xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ถือหุ้นไอทีวียุฟ้อง สปน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ถือหุ้นไอทีวีเดือด สปน. ทำเสียหาย เสนอให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเป็นตัวแทนในการฟ้องร้อง สปน. ด้านตัวแทนสมาคมฯอ้างไม่มีอำนาจหน้าที่ ส่วน ก.ล.ต.ยันฟ้องร้องได้ในนามรายบุคคล “ทิพาวดี” ของบ –บุคลากร ตรวจทรัพย์สินไอทีวีคืนรัฐ

วานนี้ (20 มี.ค.) เวลา 14.00 น. มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2550 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยมีนายณิทธิมน จึงศิริ รองกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งประธานในที่ประชุมผู้

ตามระเบียบวาระการประชุมมีทั้งหมด 5 วาระ คือ วาระที่ 1 เรื่องแจ้งเพื่อทราบ วาระที่ 2 พิจารณารับรองรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่1/2549 ประชุมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2549 วาระที่ 3 รับทราบความคืบหน้าของข้อพิพาทระหว่าง บริษัทฯ กับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี วาระที่ 4 พิจารณาอนุมัติแนวทางการดำเนินงานของบริษัทฯ และวาระที่ 5 พิจารณาเรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)  

แต่ระหว่างการประชุมกันนั้น มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งให้ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุน เป็นตัวแทนในการฟ้องร้องต่อ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ที่ทำการยกเลิกสัญญา ทั้งที่ไอทีวีได้มีการยื่นเรื่องเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เพื่อขอตั้งอนุญาโตตุลาการพิจารณาค่าปรับ จากกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกันระหว่างไอทีวี กับ สปน. ในเรื่องค่าปรับนั้น โดยจะครบกำหนดใน 15 วัน คือในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ หลังจากที่ไอทีวียื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการไปตั้งแต่ วันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา  แต่ทางสปน.ได้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว ทำให้ไอทีวีเสียหาย

ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมซึ่งถือหุ้นรวมกันกว่า 639 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 96.20% ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ประมาณ 200 ราย  เห็นชอบให้เพิ่มเติมวาระการประชุมที่ 5 (เพิ่มเติม) ขึ้น โดยมีใจความว่า

วาระที่ 5 (เพิ่มเติม) พิจารณาอนุมัติให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย/หรือผู้ถือหุ้นของบริษัท (บมจ.ไอทีวี) ที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเห็นสมควรทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บริษัทฯมีอยู่ทั้งหมดเกี่ยวกับข้อพิพาทกับทางสปน. เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการรบริษัทฯในการดำเนินการตามสิทธิ ที่บริษัทฯมีตามกฎหมาย รวมทั้งการเรียกร้องค่าเสียหายเอากับผู้ที่กระทำผิดทางกฎหมาย หรือผิดสัญญากับบริษัทฯรวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย/หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเห็นสมควรดังกล่าว รวมทั้งการที่พนักงานบริษัทจัดการไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นตามข้อเสนอแนะดังกล่าวนั้น ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว

ตัวแทนจากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าวในที่ประชุมว่า ทางสมาคมฯไม่มีอำนาจที่จะฟ้องร้องได้ ต้องมีการยื่นเรื่องเข้าที่ประชุมให้มีการอนุมัติออกมาเป็นมติเห็นชอบเสียก่อนจึงจะสามารถใช้สิทธินั้นในการฟ้องร้องต่อทางสปน. หรือผู้ที่ทำให้ไอทีวีเสียหายได้

นายณิทธิมน กล่าวหลังจากจบการประชุมเวลาประมาณ 18 .00 น. ว่า บริษัทฯจะเริ่มดำเนินการตามวาระที่ 5 (เพิ่มเติม) ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการถูกฟ้องล้มละลายหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดระยะเวลาให้อีก 30 วัน หลังจากที่ยื่นเรื่องไป โดยได้ยื่นแผนการดำเนินธุรกิจไป อีกทั้งความหวังที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ การรอการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อมาตัดสินกรณีพิพาทระหว่างไอทีวีกับทาง สปน.ให้เร็วที่สุด ส่วนเรื่องที่จะฟ้องทางสปน.นั้น เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้

**ก.ล.ต.ยันนักลงทุนมีสิทธิฟ้อง

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงกรณีผู้ถือหุ้นรายย่อยร้องเรียนเรื่องความเสียหายจากการเข้าไปลงทุนในหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ว่า การดำเนินการฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นทุกรายสามารถกระทำได้หากได้รับผลกระทบจากดำเนินงานของผู้บริหารของบริษัท

ทั้งนี้ หากนักลงทุนจะดำเนินการฟ้องร้องบริษัทจะต้องดำเนินการเป็นรายบุคคล เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ให้สามารถดำเนินการได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถรวมตัวกันเพื่อฟ้องบริษัทหรือผู้ถือหุ้นบริษัทเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการฟ้อง

สำหรับเรื่องการตรวจสอบการบันทึกงบการเงินทันทีหลังอนุญาโตตุลาการตัดสินให้บริษัทจ่ายค่าสัมปทานลดลงจาก 1,000 ล้านบาท เหลือ 230 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประสานให้สภาพวิชาชีพบัญชีเข้ามาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวว่าถูกต้องตามการลงบันทึกบัญชีหรือไม่

**ของบ 3 ล.ตรวจสอบทรัพย์สิน

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (19 มี.ค.)ในวาระเพื่อพิจารณาจร ถึงเรื่อง ขอรับการสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณเพื่อการตรวจสอบทรัพย์สินที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ส่งคืน ว่า สถานีเครือข่ายรับสัญญาณมีสายรับ-ส่งทั่วประเทศมี สถานีถ่ายทอดสัญญาณในส่วนภูมิภาค จำนวน 40 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 5 สาย คือ กรุงเทพฯ 1 สาย ส่วนภูมิภาคอีกจำนวน 4 สาย ซึ่งแต่ละสาย ดูแลตรวจสอบ 10 จุด พนักงานที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เรียกว่า พนักงานราชการชั่วคราว จำนวน 50 คน เป็นเวลา 3 เดือน ต้องใช้งบประมาณจำนวน 3,056,940 บาท มาจากเงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน เพราะจะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะต้องส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องเพื่อเรียกค่าสัมปทาน และมูลค่าทรัพย์สินเป็นค่าปรับภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น