xs
xsm
sm
md
lg

ไทยจะยอมเป็นรองแชมป์โกง?

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

วันพรุ่งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะแถลงผลงานเนื่องจากการทำรัฐประหารมาครบ 6 เดือน

คงต้องเตรียมทำใจไว้ว่า การตอบโจทย์เหตุผล 4 ข้อตามแถลงการณ์ฉบับแรกเมื่อเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

ประสิทธิผลอันเนื่องมาจากการเลือก “ตัวบุคคล” ที่กล้าลุยงานเพื่อเป็นคณะรัฐมนตรีและการทำความเข้าใจใน “พันธกิจ” ที่จะทำหน้าที่ “รัฐบาลเฉพาะกิจในภาวะวิกฤติ” อย่างชนิด“เต็มที่-เต็มใจ” ย่อมเป็นรับผิดชอบของผู้นำรัฐบาลที่มาต่อยอดภารกิจของ คมช.

ขณะที่คณะรัฐบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “กระบวนการปฏิรูป” ซึ่งประกาศคำมั่นสัญญาต่อประชาชนโดยคณะผู้เข้ามายึดอำนาจด้วยอาศัยกระแสขับไล่รัฐบาลที่ไม่สุจริตและขาดคุณธรรมในการบริหาร

สังคมจึงคาดหวังว่า คมช.และรัฐบาลจะเร่งรัดในการเอาผิดต่อกรณีทุจริตโครงการต่างๆ ที่เกิดในยุครัฐบาลทักษิณและมุ่งมั่นให้เกิดการจัดระเบียบใหม่ในกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อไปสู่เป้าหมายอำนวยประโยชน์สุขของสังคมและประเทศชาติอย่างมีธรรมาภิบาล

ความจริงแค่เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นข้อเดียว หากเร่งเอาจริงเอาจังในการลงโทษนักการเมืองและเครือข่ายตั้งแต่แรก ก็จะหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยได้ และพลิกฟื้นการพัฒนาที่ถูกเบี่ยงเบนเพราะผลประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชั่นทำให้ความถูกต้องเป็นธรรมในระบบข้าราชการถูกทำลาย จนต้อง “จำยอมรับใช้” หรือ “ยินดีรับใช้” นักการเมืองที่ทุจริตเชิงนโยบายหรือเลือกใช้คนผิดๆ

ขณะที่ค่านิยมสังคมถูกมอมเมาจนยอมรับการสร้างภาพนักธุรกิจการเมืองที่ดูเหมือนเป็นนักบริหารยุคใหม่ แต่สมคบนักการเมืองแบบเก่าแอบแฝงการกอบโกยผลประโยชน์เข้าดูกระเป๋าครอบครัวและพวกพ้อง

เรื่องแบบนี้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมไม่เคยสนใจที่จะให้ปัญญาและรณรงค์ค่านิยมให้รังเกียจการโกง

คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งไปแสดงปาฐกถาเรื่อง “คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง” ที่รัฐสภาเมื่อวันก่อนจึงได้ยืนยันว่ามีคำนิยมผิดๆ จริงๆ โดยผลการสำรวจที่พบว่ากลุ่มเยาวชน 80% เห็นว่า “การซื่อสัตย์เกินไปไม่ดี เพราะถูกเอาเปรียบ”

ขณะที่มีเยาวชน 50% บอกว่า “โกงบ้างไม่เป็นไร หากทำประโยชน์แก่สังคม”

ซึ่งคุณอานันท์ กล่าวว่า

“หากเป็นอย่างนี้ อนาคตสังคมไทยจะมืดมน หากเยาวชนโตขึ้นมาอย่างนี้ สังคมไทยจะเป็นสังคมน่าสงสารที่สุด”

ผมเองจะยิ่งรู้สึกสงสารสังคมไทยมากขึ้นอีก ถ้าคนจำพวกที่เคยพูดเปรยทำนองว่า “นักการเมืองโกงบ้างไม่เป็นไร ขอให้บริหารงานเก่ง ก็แล้วกัน”

เพราะถ้าเก่งแล้วโกง ผลประโยชน์ของประเทศชาติก็ถูกฉ้อฉลเอาไป และสร้างผลเสียหายทางค่านิยมสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจระยะยาวอีกด้วย

ยิ่งความฉาวโฉ่เรื่องนี้กระจายไปทั่วโลก มันก็ยิ่งน่าสงสารหนักเข้าไปอีก

เพราะบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจ (เพิร์ก) ตีแผ่ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักบริหารธุรกิจใน 13 ประเทศ ปรากฏว่าประเทศไทยถูกระบุว่ามีการคอร์รัปชั่นมากเป็นอันดับ 2 รองจากฟิลิปปินส์

ผลก็คือ มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการทำธุรกิจในประเทศไทย เพราะมันหมายถึงความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน โดยมีการเอื้อประโยชนให้รายที่จ่ายเงินสินบนหรือจ่ายใต้โต๊ะ

ความจริงนับจากการเข้ายึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฯ ก็มีการอ้างถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งสังคมเห็นชัดจากการถูกสื่อหนังสือพิมพ์เปิดโปงหลายๆ กรณี เช่นโครงการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

เมื่อพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้นำรัฐบาลเข้ามารับหน้าที่ก็เพียงประกาศนโยบายที่จะบริหารด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ คล้ายจะบอกว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่โกง

แต่ถ้าจะให้เกิดผลงานที่มีคุณูประการต่อสังคมประเทศชาติอย่างแท้จริง ต้องประกาศให้การป้องกันและการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ

มาตรการแก้ปัญหา 4 ข้อที่คุณอลงกรณ์ พลบุตร แห่งพรรคประชาธิปัตย์ จึงน่าสนับสนุนตามที่เสนอ คือ

1.มาตรการด้านสังคม มีการรณรงค์ ผ่านสื่อทุกประเภท เพื่อเน้นภัยร้ายการทุจริต ชักชวนให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการคอร์รัปชั่น เชิดชูคนดี ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล และจริยธรรมของผู้บริหารและข้าราชการ มีการบรรจุเรื่องการป้องกันการทุจริตในตำราเรียนทุกระดับ

2.มาตรการทางกฎหมาย จะต้องแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วยการเพิ่มมูลฐานความผิดว่าด้วยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเข้าเป็นหนึ่งในมูลฐานความผิดเพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ติดตามเส้นทางการเงิน และบัญชีที่ซุกเอาไว้ สำหรับเงินที่สกปรกไม่ว่าจะอยู่ที่ใด โดยไม่ต้องกำหนดอายุความของคดีทุจริต หรืออย่างน้อยต้อง 30 ปีขึ้นไป เพื่อให้มีอายุความมากกว่าความผิดทางอาญาตามปกติ

3.มาตรการทางการบริหาร ต้องติดอาวุธให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วยการเพิ่มงบประมาณและบุคลากร และมีการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทานภาครัฐใหม่ เพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและโปร่งใส

4.มาตรการทางการเมือง บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลดต้นทุนทางการเมืองลง เพื่อลดอิทธิพลของธนกิจการเมือง อาทิ การให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมืองด้วยการจ่ายภาษีสนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองมีความอิสระมากขึ้น

ถ้ารัฐบาลนี้ตั้งใจจริงและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น นี่เป็นโอกาสทองที่จะได้สร้างผลงานเพื่อประเทศชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น