xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ขิงแก่เหม็นสาบคนจน เมินร.ส.พ.-กั๊กปลากระชัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลขิงแก่ออกอาการเหม็นสาบคนจน ไม่สนทุกเรื่องที่ขอให้ช่วยเหลือ ม็อบร.ส.พ.ทวงคำตอบขอให้อุ้มเหมือนไอทีวีและพลิกฟื้นองค์กรแต่ไร้คำตอบ ฝ่ายกลุ่มต้านค้าปลีกต่างชาติผิดหวัง “ขิงแก่” ไม่พิจารณาร่าง กม.คุมห้างต่างชาติ ขณะที่ม็อบเกษตรกรปักหลักวันที่ 9 เข้ายื่นถวายฎีกา ส่วนเกษตรกรปลากระชังจ๋อย รัฐฯยังไม่จ่ายเงินชดเชย 30 ล้าน อ้างไม่มี กม.รองรับ โยนกระทรวงทรัพย์ฯดูข้อกม.ก่อนค่อยดึงงบกลางจ่าย

วานนี้ (20 มี.ค.)ที่บริเวณด้านหน้าประตู 4 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ประชาชน ทำเนียบรัฐบาล และบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เต็มไปด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องหลากหลายกลุ่มเดินทางมาร้องเรียนให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ

กลุ่มแรก เป็นอดีตพนักงานองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ประมาณ 100 คน เข้ายื่นหนังสือให้ถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบเจรจาในประเด็นปัญหาที่เคยเรียกร้อง 2 ข้อ คือ หนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรียกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อวันที่ 27ธ.ค.48 ที่ยุบเลิก ร.ส.พ. และ สอง ให้รัฐบาลเร่งรัดช่วยเหลืออดีตพนักงาน ร.ส.พ.ที่ไม่มีงานทำ

ทั้งนี้ ร.อ.ท.ทวิช ศุภวรรณ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ทำเนียบรัฐบาล ได้เข้ามารับหนังสือแต่ไม่ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในข้อเรียกร้องตามที่กลุ่มพนักงาน ร.ส.พ.เคยยื่นหนังสือเรียกร้องมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

นายอรรถพร เอกะวงษ์ตระกูล แกนนนำกลุ่ม ร.ส.พ. ระบุว่า ก่อนนี้เมื่อวันที่ 13 มี.ค. เคยมายื่นข้อเรียกร้องและวันนี้มาเพื่อทวงคำตอบแต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ พนักงานจึงยื่นข้อเสนอขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงปัญหาที่ประสบโดยให้เวลา 7 วันหากไม่มีความคืบหน้าก็จะมีมาตรการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นกว่านี้อย่างแน่นอน

เขายังกล่าวถึงแนวความคิดที่นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมหยิบยกประเด็นที่จะนำที่ดิน ร.ส.พ.ทั่วประเทศมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ของประเทศ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะให้อดีตพนักงาน ร.ส.พ.กลับเข้าไปทำงานหรือไม่ และมองว่าแนวความคิดดังกล่าวเป็นการนำทรัพย์สินของรัฐไปทำประโยชน์ให้กับนายทุน

“เหมือนกับไล่พนักงาน ร.ส.พ.ออกจากบ้าน และยังเอาบ้านของเราไปให้นายทุนใช้อีก”

นายอรรถพร กล่าวด้วยว่า อดีตพนักงานและลูกจ้าง ร.ส.พ.ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล ไม่มีงานทำเหมือนก่อน หลายคนต้องดิ้นรนทำมาหากินเท่าที่จะทำได้ บ้างก็เดินทางกลับต่างจังหวัดไปรับจ้างทำสวนทำนา แต่ในทางกลับกันก็พบว่ามีเอกชนบางรายเข้าใช้ทรัพย์สินของ ร.ส.พ. โดยเฉพาะสำนักงานภูมิภาคที่อยู่ทั่วประเทศ เช่น สำนักงาน ร.ส.พ. ชุมพร หาดใหญ่ ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น บางแห่งยังเอาป้ายของบริษัทเอกชนมาติดที่บริเวณสำนักงานอย่างเปิดเผย

“ต้องถามถึงคณะกรรมการชำระบัญชี ร.ส.พ. ว่าเหตุใดถึงปล่อยให้เอกชนสามารถเข้าใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินได้เป็นเวลากว่า 1 ปี การเข้าใช้อย่างนี้มีการเช่าหรือไม่ อย่างไร” เขาตั้งข้อสังเกต

ด้านนายประพันธ์ งบของ วัย 50 ปี อดีตพนักงานขับรถยนต์ของสำนักงาน ร.ส.พ.สาขาเด่นชัย จ.แพร่ เปิดเผยว่าเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมเรียกร้องกับกลุ่มพนักงาน ขณะนี้ยังไม่มีงานประจำไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่รับเพราะอายุมากแล้ว เคยไปสมัครเป็นพนักงานบริษัท ขนส่ง จำกัด ตามที่ผู้บริหาร ร.ส.พ. เคยระบุไว้ว่าจะโอนไปแต่บริษัทก็ไม่รับการตอบรับ ขณะนี้รับจ้างทำสวนและหาของป่า

