ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- กลุ่มนักธุรกิจหอการค้าโคราชและชาวหลานย่าโมฮือต้าน ไม่เอาอุโมงค์ทางลอด 400 ล้าน สามแยก ถ.มิตรภาพ นครราชสีมา ชี้ผลาญงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์ เหตุแก้ปัญหาจราจรไม่ได้เกาไม่ถูกที่คัน อีกทั้งรัฐร่วมนักการเมืองจับมัดมือชก-ยัดเยียดโครงการ ไม่ถามความต้องการของคนในท้องถิ่น พร้อมยื่นคำขาดให้ยกเลิกโครงการขู่ต่อต้านถึงที่สุด แนะดำเนินการแก้ปัญหาจราจรเมืองโคราชทั้งระบบ ด้านบริษัทที่ปรึกษาและตัวแทนกรมทางหลวงยืนยันสรุปความเห็นส่งให้กระทรวงฯ พิจารณาดำเนินการหาทางออกต่อไป
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางลอดโครงการก่อสร้างทางลอดบนทางหลวงหมายเลข 2 บริเวณสามแยกนครราชสีมา (การมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2) มูลค่า 400 ล้านบาท โดยมี นายนิยม สุจริตวัฒนศักดิ์ นายเกษม ศรีวรานันท์ วิศวกรวิชาชีพ 9 (วช.9) สำนักสำรวจและออกแบบกรมทางหลวง และ นายสมพร อุ่นจิตติกุล วิศวกรที่ปรึกษา บริษัทไทยดีซีไอ จำกัด ร่วมนำเสนอผลการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ และตัวแทนองค์กรภาครัฐ-เอกชนในจ.นครราชสีมา เช่น หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ทนายความ พ่อค้า นักธุรกิจและประชาชนเข้าร่วมการประชุมกว่า 80 คน
ทั้งนี้เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแบบก่อสร้างทางลอดโครงการฯ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะต่อรูปแบบทางลอดที่คัดเลือกว่าเหมาะสมที่สุด เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปประกอบการออกแบบรายละเอียดทางลอดโครงการให้เหมาะสมต่อพื้นที่และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจนำไปสู่ความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ต่อโครงการ และสัมพันธภาพที่ดีต่อประชาชนผู้เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจาก กลุ่มประชาชนและนักธุรกิจที่เข้าร่วมประชุมไม่ยอมรับรูปแบบที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอทั้ง 4 รูปแบบ และไม่ต้องการให้ดำเนินการโครงการนี้ โดยให้เหตุผลตรงกันว่า ประชาชนไม่เคยรับทราบมาก่อนว่า จะมีโครงการดังกล่าว จนกระทั่งมาถึงขั้นตอนมาสอบถามว่า จะเลือกรูปแบบใดในการก่อสร้างแล้ว
ที่สำคัญเห็นว่า โครงการนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดของ จ.นครราชสีมาได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และจะเป็นการสิ้นเปลื้องงบประมาณแผ่นดิน จำนวนมากกว่า 400 ล้านบาท ไปโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น
นายสมพร อุ่นจิตติกุล วิศวกรที่ปรึกษา บริษัท ไทยดีซีไอ จำกัด เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อนำเสนอข้อมูลผลการคัดเลือกรูปแบบก่อสร้างทางลอดโครงการ ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบตลอดจนรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจากที่ได้จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อคิดเห็นที่ได้ไปใช้ปรับปรุงออกแบบรายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์ และสอดคล้องตามความต้องการของประชนในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่คนในชุมชนและประชาชนทั่วไป ไม่ใช่มาสอบถามว่า จะเอาหรือไม่เอาโครงการฯ เพราะมันได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว
จากการประชุมปฐมนิเทศโครงการครั้งที่ 1 ดังกล่าว ประชาชนชาวนครราชสีมาที่เข้าร่วมประชุม ร้อยละ 57.4 เห็นว่า การก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแบบที่ 2 เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่มากที่สุด จากรูปแบบที่นำเสนอทั้งหมด 4 รูปแบบ
รูปแบบทางเลือกที่ 2 กำหนดให้แนวทางลอดตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 ไปตาม ถ.มิตรภาพ ด้านที่มาจาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี โดยกำหนดให้ภายในทางลอดมี 2 ช่องจราจร ส่วนทางขนานข้างทางลอดระดับผิวดินมี 2 ช่องจราจร เพื่อให้บริการยานพาหนะที่เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองนครราชสีมา และเลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี และจะเหลือทางขนานข้างทางลอดระดับดิน 2 ช่องจราจรเพื่อรองรับยานพาหนะจากในเมือง ไป จ.สระบุรี
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องพูดคุยกันคนละประเด็น โดยผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นตัวแทนชาวนครราชสีมายืนยันที่จะไม่ให้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว และไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบที่ 2 ว่ามีข้อบกพร่องหรือจะเพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งในส่วนของบริษัทที่ปรึกษาฯ ก็จะบันทึกการประชุมแนบท้ายเสนอให้แก่กรมทางหลวง พิจารณาต่อไป
"ในส่วนของเราก็จะดำเนินการไปตามสัญญาจ้างที่ทำไว้ต่อกรมทางหลวง คือ ต้องสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จภายในพฤษภาคมนี้ ภายใต้งบประมาณที่จัดจ้างประมาณ 6 ล้านบาท" นายสมพร กล่าวในที่สุด
