xs
xsm
sm
md
lg

ฤดูเอ็นทรานซ์

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ดูหนังไทยเรื่องหนึ่งที่มีชื่อนำเป็นภาษาอังกฤษว่า “Final Score”

เนื้อหาของหนังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนปีสุดท้ายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า นอกจากการเรียนในชั้นเรียนที่จะต้องเรียนอย่างหนักแล้ว สิ่งที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะต้องเตรียมตัวไปพร้อมกันด้วยก็คือ การตัดสินอนาคตของตนว่าจะเรียนต่ออะไรที่ไหนอย่างไรดี

ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่เครียดสำหรับเด็กนักเรียนอยู่ไม่น้อย

ที่น่าสนใจก็คือว่า หนังเรื่องนี้ใช้วิธีการนำเสนอด้วยการเลือกเอากลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่งมาเฝ้าดูพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง อันเป็นพฤติกรรมที่เป็นจริงและเกิดขึ้นจริงในชีวิตแต่ละวันของเด็กเหล่าน
ี้
ด้วยวิธีการนำเสนอแบบนี้ หนังเรื่องนี้จึงออกไปในทางกึ่งๆ สารคดี คล้ายๆ กับรายการเรียลิตี้โชว์ที่กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่ในเวลานี้ เป็นอยู่แต่ว่าหนังทำออกดูมีรสนิยมดีกว่าเท่านั้น

ตอนที่นั่งดูไปเพลินๆ อยู่นั้น ผมเฝ้าแต่นึกในใจว่า พอเรื่องดำเนินไปถึงที่สุดแล้ว เด็กแต่ละคนจะก้าวไปถึงฝั่งฝันของตนอย่างไร ใครผิดหวัง ใครสมหวัง จนลืมไปว่าหนังดำเนินเรื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2548 ถึงต้นปี 2549 เสียสนิท

คือลืมไปว่า เขามีการเปลี่ยนระบบการสอบเอ็นทรานซ์ไปเป็นระบบที่เรียกว่าโอเน็ต-เอเน็ตกันแล้ว

และพอลืมเช่นนั้น ผมจึงไม่ได้คาดคิดว่า เด็กที่เล่นหนังเรื่องนี้จะต้องเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง คิดอยู่อย่างเดียวว่าพวกเขาจะสอบได้หรือไม่ได้ ที่ลืมอย่างไม่น่าให้อภัยตัวเองก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 ที่ผลการสอบเอ็นทรานซ์ถูกประกาศออกมาท่ามกลางความวุ่นวายของการตรวจนับคะแนน จนเป็นข่าวขึ้นหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน

หนังทำตรงนี้ได้ดีโดยบังเอิญ เพราะเด็กที่เล่นหนังเรื่องนี้เจอปัญหาที่ว่าไปกับเขาด้วย ฉะนั้น ที่ผมเฝ้านั่งดูว่าจะสอบติดไม่ติดจึงกลายเป็นประเด็นที่เหมือนถูก “หักดิบ” ด้วยว่าคะแนนที่ออกมาของเด็กแต่ละคนนั้นล้วนขาดๆ เกินๆ อันเนื่องมาจากความเฮงซวยของระบบการตรวจข้อสอบ

เด็กที่เรียนไม่เก่งในวิชาหนึ่ง กลับทำคะแนนวิชานั้นได้ดี ส่วนเด็กที่เก่งกลับทำได้ไม่ดี นอกจากนี้ยังมีบางวิชาที่เด็กสอบได้คะแนนเกินกว่าที่เขาตั้งเอาไว้ เช่น คะแนนเต็ม 60 แต่เด็กได้ 80 ฯลฯ

