xs
xsm
sm
md
lg

กลัดกระดุมผิด

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ช่วงเย็นของวันที่ 7 มี.ค. เมื่อได้รับทราบข่าวว่า รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กลืนน้ำลายตัวเองอีกครั้งด้วยการประกาศรับอุปการะ “อดีตพนักงานไอทีวี” กว่า 1,000 ชีวิต เข้ามาทำงานต่อกับกรมประชาสัมพันธ์ในนามของโทรทัศน์ TiTV ผมและบรรดาพันธมิตรฯ ต่างก็ต้องคราง ฮืออ!!! ด้วยความผิดหวัง

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ความรู้สึกผิดหวังดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความอิจฉาที่เห็น “อดีตพนักงานไอทีวี (บางคน)” ที่เคยศิโรราบอยู่ภายใต้อุ้งตีนของ “ระบอบทักษิณ” ได้รับงานใหม่อย่างทันที แถมได้น้ำจิ้มเป็นค่าชดเชยการเลิกจ้างจากบริษัทไอทีวีเป็นจำนวนคนละหลายแสนหลายล้านบาทแต่อย่างใดดอก แต่สิ่งที่ประชาชนรู้สึกผิดหวังกันที่สุดก็คือ ตัว พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั่นเอง

5 เดือนที่ผ่านมาของการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพของ พล.อ.สุรยุทธ์ ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนใหญ่ต่างเฝ้ามอง เอาใจช่วยอย่างอดทนโดยหวังว่า สุภาพบุรุษ อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกผู้นี้จะเข้ามาช่วยสะสางปัญหาของบ้านเมือง แก้ไขสิ่งผิดให้เป็นถูก ชะล้างความไม่ดี คนไม่ดีออกจากระบบราชการและการบริหารประเทศโดยเร็วที่สุด

แต่กระนั้นในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีของท่านก็ทำตัวเป็น ครม.ขมิ้นอ่อน, ฤาษีขี่เต่า อย่างสม่ำเสมอสมกับที่มีคนตั้งฉายาให้

อาจเป็นกรรมแต่ปางก่อนของประเทศไทย และประชาชนคนไทยกระมัง ที่เมื่อชีวิตหลุดพ้นจากเงื้อมมือของจอมมารอย่าง “ทักษิณ” แล้วกลับต้องมาเจอะผู้นำฤาษีขี่เต่าอย่าง “พล.อ.สุรยุทธ์”... หลุดพ้นจากเงื้อมมือผู้นำที่ “คิดไว-ทำไว-รับชอบไม่รับผิด” กลับต้องมาเจอผู้นำที่ “คิดช้า-ทำช้า-ไม่ประสาต่อความเป็นไปของสังคม” อีก

สำหรับหลายต่อหลายคน กรณีการแก้ปัญหา ‘ไอทีวี’ ที่กลายมาเป็น ‘ทีไอทีวี’ ของรัฐบาลได้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อูฐหลังหัก ทำให้ความอดทนที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้หมดลง ...

ดังเช่นที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เคยเปรียบเปรยไว้หลายต่อหลายครั้ง กรณีการแก้ปัญหาไอทีวีนั้นอุปมาอุปไมยเหมือนกับการกลัดกระดุมเสื้อผิดเม็ด เริ่มตั้งแต่การก่อตั้ง ปณิธานในการก่อตั้ง ‘โทรทัศน์สาธารณะ’ ถูกบิดเบือนมาตั้งแต่การเปิดประมูลหาผู้เข้าทำสัมปทานเมื่อสิบกว่าปีก่อน เสื้อตัวเดิมเมื่อมาถึงมือรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทักษิณยิ่งกลัดกระดุมเสื้อตัวเดิมผิดเข้าไปอีกด้วยการปู้ยี่ปู้ยำ ‘โทรทัศน์สาธารณะ’ ช่องนี้ให้กลายเป็น ‘ทีวีของไอ’ แถมยังพยายามตัดเย็บเสื้อใหม่ด้วยการเปลี่ยนแปลงผังรายการ-ลดค่าสัมปทานตามใจชอบเสียอีก ...

ปัญหา ‘โทรทัศน์สาธารณะ’ เมื่อตกทอดมาถึงมือของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในวาระที่ฟ้าเปิดโอกาสเอื้ออำนวย แทนที่ พล.อ.สุรยุทธ์จะแก้กระดุมเสื้อตัวเดิมที่ถูกกลัดไว้อย่างผิดๆ ถอดเสื้อออกมาสำรวจรอยขาด รอยปะ และแก้ไขเสื้อตัวเดิมก่อนที่จะสวมเข้าไปใหม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กลับดันทุรังกลัดกระดุมเสื้อต่อไป ต่อไป โดยไม่แยแสต่อเสียงทักท้วงของผู้รู้ นักวิชาการ มหาชน รวมถึงสื่อมวลชน

นับจากนี้เป็นต้นไป ผลกระทบจากการแก้ปัญหาไอทีวีแบบผิดกฎหมาย แบบขอไปทีและไม่มีแผนงานดังกล่าว ก็จะวนเวียนมาสร้างปัญหาระยะยาวที่จะรัดคอ พล.อ.สุรยุทธ์ รัฐมนตรี และข้าราชการประจำทั้งหลาย ให้ต้องปวดกบาลอยู่เรื่อยไปตราบนานเท่านาน

ที่สำคัญ นับจากนี้เป็นต้นไป หากอ้างอิงจากวิธีการแก้ปัญหาไอทีวี ก็ส่งให้ความชอบธรรมของ พล.อ.สุรยุทธ์ในการออกมาแถลงไขต่อสื่อมวลชนและประชาชนว่า “รัฐบาลของผมยึดหลักความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในการบริหารงาน” นั้นหมดสิ้นลงไปโดยปริยาย เพราะวิธีการแก้ไขปัญหาไอทีวีของท่านนั้น ตรงกันข้ามกับที่ท่านเคยกล่าวไว้ทั้งหมด เพราะการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ไม่ซื่อสัตย์ ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ทั้งยังไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการใดๆ เลย ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใดก็ตาม!

