เดินทางไปอังกฤษเที่ยวนี้ ได้มีโอกาสประชุมร่วมกับผู้บริหารสนามบินคือ BAA (British Airport Autority) ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่ง (ทางอากาศ) (Department of Transport) และบริษัทเอกชนที่รับจ้างสายการบิน ดูแลด้านความปลอดภัย ทำให้ได้ข้อคิดเพิ่มเติม นำมาเปรียบเทียบกับสนามบินของไทย หลายประการ
1. ท่าอากาศยานฮีทโธรว์ (Heatrow Airport) อยู่ห่างจากใจกลางเมืองลอนดอน 24 กิโลเมตร มีผู้โดยสารใช้สนามบินแห่งนี้ปีละ 68 ล้านคน เป็นอันดับที่ 3 ของโลก นับเป็นสนามบินแห่งใหญ่ที่เริ่มแออัด แม้จะก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารผู้โดยสารเป็นหลังที่ 5 ซึ่งจะเปิดใช้ในอีก 2 ปี ข้างหน้า
ทางราชการของอังกฤษ ได้กระจายความแออัดของสนามบินฮีทโธรว์ (Heatrow Airport) โดยกระจายสายการบินระหว่างประเทศและในประเทศออกไปอีกหลายสนามบิน รอบกรุงลอนดอน คือ กระจายไปที่ Gatwick Airport, Stansted Airport, Luton Airport และ London City Airport โดยยึดหลักการว่า สายการบินเก่าที่เคยบินไปสนามบินฮีทโธรว์ (Heatrow Airport) ย่อมได้สิทธิในการเลือกที่จะอยู่ที่เดิม ส่วนสายการบินใหม่ก็จะต้องไปอยู่สนามบินอื่น และต่อมาได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เป็นอนุญาตให้สายการบินเก่าและใหม่ เลือกที่จะอยู่สนามบินใดก็ได้ โดยให้สิทธิสายการบินเดิมอยู่ที่เก่า และหากมีผู้ต้องการอยู่สนามบินฮีทโธร์ (Heatrow Airport) จำนวนมาก ก็ให้สายการบินเดิมที่ใช้อยู่ก่อนสามารถขายสิทธิให้กับผู้ประสงค์รายใหม่ได้
นับเป็นความก้าวหน้าของการใช้กลไกตลาดอย่างเสรีนิยม เพราะแต่ละสายการบินย่อมรู้ดีว่า เขาควรซื้อขายหรือตัดสินใจอย่างไร เพื่อให้ตนได้ประโยชน์สูงสุด จึงเกิดการแข่งขัน และเป็นการจัดสรรเพื่อประโยชน์ของการใช้สนามบินแต่ละแห่งอย่างสูงสุดทีเดียว
2. ระบบการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน เขาจะใช้หน่วยรักษาความปลอดภัยที่ผ่านการฝึกของสนามบินเอง (เพราะเป็นความรู้ความสามารถเฉพาะ ไม่อาจให้บริษัทเอกชนทั่วไปหา รปภ. มาทำงานให้ได้) และได้กำหนดให้สายการบินแต่ละแห่งจัดจ้างหน่วยรักษาความปลอดภัยของตนเอง โดยมอบให้บริษัทรักษาความปลอดภัยดูแลตั้งแต่ตัวเครื่องบินเมื่อเข้าสู่ลานจอด และดูแลตรวจสอบผู้โดยสารขึ้นเครื่องในขั้นตอนสุดท้ายหน้าประตูเครื่องบิน ยิ่งกว่านั้น ได้พบว่า สายการบินจะจัดจ้างเอกชนมารักษาความปลอดภัย โดยมีระยะเวลาในสัญญาเป็นปีต่อปีเท่านั้น
จะเห็นว่า มีความแตกต่างอย่างมากกับสนามบินสุวรรณภูมิของเราที่ให้เอกชนรับเหมารักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานทั้งหมด และทำสัญญายาวนานถึง 10 ปี ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ระบบรักษาความปลอดภัยใดที่เหมาให้เอกชนรายใดดำเนินการเกิน 2-3 ปี ระบบนั้นก็หมดความปลอดภัยไปแล้ว