นายตระกูล หงษ์วิจิตร วัย 50 ปี อดีตพนักงานขับรถยนต์ของสำนักงาน ร.ส.พ. ระบุว่า หลังยุบร.ส.พ. ก็กลับไปเช่าบ้านอยู่ที่อยุธยา และใช้เงินชดเชยที่ได้เป็นจ่ายค่าใช้จ่ายรายเดือนเกือบหมดแล้ว งานก็ไม่มีประจำ และไม่ได้โอนไปหน่วยงานอื่นเหมือนกับอดีตพนักงาน ร.ส.พ.รายอื่นๆ ปัจจุบันตนและภรรยารัรบจ้างเก็บพริกหาเลี้ยงชีพ

การชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มพนักงานร.ส.พ. ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่นายประสงค์ ตันมณีวัฒนา อดีตประธานคณะกรรมการ ร.ส.พ. และประธานคณะกรรมการชำระบัญชี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าไม่ได้ทอดทิ้งพนักงานและจ่ายเงินชดเชยไปครบแล้ว พร้อมระบุว่าเหตุที่ไม่สามารถโอนพนักงาน ร.ส.พ.ให้หน่วยงานต่างๆ ได้เป็นเพราะพนักงานเหล่านี้อายุมาก ว่าคำกล่าวของนายประสงค์บิดเบือนจากข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ เนื่องจากตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงวันที่ยุบเลิก ร.ส.พ. พนักงานได้รับผลกระทบจากการไม่ขึ้นเงินเดือน ทั้งที่มีระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน รวมทั้งมีการสั่งการจากรัฐบาลชุดที่แล้วให้ปรับเงินเดือนให้กับพนักงานของรัฐเพิ่มขึ้นอีก 3% บวก 2 ขั้น ผู้บริหารของ ร.ส.พ.ก็ไม่ได้ดำเนินการตาม

ส่วนประเด็นที่ว่าพนักงานมีอายุมากเกินไปและทำให้ไม่สามารถโอนเข้าหน่วยงานต่างๆ ได้นั้น กลุ่มพนักงาน ร.ส.พ. ระบุว่า เป็นความผิดพลาดของผู้บริหารที่ไม่ได้ระบุไว้ในแผนมาตรการรองรคับการประกอบอาชีพหลังการถูกเลิกจ้างตามที่เสนอ ครม. การให้ข้อเท็จจริงของนายประสงค์ จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง

แถลงการณ์ดังกล่าวยังได้ประณามการเสนอข่าวของนายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีว่าขาดจรรยาบรรณสื่อ โดยไม่หาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ ไม่เป็นกลาง ตามที่ได้อ้างว่าเป็นทีวีเสรีเพื่อช่วยเหลือประชาชน จากกรณีที่นายกิตติ พูดในรายการฮอตนิวส์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ว่า “คน ร.ส.พ.ได้ทุกอย่างแล้วยังจะเรียกร้องเอาอะไรอีก”

“นี่หรือคือคำสัญญาที่ให้ต่อประชาชน อย่าใช้สื่อสาธารณะเพื่อพวกพ้องและตนเอง พนักงาน ร.ส.พ.ไม่มีโอกาสใช้เครื่องมือสื่อสารที่เป็นของประชาชนเหมือนคนไอทีวี กรุณาอย่าซ้ำเติมคนที่ไม่มีโอกาส สุดท้ายความศรัทธาของประชาชนอาจหมดไปด้วย ตัวของนายกิตติเองไม่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้ประกาศข่าวดีเด่น ควรนำเกียรติยศที่ได้รับคืนให้ประชาชน”แถลงการณ์ ระบุ

**ต้านค้าปลีกต่างชาติผิดหวัง

นอกจากกลุ่มพนักงาน ร.ส.พ.แล้ว ยังมีกลุ่มสมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกข้ามชาติ กว่า 1 พันคน สวมเสื้อสีแดง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้ารายย่อยจาก อ.ปากช่อง อ.สี่คิ้ว อ.โนนสูง ของ จ.นครราชสีมา จาก อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จาก อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จาก อ.พัทยา จ.ชลบุรี และจาก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวได้เดินทางไปเรียกร้องที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทยด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ ขจรเนติกุล หนึ่งในแกนนำสมาพันธ์ฯ ระบุว่า การรวมตัวครั้งนี้เพื่อผลักดันให้ ครม.เร่งรัดพิจารณาร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง ที่กำหนดผังเมืองให้ห้างต่างชาติต้องอยู่ห่างจากชุมชนไป 12 กิโลเมตร เพื่อให้ประกาศใช้โดยเร็ว และควบคุมการขยายตัวของห้างต่างชาติ เพราะขณะนี้ห้างยักษ์ใหญ่กำลังขยายสาขาปูพรมลงไปสู่ในระดับอำเภอทั่วประเทศ โดยเฉพาะห้างโลตัส อย่างไรก็ตาม การประชุมครม.วานนี้ไม่มีการนำร่างกม.คุมการขยายตัวของห้างต่างชาติ เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาแต่อย่างใด

