xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตของชาติ

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการแต่ละคณะทำงานอย่างเข้มแข็ง คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมประจำจังหวัดก็ได้ลงพื้นที่เพื่อที่จะระดมความคิดเห็นของพ่อแม่พี่น้องประชาชนมาใช้ประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญและเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด

คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงมีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ที่อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยชาวบ้านเกษตรกร ผู้ใช้แรงงานภาคอีสาน นักเรียนจากโรงเรียนหนองกี่พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

บรรยากาศในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันนั้น ทำเอาคนที่เข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการ เจ้าหน้าที่รัฐสภา ประชาชนทั่วไปอดน้ำตาซึมไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่เจ็บปวด เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานไม่มีรัฐบาลใดสามารถที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง

ข่าวที่ พ่อแม่พี่น้องเกษตรกรได้เดินทางมาเพื่อพบนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เงียบไปสนิทเพราะโดนกระแสข่าวไอทีวี กลบไปหมด รัฐบาลไม่เพียงแต่ไม่ช่วยเหลือ ยังไม่เห็นความสำคัญแม้กระทั่งจะส่งตัวแทนเข้ามาพบ ป้าแก่ๆ ยายแก่ๆ อายุ 70 กว่าต้องปีนรั้วเข้าไปหาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมเองได้นำพี่น้องกลุ่มนี้ออกอากาศในรายการตรงไปตรงมาเมื่อวันพุธที่ 7 มีนาคม 2550 บางท่านอาจจะได้รับชมผ่านทางรายการไปบ้างแล้ว

พี่น้องที่มาเข้าร่วมสัมมนาที่รัฐสภาต่างก็คาดหวังว่าจะนำเอาประสบการณ์ที่ตัวเองได้รับ และบอกในสิ่งที่เขาต้องการที่เป็นสิทธิที่เขาควรจะได้รับในฐานะพลเมืองไทย เพื่อให้มีการบรรจุลงในร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการกำลังยกร่างกันอยู่นี้

นอกจากประเด็นของชาวบ้าน พี่น้องชาวไร่ชาวนาที่เดือดร้อนแสนสาหัส ยังมีเยาวชนลูกหลานเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมในสังคม

วันนั้น เด็กน้อย เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติได้เสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า พวกเขาที่เป็นลูกหลานของเกษตรกร คนยากคนจน ชาวไร่ชาวนาไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกเลือกปฏิบัติในการศึกษาอย่างไร และเขาอยากได้อะไรในรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักประกันแก่พวกเขาบ้างในฐานะผู้ด้อยโอกาสในสังคม

นายพันธมิตร สินสุพรรณ์ ประธานเยาวชนในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เล่าว่า ตอนนี้เด็กและเยาวชนไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการศึกษาเท่าที่ควร และอยากให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องเกษตรกรรมมากขึ้น ให้มีการจัดตั้งยุวเกษตร โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เพราะอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่ชาวนาหรือเกษตรกรกลับไม่ได้รับการเหลียวแล

พันธมิตรได้ยกตัวอย่างว่าบ้านตนเองมีที่นา 70 ไร่ มีสวน 15 ไร่ แต่ตอนนี้สวนไม่มีแล้ว เพราะลงทุนครั้งหนึ่งหมื่นบาทแต่ติดหนี้เป็นแสน ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเงินกู้นอกระบบมาลงทุน พ่อกับแม่ไปกู้เงินนอกระบบมา 3 แสนบาท เพื่อมาลงทุนทำสวนมะม่วง แต่ผลผลิตไม่ดี ขาดทุน เจ้าหนี้ได้มาทวงหนี้ทั้งต้นและดอกทุกวันจากเงิน 3 แสนกลายเป็นล้าน เลยต้องให้เขายึดสวน 15 ไร่เพื่อใช้หนี้ จะไม่ให้เขายึดที่ดินที่ทำกิน เจ้าหนี้นายทุนก็อ้างกฎหมาย พ่อกับแม่กลัวติดคุกเลยต้องยอมให้เขายึดสมบัติที่มีมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ที่หวังจะให้ลูกหลานได้ทำมาหากิน

