xs
xsm
sm
md
lg

แด่..สยามหนุ่มคนสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

คืนวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2550 ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ จะเป็นคืนสุดท้ายที่บุญชู โรจนเสถียร จะอยู่ในแวดวงของญาติสนิทมิตรสหาย ผู้ที่รักคุ้นเคยที่ไปกล่าวคำอำลา

ก่อนที่เขาจะละสังขารจากโลก และประเทศไทยอันเป็นสุดที่รักของเขาไป

บุญชู โรจนเสถียร เป็นบุคคลที่ผมรัก นับถือ และเคารพมาก ทั้งสามอย่างพร้อมๆ กัน มีไม่มากคนนักที่ผมจะมีความรู้สึกพร้อมอย่างนี้ ทั้งๆ ที่หลายครั้งในชีวิต เราสองคนจะยืนอยู่บนเส้นขนานที่ไม่มีวันจะบรรจบกัน

แต่ความเป็นกัลยาณมิตรไม่เคยลดถอยหรือเปลี่ยนแปลงเลย

บุญชู โรจนเสถียร อาจจะเป็นอะไรๆ ของใครๆ ต่างกรรมต่างวาระกัน เช่น เป็นนายธนาคารมืออาชีพ เป็นบอสตัวจริงผู้สร้างธนาคารกรุงเทพ เป็นซาร์เศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นนักบัญชีตัวยง เป็นเลขาธิการผู้ก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็นผู้นำขี้เหนียว เป็นลูกกะโล่ของเผด็จการทหาร เป็นคนจองหองและดูถูกคน เป็นนักประชานิยมประชาธิปไตย ฯลฯ

ทั้งนี้ แล้วแต่อุปาทาน ผลประโยชน์และปฏิสัมพันธ์เฉพาะระหว่างกัน

แต่สำหรับผมแล้ว บุญชู โรจนเสถียร คือ นักเรียนในที่ยิ่งกว่านักเรียนนอก เป็นปัญญาชนที่ยิ่งกว่าปัญญาชน เป็นนักวิจัยที่ยิ่งกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รักความเป็นธรรมที่ยิ่งกว่านักบุญ เป็นผู้ที่รักและเห็นใจชาวนามากกว่ารัฐมนตรีเกษตรทุกคนรวมกัน เป็นผู้มีสายตาไกล เป็นผู้ที่เชื่อและมองเห็นศักยภาพในการพัฒนาของประเทศไทย เป็นมืออาชีพที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เป็นนักฝันที่ตลอดชีวิตเหมือนกับยังไม่เคยพ้นวัยเยาว์

ในสายตาของผม บุญชู โรจนเสถียร คือ “สยามหนุ่ม” คนสุดท้ายของแผ่นดินไทย

ในถนนสายความฝัน บุญชู โรจนเสถียร กับผมต่างก็ล้มเหลวด้วยกัน บางครั้งก็เป็นเพราะเราไม่สามารถร่วมมือกันได้หลายครั้ง ทั้งๆ ที่เราทั้งคู่จับมือกันแน่น แต่ก็ไม่สามารถทำให้สังคมไทยร่วมมือกับเราได้

ผมอยากจะเล่าความสัมพันธ์ของผมกับบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งไม่เคยมีใครได้ยินและไม่เหมือนใครให้ฟัง

ผมพบกับบุญชู โรจนเสถียรครั้งแรกในฐานะผู้รักธรรมศาสตร์ เมื่อเราทั้งคู่เป็นกรรมการสรรหาอธิการบดีด้วยกัน ถ้าผมจำไม่ผิดในปี 2514 กรรมการอีก 2 คนที่ผมจำได้คือ มารุต บุนนาค และ สังเวียน อินทรวิชัย

ยุคนั้น “ถนอม-ประภาส” เป็นใหญ่ ใครๆ ก็กลัวสองจอมพล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพลประภาส ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประธานธนาคารกรุงเทพของบุญชูอีกด้วย