การที่รัฐบาลเข้าอุ้มพนักงานบริษัทไอทีวีให้ทำงานต่อไปแบบเหมาทั้งเข่ง ทั้งๆ ที่พนักงานเหล่านั้นเป็นพนักงานของบริษัทเอกชนที่ทำผิดสัญญากับภาครัฐ ซึ่งได้รับเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างอย่างยุติธรรมไปแล้วนั้น พูดกันตามตรงยังไม่น่าเกลียดเท่ากับการปล่อยปละละเลยให้รายการของบริษัทผู้จัดรายการที่เช่าช่วงเวลาจากบริษัทไอทีวีเดิม ให้ออกอากาศต่อไปกับทีไอทีวี กอบโกยเงินจากโฆษณาต่อไปได้ โดยรัฐในฐานะเจ้าของคลื่นความถี่โทรทัศน์ช่องทีไอทีวี ยังไม่มีแม้แต่หนังสือสัญญาที่จะเซ็นเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กับบริษัทเอกชนเหล่านี้เลย

ที่น่าเสียใจและน่าเสียดายที่สุดก็คือ เมื่อพิจารณาจากวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นเลยว่า รัฐบาลเข้าใจหรือใส่ใจกับ ‘ปัญหาสื่อ’ ในประเทศไทยที่ก่อตัวเป็น ‘วิกฤตสื่อ’ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ

วานนี้ (13 มี.ค.) คำสั่งของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการบริหารงานทีไอทีวี แล้วภายใน 1 เดือนให้นำความคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไขการทำงานของสถานีต่อไป โดยให้ยึดตามหลักเจตนารมณ์เดิมของการก่อตั้งให้เป็นโทรทัศน์เสรี ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าท่านขาดความเข้าใจกับ ‘ปัญหาสื่อสาธารณะ’ และ ‘การเมืองภาคประชาชน’ อย่างสิ้นเชิง

การกำหนดให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสื่อสาธารณะ โดยกำหนดระยะเวลาไว้เพียง 1 เดือน เปรียบได้กับการพยายามทำตัวเป็น “นักประชาธิปไตย” ทำตัวเป็น “คนใจกว้าง” แบบขอไปที สาเหตุที่ผมกล่าวเช่นนั้นก็เพราะ

หนึ่ง รัฐบาลได้สร้างเงื่อนไขในการบริหารทีไอทีวีไว้ก่อนแล้ว ด้วยการให้คำมั่นสัญญากับอดีตพนักงานไอทีวีว่าจะมีการจ้างงานต่อไป

สอง รัฐบาลได้กระทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ คลื่นความถี่ยูเอชเอฟ ที่กลายเป็นทีไอทีวีเสียตั้งแต่แรกด้วยการโอนถ่ายความรับผิดชอบในการบริหารคลื่นให้กับกรมประชาสัมพันธ์ไปดูแล ทั้งยังไม่เคยกำหนดวัตถุประสงค์ ปรัชญา แนวทางของสถานีทีไอทีวีเลยว่า จะให้เป็นสถานีโทรทัศน์ประเภทใด?

สาม นอกเหนือจากการพูดถึงความต่อเนื่องในการออกอากาศ พูดถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจมูลค่าปีละหลายพันล้านบาท และพูดถึงความตั้งใจว่าจะทำโทรทัศน์ช่องทีไอทีวีให้เป็นสื่อเสรี แล้ว รัฐบาลไม่เคยกระทำการใดๆ ในแนวทางที่จะเอื้ออำนวยให้คลื่นยูเอชเอฟคลื่นนี้กลายเป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริงเลย

และ สี่ ก่อนที่จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ว่าจะเรื่องใด รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเปิดให้สื่อมวลชนทั้งหลาย เผยแพร่ความรู้เกี่ยวปัญหาสื่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง ให้ประชาชนในทุกระดับรับรู้และเข้าใจถึงปัญหานี้อย่างถ่องแท้เสียก่อน เป็นเวลาอย่างน้อยๆ ก็ 2-3 เดือน ก่อนที่จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็น

ถึงวันนี้ เราต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาเรื่องทีไอทีวียังไม่สายไปหรอกครับ เพราะการแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้องนั้นยังทำได้เสมอ ถ้าคิดจะทำ ... อย่ามัวมะงุมมะงาหรากลัดกระดุมเสื้อผิดๆ ต่อไปเลย ท่านครม.ขิงอ่อน-ฤาษีเฒ่า ไม่กลัวลูกๆ หลานๆ เขาหัวเราะเยาะบ้างหรือครับ?
กำลังโหลดความคิดเห็น