นาที่มี 70 ไร่ ตอนนี้เหลืออยู่ 15 ไร่ ทำนาครั้งหนึ่ง แต่ต้องจ่ายค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ค่ายาฆ่าแมลง จนแทบหมดตัว แล้วพ่อกับแม่ยังต้องขายที่นาเพื่อนำเงินมาส่งเสียให้ลูกเรียน พร้อมกับบอกว่า เรียนเถอะลูก โตขึ้นมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน พูดกับลูกทุกวันตอนเช้า ก่อนที่รับเงินมาโรงเรียน แล้วยังบอกว่าลูก เรียนจบสูงๆ นะ ไม่ต้องมาทำนาอย่างพ่อแม่หรอก มันมีแต่หนี้แต่สิน คำนี้ได้ยินเป็นประจำเกือบทุกวัน

ทำนาแต่ละครั้งก็ขาดทุน ตอนนี้รอเวลาไม่รู้ว่านายทุนจะมายึดบ้านไปวันไหน จะจบ ม. 6 พ่อแม่ก็ไม่มีเงินที่จะส่งเสียให้เรียนต่อ บอกว่าให้หางานทำ เงินเดือนเริ่มต้นที่ 3 พันบาท แล้วยังต้องกินต้องใช้ให้พ่อแม่และต้องแบ่งไปส่งดอกเบี้ยด้วย

จะเรียนต่อก็โดนกีดกัน เป็นลูกเกษตรกรได้รับการพิจารณาทีหลังลูกข้าราชการ เหมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 ได้เกรด 4.00 แต่ไม่สามารถเรียนได้เพราะไม่มีค่าบำรุงการศึกษาให้ทางโรงเรียน พันธมิตรได้พูดทิ้งท้ายว่า คงไม่จริงที่เขาบอกว่า รากฐานของบ้านคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา คำเหล่านี้กล่าวกันมาได้ยังไงครับในเมื่อโอกาสมันไม่เท่าเทียมกัน

ถ้ามีการจัดตั้งยุวชนเกษตร เพื่อส่งเสริมให้รู้จักวิธีการทำการเกษตรที่ถูกต้อง ให้ได้ผลผลิตที่ดีไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ให้สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง เดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาที่คาราคาซังนี้ได้

ผมเห็นด้วยกับพันธมิตร ผมอดคิดไม่ได้ว่า เราเคยได้ยินแต่ว่าให้ไปเรียนเพื่อที่จะได้สบาย เป็นเจ้าคนนายคน แต่นักเรียนกลุ่มนี้กลับให้ความสำคัญกับการเกษตร ทั้งๆ ที่อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่เหนื่อยยากและได้ผลกำไรตอบแทนกลับมาน้อยมาก

แต่ถ้าเราสามารถผลักดันให้รัฐธรรมนูญสามารถออกบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการผลิตภาคเกษตร ให้ปัจจัยการผลิตเป็นของพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืนและมีการปฏิรูปที่ดินทำกิน ก็จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะถ้าเราให้พี่น้องเกษตรกรผลิตผลทางการเกษตรได้เท่ากับว่าเราสามารถสร้างอธิปไตยทางอาหารให้เข้มแข็งและเต็มพื้นที่ เป็นการสร้างอำนาจให้อยู่ในมือพี่น้องคนยากคนจน

แต่ถ้าเราสูญเสียอธิปไตยทางด้านอาหารให้แก่เกษตรกรรายใหญ่แล้ว ราคาอาหาร ราคาสินค้าเกษตร ก็จะถูกกำหนดโดยคนกลุ่มนี้ เราจะบัญญัติเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไรในรัฐธรรมนูญ บางท่านอาจตั้งคำถามว่ามีที่บัญญัติไหม ผมบอกเลยครับว่ามี แนวนโยบายแห่งรัฐอย่างไงครับ สามารถเขียนว่าเราจะจัดการอย่างไรกับการผลิตรายย่อยที่กระจายอยู่ในมือพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ รัฐควรจะมีนโยบายอย่างไร จะมีการจัดสรรกระจายทรัพยากรอย่างไร