ในการสรรหาครั้งนั้นมีแคนดิเดต 2 คน คืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์กับอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการสรรหาบันทึกว่าอาจารย์สัญญาได้รับเลือกเป็นเอกฉันท์ เพราะอาจารย์ป๋วยถอนตัว

ผมเห็นว่าบันทึกนั้นไม่จริงทั้ง 2 ประการ จึงทำการประท้วง ผมมิได้คัดค้านการเสนอแต่งตั้งอาจารย์สัญญา แต่ประท้วงการโกหกทั้ง 2 ประการข้างต้น ซึ่งหากคณะกรรมการจะดันทุรังทำไปก็จะต้องมีชื่อผมคัดค้านบันทึกไว้ด้วย ผมกับบุญชู โรจนเสถียรโต้กันอย่างรุนแรง

ผมจะไม่ใช้คำว่ามีปากเสียงหรือการโต้แย้งเพราะมันไม่ใช่ ในที่สุด ผมทนไม่ได้ก็เขียนบทความเป็นภาษาฝรั่งไปลงหนังสือพิมพ์เนชั่น ประณามว่าคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โกหก ตกอยู่ใต้อาณัติและกลัว “ถนอม-ประภาส” จึงยอมเลือกอาจารย์สัญญาตามใบสั่ง และทำบันทึกการประชุมเท็จ

บุญชู โรจนเสถียรโทรศัพท์มาหาผม พูดเป็นภาษาฝรั่งว่า “ I am sorry” หลังจากนั้นเราก็กลายเป็นเพื่อนกัน

เขาเป็นรุ่นพี่และแก่กว่าผมหนึ่งรอบ เวลาคุยกันจึงมักใช้สรรพนามว่า ยูกับไอ หรืออย่างดีก็ เรากับนาย ซึ่งฟังดูเสมอภาคหน่อย แต่ผมก็ไม่เคยลามปามไปใช้สรรพนามภาษาไทยกับบุญชู

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บุญชู โรจนเสถียร กับผม ต่างก็เป็นสมาชิกสมัชชาสนามม้าและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยกัน แต่เราก็มีโอกาสคุยกันเพียงผิวเผิน ผมเองก็ยุ่ง เพราะต้องเป็นทั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งต้องช่วยนายกฯ สัญญา รวมทั้งดูแลเรื่องนักศึกษา คนงานและปัญหาภาคใต้ให้รัฐบาลอีกด้วย

ในวันประชุมสภา ผมติดกลุ่มไปกินข้าวกลางวันกับอาจารย์ป๋วย พันเอกถนัด คอมันตร์ และดร.บุณย์ เจริญชัย ดูเหมือนทั้งกลุ่มจะมิได้สังกัดดุสิต 99 ซึ่งเป็นนักธุรกิจชั้นสูง นำด้วย “เฮียเสม” หรือซูเปอร์เค เกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ผมจำไม่ได้แน่แต่เข้าใจว่าบุญชู สังกัดกลุ่มหลังนี้ เรียกว่าอยู่คนละฝั่งทางจุดยืน เราจึงไม่ค่อยจะได้คุยกัน

ผมทราบว่าบุญชูวางแผนจะตั้งพรรคกิจสังคม ทีแรกมาทาบทามเชิญอาจารย์ป๋วยเป็นหัวหน้า เมื่อไม่สำเร็จจึงได้ผู้ที่เต็มใจและเหมาะสมกว่าคืออาจารย์คึกฤทธิ์ อาจารย์คึกฤทธิ์ชวนผมเข้ากิจสังคมแต่บุญชูไม่เคยเลย บุญชูคงทราบดีจากมือซ้ายมือขวาของเขาคือสุธี นพคุณ และพร สิทธิอำนวย ซึ่งบุญชูส่งไปประกบรับใช้อาจารย์คึกฤทธิ์อย่างใกล้ชิด พรเป็นคนที่ชื่นชมพรรคพลังใหม่ที่ผมสังกัดอย่างออกนอกหน้า จนทำให้คนอื่นรวมทั้งอาจารย์คึกฤทธิ์หมั่นไส้ ส่วนสุธีเป็นคนโผงผางและอวดดี เรารู้ไส้กันดี ผมว่าสุธีให้ข้อมูลเกี่ยวกับพลังใหม่ผิด จึงเป็นเหตุประกอบข้อหนึ่งที่ทำให้อาจารย์คึกฤทธิ์ประกาศยุบสภา เลยทำให้พรรคกิจสังคมกับอาจารย์คึกฤทธิ์หลุดวงจรการเมืองไทยไปอย่างน่าเสียดาย

