xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
15 มีนาคม 2550

กราบเรียน ส.ส.ร. ผ่านประธาน และประธานกรรมาธิการร่างฯ ที่เคารพยิ่ง

ผมกราบขอบพระคุณท่านประธานทั้ง 2 ที่กรุณารับจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 1 และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยอัธยาศัยไมตรี หลังแจกจ่ายจดหมายและบทความแนบให้ ส.ส.ร.ทุกท่านแล้ว ผมคงจะมีโอกาสทราบว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในข้อใดเพราะอะไร

ผมเสนอขอให้ท่านแก้ไขจุดอ่อนที่สำคัญยิ่ง 3 ประการของ ส.ส.ร. คือ (1) การที่ท่านมิได้เป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชน (2) การที่องค์ประกอบของ ส.ส.ร.คับแคบจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง และ (3) การติดยึดแบบแผนการร่างรัฐธรรมนูญแบบฝรั่งเศส ที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งในฝรั่งเศสและประเทศไทย

ผมได้อธิบายขยายความเรื่องทั้ง 3 ยืดยาวพอสม ความจริงผมควรจะฟันธงไปเสียเลยว่า ท่านควรจะแก้ข้อที่ 3 เสียก่อน การสละแบบแผนการร่างแบบฝรั่งเศส จะทำให้ท่านเลิกถกเถียงกันอยู่ในวงแคบๆ หลงตัวเอง

การปฏิเสธกรอบฝรั่งเศส หันไปหากรอบอื่นบ้าง เช่น ราชประชาสมาสัย เสริมด้วยกรอบของสหรัฐอเมริกา อินเดีย และแม้กระทั่งญี่ปุ่น ซึ่งกระบวนการร่างฯ เป็นระบบ อาศัยข้อมูลอ้างอิง ทั้งที่เป็นความคิดทฤษฎี ข้อเท็จจริงและสถิติ การคำนวณและทำนายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในอนาคต รวมทั้งการขยายการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางผ่านบุคคล สถาบันและกลุ่มพลังต่างๆ เพื่อให้เกิดความรับรู้ การมีส่วนร่วม และ input หรือผลรับที่มาจากปวงชน ในขณะที่ผู้ร่างที่แท้จริงอาจจะมีไม่กี่คน

วิธีนี้อาจจะเรียกว่าการขยายฐานหรือ inclusion ซึ่งเป็นเทคนิคในการระดมทรัพยากรและความชอบธรรมทางการเมืองที่ได้ผลสูง สามารถแก้ไขความไม่สมประกอบของ ส.ส.ร.ในข้อที่ (1) และ (2 )ได้ หากจะทำกันอย่างจริงจัง และจริงใจ

ท่านอาจจะอ้างว่า ก็ทำกันอย่างสุดฝีมืออยู่แล้ว ไม่เห็นหรือ มัวไปงมโข่งอยู่ที่ไหน ความจริงผมติดตามการทำงานของ ส.ส.ร.อย่างใกล้ชิด และชมเชยความริเริ่มหลายๆ อย่าง เช่น การจะเปิดสภาให้ประชาชนมาแสดงความคิดเห็นได้ในวันที่ไม่มีการประชุมเป็นต้น

แต่เมื่อผมมาคิดดูว่าสภาจุได้แค่ 700 ที่นั่ง หากจัดเก้าอี้เสริมตีเสียว่าเพิ่มเป็น 1 พัน ตัว ประชุมสัก 300 ครั้ง ซึ่งจริงๆ ทำไม่ได้ เพราะเงื่อนเวลาถูกจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็จะได้ 300 X 1,000 = 300,000 คน นับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับเสียงที่เราต้องการผ่านประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ

ส่วนความริเริ่มอื่นๆ เช่น การเชิญทูตประเทศต่างๆ เข้ามาสังเกตการณ์ การยกโขยงกันไปประชุมที่หาดชะอำ ผมว่าเหลวไหลสิ้นดี ผมเห็นด้วยกับ ส.ส.ร.การุณว่า การมีกรรมาธิการหรืออนุฯ ถึง 99 ชุด เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ใหญ่โตและแพงที่สุดในโลก เรื่องประชาพิจารณ์ที่ผมเห็นมาจาก ส.ส.ร. 2549 นั้น ผมพูดจนนับครั้งไม่ถ้วนว่าไม่ต่างอะไรกับปาหี่ หรือมายาการบันเทิง เสียทั้งเงินทั้งเวลาและเผยแพร่อวิชชาเปล่าๆ

ผมให้รู้สึกขอบคุณดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผมต้องขออภัยที่จะต้องอ้างท่านบ่อยๆ และอาจจะไม่ตรงกับท่านทั้งอรรถและพยัญชนะ แต่คงจะไม่เป็นการบิดเบือนพลความอย่างแน่นอน ดร.สุเมธท่านบอกว่า ประชาพิจารณ์ทุกครั้งทุกเรื่องมันล้มเหลวหมด ท่านพูดในฐานะ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนา์ว่า พวกข้าราชการนอกจากจะทำประชาพิจารณ์ไม่เป็นแล้ว ยังมีคำตอบหรือธงอยู่ในใจ คอยแต่จะเอาไปยัดปากชาวบ้านเท่านั้น

