก ก่อสร้างฯ นั่นคือการยกเลิก ปว. 281 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปกป้องการทำมาหากินของคนไทยให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้

มีการออก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวขึ้นมาแทน โดยมีเนื้อหาและสาระเปรียบเสมือนการเปิดประตูให้ต่างชาติสามารถเข้ามาแย่งการทำมาหากินของคนไทย

จากกฎหมายดังกล่าวการทำมาหากินของพ่อค้าประชาชนด้านค้าปลีกค้าส่งและภาคบริการอื่นๆ ถูกต่างชาติที่มีทุนมากกว่าเข้ามายึดครอง และมักกล่าวอ้างว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์ บอกว่าจะซื้อของที่ถูกที่มีคุณภาพ ในความเป็นจริงก็มีสินค้าทั้งถูกทั้งแพงคละเคล้ากันไป ยิ่งเมื่อจะเปิดสาขาใหม่ๆ จะเอาสินค้าถูกๆ มาขายก่อนและค่อยขึ้นราคาทีหลัง

บทเรียนจากการเปิดเสรี ที่ทุนข้ามชาติทำลายประเทศให้หายนะถึงขั้นล้มละลาย เราก็เห็นอยู่ เช่น ประเทศ อาเยนติน่า ผู้บริโภคอยู่ภายใต้อำนาจของห้างค้าปลีกต่างชาติ ปัจจุบันสินค้าราคาอุปโภคบริโภคขึ้นราคามากกว่า 50 % ทั้งๆ ที่ประชาชนกำลังจะอดตายนับล้านๆ คน ประชาชนว่างงานจำนวนมหาศาล

หลายประเทศเขาไม่ยินยอมให้ห้างค้าปลีกต่างชาติเข้ามาในประเทศ ดังเช่น ประเทศนอร์เวย์ อิสราเอล ทั้งๆ ที่เข้าก็เป็นสมาชิก WTO หรือบางประเทศมีธุรกิจประเภทนี้แต่รัฐบาลเขามีกฎเข้มงวดไม่ให้ขยายตัว จนกระทบกับเศรษฐกิจในชุมชน

ถ้าประเทศไทยเรายังไม่รีบสรุปบทเรียน ยังหลงระเริงอยู่กับการใช้จ่ายเงินกับห้างค้าปลีกต่างชาติโดยไม่คิดว่าเขาทำลายเศรษฐกิจช่องทางทำมาหากินของเพื่อนร่วมชาติ ห้างค้าปลีกต่างชาติเหล่านี้จะขนเงินกำไรกลับประเทศ ประเทศไทยเราก็จะมีสภาพเหมือนดังประเทศอาเจนตินาตอนนี้

การแก้ปัญหาสามารถทำได้ ถ้าภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยห้ามกิจการค้าปลีกต่างชาติขยายตัวมากไปกว่านี้ ไม่ใช่ให้เขาตอกเสาเข็ม เปิดสาขากันทุกวัน ต่อมาต้องใช้อำนาจรัฐออกกฎหมายให้กิจการเหล่านี้หดตัวลง ขณะเดียวกันเราก็รวมกลุ่ม ทำให้เกิดร้านค้าในรูปแบบสหกรณ์ มีการจ่ายเงินปันผลคืนกำไร รับรองกิจการร้านค้าของไทยจะสามารถฟื้นกิจการได้ และยังตรงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น