หนังนำเสนอตรงนี้ได้ดีมาก โดยเฉพาะตอนที่รวบรวมเอาข่าวพาดหัวจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มาให้เห็นว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น และแทรกด้วยข่าวจากโทรทัศน์ที่รายงานข่าวชิ้นนี้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นผู้รับผิดชอบการสอบครั้งนี้ออกมาแก้ต่างบ้าง เจอผู้ปกครองประท้วงบ้าง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ในขณะนั้นซึ่งก็คือ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ออกมาแสดงความรับผิดชอบบ้าง ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้แหละที่ผมบอกว่าผมลืมเสียสนิท และพอหนังนำเสนอออกมา มันจึงทำให้วันเวลากว่า 300 วันที่เด็กเหล่านี้เตรียมตัวมาแทบตายต้องไร้ความหมายไป ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ชวนให้โมโหอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ที่ผมหยิบยกหนังเรื่องนี้มาเขียนถึงในขณะที่หนังออกจากโรงไปนานนับเดือนแล้วนี้ ก็เพราะคิดถึงตัวเองในสมัยที่มีวัยเท่าเด็กนักเรียนเหล่านี้ ที่ว่ากันในเชิงประสบการณ์แล้วก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก แต่ที่ต่างกันมากๆ ก็คือ สมัยผมนั้นสภาพแวดล้อมทางการเมืองไม่เหมือนสมัยนี้

กล่าวคือ ถ้าเป็นสมัยนี้ (คือ 2548-49) สภาพแวดล้อมทางการเมืองคือ การเกิดการต่อต้านระบอบทักษิณขึ้นอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนสมัยผม (คือ 2518-19) มีการต่อต้านชนชั้นปกครองทั้งที่เป็นรัฐบาลและข้าราชการโดยเฉพาะทหารและตำรวจกันอย่างกว้างขวาง โดยผู้ต่อต้านก็คือพวกฝ่ายซ้ายที่เติบใหญ่อย่างสุดๆ ในขณะนั้น และความตึงเครียดก็ไม่แพ้สมัยนี้ และดูออกจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ เมื่อมีการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายซ้ายกับกลุ่มอันธพาลทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นโดยชนชั้นปกครอง

ที่เป็นตลกร้ายของสมัยนั้นกับสมัยนี้ก็คือ ส่วนหนึ่งของผู้ที่ต่อต้านชนชั้นปกครองในสมัยนั้นกลับเป็นชนชั้นปกครองในสมัยนี้ ซึ่งผมหมายถึงพวกคนเดือนตุลาคมในรัฐบาลทักษิณนั่นแหละ

กลับมาที่ประเด็นเอ็นทรานซ์อีกครั้งนะครับ...คือด้วยเหตุการณ์แวดล้อมในขณะนั้นเป็นดังที่ผมกล่าวมา เวลานั้นอิทธิพลของความคิดแบบซ้ายๆ ได้แผ่มายังบรรดานักเรียนระดับมัธยมด้วย

ด้วยเหตุนี้ ที่สอบเอ็นทรานซ์นั้นก็สอบไป แต่ในอีกเป้าหมายหนึ่งของนักเรียนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่คณะหรือมหาวิทยาลัยที่ตนเลือกที่จะสอบจะเรียน หากอยู่ตรงที่ทำอย่างไรก็ได้ขอให้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้ก็แล้วกัน ถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยปิดก็เข้ามหาวิทยาลัยเปิดอย่างรามคำแหงซะ

ที่วางเป้าหมายตรงนี้เอาไว้ก็ด้วยเหตุผลเดียวคือ เข้ามหาวิทยาลัยเพื่อที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับนิสิตนักศึกษาฝ่ายซ้ายในเวลานั้น เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่จะสนองตอบอุดมการณ์ซ้ายๆ ของตนได้ชัดเจนที่สุด ส่วนเรื่องเรียนนั้นถือเป็นเรื่องรองจริงๆ

ตอนนั้นนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มนี้จึงไม่ได้ตื่นเต้นกับการสอบเอ็นทรานซ์ในแบบรุ่นก่อนหน้า หรือรุ่นหลังสมัยที่ว่านี้ไปแล้ว แต่ที่ตื่นเต้นก็คือ มหาวิทยาลัยคือพื้นที่หนึ่งที่นักเรียนเหล่านี้เชื่อว่าจะเป็นทางผ่านไปสู่การเป็นนักปฏิวัติได้ในวันหนึ่ง