ดร.สุเมธเล่าถึงข้อหรือบุคคลยกเว้น คือพระเจ้าอยู่หัว ในโครงการพระราชดำริต่างๆ ท่านจะทรงถามความเห็นชาวบ้านซ้ำแล้วซ้ำเล่าเสียก่อนว่าความต้องการที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร จึงจะทรงนำมาปรับให้กลมกลืน และแนะนำไปปฏิบัติจนได้ผล

ผมยังมองไม่เห็นว่าอดีตข้าราชการใหญ่และปัญญาชนดังใน ส.ส.ร.ชุดนี้จะวิเศษกว่า ส.ส.ร.ชุด 2549 อย่างไร จึงจะทำประชาพิจารณ์ได้สำเร็จสมความมุ่งหมาย แต่ก็ขออวยพรให้ และขออนุญาตติติงต่อไป

ผมติดตามข่าวจากสื่อและการบอกเล่าของ ส.ส.ร.หลายท่านเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับการทำประชามติ ในที่สุด ส.ส.ร.โดยเสียง 58 ต่อ 1 ก็ลงมติให้ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบ ได้ยินว่าจะต้องใช้งบประมาณถึง 2 พันล้านบาท ผมทั้งช็อกและเศร้าใจ ขอคัดค้านและประณามความมักง่ายครั้งนี้

ผมเคยอยู่ในอเมริกาและอังกฤษเป็นเวลานาน ได้เห็นการเลือกตั้งและการลงประชามติที่ง่าย มีระบบและประหยัดมาหลายครั้ง ผมเชื่อว่าเมืองไทยมีเทคโนโลยีและองค์กรที่เหมาะสมกว่า กกต.อยู่มากกว่าหนึ่ง ในแง่ของความเป็นประชาธิปไตย ผมมองไม่เห็นว่าเราจะใช้ข้ออ้างอะไรสนับสนุน กกต. ซ้ำร้ายในข้อเท็จจริง องค์ประกอบ คุณสมบัติ การศึกษา ประสบการณ์ทำงานของ กกต. ล้วนแต่ไม่เอื้ออำนวยให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่นี้ทั้งสิ้น การใช้เงินแผ่นดินจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ส.ส.ร. ก็ดี รัฐบาล ก็ดีล้วนไม่มีอำนาจสิทธิขาดที่จะชี้นิ้ว แม้กระทั่ง สนช.ผู้สมควรจะอนุมัติงบประมาณ ก็จะต้องถ่อมใจ รับผิดชอบ ศึกษาและกำหนดมาตรการให้รอบคอบว่าจะตัดสินใจให้งบประมาณเท่าใด มีเหตุผลอย่างไร

ในจดหมายฉบับก่อน ผมได้เปรยถึงรัฐธรรมนูญแบบราชประชาสมาสัย ผมจะยังไม่ขยายความ เพราะได้เขียนไว้ในบทความอื่นๆ แล้ว ผมเพียงอยากจะยืนยันว่า หาก ส.ส.ร.(และคมช.)ยังดันทุรังเดินอยู่ในกรอบเก่า ไม่หันมาใช้ “ราชประชาสมาสัย” เป็นกรอบในการร่างฯ ท่านจะไม่มีวันได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และจะถูกสาปแช่งในอนาคตว่าเป็นผู้วางยาไว้ทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

แต่เดิมนั้นผมคิดว่า อาจารย์คึกฤทธิ์กับอาจารย์ชัยอนันต์เป็นผู้บัญญัติคำว่า “ราชประชาสมาสัย” ผมผิดครับ ท่านทั้ง 2 เพียงเสนอระบอบราชประชาสมาสัย

พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า และขอประทานโทษท่านผู้อ่าน อดีตกรรมการพรรคไทยรักไทยท่านหนึ่งนำข้อมูล “ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิราชประชาสมาสัย” มาให้ผมขอลอกข้อความบางส่วนมาดังนี้

“ฯลฯ หลังจากการสร้างอาคารครบ 4 หลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สถาบันราชประชาสมาสัย” มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์และประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดสถาบันราชประชาสมาสัยเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2503

ดวงตราประจำสถาบันฯ เป็นรูปดอกบัวกับน้ำ ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์กับประชาชน ผู้ออกแบบดวงตราคือ เหม เวชกร ดอกบัว หมายถึง พระมหากษัตริย์ สีเหลืองคือสีประจำวันจันทร์อันเป็นวันพระราชสมภพ น้ำ หมายถึงประชาชน โดยธรรมชาติแล้วดอกบัวกับน้ำต้องอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะมีชีวิตเจริญอยู่ได้”

เมื่อเรามีสถาบันราชประชาสมาสัยซึ่งเยียวยารักษาประชาชนที่เจ็บไข้มาตั้ง 47 ปีเศษแล้ว ทำไมเราจึงจะมีราชประชาสมาสัยมาเยียวยาการเมืองไทยซึ่งเจ็บป่วยเป็นโรคกงจักรกับน้ำเน่ามาตั้ง 60 ปีแล้วไม่ได้เล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น