xs
xsm
sm
md
lg

อย่าให้ต้องนองเลือดเพราะรัฐธรรมนูญอีกเลย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
เรียน คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

ผมตระหนักดีว่า อย่างน้อย 18 ใน 20 ท่านที่เป็นกรรมาธิการ เป็นผู้ที่ผมเคารพ รักใคร่ นับถือ และบ้างก็เคยร่วมงานต่างๆ กันมา รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ความรู้สึกดังกล่าว และความเป็นมิตรก็ยังมั่นคงอยู่ แต่สิ่งที่เหนือกว่าผลประโยชน์และความเป็นส่วนตัวก็คือส่วนรวมและประเทศชาติซึ่งสำคัญที่สุด ผมเชื่อมั่นว่า ทุกท่านก็ต้องคิดอย่างนี้เช่นกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “จดหมายถึงนายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการวิจารณ์การเกิดขึ้น การดำรงอยู่ และการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ผมจึงขอมอบหนังสือดังกล่าว จำนวน 2 เล่ม ให้แก่คณะกรรมาธิการด้วยความเคารพ

ผมขอร้องให้ท่านทำใจให้เปิดกว้าง และอ่านพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วยความสนใจและพินิจพิเคราะห์เป็นพิเศษ จะได้แน่ใจว่าทัศนะของพระองค์ เรื่องความล้มเหลวของการร่างรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย เป็นอย่างไร ยังพอจะยึดถือนำมาแก้ไขข้อขัดข้องในปัจจุบันได้หรือไม่

ในพระราชหัตถเลขา ซึ่งยาว 6 หน้านั้น พระองค์ทรงกล่าวถึง ผู้มีอำนาจมิฟังเสียงราษฎรถึง 6 ครั้งด้วยกัน ผมขออัญเชิญคัดมาดังนี้

“...ให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆอันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป”

“...ผู้ก่อการฯ..หาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง”

“...ประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้น ถึงกับต้องสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย”

“ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการ และนโยบายสำคัญ มีผลได้เสียแก่พลเมือง รัฐบาลก็ไม่ยินยอม”

“...ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

“...ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศที่แท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ”

นอกจากนั้น พระราชหัตถเลขายังกล่าวถึง “...การยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ 2” ซึ่งทำให้ “ความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยความราบรื่นก็ลดน้อยลง”

เหตุผลที่ผมเขียนข้อสังเกตและคำร้องขอถึงท่านทั้งหลาย ก็เพราะผมเชื่อว่า “การยึดอำนาจโดยกำลังทหาร” นั้นเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่น้อยไปกว่าการซื้อเสียงเลือกตั้ง และการทุจริตคอร์รัปชัน

ผมหวังจะให้ท่านทั้งหลายช่วยสืบพระราชปณิธาน ให้ “การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยราบรื่น” โดยร้องขอให้ “ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียง” และขอให้ “ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

ขณะนี้น่าจะไม่เป็นการเกินเลย ถ้าผมจะกล่าวว่า มีความสับสน ไม่แน่ใจ และไม่ไว้วางใจ ว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตย แม้แต่ความนึกคิดว่าอนาคตไม่แน่นอนเท่านั้น ความเสียหายก็เกิดขึ้นได้แล้วอย่างใหญ่หลวงกับประเทศชาติ มิพักต้องรอให้ความปั่นป่วนต่างๆ ปรากฏขึ้นจริง ซึ่งก็จะเสียหายยิ่งขึ้นเป็นทวีตรีคูณ วิธีที่จะบรรเทาความเสียหาย และป้องกันมิให้ลุกลามต่อไปเห็นจะไม่มีอะไรดีกว่า การสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น และความชอบธรรม ให้กับคมช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติ กับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการเร่งให้ใช้อำนาจที่ควรใช้ คืนที่ควรคืน และอย่ามัวแต่ชักช้า และทุกขณะทุกเรื่องควรประพฤติในกรอบประชาธิปไตยให้ถูกต้อง