อาจารย์คึกฤทธิ์ บุญชู และประกายเพชร อินทุโสภณ มาที่บ้านหมอประสาน ต่างใจ รองหัวหน้าพรรคพลังใหม่ นำเทียบมาเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล กิจสังคมน่าจะทราบหรือจะไม่ทราบว่าพลังใหม่เป็นพรรคเฉพาะกิจหรือพรรคตัวประกันตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร โดยผู้นำสัญญากันแต่ต้นว่าจะไม่มักใหญ่ใฝ่สูงเข้าร่วมรัฐบาล จนกว่าบ้านเมืองจะเข้ารูปเข้ารอย

เรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่กลางรัฐบาลสัญญาเมื่อพลเอกกฤษณ์ ขออนุญาตปฏิวัติเพื่อป้องกันอำนาจเก่าคืนอำนาจกลับมาสังหาร จึงขอให้อาจารย์ป๋วยรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เจรจากันถึง 5 ยกอาจารย์ป๋วยยืนยันว่าชาตินี้จะไม่รับตำแหน่งการเมือง หากรัฐธรรมนูญไม่บังคับสังกัดพรรคอาจจะสมัครเป็นผู้แทนธรรมดาๆ เพื่อช่วยแสดงความคิดเห็น

เจรจากันครั้งสุดท้ายที่บ้านพลเอกประจวบ สุนทรางกูร ซอยพาสนา เอกมัย บัดนี้พลเอกกฤษณ์ พลเอกประจวบ อาจารย์ป๋วยจากไปแล้ว ยังเหลืออยู่ 2 คนคือพลโทวิทูร ยะสวัสดิ์กับผม คงยืนยันได้ว่าอำนาจเก่าจะกลับมาปฏิวัติแน่ และพลเอกกฤษณ์จะถูกกำจัดก่อนเพื่อน ถ้าอาจารย์ป๋วยไม่ยอมเล่นการเมือง อย่างน้อยควรหนุนให้ปัญญาชนและพวกน้ำใหม่ลงมา ตนจึงจะไม่ปฏิวัติ

นี่คือความจำเป็นและต้นกำเนิดของพรรคพลังใหม่ เมื่อหวนมาคิดว่าวันที่คณะปฏิรูปยึดอำนาจใน 6 ตุลามหาโหดนั้น พลโทวิทูร ซึ่งเป็นมือขวาของพลเอกกฤษณ์ (ซึ่งถึงอนิจกรรมไปก่อน) แทบเอาชีวิตไม่รอดถ้าพลเอกเกรียงศักดิ์ไม่ช่วย ด้วยการเนรเทศไปญี่ปุ่นภายใน 12 ชั่วโมง

ภายหลังผมเล่าเรื่องนี้ให้บุญชูฟัง ผมไม่ทราบว่านี่เป็นอีกเหตุหนึ่งหรือไม่ที่บุญชูหวาดเกรงอำนาจทหารอยู่ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในวงการเมือง

พรรคพลังใหม่ลงคะแนนไม่ไว้วางใจพรรคกิจสังคม เพราะเห็นว่าพรรคที่มีเพียง 18 คะแนนเสียงและไม่มีนโยบายต่างกันมากมาย ไม่น่าจะล้มพรรคประชาธิปัตย์ อันจะเป็นเหตุให้การเมืองอ่อนแอเปิดช่องให้ทหาร พลังใหม่ไม่ออกเสียงเรื่องเงินผันแต่สนับสนุนว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่จะต้องเตรียมพร้อมในการปฏิบัติมากกว่าที่เป็น พลังใหม่สนับสนุนการรักษาฟรีแต่คัดค้านรถเมล์ฟรี ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายประชานิยมของพรรค “เราทำได้” ของอาจารย์คึกฤทธิ์ ตอนนั้นพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นลูกกระจ๊อกนั่งหน้าห้องถือกระเป๋าให้ รมต.ปรีดา พัฒนถาบุตร

ผมจำได้ว่าเมื่อฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และนำชื่อพลังใหม่ไปร่วมรัฐบาลใหม่โดยพลการ ผมได้คุยให้บุญชูฟังและบอกว่าอย่ากลัวว่าจะแพ้เลย ถ้าหากรัฐบาลยอมสละประชานิยมสักหนึ่งอย่างเช่นเรื่องรถเมล์ฟรีพลังใหม่จะยกมือให้รัฐบาล

การอ่านการเมืองผิดและความหลงว่าประชาชนชื่นชมประชานิยมทำให้อาจารย์คึกฤทธิ์ตัดสินใจยุบสภา และประณามผู้แทนราษฎรอย่างสาดเสียเทเสีย เป็นข้ออ้างคลาสสิกให้ทหารและนักวิชาการแอนตี้นักการเมืองมาจนนกระทั่งถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

ตั้งแต่การยุบสภาครั้งนั้น ชีวิตการเมืองของบุญชู โรจนเสถียร ลุ่มๆ ดอนๆ ตลอดมา ไปตั้งพรรคการเมืองกิจประชาคมก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมก็ถูกทรยศ บุญชูได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกหลายครั้ง ไม่มีรัฐบาลใดยอมให้บุญชูได้แสดงฝีมืออย่างจริงจังเลย

บุญชู โรจนเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลเปรม แต่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อเทเลกซ์อัปยศเรื่องซื้อขายน้ำมัน ซึ่งมิใช่ความผิดของเขาเลย ครั้งนั้นผมหนีไปอยู่อเมริกา 6-7 ปี ได้ส่งข่าวมาปรึกษาบุญชูว่า ครูนับวันแต่จะตกเป็นหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีลูกค้าดีที่สุดในโลกไม่มีการเบี้ยวหนี้เลย เพราะกฎหมายบังคับให้หักเงินเดือนใช้หนี้ ก็กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือให้นายทุนผ่านเงินกู้ เพราะสหกรณ์หมดเค้า

หากบุญชูสามารถเข้าไปช่วยปรับปรุงสหกรณ์ครูให้เหมือนธนาคารท้องถิ่น โดยเพิ่มบริการธนาคารและประกันภัยบางอย่างให้ก็จะเป็นคุณต่อประเทศ บุญชูก็เต็มใจและแข็งขันไปเรียกประชุมและจัดระดมสมอง เป็นประธานให้เอง ในที่สุดเมื่อบุญชูพ้นตำแหน่งก็ไม่สามารถต้านทานความเห็นแก่ตัวและผูกขาดของระบบธนาคารได้ อย่างดีธนาคารก็ให้สหกรณ์กู้เงินเพิ่ม เพื่อส่งเสริมการบริโภคของครู ทำให้ครูจมหนี้สินมากขึ้น

เมื่อครั้งบุญชูเป็นรองนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังธรรม ดูไบกำลังมีโครงการจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกในตะวันออกกลาง ตอนนั้นผมไปอยู่ที่ลอนดอน ได้พาเจ้าจากดูไบมาเยี่ยมและทานข้าวกับบุญชูและลูกน้องในกระทรวงพาณิชย์ ดูไบได้เสนอให้สถานที่ขอให้ไทยไปเปิดโกดังสินค้าขนาดใหญ่ เอาสินค้าทุกชนิดไปตุนไว้ที่นั่น จะเกิดความสะดวกในการระบายขายให้ตะวันออกกลางและแอฟริกา ที่ถึงแม้จะมีเงินก็ไม่ซื้อทีละมากๆ เพราะส่วนใหญ่มีประชากรน้อย บุญชูตื่นเต้นมากและเต็มใจจะผลักดันเต็มที่ แต่เป็นกรรมของประเทศไทยที่บุญชูถูกเขี่ยลงจากตำแหน่งก่อนที่จะทำสำเร็จ

ผมเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่มีโอกาสติดรถสนธิไปแสดงความเคารพ และอำลาบุญชูที่หัวหิน เลยต้องมานั่งเขียนในนี้แทน

สองครั้งสุดท้ายที่ผมได้คุยกับบุญชู โรจนเสถียร อย่างช่ำใจก็คือที่ลอนดอน เมื่อบังเอิญพบกันในถนน ในปีแรกของสหัสวรรษคือปี 2000 และเมื่อ 2 ปีที่แล้วเมื่อนาวี รังสิวราลักษณ์ ผู้เขียนชีวประวัติบุญชู โรจนเสถียร เชิญผมไปเปิดตัวหนังสือ

บุญชู ไม่ได้ไปแต่โทร.ให้ผมไปหาที่สำนักงานใหม่แถวถนนเอกมัย เราได้คุยกันถึงเรื่องบ้านเมืองเป็นเวลานาน

บุญชู โรจนเสถียร ผู้มองโลกในแง่ดี และมีไฟอยู่ในใจไม่รู้จักดับ ยังเสนอจะช่วยสนับสนุนงานของผมที่วิทยาลัยประชาคมหนองคาย และฝากผมให้ดูแลทักษิณและจาตุรนต์ด้วย และกำชับให้ผมไปเยี่ยมที่ชีวาศรมให้ได้ จนแล้วจนรอดผมก็ไม่ได้ไป แต่ผมแน่ใจว่าชีวาศรมจะเป็นอนุสาวรีย์อมตะของบุญชู โรจนเสถียร

ผมเสียดายที่เมืองไทยไม่มีวาสนาได้บุญชู โรจนเสถียรเป็นนายกรัฐมนตรีสัก 4 ปี ผมเชื่อว่าเขาจะสำเร็จยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการสร้างธนาคารกรุงเทพ และชีวาศรม

บุญชู โรจนเสถียร เป็นมืออาชีพที่หายากในประเทศไทย ที่หายากก็เพราะบุญชู โรจนเสถียร ซื่อสัตย์สุจริต เห็นใจคนยากคนจน คอลัมน์ “ขอคิดด้วยคน” ของ “ตาพร” เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับชาวไร่ชาวนาและการพัฒนาชนบทที่ดีที่สุดคอลัมน์หนึ่งของเมืองไทย

แต่ที่สำคัญที่สุดบุญชู โรจนเสถียร เป็นคนช่างฝัน และกล้าทุ่มที่จะให้ความฝันของตนเป็นจริง น่าเสียดายที่หนึ่งในฝันที่ไม่เป็นจริงนั้น คือเรื่องการเมือง

ระบบการเมืองไทยเลวเกินไปที่จะใช้คนอย่างบุญชู โรจนเสถียร ให้เต็มศักยภาพได้

ด้วยหนังสือนี้ ผมขอแสดงความอาลัยอย่างยิ่งในการจากไปของเพื่อนอาวุโสที่ผมรัก นับถือและเคารพตลอดมา

บุญชู โรจนเสถียร ไม่ต่างกับสยามหนุ่มในยุคของพระปิยมหาราชที่ต้องการเห็นเมืองไทยออกหน้าและเจริญกว่าญี่ปุ่นหลายเท่าตัว สยามหนุ่มเหล่านั้นเชื่ออย่างเดียวกับบุญชู โรจนเสถียรว่า “เราทำได้”

ลาก่อน สยามหนุ่ม คนสุดท้ายของเมืองไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น