3. ผู้โดยสารขาออกทุกคน เมื่อผ่านการตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) แล้ว จะต้องถูกตรวจร่างกายด้วยเครื่องทุกคน ไม่มีการยกเว้น ทุกคนจะต้องถอดเสื้อคลุมและรองเท้าออก แม้ผู้โดยสารจะผ่านเครื่องตรวจร่างกายแล้ว ยังต้องมีการสุ่มตัวอย่างผู้โดยสารมาตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยพนักงานอีกครั้ง
กล่าวคือ ในสถานการณ์ปกติ จะสุ่มตัวอย่างทุกๆ 1 ใน 5 คน แต่จะเพิ่มเป็นทุกๆ 1 ใน 3 คน และทุกๆ คน เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติ (ในการตรวจนี้ จะยกเว้นบุคคลเพียง 2 คน คือ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เท่านั้น)
4. สนามบินฮีทโธรว์ (Heatrow Airport) กำลังมีการวางแผนจะสร้างทางขับ (runway) เพิ่มเติมอีก 1 แห่ง และจะสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มอีก 1 อาคาร ระหว่างนี้มีความจำเป็นต้องปรึกษาและรับฟังความเห็นจากชุมชนรอบข้างสนามบิน ถ้าผ่านการเห็นชอบจึงจะสามารถดำเนินการต่อได้
ทั้ง 4 ข้อ ที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของสนามบินในประเทศอังกฤษ ทำให้คิดเปรียบเทียบกับสนามบินแห่งชาติของไทย ทั้งที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองว่า ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิเราออกแบบเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสาร 45 ล้านคน ขณะนี้ วันนี้ผู้โดยสารเพิ่มสูงถึง 42 ล้านคนเศษแล้ว เราควรจะขยายสุวรรณภูมิ ปล่อยสนามบินดอนเมืองให้ร้าง หรือเราจะใช้สนามบินดอนเมืองซึ่งรับผู้โดยสารได้อีกปีละ 36 ล้านคน ควบคู่กับสุวรรณภูมิ แล้วประหยัดงบก่อสร้างไปอีกกว่า 40,000 ล้านบาท เราจะสร้างระบบเพื่อใช้สนามบินระหว่างประเทศ 2 แห่งของเราอย่างไร จึงมีประสิทธิภาพสูงสุด?
ระบบรักษาความปลอดภัย ที่ท่าอากาศยานสมัยรัฐบาลทักษิณทำสัญญาเหมาให้บริษัทเอกชนรายเดียวดำเนินการยาวนาน 10 ปี จะเหมาะสมหรือไม่ การปล่อยให้บริษัทเอกชนสามารถเก็บรวบรวมประวัติ รูป ลายพิมพ์นิ้วมือ และอื่นๆ แทนรัฐ จะเหมาะสมหรือไม่ เราได้พนักงานรักษาความปลอดภัยที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ที่ดูแลความปลอดภัยสนามบินหรือไม่ หรือเราได้ รปภ. ที่ดูแลศูนย์การค้าทั่วไป และเราควรจะให้สายการบิน (Airline) มีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยในสนามบินหรือไม่ อย่างไร?
ระบบการตรวจค้นร่างกายและตรวจค้นสัมภาระของผู้โดยสาร จะต้องพัฒนาทางใด ใครจะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้น ?
การก่อสร้างเพิ่มเติมอาคาร และทางวิ่ง ทางขับ ในอนาคต ซึ่งวันหนึ่งจะต้องมี เราจะต้องเตรียมงาน เพื่อรับฟัง ปรึกษาหารือ ให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างไร ตั้งแต่ต้น?
วันนี้ ขอเล่าประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากสนามบินอังกฤษ วันหน้าจะได้เล่าความมหัศจรรย์ในการบริหารสนามบินมิวนิค ของประเทศเยอรมัน ว่าเขาบริหารสนามบินอย่างไร จึงได้รางวัลชนะเลิศในการบริหารสนามบินของโลก