ความเชื่อเช่นว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบนฐานที่นักเรียนเหล่านี้มีข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นทางผ่านอย่างที่ว่าเลยแม้แต่น้อย

เพื่อนนักศึกษารุ่นเดียวกับผมในขณะนั้นพูดกับผมว่า ตอนที่เขาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดทางภาคอีสานนั้น ในฐานะนักเรียนมัธยมปลาย ข่าวสารทางการเมืองที่เขาได้รับในขณะนั้นทำให้เขาเชื่อสนิทใจว่า ถ้าเขาเข้ามหาวิทยาลัยได้ (ไม่ว่าจะปิดหรือเปิด) เขาจะเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรนิสิตนักศึกษาในขณะนั้นให้ได้ เพราะเป็นองค์กรที่มีจุดยืนไปในทางซ้าย ซึ่งจะเป็นหนทางอันดีที่จะทำให้เขาได้ “เข้าป่า” ไปเป็นนักปฏิวัติร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังจากเรียนจบไปแล้ว เขาเชื่อเช่นนั้นโดยไม่มีหลักฐานอันใดที่ยืนยันได้ว่าองค์กรนิสิตนักศึกษาในขณะนั้นจะทำเช่นนั้นได้จริง แต่เขาเชื่อเพราะจิตใต้สำนึกบอกเขาเช่นนั้นจริงๆ

นักเรียนมัธยมในรุ่นของผมที่คิดแบบนั้นมีเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่มากจนถือเป็น “ส่วนใหญ่” ของนักเรียนทั้งประเทศได้

และหลังจากยุคสมัยที่ว่าไปแล้ว
ผมก็ไม่เห็นการสอบเอ็นทรานซ์ด้วยเป้าหมายแบบนี้อีกเลย เพราะไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมา นิสิตนักศึกษาจำนวนมากเดินทาง “เข้าป่า” ได้จริงอย่างที่เพื่อนผมเชื่อ พอถัดจากนั้นอีกไม่กี่ปีต่อมา ป่าก็แตก การสอบเอ็นทรานซ์ด้วยเป้าหมายที่ว่าจึงกลายเป็นตำนานไป

ส่วนเพื่อนผมคนที่ว่าก็ “เข้าป่า” เหมือนกัน แต่ไม่ได้เข้าโดยผ่านองค์กรนิสิตนักศึกษาดังที่เขาเชื่อในตอนแรก แต่เข้าเพราะ “จัดตั้ง” ที่บ้านเกิดของเขาเอง

คิดถึงความหลังในสมัยนั้นแล้ว ผมพบอะไรอยู่อย่างคือ เพราะนักเรียนรุ่นของผม (ไม่ทั้งหมด) คิดอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น พอฤดูกาลเอ็นทรานซ์ผ่านไป ชีวิตในมหาวิทยาลัยของนักเรียนกลุ่มนี้จึงไม่เหมือนเมื่อครั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้

คือเป็นชีวิตที่หลายคนไม่ได้ผ่านพิธีรับน้องใหม่ หรือถ้าผ่านก็ผ่านแบบซ้ายๆ ที่ไม่เล่นอะไรพิเรนทร์ดังทุกวันนี้ บางคนไม่ได้ผ่านแม้กระทั่งการปฐมนิเทศ ไม่ผ่านการนั่งฟังบรรยายในชั้นเรียน หรือไม่ผ่านการจบตามหลักสูตร 4 ปีเต็ม แต่ไปจบเอาปีห้าปีหกหรือมากกว่านั้น ที่สำคัญคือ ไม่ผ่านการรับปริญญา

ฤดูแต่ละฤดูมักจะผันผ่านเข้ามาในลักษณะที่วนเวียนเป็นวงจร แต่กล่าวสำหรับฤดูเอ็นทรานซ์ในสมัยที่ผมว่ามาแล้วดูเหมือนจะมีอยู่ฤดูเดียวแล้วก็หายไป และไม่เคยพัดหวนกลับมาอีกเลยจนทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น