เรื่องการศึกษาก็เป็นเรื่องที่เด็กกลุ่มนี้เรียกร้องอยากให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลบ้าง

น.ส.สุพัตรา นะรินนอก ได้เสนอปัญหาเรื่องท้องถิ่นกับการให้โอกาสการศึกษา บอกว่าการจัดสรรงบประมาณในท้องถิ่นด้านการศึกษายังไม่พอเพียงและท้องถิ่นยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในพื้นที่ที่สุพัตราอยู่ ท้องถิ่นเคยมีนโยบายที่จะให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน เมื่อมีการทวงถามกลับแจ้งว่าไม่สามารถให้ได้เพราะผิดกฎหมาย โดยไม่อธิบายให้เข้าใจว่าติดขัดในเรื่องใด การศึกษาของเด็กด้อยโอกาสไม่สนับสนุนแต่กลับไปสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ศึกษาดูงาน ใช้งบประมาณ 3-4 แสน ต่อครั้ง เหมารถที 3-4 คันไปดูหมีแพนด้าตาดำๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่แต่เด็กเยาชนตาดำๆ ในพื้นที่ที่จะเป็นอนาคตของชาติ กลับไม่ได้รับความสนใจ

แม่ของสุพัตรามีคำสอนที่กินใจว่า ถ้าอยากปิดทองหลังพระให้เป็นชาวนา แต่ว่าถ้าอยากเป็นพ่อค้าให้เอาทองมาขายชาวนาเพื่อให้ชาวนาไปปิดทองหลังพระ ชาวนายังไม่ได้รับเกียรติในสังคม ทั้งๆ ที่พยายามพูดกันเสมอว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติการช่วยเหลือดูแลจากรัฐยังไม่ตรงตามความต้องการไม่ทั่วถึง บรรพบุรุษของตนเป็นชาวนามาตลอดไม่เคยมีคนไหนเลยมีเงินในธนาคารถึงหนึ่งหมื่นบาท แต่มีหนี้สินเป็นแสนๆ บาท พ่อแม่ก็ได้แต่อบรมสั่งสอนว่า ไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนามันลำบาก อยากให้เรียนสูงๆ แต่ที่บ้านไม่มีเงินส่ง ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งๆ ที่เราควรจะต้องได้เรียน เมื่อเรียนได้ และต้องเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่เราต้องการ

เด็กๆ ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐสวัสดิการ ควรครอบคลุมถึงเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนหรือไม่ ทำไมรัฐไม่ยอมแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษาให้หมดไปเสียทีและ ควรให้การศึกษาที่ดีมีคุณภาพที่เสมอภาค เท่าเทียมกัน เป็นธรรมและถึงที่สุด

เมื่อเราได้รับฟังเยาวชนลูกหลานของเราอย่างนี้แล้ว อดสะท้อนใจไม่ได้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้จะสามารถตอบคำถามตามความต้องการของเยาวชนได้หรือไม่

การแก้ปัญหาไม่ใช่ไม่มี ก่อนอื่น รัฐต้องลดภาระของประชาชนให้น้อยลง และเพิ่มในเรื่องคุณภาพชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเข้าเรียนได้แต่ละทีต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วจะต้องพิจารณาทีหลัง ต้องคำนึงถึงสิทธิโอกาสทางการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกัน

ต่อมา รัฐต้องจัดการศึกษาแบบให้เปล่ากับลูกหลานเกษตรกร หรือแก่เด็กเยาวชนคนไทยทุกคน ต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับที่เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540

รัฐควรจะมีการกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กที่อยู่ในชนบทด้วย ให้มีการสอบแข่งขัน onet หรือ anet เด็กต่างจังหวัดก็ไม่สามารถสู้กับเด็กที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้

ถ้าเพียงแต่เราคำนึงถึงเรื่องความเป็นธรรม มีการจัดสรรทรัพยากร มีการกระจายการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันอย่างจริงจัง อนาคตลูกหลานไทยเราก็คงไม่ต้องออกมาประท้วงหรือเรียกร้องทั้งน้ำตาอย่างวันนี้หรอกครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น