xs
xsm
sm
md
lg

"อังคณา"ยื่นฟ้องศาลปกครอง อัด ตร.ทำเฉยคดีทนายสมชาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครบรอบ 3 ปี การหายตัวไปของ “สมชาย นีละไพจิตร” อังคณาเตรียมฟ้องสตช.ต่อศาลปกครองวันนี้ เดือดตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เอาผิดวินัยเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับให้นายสมชายหายตัวไป วงเสวนาเผย “คนหายชายแดนใต้” เพียบ เชื่อฝีมือ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เรื่องเงียบหายนับปี เตือนหากไม่รื้อความจริงปมคนหายจะยิ่งเป็นประเด็นปลุกระดมลุกขึ้นต้านรัฐไทย นักสิทธิฯ ตัดพ้อคนชั่วยังลอยนวล รุกเสนอรัฐลงนามอนุสัญญาต่อต้านทรมานและป้องกันคนหายเป็นหลักประกัน รื้อ ป.วิอาญา จำกัดงานตำรวจแค่สืบสวน

วานนี้ (11 มี.ค.) ที่สมาคมศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมและเครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “กรณีอุ้มหายกับความสมานฉันท์ระหว่างประเทศ” เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีการหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม

นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมฯ และภรรยาของทนายสมชาย เปิดเผยว่า วันนี้ (12 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 3 ปีการหายตัวไปของสามี ตนและคณะทำงานยุติธรรมฯ จะเดินทางเข้าฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับให้นายสมชายหายตัวไป
ซึ่งขัดกับมาตรา 99 วรรค 4 ของพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 99 วรรค 4 ที่ระบุว่า เมื่อปรากฏกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่า
ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัย โดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นางอังคณาในนามของผู้เสียหายได้ยื่นเรื่องในประเด็นดังกล่าวแก่ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาเมื่อ 22 มี.ค.ปีที่แล้ว แต่ก็มีหนังสือตอบกลับมาทุกสองเดือนว่าได้ทวงถามไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ จนกระทั่งเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ จึงทำหนังสือแจ้งมาอีกครั้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่ายกเลิกแล้ว ทำให้ไม่มีเหตุอ้างอิงให้ดำเนินการใดๆ ได้ นางอังคณาจึงหวังพึ่งบารมีของศาลปกครอง

***จาก “สมชาย” สู่ “คนหาย” รายอื่นๆ
สำหรับเนื้อหาในการเสวนาในวาระครบรอบการหายตัวไปของทนายสมชายในครั้งนี้นั้น มุ่งหวังที่จะยกระดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทนายสมชายไปสู่การเปิดเผยปรากฎการณ์ “อุ้มหาย” หรือการบังคับให้หายตัวไปในสังคมไทย พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ปมปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในอนาคต ดังที่ น.ส.ประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาวของทนายสมชาย ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเกริ่นนำว่า การหายตัวไปของทนายสมชาย – บิดาของเธอ แม้ว่าถึงบัดนี้จะยังเป็นเป็นเรื่องราวที่ขมุกขมัวไม่แจ่มชัด แต่กลับเปิดเผยให้ปรากฎการณ์ "อุ้มหาย” กระจ่างชัดขึ้น การสูญเสียเช่นเดียวกับครอบครัวของเธอก็เกิดขึ้นคล้ายๆ กันกับประชาชนทั่วไปในประเทศแห่งนี้ โดยเฉพาะคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ใน 3 ปี ที่ผ่านมาของสถานการณ์ในภาคใต้ก็มีการตรวจสอบและมีการเยียวยาโดยการมอบเงินชดเชยให้กับญาติของผู้สูญหายไปหลายราย อย่างน้อยประเด็นคนหายก็ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องเล่าหรือข่าวลือในสังคมไทยอีกต่อไป” น.ส.ประทับจิตกล่าว พร้อมระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมการรับผิด รวมไปถึงการทบทวนกระบวนการยุติธรรม ผ่านประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจหรือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง

ในขณะที่ น.ส.วราภรณ์ เจริญพานิช ผู้สื่อข่าวโมเดิร์นนายน์ กล่าวถึงบทเรียนจากการทำข่าวเกี่ยวกับประเด็น “คนหาย” และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สถานการณ์ที่ชายแดนใต้หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ จ.นราธิวาส เมื่อต้นปี 2547 ความรุนแรงได้ทวีสูงขึ้น รวมทั้งการเกิดเหตุอุ้มบุคคลไปรีดความจริงและทรมานเพื่อรับสารภาพเกิดขึ้นหลายราย รวมทั้งลูกความของทนายสมชายจำนวน 5 คน ที่ถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพและทนายสมชายมีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงพฤติกรรมดังกล่าวของเจ้าหน้าที่และเป็นแกนนำในการล่ารายชื่อเพื่อให้ถอนกฎอัยการศึก และเชื่อว่าอาจทำให้ผู้มีอำนาจในขณะนั้นไม่พอใจ และอาจมีการส่งสัญญาณให้ยุติการเคลื่อนไหวของเขา

จากประสบการณ์ติดตามข่าวประเด็นดังกล่าว น.ส.วราภรณ์พบว่า เหยื่อของการถูกอุ้มในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกมักเชื่อว่าเป็นสมาชิกของขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ ผู้อุ้มมุ่งหวังที่จะรีดข้อมูลของขบวนการฯ ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่หาข่าวยากมาก และส่วนที่สองคือผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญาและมีการซ้อมบังคับให้รับสารภาพ แต่อาจหนักมือไป จึงต้องมีกระบวนการทำลายศพเพื่อไม่ให้มีความผิดถึงตัวของผู้กระทำ และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ทำให้พบว่า มีลักษณะร่วมของการก่อเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารกับตำรวจ

***เตือนปมคนหาย ขบวนการใช้ปลุกระดม
ด้านนายสุณัย ผาสุก ผู้ประสานงานองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ประจำประเทศไทย ระบุว่า กรณีคนหายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภาคใต้ได้รับการรวบรวมข้อมูลมีอยู่ประมาณ 23 – 24 ราย ในจำนวนนี้มีอยู่เพียงกรณีเดียวที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือกรณีสมชาย อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถเอาผิดกับจำเลยในฐานความผิดเกี่ยวกับการบังคับให้หายไปได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายระบุไว้ ทำได้เพียงแจ้งข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวเท่านั้น ในขณะเดียวกัน กระบวนการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมก็ดำเนินไปช้าๆ และเงียบๆ

จากปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้มองว่าเพียงแค่กรณีเดียว รัฐก็ไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ กรณีที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ในรายอื่นๆ จะทวงถามความจริงและคามยุติธรรมกับใคร หลายครั้งที่ตนลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลกับญาติของผู้สูญหายเหล่านี้ พวกเขาระบุว่าการแจ้งความอาจไม่ได้ยังประโยชน์อันใดมากเพราะมือซ้ายก็คงไม่จับมือขวา ตนเชื่อว่าความไม่ไว้ใจเหล่านี้เป็นเชื้อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ และที่สำคัญ กลุ่มขบวนการฯ สามารถหยิบยกนำประเด็นเหล่านี้ไปปลุกระดม จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงนี้ เนื่องจากชาวบ้านไม่มีความไว้วางใจต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

“รัฐพยายามทำได้เพียงแค่การเยียวยาด้วยเงิน แต่การทำเช่นนั้นไม่สามารถสร้างความยุติธรรมได้ ไม่ได้บอกว่าคนทีหายไปอยู่ที่ไหนและใครเป็นคนทำให้หายและต้องลงโทษอย่างไร เมื่อตรงนี้ไม่มีคำตอบ จะขอโทษสิบล้านครั้งก็ไม่ทำให้ไฟใต้ดับได้”