ส่วนความชอบธรรม ความเชื่อมั่น และศรัทธาในคณะกรรมาธิการฯ นั้นจะมีหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นกับสิ่งต่อไปนี้

1. กำเนิดและที่มาของคณะกรรมาธิการฯ

2. องค์ประกอบและภูมิหลังของคณะกรรมาธิการฯ

3. วิธีการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ

4. ผลงานของคณะกรรมาธิการฯ

ทั้ง 4 เรื่องนี้ ผมใคร่ฝากข้อสังเกตและคำร้องขอไว้ ข้อสังเกตนั้น ไม่จำกัดว่าเป็นของผมคนเดียว เพราะได้ยินและได้รับรู้มาอย่างกว้างขวาง

ส่วนคำร้องขอนั้นเป็นของผมโดยเฉพาะ หากจะไปพ้องกับความคิดเห็นของผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรของคนไทยทั้งในและนอกประเทศ ยิ่งมาก ผมก็ยิ่งจะยินดี เพราะเป็นความบริสุทธิ์ของผู้ที่รักและเป็นห่วงชาติบ้านเมือง ไม่ใช่การปลุกระดมอะไร

ผมได้พิมพ์ข้อสังเกตและคำร้องขอดังกล่าวเป็นเอกเทศไว้ต่างหากจากจดหมายนี้ และจะได้จัดส่งทางไปรษณีย์ถึงกรรมาธิการฯ ทุกท่าน โดยจะยังมิเปิดเผยข้อความหรือเผยแพร่โฆษณาจนกว่าจะได้รับทราบความคิดเห็น และปฏิกิริยาจากท่าน หรือคณะกรรมาธิการฯ

ขอแสดงความนับถือ

ผมไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านกี่ท่านจับได้ว่าจดหมายนี้ มีที่ผิดและคลาดเคลื่อนสำคัญอยู่ คือ (1) จำนวนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญมีเพียง 20 คนมิใช่ 35 (2) คำว่า คมช. ที่ถูกต้องควรเป็น รสช.

แต่ “ความสับสน ไม่แน่ใจ และไม่ไว้วางใจ” ขณะนี้ก็คล้ายๆ กับทางเดินไปสู่พฤษภาทมิฬ

ข้างต้นเป็นจดหมายถึงกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ รสช. ชุดประธานมีชัย ฤชุพันธุ์ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2534 ก่อนพฤษภาทมิฬ 11 เดือน

มีอะไรแตกต่างกันกับวันนี้บ้าง ตัวบุคคล? วิธีการทำงาน? ดังได้กล่าวในจดหมายเปิดผนึก 2 ฉบับถึงสภาร่างปัจจุบัน

เรายังวนอยู่ในอ่าง ไม่ฟังเสียงราษฎรอย่างแท้จริงตามพระราชหัตถเลขา เพียงแต่ฉาบฉวยด้วยป้ายโฆษณา สปอตในทีวี และคอนเสิร์ตระบำรำร้องของนักร้องและดารา ตลอดจนประชาพิจารณ์แบบปาหี่อย่างเดิม

พลเอกสะพรั่งอธิบายว่า ทหารอาจยึดอำนาจอีกหากสภาพบีบบังคับ คราวนี้เลือดจะนองแผ่นดินยิ่งกว่าเดิม

ทั้งนี้ การปฏิวัติเทคโนโล ยี คมนาคมและการสื่อสารอันมหัศจรรย์ โครงสร้างสังคมการเมืองเปลี่ยนการแบ่งกลุ่มและแปลกแยกกันตามผลประ โยชน์ และความคิดของประชาชน แม้แต่พระสงฆ์ก็มากมายและรุนแรงยิ่งขึ้น ฯลฯ

ผมติดตามศึกษาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาอย่างใกล้ชิด ผมเศร้าใจการทรงสภาพความล้าหลังทางการเมือง อันเกิดจากทหารเมาอำนาจ นักการเมืองน้ำเน่า นักกฎหมายและนักวิชาการขายตัว ทำให้สังคมไทยจมปลักอยู่กับที่เแพ้ฤทธิ์โรคมะเร็งที่ชื่อ “กงจักรกับน้ำเน่า”