** เกษตรกรยังปักหลัก-โบ้เบ๊ร่วมวง

ในขณะที่กลุ่มเกษตรกรของเครือข่ายสภาประชาชนอีสานกว่า 300 คนที่เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินอันเป็นผลมาจากโครงการของรัฐยังคงปักหลักชุมนุม อยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 9 แล้ว แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตราการใดๆ ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในช่วงเช้าวานนี้ได้ส่งตัวแทน 70 คน เดินทางไปถวายฏีกาที่สำนักพระราชวัง

นอกจากนี้ ยังมีชมรมผู้ค้าโบ๊เบ๊ประมาณ 20 คน ก็ได้มายื่นขอความเป็นธรรมให้ผ่อนผันการจับกุมผู้ค้าโบ๊เบ๊ ริมคลองผดุงกรุงเกษม รวมทั้งขอบรรเทาทุกข์ด้วยการให้ขายของในช่วงเวลา 02.00 - 07.00 น. จนกว่าคดีความจะแล้วเสร็จตามคำสั่งศาลปกครอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า การมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาล ต่างกันกับท่าทีที่รัฐบาลเข้าโอบอุ้มพนักงานไอทีวี ทีวีของทักษิณ ที่เข้าช่วยเหลืออย่างเร่งรีบและแข็งขัน พร้อมกับหามาตราการต่างๆ เพื่อรองรับโดยกระทำแม้เรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย

**ผู้เลี้ยงปลากระชังจ๋อย

ในวันเดียวกันนี้ นางเนตรปรียา ชุมไชโย ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. ว่า กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอต่อครม.ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่เพาะเลี้ยงปลาในกระชังในกรณีเกิดมลภาวะทางน้ำในพื้นที่จ.อ่างทองและจ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งข้อมูลที่สำรวจเมื่อ วันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เสียหาย 1,176 กระชัง และมีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน 231 ราย มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 51,57,458 บาท

กระทรวงมหาดไทย เสนอ 2 แนวทาง โดยแนวทางที่หนึ่ง ขอให้นำเงินทดลองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 ซึ่งมีงบประมาณอยู่ 50 ล้านบาท โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น จ่ายเงินชดเชยในอัตรา 257บาท ต่อตารางเมตร หรือรายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร หรือไม่เกินรายละ 20,560 บาท เพื่อเยียวยาเฉพาะหน้า ซึ่งที่ประชุมครม.อนุมัติให้จ่ายได้ และให้เสร็จภายในศุกร์ที่ 23 มี.ค.นี้

แนวทางที่ สอง มหาดไทย เสนอของบกลางอีกก้อนหนึ่งเพื่อนำมาเป็นเงินทดรองจ่ายให้กับเกษตรกรที่เดือดร้อนเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งตั้งงบไว้ที่ 30,634,475 บาท ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือตามมูลค่าความเสียหายจริง จำแนกตามระยะเวลาที่เลี้ยงปลา และขนาดของกระชัง

นางเนตรปรียา กล่าวว่า ที่ประชุมหารือกันในประเด็นที่ว่าเงินส่วนนี้ ความจริงแล้วเกษตรกรต้องไปเรียกร้องเอากับบุคคลผู้กระทำผิด กรณีนี้มีถือว่ามีผู้กระทำผิด แต่ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นใคร หากสรุปได้แล้วและถ้าหากเกษตรกรไม่อยากฟ้องร้องเป็นรายบุคคล ก็มอบอำนาจให้รัฐบาลเป็นผู้เรียกร้องความเสียหายได้ เงินช่วยเหลือส่วนนี้ที่ประชุมครม.จึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปตรวจสอบก่อนว่ามีกฎหมายใดรองรับในการจ่ายเงินทดรองจ่ายไปก่อนในส่วนนี้หรือไม่ หากมี ที่ประชุมก็อนุมัติให้ดำเนินการได้เลย หากยังไม่มีก็ให้นำเรื่องกลับเข้ามาหารือในการประชุมครม.วันอังคารหน้า (27 มี.ค.)

ผู้ช่วยโฆษกฯ กล่าวว่า ต้องแยกเงินเป็น 2 ก้อน ซึ่งก้อนแรกเป็นเงินช่วยเรื่องภัยพิบัติอยู่แล้ว สามารถจ่ายไปได้เลย ส่วนเงินก้อนที่ 2 เป็นเงินทดลองจ่ายให้ไปก่อน เมื่อมีการฟ้องร้องได้กลับคืนมา เงินตัวนี้ก็ต้องส่งกลับมา แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าใครเป็นผู้ฟ้อง หากเกษตรกรเป็นผู้ฟ้องเกษตรกร ก็ต้องนำเงินจำนวนนี้มาคืนรัฐ หากเกษตรกรมอบหมายให้รัฐเป็นผู้ฟ้องเมื่อได้เงินชดเชยก้อนนี้มา ก็เข้ารัฐเลย สำหรับสาเหตุน้ำเน่าเสียขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าจะเกิดจากเรือน้ำตาลที่ล่มหรือเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย
กำลังโหลดความคิดเห็น