นายสุณัยยังกล่าวถึงวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยว่า อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึก 2 มาตรฐาน เนื่องจากมุมมองที่ว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิดแล้วสามารถลอยนวลต่อไปได้ มิหนำซ้ำยังได้ยศและตำแหน่งที่สูงขึ้น ในขณะที่ชาวบ้านแม้อยู่ในระดับ “ผู้ต้องสงสัย” กลับถูกควบคุมตัว

***คนชั่วยังลอยนวลและเป็นใหญ่

ด้านนายสมชาย หอมละออ ประธานคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วัฒนธรรมคนชั่วลอยนวลยังหยั่งรากลึกในสังคมไทย ไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น หากแต่เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิทำนองนี้ขึ้นทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวเขา คนไร้สัญชาติแรงงานต่างด้าว ฯลฯ ต่างตกเป็นเหยื่อต่ออิทธิพลนอกกฎหมาย

สำหรับในกรณีภาคใต้ จะเห็นได้ว่าหลังจากเหตุปล้นปืนต้นปี 2547 มีตำรวจจากส่วนกลางลงพื้นที่เพื่อติดตามคนร้าย โดยมี พล.อ.โกวิท วัฒนะ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการเป็นหัวหน้าทีม ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นเกิดเหตุอุ้มหลายรายในพื้นที่ รวมทั้งกรณีของสมชาย ซึ่งขอตั้งข้อสังเกตุว่า การประชุมคณะกรรมการตำรวจครั้งล่าสุด ยังไม่สามารถแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ได้ ต้องรอให้คนเก่าเกษียณก่อน สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลและความสัมพันธ์แนวนอนยังมีอยู่อย่างเหนียวแน่น แม้ว่า พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ จะถูกย้าย แต่ก็ยังมีตำแหน่งใน คมช.อยู่

นอกจากนี้ นายสมชายยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนกรณีอุ้มฆ่าและทรมานที่เกิดขึ้น ทั้งในกรณีของสมชายและลูกความของเขาเพื่อหาตัวการมาลงโทษในทางวินัยและอาญาให้ได้ ในขณะเดียวกัน ยังเรียกร้องให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. จะต้องไม่ใช้อำนาจทั้งในทางส่วนตัวและทางกฎหมายในการปกป้องคนผิดไม่ว่าจะเป็นญาติหรือเพื่อนร่วมรุ่น

ขณะเดียวกัน ก็ขอเรียกร้องให้ประเทศไทยร่วมให้สัตยาบันกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาระหว่างประเทศการป้องกันการบังคับให้บุคคลหายไป โดยเฉพาะอนุสัญญาฉบับหลัง ที่ภาคีสมาชิกจะต้องมีตัวบทกฎหมายที่ระบุว่าการบังคับให้บุคคลหายไป หรือ “การอุ้ม” ถือเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรง ในขณะเดียวกัน ผู้บัญชาการเองก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว ในฐาะนะที่เป็นผู้สั่งการ อำนวยการ หรือสนับสนุนทั้งโดยตรงและอ้อม หรือผู้ที่รับรู้แต่ไม่กระทำการห้ามปรามหรือแจ้งเจ้าพนักงานยังถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ หากเป็นการอุ้มหายที่กระทำอย่างเป็นระบบและกว้างขวางจะต้องถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงเทียบเท่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

“ถ้าเราลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้ก่อนหน้านี้สัก 4 – 5 ปี มีความเป็นไปได้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) จะตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรรมนี้ได้เหมือนกัน” นายกล่าวพร้อมระบุว่า อนุสัญญาฯ ยังอยู่ในเงื่อนไขของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วยเช่นกัน

นายสมชายยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันที่อนุสัญญาฯ ระบุไว้ ตัวอย่างเช่น การจับกุมคุมขังทุกครั้ง จะต้องมีการทำบันทึกอย่างละเอียดและมีการตรวจสอบจากนานาชาติเป็นระยะ