ผมอยากจะเน้นพระราชหัตถเลขา 2 เรื่อง เพื่อจะตอกย้ำให้เห็นว่า ทั้งทหารและนักการเมืองหาได้ใส่ใจเคารพพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริงไม่ ผมหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวทุกองค์ นั่นก็คือ (1) การไม่ยอมฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร และไม่ให้โอกาสราษฎรได้ออกเสียงอย่างแท้จริง (2) การยึดอำนาจโดยกำลังทหาร ทำให้ความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยความราบรื่นลดน้อยลง

1. การไม่ฟังเสียงราษฎรและไม่ให้โอกาสราษฎรออกเสียงอย่างแท้จริงมิได้หมายความแคบๆ ถึงการลงประชามติรัฐธรรมนูญหรือการจัดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หมายถึงการมีส่วนร่วมและขบวนการเรียนรู้รับรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันทางโครงสร้างระหว่างราษฎรและรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้รับใช้มิใช่นาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์และประชาพิจารณ์อย่างฉาบฉวยหาใช่การฟังเสียงราษฎรอย่างแท้จริงไม่ และการเลือกตั้งที่ถูกครอบงำโดยอำนาจแฝงทางการเมืองผ่านระบบราชการทาส การซื้อเสียงขายเสียงหรือสักแต่ให้มีการเลือกตั้ง ก็เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ในหลวงทรงชี้ให้เห็นความไม่เป็นประชาธิปไตย

อย่าว่าแต่เสียงราษฎรทั่วไปเลย แม้แต่ผมได้เพียรพยายามแค่ไหน ก็หาอาจฝ่าปราการของผู้มีอำนาจและพวกพ้องซึ่งชมเชยและเยินยอกันเองไปมา ภายใต้กรอบวาทกรรมรักชาติและปัญญาสามารถเหนือมนุษย์ที่อยู่วงนอกทุกคน

ความไร้ระบบด้อยมาตรฐานและการวนเวียนอยู่ในอ่างจึงดำรงอยู่ไม่ยอมเปลี่ยนตามกาลเวลา การที่เมืองไทยขาดสื่อและสถาบันการศึกษาที่มีอิสระปัญญาและความรับผิดชอบที่จะวิเคราะห์เจาะลึกทำวิจัยเผยแพร่ล้างอวิชชาออกจากสังคม เป็นปัญหาหลักอันที่สอง

2. ผมทราบเรื่องการยึดอำนาจของ รสช.มาก่อนเป็นปี ได้เตือนและขอให้ผู้บังคับบัญชารับผิดชอบห้ามปรามป้องกันก็เหลว ผมทราบเรื่องการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ล่วงหน้าเป็นเดือน ผมต่อต้านการยึดอำนาจทุกประเภท แต่ครั้งสุดท้ายนี้ผมรับได้ เพราะเป็นการล้มระบอบเผด็จการแอบแฝงที่ทำลายสิทธิมนุษยชน ทำลายรัฐธรรมนูญ คดโกง และสูบกินทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ของประเทศอย่างเลือดเย็น ไม่ว่าจะมองในทัศนะของพุทธหรือในทฤษฎีสัญญาประชาคมก็สมควรที่จะถูกโค่นอย่างยิ่ง

แต่การยึดอำนาจโดดๆ และปราศจากเงื่อนไขคือการมีส่วนร่วมของประชาชน แบบ people power หรือ popular uprising เปรียบเสมือนการลักไก่ ซ่อนเร้นและไม่สง่างาม

การรีบกลับเข้ากรอบของความเป็นประชาธิปไตย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการรีบออกรัฐธรรมนูญหรือรีบเลือกตั้ง หากแต่เป็นการรู้จักใช้อำนาจหรือความเป็นประชาธิป ไตยให้ถูกกาละเทศะ มิฉะนั้น ทหารและรัฐบาลก็จะขาดความชอบธรรมลงโดยลำดับ