ส่วนนายเกษม ศรีวรานันท์ วิศวกรวิชาชีพ 9 (วช.9) สำนักสำรวจและออกแบบกรมทางหลวง กล่าวว่าการประชุมกันในครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างพูดกันคนละประเด็นจึงหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตามถึงจะไม่ได้ข้อสรุปของการประชุมตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เราก็จะรายงานผลการประชุมไปตามที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการดำเนินการขั้นต่อไปว่าจะมีการก่อสร้างโครงการนี้หรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต และเป็นเรื่องของจังหวัดกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ที่ต้องประสานความร่วมมือกันอีกครั้ง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจหรือ กลับมาสอบถามความคิดเห็นของคนในท้องถิ่นอีกครั้ง ซึ่งตนจะนำเสนอขึ้นไปตามขั้นตอน
ทางด้าน นายคมกฤช เสริฐนวลแสง ผู้อำนวยการ สำนักงานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การที่ประชาชนและนักธุรกิจชาวจังหวัดนครราชสีมาไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เนื่องจากทุกคนเห็นตรงกันว่าปัญหาการจราจรของจังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้เกิดปัญหาในจุดที่จะมีการก่อสร้าง และทุกวันนี้การจราจรในบริเวณดังกล่าวก็ยังคล่องตัวดี แม้แต่ช่วงเทศกาลโดยเฉพาะ เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ที่มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากปกติ หรือมีรถผ่านจังหวัดนครราชสีมาจากประมาณ 1 แสนคันต่อวัน เป็น 3 แสนคันต่อวัน ก็ไม่เคยมีปัญหาจราจรติดขัดในจุดดังกล่าวเลย
ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทุ่มงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล มาก่อสร้างทางลอดอุโมงค์จุดนี้ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เนื่องจากจุดที่จะก่อสร้างโครงการนั้น ไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาจราจรติดขัดบนถนนมิตรภาพและถนนทางหลวงหมายเลข 226 (โคราช-บุรีรัมย์) แต่ต้นเหตุที่แท้จริง อยู่ที่ 2 จุดคือ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา ก่อนถึงจุดก่อสร้างโครงการ และหลังจุดก่อสร้างโครงการคือ บริเวณ 5 แยกไอทีซิตี้ต่อเนื่องจนถึงหน้าโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา
"เมื่อปัญหาที่แท้จริง 2 จุดดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขและนับวันจะวิกฤตขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น ในอนาคตอันใกล้ก็จะส่งผลต่อเนื่องและทำให้อุโมงค์ทางลอดมูลค่า 400 ล้านบาท ซึ่งอยู่จุดกึ่งกลางเกิดปัญหารถติดภายในอุโมงค์ทางลอดเสียเอง แทนที่จะเป็นโครงการช่วยแก้ปัญหา" นายคมฤกช กล่าว
นายคมกฤช กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากจะตั้งคำถามไปยังกรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การเสนอก่อสร้างโครงการนี้ทำไมไม่ถามความคิดเห็นของชาวจังหวัดนครราชสีมาก่อน ว่าต้องการหรือไม่ หรือจุดใดที่ควรจะมีการก่อสร้าง เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาถูกจุด แต่มาจนถึงวันนี้ ภาครัฐกลับมาถามเราว่าจะเลือกการก่อสร้างแบบใด ถือเป็นการมัดมือชก ไม่ใช่การมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริง
"ดังนั้นเราจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว หากกรมทางหลวงยังดึงดันที่จะก่อสร้างโครงการนี้ต่อไป เราก็จะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะขวางไม่ให้โครงการนี้เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม" นายคมกฤช กล่าว
นายคมกฤช กล่าวต่อว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรของเมืองโคราช ควรมีการศึกษาวิจัยและวางแผนดำเนินการทั้งระบบอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่การดำเนินการเพียงจุดใดจุดหนึ่งตามที่ฝ่ายการเมืองสามารถผลักดันงบประมาณได้อย่างที่พยายามกระทำกันอยู่ในขณะนี้ เพราะในที่สุดแล้วมันไม่สามารถแก้ปัญหาได้และสิ้นเปลืองเงินภาษีของราษฎรเท่านั้น
อนึ่ง โครงการก่อสร้างทางลอดบนทางหลวงหมายเลข 2 บริเวณสามแยกนครราชสีมา นี้ เป็นการผลักดันโดยกลุ่มนักการเมืองใหญ่ในโคราช ใช้วงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 400 ล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลและบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 แล้ว โดยผูกพันงบประมาณรวม 3 ปี แบ่งเป็น ปี 2550 ตั้งงบประมาณ 80 ล้านบาท ,ปี 2551 ผูกพันงบฯ 160 ล้านบาท และปี 2552 ผูกพันงบฯ 160 ล้านบาท
ทั้งนี้ตามแผนกำหนดเดิมที่วางไว้ จะออกแบบการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2550 จัดประกวดราคาหาตัวผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างเดือนสิงหาคมและเริ่มลงมือก่อสร้างได้อย่างช้าในปลายปีนี้ หรือไม่เกินต้นปี 2551