ในขณะที่นางอังคณา กล่าวถึงกรณีการหายตัวไปของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ตำรวจภาค 9 ได้ตอบคำถามต่อคณะทำงานยุติธรรมฯ ที่ทวงถามถึงกรณีคนหาย 28 ราย ว่ามีข้อมูลของดีเอสไอที่ระบุว่ามีคนหายไปจริง 17 ราย โดยมีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วรายละ 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่ามีบุคคลที่ไม่ได้หายไป 3 ราย โดยหนึ่งในนั้นเสียชีวิตไปแล้ว มีใบมรณะบัตร แต่สภาพศพจำหน้าไม่ได้ ญาติไม่ได้ปักใจเชื่อ แต่รอให้มีการขุดศพขึ้นตรวจดีเอ็นเออีกครั้ง ในขณะที่อีกสองรายมีหมายจับของทางการ แต่เธอตั้งข้อสังเกตว่าหมายจับถูกอนุมัติหลังจากการหายตัวไปของทั้งสอง

นางอังคณา ยังได้แจกแจงข้อมูลของเหยื่ออุ้มหายรายต่างๆ อาทิเช่น สองรายที่นราธิวาสซึ่งถูกอุ้มไปพร้อมการใส่กุญแจมือกลางดึก กรณีชาวบ้านสองรายที่ยะลา ซึ่งเคยทำงานร่วมกับตำรวจและหายไปขณะเดินทางไปพบตำรวจ แม้จะมีการสืบสวนแต่ก็ไม่สามารถฟ้องได้เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ หรือในกรณีเจ้าของร้านขายโทรศัพท์และลูกจ้างที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกอุ้มหายไปกลางแหล่งชุมชนท่ามกลางสายตาของชาวบ้านจำนวนมาก เป็นต้น

“ต่อจากนี้ กรณีคุณสมชายไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อการตามหาตัวของคุณสมชายเท่านั้น หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ให้กับคนหายในรายอื่นๆ ทีเกิดขึ้นในสังคมไทย”

นางอังคณา เสนอว่า เพื่อแก้ปัญหาการทรมานและบังคับให้หายไป จำเป็นต้องมีการแยกส่วนความรับผิดชอบการสืบสวนและการสอบสวนออกจากกัน โดยให้ตำรวจมีหน้าที่เพียงแค่ขั้นตอนการสืบสวนและจับกุม ส่วนกระบวนการสอบสวนควรให้เป็นหน้าที่ของอัยการที่ควรต้องเป็นอิสระจากนักการเมืองและต้องปรับการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อัยการก็ควรจะมีบทบาทในการค้นหาพยานหลักฐานได้เอง โดยไม่ต้องยึดติดกับสำนวนของตำรวจเสมอไป

นอกจากนี้ นางอังคณายังเสนอให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินการโดยเร็วและใช้ระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหา เพราะในกรณีการทรมานและการอุ้ม หากกระบวนการพิจารณาล่าช้าเกินไป บาดแผลที่เกิดจากการทรมานหายไป ในขณะที่ฝ่ายผู้เสียหายเองอาจต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตได้

นางอังคณา ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยังกล่าวว่า ต้องจับตาดูว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะกล้าหาญพอที่จะบรรจุเนื้อหาให้ห้ามไม่ให้มีการบังคับให้หายตัวไปและการทรมานลงในร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลจะกล้าหาญพอที่จะลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาฯ การป้องกันการบังคับให้บุคคลหายไปหรือไม่

“แม้กระทรวงยุติธรรมจะไม่สามารถฟื้นชีวิตของผู้ที่สูญหายไปได้ แต่ก็ต้องรับผิดชอบให้การให้ความยุติธรรมอย่างไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนายบราซิล เฟอร์นานโด ผู้อำนวยการบริหารกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเรียกร้องให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของการหายไปของนายสมชายที่บริเวณถนนรามคำแหง ย่านหัวหมาก อันเป็นสถานที่สมชายถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อส่งสัญญาให้ส่งเสริมการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น