การยึดอำนาจก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสถาบันกษัตริย์ระบอบประชาธิปไตย และการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่น

ผมมองไม่เห็นข้อแตกต่างด้านภูมิหลัง กรอบความคิด และอุปาทานแห่งอาชีพหรือแนวโน้มศักดินาอำนาจนิยมของผู้นำ รสช.และคมช. แต่ผมเห็นความแตกต่างว่าผู้นำ รสช.นั้นมักใหญ่ใฝ่สูง หวังจะเรียกเวลาและยศตำแหน่งที่ตนล้าหลังรุ่นน้องคือรุ่น จปร. 7 กลับคืนมา เพราะรัฐบาลชาติชายเล่นกับทหารไม่เป็น จะปลุกอิทธิพลของรุ่น 7 ขึ้นมาคานรุ่น 5 อีก รุ่น 5 กลัวถูกปลดจึงยึดอำนาจ

ส่วนการยึดอำนาจปัจจุบันไม่มีเอกภาพและเป้าหมายที่แน่นอน ผู้นำเป็นเพียงสัญลักษณ์ชุบมือเปิบ บนความเสี่ยงของหน่วยกำลัง น่าจะมิใช่การยึดอำนาจเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูง น่าจะเป็นเพราะแรงหนุนจากประชาชนที่เคลื่อนไหวกันมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดขบวนการอันเติบโต

น่าเสียดายยิ่งที่ทหารไทยไร้ปัญญาที่จะร่วมมือกับประชาชนสร้างแผนที่ไปสู่ประชาธิปไตยตามแบบขบวนการกองทัพโปรตุเกสที่ขับไล่เผด็จการและสร้างประชา ธิปไตยสำเร็จ ด้วยการยึดอำนาจปี 1975

สิ่งที่ผมมองเห็น ไม่อยากให้เกิด และพร้อมที่จะต่อต้าน ก็คือการตกกระไดพลอยโจนในการสืบทอดอำนาจ เช่นเดียวกับการตกกระไดพลอยโจนในการยึดอำนาจ

ความขัดแย้งและเคลื่อนไหวของประชาชน แนวโน้มสงครามสามก๊ก ยังไม่น่ากลัวเท่าการออกรัฐธรรมนูญขุดหลุมฝังประชาธิปไตย อันจะเป็นเหตุให้นองเลือดเหมือนพฤษภาทมิฬ แต่จะโหดร้ายรุนแรงและสูญเสียมากมายกว่ายิ่งนัก

ไม่ทราบว่าไร้เดียงสา อวิชชาหรือขาดความรับผิดชอบ ที่ทำให้ผู้นำไปควักเอาหัวขบวนนักกฎหมายและบริวารของกรรมาธิการร่างฯ ปี 2534 ของ รสช.มาเป็นแกนนำอีกครั้ง เลยยัดเยียดกรอบความคิด รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้กับประเทศที่เคยล้มเหลวให้กับ ส.ส.ร. แม้น ส.ส.ร.จะมีนักคิดรุ่นใหม่และปัญญาชนอิสระอยู่บ้าง ก็ฝ่าวงล้อมออกมาไม่ได้ เพราะทหารหัวเก่าคอยยันไว้ เข้าข้างปัญญาชนหัวเก่าด้วยกัน

โปรดจำไว้ว่า “การยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ 2” จะทำให้ “ความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยความราบรื่นลดน้อยลง” และภาพที่ฉายในทีวีและเว็บไซต์ทั่วโลกตอนในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยต่อหน้าบรรดาแม่ทัพนายกอง เมื่อเปรียบกับภาพฉลองสิริราชสมบัติแล้วมีความงดงามลึกซึ้งแตกต่างเหมือนมิใช่แผ่นดินเดียวกัน

ใครเป็นคนผูกคนนั้นก็ต้องแก้ อย่ามัวแต่รอคอยการนองเลือดครั้งใหม่ แล้วจึงจะกลับมาเสนอหน้าสร้างประชาธิปไตยอีก คราวนี้ประชาชนจะไม่เอาอีกแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น